“ขุนคลัง” ชี้อาจต้องยืดชำระเงินต้น-ดอกเบี้ยยาวกว่า 2 เดือน เหตุเศรษฐกิจเปราะบาง “สศค.” แพลมเงินกู้ 1 ล้านล้านบาทใกล้หมด เหลือแค่ 5 แสนล้าน หากไม่พออาจต้องขยายเพดานก่อหนี้ “แบงก์ชาติ” เมินข้อเสนอช่วยหั่น ดบ.เงินกู้ ชี้ต้องรอบคอบ รับดอกเบี้ยนโยบายไม่ขยับอีกยาว แบงก์แห่คลอดมาตรการพักหนี้ 2 เดือน
เมื่อวันศุกร์ที่ 16 ก.ค. นายธนกร วังบุญคงชนะ เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 (ศบศ.) กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สั่งการในที่ประชุม ครม.เมื่อวันที่ 13 ก.ค.ให้รีบหารือกันโดยเร่งด่วน เพื่อหามาตรการผ่อนปรนการชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ย หรือการเลื่อนงวดการชำระเงินต้นและดอกเบี้ยให้แก่ลูกค้า ทั้งที่เป็นประชาชนและผู้ประกอบการอย่างจริงจัง รวมถึงช่วยเหลือลูกหนี้นอกระบบ ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง, ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.), สมาคมธนาคารไทย และสมาคมธนาคารนานาชาติ จึงร่วมกันออกมาตรการพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยให้แก่ลูกหนี้วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) และรายย่อยที่ได้รับผลกระทบโดยตรงทั่วประเทศเป็นเวลาอย่างน้อย 2 เดือน ตั้งแต่งวดการชำระหนี้เดือน ก.ค.หรือ ส.ค.เป็นต้นไป แล้วแต่กรณี
ด้านนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวในงานสัมมนาออนไลน์ “THAILAND ECONOMIC MONITOR เส้นทางสู่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ” ที่จัดโดยธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ว่า มาตรการช่วยเหลือและเยียวยาในระยะสั้นทั้งมาตรการด้านการเงิน ผ่านโครงการพักชำระหนี้ การปรับโครงสร้างหนี้ และยังเป็นโครงการที่ต้องทำต่อเนื่องในระยะยาว แม้ว่าปัจจุบันสถาบันการเงินและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะพักหนี้ให้เป็นเวลา 2 เดือน แต่เมื่อพิจารณาจากแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่อาจไม่ได้เร็วอย่างที่คิด รายได้ของผู้ประกอบการอาจไม่มีเข้ามาทันทีเพื่อชำระหนี้ได้ ดังนั้นต้องมาติดตามดูว่าการช่วยเหลือด้านการเงินจะยืดเวลาออกไปได้อีกหรือไม่ เพื่อให้เอสเอ็มอีทั้งในและนอกระบบมีลมหายใจต่อชีวิตการทำธุรกิจในระยะถัดไปได้
น.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปัจจุบันทวีความรุนแรงมากขึ้น ดังนั้นมาตรการด้านการคลังในช่วงนี้จึงเน้นช่วยเหลือและลดภาระค่าครองชีพให้ประชาชนอย่างครอบคลุมและรวดเร็วที่สุด ซึ่งนโยบายการคลังยังมีช่องว่างให้ดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจได้อยู่ โดยเม็ดเงินจากการกู้เงินตาม พ.ร.ก.กู้เงินฉุกเฉิน 1 ล้านล้านบาทได้ทยอยเบิกจ่ายใกล้ครบแล้ว และยังมีเม็ดเงินใหม่จาก พ.ร.ก.กู้เงินเพิ่มเติมอีก 5 แสนล้านบาทที่เตรียมพร้อมรองรับ ส่วนจำเป็นต้องกู้เงินเพิ่มเติมหรือไม่นั้นคงต้องดูตามความเหมาะสมและสถานการณ์ทางเศรษฐกิจด้วย โดยกรณีเลวร้ายหากต้องมีการกู้เงินเพิ่มเติมในสถานการณ์วิกฤติ ก็สามารถขยายเพดานหนี้สาธารณะเพิ่มจาก 60% ของจีดีพีได้ และในระยะถัดไปก็ต้องกลับมาดูเรื่องการสร้างวินัยทางการคลัง โดยการดำเนินการทั้งหมดต้องควบคู่ไปกับการกระจายวัคซีนอย่างทั่วถึงและรวดเร็ว ตรงนี้เป็นปัจจัยสำคัญ เพราะการถมเงินไปเรื่อยๆ ต้องไปคู่กันทั้งด้านเศรษฐกิจและด้านสาธารณสุข
นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเสถียรภาพระบบการเงิน ธปท. กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยช่วงนี้เหมือนเคราะห์ซ้ำกรรมซัด กำลังจะฟื้นตัวก็มาเจอการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ และยังมีข่าวร้ายเรื่องจัดหาวัคซีน แต่ยังมีความโชคดีที่ภาคการเงินเข้มแข็งในระดับหนึ่ง ทำให้ตอนนี้ภาคการเงินถือเป็นเสาหลักของเศรษฐกิจไทย และแม้หลายประเทศมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจนั้น แต่สำหรับไทยคงต้องบอกว่าอีกสักระยะ เพราะเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้ากว่าต่างประเทศมาก ดังนั้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจึงจำเป็นต้องอยู่ในระดับต่ำไปอีกนาน
ด้านนายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวถึงมาตรการพักชำระหนี้ 2 เดือน (ก.ค.-ส.ค.64) ว่า เป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเร่งด่วน ไม่ใช่การดูแลลูกหนี้ในระยะยาวที่ต้องดูแลการปรับโครงสร้างหนี้ให้สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ รวมทั้งเร่งสร้างรายได้และเสริมสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการ ลูกจ้าง และเร่งฉีดวัคซีนซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญ
“การพักชำระหนี้ 2 เดือนเป็นเพียงการเลื่อนการชำระออกไป หมดเวลาก็ต้องจ่าย ลูกหนี้ยังต้องจ่ายเงินต้น ดอกเบี้ยในงวดท้าย หรือเกลี่ยชำระในเงินงวดที่เหลือ ดังนั้นลูกหนี้รายที่ไม่ได้รับผลกระทบเดือดร้อน ยังมีกำลังจ่ายไหวก็ขอให้ชำระตามปกติ ส่วนจะขยายเวลามากกว่า 2 เดือนหรือไม่ หากสถานการณ์ระบาดยังไม่คลี่คลาย ธปท.ขอประเมินสถานการณ์โดยรวมอย่างใกล้ชิด” นายรณดลกล่าวและว่า ส่วนแนวคิดของรัฐบาลที่ต้องการให้ลดภาระดอกเบี้ย โดยปรับลดเพดานอัตราดอกเบี้ยลง ในประเด็นนี้ ธปท.มองว่าต้องคำนึงถึงหลายปัจจัย การลดดอกเบี้ยไม่ได้ตอบโจทย์การลดภาระหนี้ให้ลูกหนี้ และไม่ใช่เพียงแนวทางเดียวที่จะดูแลลูกหนี้ได้ ขณะเดียวกันยังส่งผลให้ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินและอาจต้องไปกู้นอกระบบ จึงต้องพิจารณาข้อดีข้อเสียให้รอบคอบ
น.ส.สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายและกำกับสถาบันการเงิน 2 ธปท. กล่าวว่า ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบไม่ว่าจะอยู่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุด 10 จังหวัด หรือนอกพื้นที่ควบคุม รวมทั้งลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรือทางอ้อม ต้องเข้าไปลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันของสถาบันการเงินที่จะขอรับความช่วยเหลือ ตั้งแต่วันที่ 19 ก.ค.-15 ส.ค.นี้
สำหรับความเคลื่อนไหวของธนาคารต่างๆ นั้น นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ระบุว่า ได้จัดทำ 2 มาตรการช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบโดยตรง คือลูกค้าทั้งที่เป็นนายจ้างและลูกจ้างในสถานประกอบการทั้งในพื้นที่ควบคุมและนอกพื้นที่ควบคุม ประกอบด้วยมาตรการพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นเวลา 3 เดือน ระหว่างวันที่ 1 ส.ค.-31 ต.ค.64
นายเอกชัย เตชะวิริยะกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ธนาคารได้ออกมาตรการเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือลูกค้าเอสเอ็มอีและรายย่อยที่ได้รับผลกระทบด้วยการพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยเป็นเวลา 2 เดือน โดยมีมาตรการสำหรับลูกค้าบุคคล 3 มาตรการ และมาตรการลูกค้าธุรกิจ 4 มาตรการ
นายพัชร สมะลาภา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ได้ออกโครงการพิเศษเงินกู้สู้ไปด้วยกัน อนุมัติง่าย อัตราดอกเบี้ย 3% พักชำระเงินต้น 3 เดือน วงเงินกู้สูงสุด 300,000 บาท ไม่ต้องมีหลักประกัน ฟรีค่าธรรมเนียมทุกประเภท ระยะเวลากู้สูงสุด 5 ปี ใช้แค่บัตรประชาชนใบเดียวก็กู้ได้ คาดหวังว่าจะช่วยร้านค้ารายย่อยให้เข้าถึงเงินกู้ได้ 35,000 ราย โดยเตรียมวงเงินสินเชื่อไว้ 3,500 ล้านบาท โดยสมัครได้ตั้งแต่วันนี้ถึง 15 ส.ค.
น.ส.ดวงกมล ลิมป์พวงทิพย์ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านลูกค้าธุรกิจ SME กล่าวว่า ธนาคารได้ออกมาตรการช่วยเหลือใหม่ให้ผู้ประกอบการธุรกิจ SME ทั้งขนาดกลาง ขนาดเล็กและขนาดย่อมสามารถพักชำระหนี้ได้เป็นเวลา 2 เดือนทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย เริ่มตั้งแต่เดือน ก.ค.เป็นต้นไป.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |