ภารกิจอาสา’เส้นด้าย’ช่วยนำส่งผู้ป่วยโควิดไปโรงพยาบาล ภาพ:เส้นด้าย
ในช่วงนี้ประเทศไทยกำลังเผชิญวิกฤตโควิด-19 เดือนกรกฎาคม มีผู้ป่วยรายวันทะลุหลักหมื่น มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 100 ราย เป็นช่วงที่มีคนป่วยและคนตายสูงที่สุด มีการแพร่ระบาดครบ 77 จังหวัด ส่วนใหญ่เกิดจากคนตกงานในกรุงเทพฯ และปริมณฑล เมื่อสถานประกอบการปิด แคมป์คนงานปิดต่างเดินทางกลับภูมิลำเนา
โควิดระลอกใหม่นี้สาหัสนัก นอกจากหน่วยงานสาธารณสุขเร่งป้องกันและสอบสวนคุมโรคอย่างสุดกำลัง คุณหมอและบุคลากรทางการแพทย์ถือเป็นด่านหน้าทำงานหนักสู้โควิดรักษาชีวิตคนป่วย ยังมีกลุ่มอาสาสมัครจำนวนมากที่เสียสละออกมาช่วยคนไทยในยามขาดที่พึ่ง เข้าไม่ถึงการรักษา และยังไม่มีเตียงติดค้างอยู่ที่บ้าน ผลพวงจากนโยบายรัฐอ่อนแอ
อย่างกลุ่มเส้นด้าย (Zendai) ที่อาสามาช่วยคนติดเชื้อโควิด-19 ที่ไม่มีเส้นให้เข้าถึงความช่วยเหลือจากภาครัฐในด้านต่างๆ ทั้งรถรับส่งไปตรวจหาเชื้อโควิด ไปรักษาที่โรงพยาบาล หาถังออกซิเจนเร่งด่วน ส่งข้าวส่งน้ำผู้ป่วยกลุ่มเปราะบางและผู้กักตัว แนะนำการรักษาตัวที่บ้าน จนกระทั่งรับศพติดโควิดไปทำพิธีทางศาสนา
รถอาสาเส้นด้ายพาหญิงท้องป่วยโควิด-19 ไปรักษาตัว รพ. ภาพ:เส้นด้าย
แม้วันนี้จะมีคนอาสาเข้ามาทำงาน แต่ยังไม่พอ เพราะมีคนป่วยโควิดรอเตียงเสียชีวิตที่บ้านทุกวัน เส้นด้ายยังเชิญชวนคนที่เคยติดโควิดและหายแล้วมาร่วมเป็นเจ้าหน้าที่อาสาสมัครอาสาใส่ชุด PPE เข้าไปในบ้านของผู้ติดเชื้อทำหน้าที่สอบถามข้อมูล ซักประวัติคนไข้ วัดค่าออกซิเจน ความดัน อัตราการหายใจ ส่งอาหารให้กับคนไข้ที่อยู่ภายใต้การดูแล อาสาเหล่านี้ขนานนานว่า “นักรบเส้นด้าย” อาสาบางคนเคยป่วยได้รับความช่วยเหลือจากเส้นด้ายมาก่อน เกิดแรงบันดาลใจกลับมาช่วยเหลือสังคม พร้อมทำงานบนความเสี่ยง ส่วนคนที่ไม่เคยติดโควิดอยากร่วมทีมนักรบเส้นด้ายเงื่อนไขต้องฉีควัคซีนครบ 2เข็ม
แล้วยังมีหมอและพยาบาลอาสาที่สละเวลาในวันหยุดของตนเองมาช่วยเฝ้าระวังชุมชนที่มีผู้ติดเชื้อสะสมและผู้รอเตียง จัดตั้ง”เส้นด้ายเฝ้าระวัง” เข้าไปสอนผู้ติดเชื้อให้ใช้ที่วัดออกซิเจน ช่วยประเมินเมื่อคนไข้อาการทรุด ก่อนส่งรพ.ต่อไป
มีโอกาสได้คุยกับ เจตน์ ภูวกร ศรีเนียน หนึ่งในผู้ก่อตั้งกลุ่ม”เส้นด้าย” ได้เห็นถึงช่องว่างที่คนติดโควิดเข้าไม่ถึงความช่วยเหลือของรัฐ
“ กลุ่มเส้นด้าย เป็นอาสาสมัครเสริมช่วยคนตกหล่นจากการเข้าสู่ระบบสาธารณสุขของรัฐ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา วันนั้นเตียงยังไม่เต็มแบบวันนี้ แต่ไม่เกิดการถ่ายเทเตียงอย่างที่ควรจะเป็น คนโทรไปเบอร์รัฐแจ้งก็โทรไม่ติด ไม่มีคนรับสาย ไปสถานพยาบาลก็ไม่รับตรวจ แต่กลับมีผู้ติดเชื้อบางคนมีโอกาสที่ดีกว่า มีเส้น เข้าถึงความช่วยเหลือ แต่เส้นด้ายเป็นได้ที่ไม่ใช้เส้น เราสร้าง Call center ที่โทรติด และพัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์เพจเส้นด้ายรองรับการแจ้งเคสต่างๆ “ เจตน์ กล่าว
เกือบ 2 เดือนแล้วที่นักรบเส้นด้ายทำงานช่วยคนติดโควิด ผู้กักตัวและคนเดือดร้อนกว่า 5,000 คน อุปสรรคที่พบ เขาระบุกลุ่มเสี่ยงสูงติดเชื้อโควิดไม่มีรถส่วนตัวจะพาไปตรวจหาเชื้อ และในสถานการณ์โควิดระบาดหนัก แม้แต่คนในครอบครัว เพื่อน หรืออาสาหลายคนก็ไม่พร้อมทำหน้าที่ บริการรถให้คนไปตรวจจำเป็นมาก ลดการแพร่กระจายเชื้อไวรัส ระหว่างการเดินทาง จากการทำงานพบ 30-40% ที่ไปตรวจผลเป็นบวก เราก็ตามไปดูที่บ้านอยู่ 7 คน ติด 1 คน เราพยายามประสานหลายๆ ทาง พาไปรักษา รพ.สนาม หรือฮอสพิเทล ที่รับผู้ป่วย
นักรบเส้นด้ายเตรียมเต้นท์พักคอยผู้ป่วยโควิดย่านดินแดง เพื่อแยกผู้ป่วยออกจากชุมชน ภาพ:เส้นด้าย
สถานการณ์วันนี้ยังเลวร้าย เคสขอความช่วยเหลือเพิ่มขึ้นหลายเท่า เจตน์ บอกว่า การหาเตียงให้ผู้ป่วยโควิดวันนี้แทบจะปิดประตู ยอดหาเตียงเราตกค้างอยู่ประมาณ 2,000 เคส (ข้อมูล ณ วันที่ 15 ก.ค.) ฮอสพิเทลไม่เปิดรับ เตียงสีเหลือง สีแดง รพ. และเตียงสนามเต็มทุกแห่ง เวลานี้เคสไหนแยกกักตัวรักษาโควิดที่บ้าน หรือ Home Isolation ของรัฐได้ เราจะเอาเข้าโครงการนี้ อย่างน้อยผู้ป่วยอายุ 60 ปีขึ้นไป มีอาการ มีการส่งยาที่บ้าน เพราะเราไม่อยากเห็นใครต้องสูญเสียจากโควิด มีผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียงอยู่ในภาวะน่าเป็นห่วงจำนวนมาก
เคสหดหู่สะเทือนใจ และถือเป็นกรณีตัวอย่างความล่าช้าของระบบสาธารณสุขที่ไม่อยากให้เกิดซ้ำ เจตน์ เล่าให้ฟังว่า เส้นด้ายได้รับแจ้งเป็นผู้ป่วยสูงอายุติดโควิดป่วยติดเตียงในเนอสซิ่งโฮมรอเตียงรักษา เคสนี้ประสาน กทม. รับเป้นคนไข้เพื่อเบิกยาต้านไวรัส มีการส่งยา แต่อาการไม่ดีขึ้น ไม่มีการทำ Home Isolation จริงจัง ไม่มีหมอโทรหรือไลน์มา คืนแรกที่รัฐประกาศเคอฟิวคุณยายออกซิเจนตกเยอะมาก เรามีเครื่องออกซิเจนความดันสูง แต่เคลื่อนที่ไม่ได้จากเคอฟิว จนเสียชีวิตในที่สุด ในเนอสซิ่งโฮมยังมีผู้สูงอายุติดเชื้ออีกนับสิบ
“ โทรศัพท์ไม่น้อยกว่า 100 สายต่อชั่วโมง มี 50 สาย ขอความช่วยเหลือเร่งด่วน ต้องการใช้ถังช่วยหายใจ แต่เราก็ช่วยคนป่วยได้แค่ส่วนหนึ่ง ยังมีคนอีกจำนวนมากที่รอคอยความช่วยเหลือ ที่น่าตกใจ30% ของสายที่โทรมา มีอาการ แต่ไม่มีผลตรวจ เพราะเข้าไม่ถึงบริการตรวจหาเชื้อ ในสถานการณ์ที่ระบบการเข้าถึงสาธารสุขล้มเหลว การสื่อสารทางโทรศัพท์ไม่มีประสิทธิภาพ ถึงเวลาที่ภาคประชาชนต้องสร้างเครือข่ายช่วยกัน ญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง ต้องให้ความช่วยเหลือกัน ลำพังจะหวังพึ่งหน่วยงานรัฐหรืออาสาสมัครไม่พอ “ เจตน์ กล่าว
อาสา OxyFightCovid จัดส่งถังออกซิเจนให้ผู้สูงอายุที่ป่วยโควิด
ความอัดอั้นจากอุปสรรคคนป่วยโควิดไม่เข้าสู่ระบบสาธารณสุขพรั่งพรูจากการทำงานของกลุ่มเส้นด้าย อย่างไรก็ตาม เขาเห็นแสงสว่างมากขึ้นเมื่อรัฐเปลี่ยนแนวทางการตรวจเชื้อด้วยวิธี RT-PCR เป็นการใช้ชุดทดสอบ Rapid Antigen Test ทั้งในสถานพยาบาลของรัฐและเอกชน รวมถึงการตรวจด้วยตนเองที่บ้าน ซึ่งได้ผลตรวจรวดเร็ว จะช่วยเพิ่มการเข้าถึงการตรวจหาเชื้อ คัดกรองผู้ป่วยโควิดเบื้องต้น บรรเทาปัญหาแพร่เชื้อให้คนในครอบครัวและในชุมชน
อีกแนวทางของ Home isolation ที่อยากให้เกิดขึ้น เขาระบุต้องมีกระบวนการจ่ายยาต้านโควิดหรือยาฟาวิพิราเวียร์ ส่งให้ผู้ป่วยที่บ้านอย่างรวดเร็วและปลอดภัย เห็นว่าสำนักอนามัยในแต่ละเขตของ กทม. สามารถทำหน้าที่นี้ได้อย่างมีพลัง ผู้ป่วยมีความมั่นใจเมื่อรักษาตัวที่บ้าน ถ้าบ้านแคบหรือครอบครัวใหญ่ แยกตัวออกมาใช้ศูนย์พักคอย หนุ่มสาว วัยทำงาน 40 อัพเคสสีเขียวไม่ต้องหาเตียง สงวนเตียงไว้เพื่อผู้สูงอายุ กลุ่มเสี่ยง กลุ่มเปราะบางต่างๆ ลดอัตราเสียชีวิตโควิดได้
“ อยากขอบคุณผู้สนับสนุนประชาชน อาสาทุกคน เราไม่สามารถออกช่วยเหลือได้ ถ้าขาดพลังของอาสาและน้ำใจคนไทย “ หนึ่งในผู้ก่อตั้งกลุ่มเส้นด้ายกล่าวในท้าย
ส่วนใครอยากร่วมสนับสนุนการทำงานของเส้นด้าย ตอนนี้เปิดร้านเส้นด้าย มีเมนูตั้งแต่ข้าวกล่องสำหรับคนกักตัวและเดือดร้อน ข้าวกล่องสำหรับอาสา อุปกรณ์ป้องกันเชื้อโควิดในการปฏิบัติงาน ถุงกักตัวชุดเล็ก ถุงกักตัวชุดใหญ่ หรือจะสนับสนุนรถรับ-ส่งเพื่อตรวจหาเชื้อโควิด รับคนป่วยไปรักษา เลือกสินค้าที่ต้องการชำระได้ที่ ธ.กสิกรไทย 101-8-05351-5 ชื่อบัญชีเส้นด้าย
จิตอาสาศาลายาเนี่ยนช่วยกันขนถุงกักตัวไปแจกจ่ายชุมชนที่พบผู้ติดเชื้อ ภาพ:ศาลายาเนี่ยน
นอกจากเส้นด้ายที่ทำงานในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ยังมีพลังอาสาสู้โควิดที่ทำงานคู่กับภาครัฐ อย่าง OxyFightCovid ,Food For Fighters, ศาลายาเนี่ยน,Covid19Matching และกลุ่มคลองเตยดีจัง ระดมเงินบริจาค แจกอาหารคนตกงาน กลุ่มเปราะบาง จัดหาถังออกซิเจนให้คนป่วย
อีกโครงการ”ตัวเล็กใจใหญ่” ของมูลนิธิ LET’S BE HEROES ที่หมอเจี๊ยบ-ลลนา ก้องธรนินทร์ เปิดรับสมัครจิตอาสาหมอ พยาบาลจากทุกแผนกทั่วประเทศ ขอแรงร่วมออกตรวจที่บ้านคนป่วย แพทย์รังสีสำหรับอ่านภาพถ่ายรังสี อายุรแพทย์ติดเชื้อ อายุรแพทย์โรคทรวงอก แพทย์ที่ปรึกษา จิตแพทย์ รวมถึงเจ้าหน้าที่กู้ชีพเพื่อออกเหตุไปที่บ้านในเคสที่จำเป็น ส่วนคนทั่วไปสมัครเป็นแอดมินรับโทรศัพท์ กรอกข้อมูลคนไข้ ประสานงาน หรืออาสาขับรถ จะมีรถส่วนตัวหรือไม่มีก็ได้ เพื่อส่งยาตามบ้านผู้ป่วย
อาสาเหล่านี้เหน็ดเหนื่อย แต่ยังไหวเพราะใจสู้ พวกเขาต้องการการสนับสนุนเพื่อไปต่อ นี่เป็นเพียงคนตัวเล็กตัวน้อยในสังคมที่พยายามต่อลมหายใจคนป่วยและผู้เดือดร้อนจากโควิด ขอใช้พื้นที่นี้เป็นส่วนหนึ่งของกำลังใจให้อาสาสมัครทุกคน
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |