คุณค่าความเป็นมนุษย์ของเด็กพิเศษมิได้แตกต่างจากเด็กทั่วไป เด็กกลุ่มนี้ก็ต้องการมีสุขภาวะที่ดี ต้องการความภาคภูมิใจ ได้รับการยอมรับจากสังคม ในขณะเดียวกันก็ต้องการพึ่งพาตนเองได้ในอนาคตโดยไม่เป็นภาระของครอบครัว หรือเป็นปัญหาให้กับชุมชนที่ร่วมอาศัยอยู่
แต่ข้อเท็จจริงที่ปฏิเสธไม่ได้คือ การสอนเด็กที่มีความต้องการพิเศษให้มีพัฒนาการที่เหมาะสม เพื่อนำไปใช้ในชีวิตประจำวันอย่างปกติเฉกเช่นเด็กทั่วไปนั้น คนที่ทำหน้าที่ดูแลเด็กกลุ่มนี้จะต้องใช้ความรักความอดทนมากเป็นพิเศษ
ด้วยเล็งเห็นถึงประเด็นละเอียดอ่อนในการสร้างสุขภาวะของเด็กกลุ่มพิเศษเพื่อใช้ชีวิตอย่างมีความสุขเหมือนเด็กทั่วไปในสังคม เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงร่วมกับกรมพลศึกษา และมูลนิธินวัตกรรมสร้างสรรค์สังคม จัดเสวนาออนไลน์ที่โรงแรมปทุมวันปริ้นเซส พร้อมเปิดตัว "หลักสูตรผู้ฝึกสอนกิจกรรมทางกายสำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษ" ระดับประถมศึกษา (ประเภทความบกพร่องทางสติปัญญา) และ “คู่มือการสอนกิจกรรมทางกายสำหรับเด็กบกพร่องทางสติปัญญา (ฉบับผู้ปกครอง)"
ดร.นิวัตน์ ลิ้มสุขนิรันดร์ อธิบดีกรมพลศึกษา
ดร.นิวัตน์ ลิ้มสุขนิรันดร์ อธิบดีกรมพลศึกษา ในฐานะที่ปรึกษาโครงการสร้างเสริมสุขภาวะให้กับเด็กที่มีความต้องการพิเศษด้วยการใช้กิจกรรมทางกายเป็นสื่อ กล่าวว่า กิจกรรมทางกายมีส่วนสำคัญที่จะทำให้เด็กมีสุขภาวะที่ดี ทว่าตั้งแต่ปี 2561 ถึงปัจจุบันพบว่า โรงเรียนระดับประถมศึกษาหลายแห่งไม่มีครูที่จบสาขาวิชาพลศึกษาโดยตรง ทำให้ทักษะการทำกิจกรรมทางกายขั้นพื้นฐานในโรงเรียนถูกสอนแบบไม่ถูกต้อง จนทำให้เด็กบางคนมีพฤติกรรมต่อต้านไม่รักการออกกำลังกายและเล่นกีฬา
"การสอนกิจกรรมทางกายที่ถูกต้องให้เด็กพิเศษ จะช่วยให้เด็กมีสุขภาพแข็งแรง ช่วยกระตุ้นพัฒนาการด้านสติปัญญาเด็กได้ตรงจุด โดยครูพละที่เข้าร่วมอบรมจบหลักสูตรนี้จะได้รับประกาศนียบัตรจากกรมพลศึกษา"
นอกจากนี้ ยังได้จัดทำคู่มือการสอนกิจกรรมทางกายสำหรับเด็กบกพร่องทางสติปัญญา (ฉบับผู้ปกครอง) เพื่อให้ผู้ปกครองสามารถจัดกิจกรรมทางกายที่เหมาะสมกับบุตรหลานที่เป็นเด็กที่มีความต้องการพิเศษ โดยสามารถดาวน์โหลดคู่มือทั้ง 2 หลักสูตรได้ที่เฟซบุ๊กแฟนเพจ : พลศึกษาเพื่อสุขภาวะเด็กที่มีความต้องการพิเศษ
ภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส.
ภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กล่าวว่า จำนวนคนพิการที่จดทะเบียนปัจจุบันมีประมาณกว่า 2 ล้านคน สำหรับกลุ่มบุคคลที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ แบ่งเป็น 4 กลุ่มคือ ด้านจิตใจหรือพฤติกรรม ด้านสติปัญญา กลุ่มออทิสติก และด้านการเรียนรู้ ที่ผ่านมาพบว่า เด็กกลุ่มนี้มักไม่ได้รับบัตรคนพิการ เพราะไม่มีเอกสารทางการแพทย์รับรองความพิการตั้งแต่กำเนิด เนื่องจากประเภทความพิการของเด็กกลุ่มนี้ไม่แสดงอาการให้เห็นทางกายภาพ จึงต้องอาศัยเวลาประเมินความพิการ ทำให้เด็กกลุ่มนี้ได้รับบัตรคนพิการช้ากว่าคนพิการกลุ่มอื่นๆ โดยข้อมูลจากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ปี 2564 พบเด็กที่มีความต้องการพิเศษ กลุ่มพิการด้านสติปัญญา 142,667 คน ซึ่งปัจจุบันมีแนวโน้มว่าจะพบเด็กกลุ่มนี้เพิ่มจำนวนมากขึ้นจากปัจจัยต่างๆ ด้านสุขภาวะ
กว่าจะเป็น..คู่มือกิจกรรมเด็กพิเศษ
ภรณีเปิดเผยว่า สสส.ร่วมพัฒนาหลักสูตรผู้ฝึกสอนกิจกรรมทางกายฯ และคู่มือกิจกรรมทางกายฯ (ฉบับผู้ปกครอง) เพื่อทำให้เด็กที่มีความต้องการพิเศษทั่วประเทศได้รับความเป็นธรรมทางสุขภาพ ไม่ถูกละเลย หรือถูกเลือกปฏิบัติในรั้วโรงเรียนและสังคม โดยตั้งเป้าภายในปี 2565 ร่วมกับกรมพลศึกษา ผลักดันให้เกิดการจัดการอบรมขยายในวงกว้าง ให้ครูในโรงเรียนเรียนร่วมได้เพิ่มเติมศักยภาพในการสอนกิจกรรมทางกายได้อย่างถูกต้องตามหลักการ จนส่งผลให้เกิดสุขภาวะกับเด็กที่มีความต้องการพิเศษในโรงเรียนเรียนร่วมทั่วประเทศ และเผยแพร่คู่มือการสอนกิจกรรมทางกายสำหรับเด็กบกพร่องทางสติปัญญา (ฉบับผู้ปกครอง) ให้ถึงมือผู้ปกครองของเด็กที่มีความต้องการพิเศษ เพื่อผู้ปกครองจะได้มีส่วนในการพัฒนาสุขภาวะอย่างต่อเนื่องให้กับเด็กที่มีความต้องการพิเศษที่บ้านต่อไป
คู่มือการสอนกิจกรรมทางกายสำหรับผู้ปกครองดูแลเด็กที่บ้าน เพื่อให้เคลื่อนไหวส่วนต่างๆ ของร่างกาย เผาผลาญร่างกายด้วยการเดิน วิ่ง กระโดด เล่นกีฬา การออกกำลังกาย การขับเคลื่อนร่างกายนั้น มีการลงพื้นที่ ทดลองให้เด็กพิเศษร่วมเรียนกับเด็กปกติ ในสังกัดสำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้แก่ 1.โรงเรียนบ้านหนองกุง อุบลราชธานี 2.รร.บ้านหนองฮาง อุบลราชธานี 3.รร.สันป่าเหียง ลำพูน 4.รร.บ้านห้วยต้ม (รร.ชัยวงษาอุปถัมภ์) ลำพูน 5.รร.วัดหนองเสือ นครปฐม 6.รร.ราชวินิตประถม บางแค กทม. 7.รร.วัดขรัวช่วย นครศรีธรรมราช 8.รร.บ้านในกุ้ง นครศรีธรรมราช โดยเก็บข้อมูลจากครูสอนการศึกษา ครูพลศึกษา ศึกษาเด็กโรงเรียนร่วมสมรรถภาพเด็กพร่องทางสติปัญญาระดับประถมศึกษา
"การจัดทำคู่มือนี้ได้ขอความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญทั้ง 18 ท่าน มาช่วยสร้างความรู้ความเข้าใจให้ผู้ปกครอง เพื่อสร้างสุขภาวะให้กับเด็กเพื่อเกิดประโยชน์สูงสุด เด็กที่เรียนสอบได้ที่โหล่ก็ต้องสร้างความเข้าใจให้พื้นที่ เด็กมีความต้องการพิเศษ ครูต้องใช้ความรักความเข้าใจในการสอนให้เด็กกลุ่มนี้เรียนร่วมกับเด็กคนอื่นได้โดยไม่มีปัญหา เมื่อเด็กยังไม่เข้าใจ ตามเพื่อนไม่ทัน ก็ให้เพื่อนนักเรียนในชั้นเรียนคอยช่วยเหลือเพื่อนที่ยังเรียนไม่ทันเพื่อนๆ ครูต้องตระหนักในการรับบอลส่งบอลให้เด็กที่มีปัญหาได้รับการแก้ไข ทั้งหมดนี้อยู่ที่การใส่ใจของครู การที่เด็กจะพัฒนากล้ามเนื้อมัดใหญ่ กล้ามเนื้อมัดเล็กได้นั้น ครูต้องให้บทบาทกับเด็กในการทำกิจกรรมทางกายให้เทียบเท่าเด็กปกติ มีการฝึกซ้อมอยู่เสมอ การให้คะแนนเด็กด้วยการเปรียบเทียบในความพยายามของเด็กเป็นพิเศษ มีการเปรียบเทียบทั้งก่อนและหลังเวลาเรียน" ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส.กล่าว.
วิ่งๆเล่นๆวันละนิดพัฒนาสมอง
ผศ.ดร.เกษม นครเขตต์ ผู้เชี่ยวชาญด้านกิจกรรมทางกาย กล่าวว่า องค์การอนามัยโลกกำหนดว่าเด็กต้องมีกิจกรรมทางกายอย่างน้อย 60 นาทีต่อวัน เพราะร่างกายของเด็กกำลังเติบโต และต้องมีพัฒนาการเหมาะสม ถ้าเด็กที่มีความต้องการพิเศษขาดกิจกรรมทางกายอาจมีผลต่อพัฒนาการทางร่างกาย ดังนั้น วิชาพลศึกษาจึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่จะทำให้เด็กรู้สึกภาคภูมิใจ เมื่อประสบความสำเร็จในการมีกิจกรรมทางกาย สิ่งที่ครูผู้สอนและสังคมจะต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติใหม่คือ เมื่อในโรงเรียนมีเด็กที่มีความต้องการพิเศษร่วมชั้นเรียนในวิชาพลศึกษา ครูไม่ควรตัดโอกาสให้เด็กออกไปนั่งเฉยๆ แต่ต้องปรับกิจกรรมให้เข้ากับเด็ก เพราะงานวิจัยในต่างประเทศพบว่า เมื่อเด็กได้มีโอกาสได้วิ่งเล่นประมาณ 10-15 นาที จะเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาสมอง ไม่ควรให้เด็กนั่งเรียนนาน 14-15 ชั่วโมงเพียงอย่างเดียว และครูผู้ต้องเข้าใจว่าการวิ่งเล่นของเด็กคือสิทธิ ไม่ใช่หน้าที่ตามหลักสูตรเพื่อตอบสนองให้มีพัฒนาการที่ดี
"สถิติเด็กไทยไม่ถึง 1 ใน 4 มีกิจกรรมทางกายเพียงพอ เด็ก 75% โตขึ้นจะมีปัญหาได้เมื่อขาดกิจกรรมทางกาย องค์การสหประชาชาติสนับสนุนให้เด็กทุกคนได้เล่นออกกำลังกายเพื่อการมีสุขภาพที่ดี ไม่เฉพาะเด็กปกติเท่านั้น เด็กที่มีความต้องการพิเศษก็ควรได้รับสิทธินี้ด้วย ไม่ควรลิดรอนสิทธิโดยไม่รู้ตัว มีผลงานวิจัยเกี่ยวกับการออกกำลังกายการบริหารทางกายที่เพียงพอ “Exercise turn the brain on การออกกำลังกายจุดสมองให้ติดขึ้น”
พ่อแม่..ผู้คุมรีโมตชี้ทางสว่างให้ลูก
ศ.ดร.เจริญ กระบวนรัตน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา แสดงความเห็นว่า เด็กที่มีความต้องการพิเศษอาจควบคุมตัวเองไม่ได้เหมือนเด็กปกติ กิจกรรมทางกายจะช่วยกระตุ้นให้เด็กได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขของกิจกรรม เช่น เด็กต้องทำอะไร ทำอย่างไร ให้บรรลุเป้าหมาย ผ่านการทดสอบ ยก จับ หิ้ว เหวี่ยง ขว้าง ปา ซึ่งการทำกิจกรรมเหล่านี้จะทำให้รู้ได้ทันทีว่าเด็กต้องการได้รับการพัฒนาด้านใด ครูผู้สอนจึงจำเป็นต้องมีความรู้เพื่อนำไปพัฒนาทักษะเด็กให้ได้ตรงจุดผ่านกระบวนการออกแบบการเคลื่อนไหว เพราะครูเปรียบเสมือนโค้ชและนักจิตวิทยาที่คอยให้ข้อแนะนำ กระตุ้นให้เด็กทำในสิ่งที่ตัวเองชื่นชอบและถนัด สิ่งเหล่านี้ต้องอาศัยความรัก ความจริงใจในการดูแล รวมถึงผู้บริหารโรงเรียนต้องมีความรู้ความเข้าใจบริบทของเด็กที่มีความต้องการพิเศษด้วย ส่วนผู้ปกครองต้องเข้าใจในตัวของเด็กที่มีความต้องการพิเศษมากขึ้น ไม่ควรมองว่าเป็นปัญหา แต่ต้องให้ความเอาใจใส่ เพราะเรื่องของพัฒนาการเป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลาไม่ควรเพิ่มความกดดัน แต่ควรให้ความอบอุ่นกับเด็ก โดยจุดเริ่มต้นที่ดีที่สุดมาจากครอบครัว
เด็กจะมีความสนใจในการออกกำลังกายขึ้นอยู่กับพ่อแม่ให้ความสำคัญ เด็กทุกคนเหมือนหุ่นยนต์ถูกคอนโทรลโดยพ่อแม่ หน้าที่ครูสอนให้คำแนะนำ เด็กเรียนรู้ผ่านกิจกรรม ความเคลื่อนไหวเรียนรู้จากความเป็นจริง พ่อแม่คอยระแวดระวังไม่ให้เกิดอันตราย ไม่ให้เด็กมีพฤติกรรมก้าวร้าว เมื่อเขาล้มก็ต้องปล่อยเขาล้ม จากนั้นเขาจะระมัดระวังตัวไม่ยอมล้มอีก เด็กเรียนรู้โดยพ่อแม่คอยให้กำลังใจ เด็กไทยเมื่อล้มพ่อแม่จะเข้าไปโอ๋ ทำให้เขาตกใจ ต้องปล่อยให้เด็กล้ม ปล่อยให้เขาเรียนรู้ที่จะแก้ไขปัญหาด้วยตัวเอง ถ้าเด็กไม่มีโอกาสได้คิด ไม่มีกระบวนการตัดสินใจ แยกไม่ออกว่าอะไรควร หรืออะไรไม่ควร เพราะพ่อแม่ทำให้หมดทุกอย่าง เด็กทำอะไรไม่เป็น มีแต่ข้อมูลอ่านหนังสือเยอะ แต่ไม่ได้ใช้ความรู้เท่าที่ควรจะเป็น สะท้อนให้เห็นถึงระบบการศึกษา
ครูพละ..ต้องเข้าถึงเข้าใจเด็กพิเศษ
ผศ.ดร.มยุรี ศุภวิบูลย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านพลศึกษาสำหรับเด็กพิเศษ ตอกย้ำว่า หลักสูตรนี้จะเติมเต็มศักยภาพให้ครูพลศึกษาในโรงเรียน เพราะจะทำให้ครูเปลี่ยนแนวคิดและจุดมุ่งเน้นในการเรียนการสอน เน้นการสร้างพัฒนาการและการเคลื่อนไหวของเด็กเป็นหลัก ในเนื้อหาจะแนะนำวิธีการสอนให้เหมาะสม เพื่อทำให้เด็กไม่ต่อต้านการทำกิจกรรมทางกายและป้องกันการไม่ชอบเล่นกีฬา นอกจากนี้จะทำให้ครูรู้จักวิเคราะห์สภาพแวดล้อมในโรงเรียน เพื่อส่งเสริมกิจกรรมทางกายรูปแบบใหม่ๆ ให้กับเด็ก เน้นให้เด็กปฏิบัติกิจกรรมได้ รับฟังคำสั่งได้ และสามารถสื่อสารได้ ซึ่งบางครั้งอาจจะไม่ใช่คำพูด แต่เป็นกิริยาท่าทาง
ความหมายของการบกพร่องทางสติปัญญา คือระดับ IQ สติปัญญาต่ำกว่าเกณฑ์คือต่ำกว่า 70 ในขณะที่คนทั่วไปอยู่ในระดับ 100 การมีทักษะ 2 ใน 10 ด้าน ในด้านการสื่อสารและการดูแลตนเองได้ ดูแลสุขภาพให้เกิดความปลอดภัย เด็กที่บกพร่องทางสติปัญญาตั้งแต่อยู่ในท้องและหลังคลอดมีหลายกลุ่ม กลุ่มดาวน์ซินโดรมมีความผิดปกติของโครโมโซมคู่ที่ 21 มีลักษณะเฉพาะเห็นได้อย่างชัดเจน การเคลื่อนไหว มีโรคประจำตัว โรคหัวใจ
ครูพลศึกษาจะสังเกตมองเห็นเด็กกลุ่มนี้ได้ เด็กมีปัญหาการเรียน การรับฟังคำอธิบายได้ล่าช้า กิจกรรมทางกายสอดคล้องกับสติปัญญา การก้าวเดินก้าวสั้นๆ การก้าวยาวๆ ก้าวกระโดดทั้งหมดนี้ต้องมีการฝึกสอน
ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าเด็กมีความบกพร่องรุนแรงหรือไม่ การส่งเด็กกลุ่มนี้เรียน รร.ร่วมที่เป็นต้นแบบในกรณีที่เป็นระดับปานกลางและน้อย เด็กสามารถเรียนจนจบชั้นประถมปลายได้ แต่ถ้าเป็นระดับรุนแรงมากต้องฝึกฝนทักษะการใช้ชีวิต ตั้งแต่การปวดท้องจะถ่าย หรือหิว ต้องฝึกเป็นขั้นตอน การเรียนคู่ขนานเด็กที่มีความต้องการพิเศษ เป็นการเรียนต่างหาก สติปัญญาปานกลางถึงระดับต่ำอยู่ในชั้นเรียนคู่ขนาน.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |