สภาพชุมชนริมคลองลาดพร้าวจากเดิมเป็นชุมชนเสื่อมโทรม ปัจจุบันเป็นชุมชนใหม่ที่ดูสวยงาม มีทางเดินและจักรยานเลียบคลอง
ข้อมูลจากสำนักการระบายน้ำ กทม. ระบุว่า ในพื้นที่กรุงเทพฯ มีคลอง คู ลำกระโดง รวมกัน 1,980 สาย ความยาวรวมประมาณ 2,700 กิโลเมตร ในจำนวนนี้ถูกรุกล้ำ 1,161 สาย มีสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำประมาณ 23,500 หลัง !!
หลังน้ำท่วมใหญ่ในกรุงเทพฯ ปี 2554 รัฐบาลจึงมีแผนงานการแก้ไขสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำลำคลองในกรุงเทพฯ เนื่องจากเห็นว่าเป็นอุปสรรคในการระบายน้ำลงสู่คลอง โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน น้ำจากท่อระบายน้ำทิ้งส่วนใหญ่จะไหลและถูกสูบลงคลอง แต่การระบายน้ำไม่มีประสิทธิภาพ เพราะมีสิ่งปลูกสร้างกีดขวางทางเดินน้ำในลำคลอง โดยจะมีการรื้อย้ายบ้านเรือนที่รุกล้ำลำคลอง เพื่อก่อสร้างเขื่อนระบายน้ำในคลอง ขุดลอกคลองให้ลึกและกว้างกว่าเดิม
แต่กว่าจะดำเนินการได้ก็ล่วงเข้าไปในสมัยของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เริ่มดำเนินการในคลองลาดพร้าวเป็นคลองแรกในปี 2559 โดยรัฐบาล คสช. ได้จัดตั้ง ‘คณะกรรมการบริหารจัดการสิ่งก่อสร้างรุกล้ำลำน้ำสาธารณะ’ มีพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มอบหมายให้กรุงเทพมหานครรับผิดชอบการสร้างเขื่อนระบายน้ำ และให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ จัดทำแผนงานพัฒนาที่อยู่อาศัยรองรับชาวชุมชนริมคลองที่ต้องรื้อย้ายออกจากแนวคลองและแนวเขื่อน
การขยายตัวของชุมชนริมคลองลาดพร้าว
คลองลาดพร้าว มีความยาวประมาณ 22 กิโลเมตร เชื่อมกับคลองแสนแสบบริเวณอุโมงค์ระบายน้ำพระราม 9 (ใกล้ทางด่วนเอกมัย-รามอินทรา) เขตวังทองหลาง ไหลผ่านวัดลาดพร้าว วัดบางบัว ตลาดสะพานใหม่ จนถึงประตูระบายน้ำคลองสองสายใต้ เขตสายไหม ตลอดคลองลาดพร้าวสองฝั่งมีชุมชนตั้งอยู่เรียงราย จำนวน 50 ชุมชน บางชุมชนอยู่อาศัยต่อเนื่องมานานไม่ต่ำกว่า 60-70 ปี
สำเนียง บุญลือ วัย 65 ปี ผู้นำชุมชนพิบูลร่วมใจ 2 ริมคลองลาดพร้าว (หลังโรงเรียนพิบูลอุปถัมภ์ ถนนลาดพร้าว) บอกว่า เมื่อก่อนแถวห้วยขวางและลาดพร้าวเป็นทุ่งนาทั้งหมด ครอบครัวของตนก็ทำนามาตั้งแต่รุ่นพ่อแม่ แต่ไม่มีที่ดินเป็นของตัวเอง ต้องเช่านาทำ เมื่อก่อนริมคลองใกล้วัดลาดพร้าวยังมีโรงสีข้าว-รับซื้อข้าว 2 โรง ตอนหลังเมื่อบ้านเมืองเจริญขึ้น ราวปี 2520 แถวลาดพร้าว-ห้วยขวางเริ่มมีอาคารพาณิชย์ มีหมู่บ้านจัดสรรต่างๆ เกิดขึ้น เจ้าของที่นาจึงขายที่ดิน คนที่เคยทำนาก็ต้องเลิก ลูกหลานเปลี่ยนไปทำงานรับจ้าง โรงสีก็หมดไป
"ชุมชนที่ผมอยู่ คนดั้งเดิมก็จะเป็นชาวนานี่แหละ มาอาศัยปลูกบ้านอยู่ริมคลอง เพราะตอนนั้นยังเป็นที่รกร้าง ราชการยังไม่เข้ามาดูแล น้ำในคลองยังสะอาด ผักปลาก็หากินในคลอง ไม่อดอยาก ตอนหลังราวปี 2526 บ้านเรือนในชุมชนเริ่มหนาแน่น เพราะคนที่อยู่ก่อนก็ไปชักชวนญาติพี่น้องจากต่างจังหวัดมาอยู่ มาทำงานหากินในกรุงเทพฯ ตอนหลังจึงเริ่มมีบ้านเช่าในชุมชน เพราะมีโรงงาน มีคนงานมาอยู่ บ้านเรือนจึงหนาแน่นขึ้น” ลุงสำเนียงบอก
ชุมชนพิบูลร่วมใจ 2 เป็นตัวอย่างการขยายตัวของชุมชนริมคลอง เพราะกรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางของทุกสิ่ง จึงเป็นเสมือนแม่เหล็กยักษ์ที่ดึงดูดความหวังของผู้คนทั่วสารทิศให้มารวมกันอยู่ที่นี่ บางชุมชนย่านดอนเมืองเคยเป็นที่พักของแรงงานก่อสร้างสนามบินมาก่อน เมื่อหมดงาน แรงงานส่วนหนึ่งจึงปลูกสร้างบ้านอยู่ริมคลองใกล้แคมป์งานเดิม จนภายหลังจึงกลายเป็นชุมชนหนาแน่น
ชุมชนลาดพร้าวช่วงใกล้ ม.ราชภัฏพระนคร ก่อนการปรับปรุง
ปัจจุบันมีชุมชนที่ปลูกสร้างบ้านเรือนอยู่ริมคลองลาดพร้าวตลอดสองฝั่งคลอง จำนวน 50 ชุมชน รวม 7,069 ครัวเรือน อยู่ในพื้นที่ 8 เขต เช่น วังทองหลาง ห้วยขวาง หลักสี่ บางเขน ดอนเมือง สายไหม ฯลฯ ส่วนใหญ่เป็นที่ดินริมคลองหรือที่ดินราชพัสดุ กรมธนารักษ์ดูแล สภาพบ้านเรือนก่อนการปรับปรุงส่วนใหญ่มีสภาพทรุดโทรมและแออัด เพราะพื้นที่ริมคลองมีความคับแคบ ชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพรับจ้าง แรงงาน พนักงานบริษัทเอกชน ค้าขายเล็กๆ น้อยๆ ขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้าง แท็กซี่ ฯลฯ
บ้านใหม่-ชีวิตใหม่ของชาวชุมชนริมคลองลาดพร้าว
การก่อสร้างเขื่อนคอนกรีตระบายน้ำในคลองลาดพร้าว ความยาวทั้งสองฝั่งประมาณ 45 กิโลเมตร กรุงเทพมหานครว่าจ้างบริษัทเอกชน วงเงินก่อสร้างจำนวน 1,645 ล้านบาท จากริมคลองลาดพร้าว บริเวณคลินิกศูนย์แพทย์พัฒนา เขตวังทองหลาง ไปยังประตูระบายน้ำคลองสองสายใต้ เขตสายไหม เริ่มต้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2559
ขณะที่การพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองลาดพร้าว ในเดือนมีนาคม 2559 คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติงบประมาณจำนวน 4,061 ล้านบาท ให้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ หรือ พอช. นำไปดำเนินการใน 50 ชุมชน รวม 7,069 ครัวเรือน เริ่มก่อสร้างบ้านชุมชนแรกที่ชุมชนศาลเจ้าพ่อสมบุญ (ตรงข้ามตลาดสะพานใหม่) เขตสายไหม ในเดือนเมษายนปีเดียวกัน จำนวน 64 ครัวเรือน ส่วนใหญ่เป็นบ้านแถว 2 ชั้น ก่อสร้างด้วยคอนกรีต ขนาด 4 X 6 ตารางเมตร ราคาก่อสร้างตั้งแต่ 187,000 - 367,000 บาท ก่อสร้างแล้วเสร็จทั้งหมดในปี 2560
สภาพชุมชนศาลเจ้าพ่อสมบุญปี 2559 ก่อนการรื้อย้ายสร้างใหม่
อวยชัย สุขประเสริฐ ประธานชุมชนศาลเจ้าพ่อสมบุญ บอกว่า ก่อนการก่อสร้างบ้านใหม่ ชาวบ้านส่วนใหญ่ยังไม่เชื่อว่ารัฐบาลและหน่วยงานต่างๆ จะเข้ามาสนับสนุนโครงการนี้อย่างจริงจัง เพราะชาวบ้านได้บุกรุกที่ดินริมคลองปลูกสร้างบ้านกันมานานหลายสิบปี จึงกลัวว่าจะถูกไล่ที่มากกว่า แต่ใจจริงทุกคนก็อยากจะได้บ้านใหม่ และอยู่อาศัยอย่างถูกต้อง เพราะจะได้เช่าที่ดินจากกรมธนารักษ์ระยะยาว เมื่อเจ้าหน้าที่ พอช.เข้ามาให้คำแนะนำการรวมกลุ่ม การจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ จึงร่วมกันออมทรัพย์เป็นทุน ครอบครัวละ 500 -600 บาทต่อเดือน
“ตอนนี้ชุมชนของเราเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ แต่เดิมบ้านส่วนใหญ่จะทรุดโทรมเพราะสร้างกันมานาน สะพานไม้ก็ผุพัง เด็กๆ ไม่มีที่วิ่งเล่น ขยะก็ทิ้งลงในคลอง น้ำก็เน่าเหม็น พอเริ่มสร้างบ้านใหม่เป็นชุมชนนำร่อง เราก็ต้องรื้อบ้านที่ปลูกล้ำในคลองออกมา หน่วยงานต่างๆ ก็เข้ามาสนับสนุน ช่วยสร้างสนามเด็กเล่น มีเครื่องออกกำลังกาย มีถังบำบัดน้ำเสียรวม มีการคัดแยกขยะ ช่วยกันปลูกต้นไม้ริมคลอง ชุมชนของเราก็ดูสวยงาม ไม่เป็นชุมชนแออัดเหมือนแต่ก่อน” อวยชัยบอกถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
ชุมชนศาลเจ้าพ่อสมบุญหลังการสร้างเสร็จในปี 2560
นอกจากการเปลี่ยนแปลงด้านกายภาพและสิ่งแวดล้อมแล้ว แกนนำในชุมชนต่างๆ ยังรื้อฟื้นการใช้ประโยชน์จากลำคลองเพื่อใช้เป็นเส้นทางคมนาคมทางน้ำขึ้นมาเหมือนในอดีตด้วย
จำรัส กลิ่นอุบล ผู้นำชุมชนซอยลาดพร้าว 45 บอกว่า เมื่อก่อนในคลองลาดพร้าวชาวบ้านยังใช้เรือพายไปมาหาสู่กัน เวลามีงานบุญก็จะพายเรือไปวัดลาดพร้าว ตอนหลังถนนหนทางสะดวกขึ้น ชาวบ้านจึงเลิกใช้เรือ อีกทั้งเมื่อประมาณ 20 ปีก่อนยังมีเรือหางยาววิ่งรับส่งผู้โดยสารจากตลาดสะพานใหม่ไปพระโขนง แต่ยังไม่ได้รับความนิยมจากผู้โดยสาร แถมยังโดนชาวบ้านร้องเรียนเพราะเรือวิ่งเร็วและเสียงดัง ลูกคลื่นไปกระแทกเสาเรือนชาวบ้าน เรือโดยสารจึงต้องเลิกวิ่ง
“พวกผมเริ่มฟื้นฟูคลองลาดพร้าวขึ้นมาก่อนที่จะมีการก่อสร้างเขื่อนฯ โดยร่วมกันล่องเรือไปทอดกฐินและทำบุญที่วัดลาดพร้าว ร่วมกันจัดงานลอยกระทง ปลูกแฝกเพื่อกรองน้ำเสียในคลอง และมีแผนล่องเรือท่องเที่ยวในคลองลาดพร้าว รวมทั้งเดินเรือโดยสารในคลองด้วย โดยเฉพาะในถนนลาดพร้าวเชื่อมต่อกับรัชดาภิเษก รถติดมานานหลายปี หากเดินเรือจาก วัดลาดพร้าวเข้าไปในคลองบางซื่อก็จะไปเชื่อมต่อสถานีรถไฟฟ้ารัชดาฯ ใช้เวลาไม่ถึง 10 นาที หากไปทางรถไม่ต่ำกว่าครึ่งชั่วโมง” จำรัสบอก และว่า ที่ผ่านมาชุมชนได้รับบริจาคเรือโดยสารขนาดเล็กจากภาคเอกชนพร้อมใช้งาน 2 ลำ แต่ต้องรอให้การก่อสร้างเขื่อนฯ ในคลองลาดพร้าวเสร็จก่อนจึงจะเดินหน้าต่อไปได้
บ้านมั่นคงของคนริมคลอง
ธนัช นฤพรพงศ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ หรือ พอช. ชี้แจงว่า โครงการบ้านมั่นคงริมคลองลาดพร้าว เป็นการดำเนินการตามโครงการ ‘บ้านมั่นคง’ ซึ่ง พอช.ทำโครงการบ้านมั่นคงเพื่อแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อยทั่วประเทศมาตั้งแต่ปี 2546 หลักการสำคัญคือ ให้ชาวชุมชนริมคลองรวมกลุ่มกันแก้ไขปัญหา เป็นการ พัฒนาแนวใหม่ ไม่ใช่รูปแบบของการสงเคราะห์หรือหน่วยงานรัฐเข้าไปสร้างบ้านให้ชาวบ้านแบบให้เปล่า แต่ให้ชุมชน หรือชาวบ้านมีส่วนร่วมและเป็นแกนหลักในการแก้ไขปัญหา เช่น รวมกลุ่มกันโดยจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมา เพื่อสำรวจข้อมูลปัญหาและความต้องการ ช่วยกันออกแบบบ้าน วางผังชุมชน จัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์และสหกรณ์เคหสถานเพื่อเป็นทุนในการสร้างบ้านหรือจัดซื้อที่ดิน และร่วมกันบริหารโครงการ ฯลฯ โดยมีหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนให้การสนับสนุนด้านความรู้และความช่วยเหลือ เช่น พอช. ส่งสถาปนิกเข้าไปให้คำแนะนำแก่ชุมชน เรื่องการออกแบบบ้าน ออกแบบผังชุมชน กรมส่งเสริมสหกรณ์เข้าไปให้ความรู้เรื่องการจัดตั้งสหกรณ์เคหสถาน กรมธนารักษ์ให้ชุมชนเช่าที่ดินในอัตราผ่อนปรนระยะยาว ครั้งละ 30 ปี ฯลฯ
ชุมชนริมคลองบางซื่อ (ติดถนนรัชดาภิเษก) เชื่อมต่อกับคลองลาดพร้าวร่วมรื้อย้ายบ้านออกจากแนวคลองและเขื่อนเพื่อสร้างบ้านใหม่
ส่วนรูปแบบในการดำเนินโครงการบ้านมั่นคงริมคลอง คือ 1. หากชุมชนใดสามารถอยู่ในที่ดินเดิมได้ (หลังจากสำรวจและวัดแนวเขตว่าพ้นจากแนวเขื่อนฯ แล้ว) จะต้องทำสัญญาเช่าที่ดินจากกรมธนารักษ์ ระยะเวลาช่วงแรก 30 ปี อัตราค่าเช่าประมาณ 1.25 - 4 บาท/ตารางวา/เดือน โดยทุกครอบครัวจะได้รับที่ดินเท่ากัน ขนาดบ้านประมาณ 4x6 - 4x8 ตารางเมตร มีทั้งบ้านชั้นเดียวและ 2 ชั้น (บางชุมชนมี 3 ชั้น) ขึ้นอยู่กับความต้องการของชาวบ้านและความสามารถในการผ่อนชำระสินเชื่อ (ประมาณเดือนละ 1-3 พันบาทเศษ)
โดย พอช.จะสนับสนุน 1.สินเชื่อก่อสร้างบ้านไม่เกิน 330,000 บาท/ครัวเรือน (กรณีสร้างบ้านในชุมชนเดิม) ระยะเวลาผ่อน 20 ปี ดอกเบี้ยร้อยละ 4 บาทต่อปี และสนับสนุนงบประมาณสร้างสาธารณูปโภค-เงิน อุดหนุน 147,000 บาท/ครัวเรือน
2.หากชุมชนใดมีพื้นที่ไม่เพียงพอ ชาวบ้านอาจจะรวมตัวกันไปหาที่ดินแปลงใหม่ที่อยู่ไม่ไกลจากชุมชนเดิม เพื่อความสะดวกในการประกอบอาชีพ การเดินทาง เช่น ที่ดินของบริษัทในสังกัดกระทรวงการคลัง หรือที่ดินเอกชน โดย พอช.จะสนับสนุนสินเชื่อเพื่อซื้อที่ดินและสร้างบ้านครัวเรือนละไม่เกิน 360,000 บาท
ส่วนการสร้างบ้านนั้น ชุมชนจะคัดเลือกบริษัทหรือผู้รับเหมามาสร้างบ้านทั้งชุมชน มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อดำเนินการ เช่น สืบราคา จัดซื้อวัสดุ ตรวจสอบ จัดทำบัญชี ฯลฯ เพื่อให้การก่อสร้างบ้านและการบริหารโครงการเป็นไปด้วยความโปร่งใส
ชุมชนใหม่-ชีวิตใหม่ ชุมชนริมคลองลาดพร้าวประชาอุทิศ เขตห้วยขวาง มีพื้นที่ว่างตามแนวสันเขื่อนกว้าง 3 เมตรใช้เป็นทางเดิน ขี่จักรยานเลียบคลองและสันทนาการ
สำหรับชาวชุมชนที่ด้อยโอกาส ผู้สูงอายุ ไม่มีรายได้ ที่ผ่านมามีหลายชุมชนที่ชาวบ้านร่วมกันลงขันครัวเรือนละ 1,000 บาท เพื่อสร้างบ้านกลางให้เป็นที่อยู่อาศัยของผู้ด้อยโอกาส เช่น ชุมชนศาลเจ้าพ่อสมบุญ, ชุมชน กสบ.หมู่ 5 เขตสายไหม, ชุมชนหลัง ว.ค.จันทรเกษม เขตจตุจักร ฯลฯ
ปัจจุบัน (กรกฏาคม 2564) พอช.สนับสนุนการก่อสร้างบ้านในชุมชนริมคลองลาดพร้าวแล้ว 35 ชุมชน รวม 3,536 ครัวเรือน (ร้อยละ 50.02 ของกลุ่มเป้าหมายทั้งหมด) แยกเป็น 1.บ้านที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ 3,065 ครัวเรือน 2.บ้านที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 132 ครัวเรือน และ 3. พื้นที่รื้อย้ายแล้วพร้อมก่อสร้างบ้าน 339 ครัวเรือน
พลิกโฉมคลองเปรมประชากร
คลองเปรมประชากรเป็นคลองสายแรกที่ขุดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 เพื่อร่นระยะเวลาในการล่องเรือจากกรุงเทพฯ-บางปะอิน (จ.พระนครศรีอยุธยา) รวมทั้งเพื่อขยายพื้นที่ทำนาสองฝั่งคลองออกไป มีความยาวประมาณ 50 กิโลเมตร กว้าง 12 เมตร แต่ปัจจุบันสภาพลำคลองตื้นเขิน น้ำเน่าเสีย มีสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำลำคลองเป็นจำนวนมาก ทำให้กีดขวางทางเดินของน้ำ การระบายน้ำในคลองเปรมฯ จากทางตอนเหนือของกรุงเทพฯ ลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาและอ่าวไทยล่าช้าไม่มีประสิทธิภาพ ทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมขัง
สภาพคลองเปรมประชากรปี 2560 ก่อนการพัฒนา
รัฐบาลจึงมีแนวทางแก้ไขปัญหาบ้านเรือนปลูกสร้างรุกล้ำลำคลองเหมือนกับคลองลาดพร้าว โดยการก่อสร้างเขื่อนระบายน้ำ อุโมงค์ระบายน้ำและบำบัดน้ำเสีย ปรับทัศนียภาพชุมชนริมคลอง-พัฒนาชีวิตชาวชุมชน ส่งเสริมอาชีพ การท่องเที่ยวทางน้ำ รวมทั้งเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมรถ-ราง (ไฟฟ้า) -เรือ เริ่มดำเนินการในปี 2562-2570 ขณะนี้การก่อสร้างเขื่อนระบายน้ำดำเนินการไปแล้วบางช่วง
ขณะที่ พอช. ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้จัดทำแผนงานพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองเปรมฯ ทั้งหมด 38 ชุมชน รวม 6,386 ครัวเรือน ในเขตจตุจักร หลักสี่ ดอนเมือง และใน จ.ปทุมธานี ซึ่งชุมชนเหล่านี้สามารถอยู่อาศัย ในที่ดินเดิมได้ทั้งหมด แต่จะต้องรื้อบ้านออกจากพื้นที่ริมคลองและแนวก่อสร้างเขื่อนฯ เพื่อปรับผังชุมชนแล้วก่อสร้างบ้านใหม่เพื่อให้ทุกครอบครัวอยู่ในชุมชนเดิมได้ โดย พอช.จะสนับสนุนชุมชนเช่นเดียวกับโครงการบ้านมั่นคงคลองลาดพร้าว
เริ่มก่อสร้างบ้านใหม่ที่ชุมชนประชาร่วมใจ 2 เขตจตุจักร เป็นชุมชนแรก เมื่อต้นเดือนมกราคม 2563 โดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเดินทางมาเป็นประธานในพิธียกเสาเอกสร้างบ้านจำนวน 193 หลัง
พลเอกประยุทธ์ นายกฯ ประธานพิธียกเสาเอกสร้างบ้านชุมชนแรกในคลองเปรมฯ เมื่อ 13 มกราคม 2563
นางสมร จันทร์ฉุน ผู้นำชาวชุมชนประชาร่วมใจ 2 กล่าวว่า โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองเปรมฯ พอช.สนับสนุนงบประมาณครัวเรือนละ 147,000 บาท เพื่อก่อสร้างสาธารณูปโภค อุดหนุนการสร้างบ้าน และงบสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย วงเงินครัวเรือนละไม่เกิน 360,000 บาท ผ่อนชำระ 20 ปี อัตราดอกเบี้ยคงที่ 4%
ส่วนแบบบ้านมีหลายขนาดเพื่อให้ชาวชุมชนได้ร่วมออกแบบและเลือกให้ตรงกับความต้องการ ส่วนใหญ่เป็นบ้านแถว เช่น บ้านแถวชั้นเดียว ขนาด 4 X 7 ตารางเมตร ราคา 290,000 บาท ผ่อนชำระเดือนละ 1,500 บาท บ้านแถวสองชั้น ขนาด 4 X 7 ตารางเมตร ราคา 450,000 บาท ผ่อนชำระเดือนละ 2,600 บาท บ้านแถวสองชั้น ขนาด 5 X 6 ตารางเมตร ราคา 450,000 บาท ผ่อนชำระเดือนละ 2,600 บาท ระยะเวลาผ่อนชำระ 20 ปี ขณะนี้ก่อสร้างบ้าน193 หลังแล้วเสร็จและชาวบ้านเข้าอยู่อาศัยแล้ว
บ้านใหม่ริมคลองเปรม ฯ ของชาวชุมชนประชาร่วมใจ 2 เขตจตุจักร
นางปัทมา อาทรมนัสชุม ชาวชุมชนประชาร่วมใจ 2 บอกว่า รู้สึกดีใจมากเพราะพวกเราอยู่กันที่นี่มา 40-50 ปีแล้ว ไม่มีใครอยากย้ายไปที่ไหน ตรงนี้เหมือนเป็นชีวิตและเป็นครอบครัวของเรา การเข้าร่วมโครงการบ้านมั่นคงทำให้บ้านของเราถูกกฎหมาย อยู่ได้โดยไม่หวาดระแวง และหวังว่าเรื่องยาเสพติดจะน้อยลง เพราะเมื่อพื้นที่พัฒนาขึ้น สังคมก็จะพัฒนาขึ้นไปด้วย
“พอได้บ้านใหม่ตรงนี้ สิ่งที่เรารู้สึกได้คือการพัฒนาคุณภาพชีวิต ไปถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน จากแต่ก่อนที่เคยอยู่กันแบบไม่มีระเบียบ ใครอยากทำอะไรก็ทำ เพราะเป็นสังคมแออัด ไม่ค่อยมีความเกรงใจกัน แต่พอเริ่มสร้างบ้านขึ้นมาใหม่ เราได้มีการวางกฎระเบียบเพื่อรักษาสังคมของเราให้น่าอยู่มากยิ่งขึ้น ต่อไปสิ่งที่เราอยากจะพัฒนาก็คือ การสร้างอาชีพให้ชุมชนว่าตรงนี้เปรียบเสมือนหัวใจของชุมชน มีลานกีฬา มีตลาด เราอยากจะจัดทำตลาดชุมชน เพื่อในอนาคตเมื่อมีการส่งเสริมเรื่องการท่องเที่ยวชุมชน ชุมชนเราจะได้มีอาชีพ มีรายได้ที่มั่นคง” นางปัทมากล่าว
ปัจจุบัน (กรกฎาคม 2564) พอช.สนับสนุนการสร้างบ้านใหม่แล้ว 4 ชุมชน (มีทั้งบ้านชั้นเดียวและสองชั้น ขนาด 4x7 และ 5x6 ตารางเมตร ตามขนาดพื้นที่ของชุมชน) รวม 668 ครัวเรือน (ร้อยละ 10.46 ของกลุ่มเป้าหมายทั้งหมด) แยกเป็น 1.บ้านที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ 196 ครัวเรือน 2.บ้านที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 457 ครัวเรือน และ 3.พื้นที่รื้อย้ายพร้อมก่อสร้างบ้าน 15 ครัวเรือน
แบบร่างอุโมงค์ระบายน้ำและบำบัดน้ำเสียในคลองเปรมฯ ก่อนจะผันลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อระบายน้ำ ป้องกันน้ำท่วม
ขณะที่พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารจัดการสิ่งก่อสร้างรุกล้ำลำน้ำสาธารณะ มีคำสั่งล่าสุดเมื่อกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อเดินหน้าโครงการต่างๆ ที่ยังติดขัด เช่น คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการฟื้นฟูและพัฒนาพื้นที่คลองลาดพร้าว คลองเปรมฯ และคลองแสนแสบ โดยมีปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นประธาน ฯลฯ เพื่อให้การพัฒนาคลองทั้งระบบแล้วเสร็จตามแผนงานภายในปี 2570 นี้
อีกไม่กี่ปีข้างหน้า คลองสายสำคัญในกรุงเทพฯ จะต้องพลิกโฉมเปลี่ยนแปลงอย่างแน่นอน ที่สำคัญคือคุณภาพชีวิตของชาวชุมชนริมคลองจะต้องดีขึ้นด้วย !!
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |