16 ก.ค.64 - ที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ถ.นครไชยศรี ศาลอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีฟอกเงินการทุจริตเงินจัดสรรงบประมาณ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) หมายเลขดำ อท.520/2563 ที่พนักงานอัยการสำนักงานคดีปราบปราบการทุจริต 4 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายสังคม สังฆะพัฒน์ อายุ 50 ปี หรืออดีตพระเมธีสุทธิกร หรืออดีตพระราชอุปเสณาภรณ์ อดีตผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร , นายเทอด วงศ์ชอุ่ม อายุ 50 ปี หรืออดีตพระวิจิตรธรรมาภรณ์หรือเจ้าคุณเทอด อดีตผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศฯ และนายทวิช สังข์อยู่ อายุ 46 ปี ซึ่งเกี่ยวข้องกับ บริษัท ดีดีทวีคูณ ที่รับผลิตสื่อให้กับวัดสระเกศฯ เป็นจำเลยที่ 1-3 ในความผิดฐานร่วมกันฟอกเงินที่ได้มาจากการกระทำความผิดมูลฐานฯ และเป็นเจ้าพนักงานร่วมกันฟอกเงินฯตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 3,5,10,60 พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 มาตรา 23,45 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83,91
คดีนี้ อัยการโจทก์ ยื่นฟ้องกรณีที่มีการทุจริตเงินงบประมาณสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ หรือ พศ. ในการจัดสรรเงินอุดหนุนการศึกษาโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา 10 ล้านบาทให้วัดสระเกศฯ จากงบประมาณปี 2557 ทั้งหมด 72 ล้านบาท ทั้งที่วัดสระเกศฯ ไม่มีโรงเรียนแผนกสามัญศึกษา จึงไม่มีสิทธิได้รับงบนี้ โดยอดีตพระทั้ง 2 รูป ที่มีอำนาจในการปกครองคณะสงฆ์ ซึ่งมีสถานะเป็นเจ้าพนักงานตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ได้ร่วมกันลงชื่อเบิกถอนเงินจากบัญชีวัดสระเกศฯ โดยมีนายทวิช จำเลยที่ 3 เป็นผู้รับมอบอำนาจ เมื่อปี 2558 ไปใช้ในกิจการอื่น ทั้งที่เป็นงบประมาณแผนสำหรับอุดหนุนการศึกษาโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา
ต่อมา โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องว่าขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1-2 เป็นพระสงฆ์ จำเลยที่ 1 มีสมณศักดิ์ชื่อพระเมธีสุทธิกรจำเลยที่ 2 มีสมณศักดิ์ชื่อพระวิจิตรธรรมาภรณ์ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศราชวรมหาวิหารมีหน้าที่ช่วยเหลือเจ้าอาวาสดูแลบำรุงรักษาวัด และจัดกิจการศาสนสมบัติของวัด ตลอดจนปกครองและสอดส่องให้บรรพชิตและคฤหัสถ์ที่อยู่หรือพักอาศัยในวัดให้ปฏิบัติตามพระธรรมวินัยกฎข้อบังคับระเบียบหรือคำสั่งของมหาเถรสมาคม ซึ่งตำแหน่งของจำเลยที่1-2 เป็นตำแหน่งในการปกครองคณะสงฆ์จึงมีสถานะเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญาและคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 มาตรา 23,45 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83,41
จำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นได้ พิพากษาให้จำคุกจำเลยที่ 1-2 คนละ 6 ปี 24 เดือน ปรับคนละ 168,000 บาท
อย่างไรก็ตาม จำเลยที่ 1-2 ไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน จึงให้รอการลงโทษไว้มีกำหนดคนละ 1 ปี ยกฟ้องจำเลยที่ 3
จำเลยที่ 1-2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนปรึกษาหารือกันแล้วเห็นว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1-2 ว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1-2 เป็นคดีหรือไม่ ข้อเท็จจริงที่โจทก์ขอแก้ไขคำฟ้องเข้ามาใหม่ภายหลังที่ได้ยื่นคำฟ้องต่อศาลแล้วโดยกล่าวหาว่าจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ทำหนังสือมอบอำนาจให้จำเลยที่ 3 ถอนเงินออกจากบัญชี วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร จำนวน 10 ล้านบาท เป็นทรัพย์สินที่นายพนม ศรศิลป์ ผอ.สำนักพระพุทธศาสนา กับพวกรวม 4 คนได้มาจากการกระทำความผิดต่อหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญาหรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่น เพิ่งปรากฏในชั้นพิจารณา
จากคำให้การปฏิเสธฟ้องโจทก์ของจำเลยทั้งสาม ไม่ได้มีมาตั้งแต่ชั้นสอบสวน ทั้งเป็นการแก้ไขคำฟ้องในข้อเท็จจริงอันเป็นความผิดมูลฐานที่เกิดจากการกระทำความผิดของ นายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาคนก่อน ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในขณะนั้นกับพวกรวม 5 อันเป็นความผิดมูลฐานตามที่สอบสวนไว้เดิมนั้นเป็นคนละคนกับนายพนม เป็น ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาคนหลังที่ร่วมกับพวกรวม 4 คนกระทำความผิดต่อหน้าที่ตำแหน่งราชการ
ที่ขอแก้ฟ้อง ทั้งเงินที่โอนเข้าบัญชีก็เป็น เช็คคนละฉบับกัน เป็นงบประมาณจัดสรรให้คนละโครงการกัน ซึ่งมีวัตถุประสงค์แตกต่างกันและคนละปีงบประมาณ อันเป็นมูลเหตุที่สาระสำคัญของ การกระทำความผิดฐานฟอกเงิน ต่างกรรมต่างวาระกัน เป็นเหตุการนอกเหนือไปจาก การที่พนักงานสอบสวน ได้สอบสวนและแจ้งข้อกล่าวหาอันเป็นความผิดมูลฐาน ตามคำฟ้องเดิม และเป็นสาระสำคัญแก่คดี ไม่ได้เป็นเพียงรายละเอียดบางส่วน ซึ่งต้องแถลงในฟ้องให้ถูกต้อง ตามข้อเท็จจริงดังที่โจทก์อ้างมาในคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้อง ทั้งไม่เป็นเรื่องที่เกี่ยวและสืบเนื่องมาจาก การกระทำความผิด ฐานฟอกเงินตามที่พนักงานสอบสวน ทำการสอบสวนมาแต่แรก ตามคำแก้อุทธรณ์ของโจทก์แต่อย่างใด
ประกอบกับจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ได้ยื่นคำร้องคัดค้านว่าการแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องของโจทก์เป็นการเพิ่มเติมมูลฐานความผิดและทำให้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 หลงข้อต่อสู้พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่าจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธฟ้องโจทก์โดยถือเอาข้อกล่าวหาอันเป็นความผิดมูลฐานตามฟ้องเดิมเป็นหลักสำคัญในการต่อสู้คดี การขอแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องของโจทก์จึงเป็นการทำให้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 เสียเปรียบ และหลงต่อสู้ในชั้นที่ผิด หรือที่ไม่ได้กล่าวไว้ จึงไม่ชอบที่ศาลชั้นต้น มีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์แก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องไปเช่นนั้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 164 ประกอบพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ.2559 มาตรา 6 วรรคหนึ่ง แม้โจทก์จะมีคำสั่งให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนเพิ่มเติมจากนั้นจึงขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องเข้ามาภายหลัง ก็เป็นการไม่ชอบและขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 120 และมาตรา 143 ประกอบพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบพ. ศ. 2559 มาตรา 6 วรรคหนึ่ง
อันเป็นผลเท่ากับว่าโจทก์ฟ้องคดีโดยไม่ได้มีการสอบสวนในความผิดนั้นมาก่อน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 เป็นคดีนี้ได้ ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 มานั้น ศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบไม่เห็นด้วย อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ในข้อนี้ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่าให้ยกฟ้องโจทก์ สำหรับจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |