นายกฯ ปัดระงับการใช้วัคซีน "ผสมสูตร" โยนคณะแพทย์ชี้แจง กก.วัคซีนแห่งชาติ อ้างองค์การอนามัยโลกเห็นว่าประเทศไหนมีข้อมูลวิชาการในการใช้วัคซีนสามารถทำได้ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ มีมติให้จัดหาวัคซีน mRNA และรูปแบบอื่น 120 ล้านโดสในปี 65 ไฟเขียวจำกัดส่งออก "แอสตร้าฯ เร่งเจรจาผู้ผลิต" เพิ่มโควตาให้ไทยจากเดิม 1 ใน 3 ของยอดการผลิต อภ.แจ้งความเอาผิด “ลอย-หมอบุญ” แพร่ข้อมูลเท็จการจัดซื้อโมเดอร์นา "เพื่อไทย" กังขาสูตรวัคซีนใหม่หากผิดพลาดใครรับผิดชอบ "ไทยสร้างไทย" เดินหน้าฟ้องนายกฯ-ผู้เกี่ยวข้อง
ที่ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 14 กรกฎาคม พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงว่า ข้อมูลการฉีดวัคซีนวันที่ 13 ก.ค. มีจำนวน 322,488 โดส ทำให้มียอดฉีดวัคซีนสะสม 13,230,681 โดส หากดูเฉพาะ กทม. ตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ. มีการฉีดไปแล้ว 4.2 ล้านโดส ทำให้ประชากรใน กทม.ได้รับวัคซีนเข็มแรกไป 43.61% เข็มสอง 11.92% แต่การควบคุมการแพร่ระบาดต้องฉีดวัคซีนให้ได้ 70% ของประชากร การระดมฉีดเข็มหนึ่งจึงจำเป็นต้องทำให้มากขึ้น โดยกรมควบคุมโรคเน้นย้ำเพิ่มวัคซีนในพื้นที่ กทม. จะระดมฉีดปลายสัปดาห์นี้ถึงต้นสัปดาห์หน้าให้ได้ 5 แสนโดส และเพิ่มให้ได้ 1 ล้านโดสภายในสองสัปดาห์นี้ ซึ่งกลุ่มเป้าหมายของ กทม. คือการฉีดวัคซีนให้ผู้สูงอายุ และกลุ่มโรคประจำตัว ปัจจุบันมีการฉีดเข็มแรกให้ผู้สูงอายุไปแล้ว 30.50% สำหรับ 7 กลุ่มโรค ฉีดเข็มแรกไป 44.20% แต่ยังไม่ถึงเป้าหมายที่อยากฉีดให้ได้อย่างน้อย 50% จึงจะเร่งฉีดให้ได้มากขึ้น
นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม มีนโยบายเน้นการจัดหาและฉีดวัคซีนให้ประชาชนโดยเร็วที่สุด ในขณะเดียวกันก็ได้มีการเก็บสถิติในการฉีดวัคซีนโดยคณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าการฉีดวัคซีนแม้ไม่ป้องกันการติดเชื้อได้ 100% แต่สามารถลดความรุนแรงและลดการเสียชีวิตได้เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรัง
นายอนุชากล่าวถึงการใช้วัคซีนผสมสูตรว่า สิ่งสำคัญในช่วงเวลานี้คือการเร่งฉีดให้ได้มากที่สุดและเร็วที่สุด เพราะสายพันธุ์เดลตามีการระบาดที่รุนแรง และติดต่อได้ง่ายกว่าที่ผ่านมา และกำลังเป็นปัญหาทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยที่พบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งวัคซีนทุกชนิดสามารถลดความรุนแรงและลดความเสี่ยงเสียชีวิต ส่วนการวิจัยในไทยนั้นก็เป็นอีกแนวทางแก้ปัญหาหนึ่งที่แสดงถึงความพยายามของคณะแพทย์ของไทยที่ไม่หยุดคิด ไม่ยอมแพ้กับปัญหา ครั้งนี้ก็พยายามเอาชนะสายพันธุ์เดลตา ซึ่งก็ต้องพยายามหาทุกวิถีทางที่ดีที่สุด และทำอย่างเป็นระบบ และหวังว่าจะประสบความสำเร็จจนเป็นที่ยอมรับน่าเชื่อถือแล้วนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในที่สุด
"โดยรัฐบาลเปิดกว้างและส่งเสริมให้มีการแสวงหาทางแก้ปัญหาที่ดีที่สุด สิ่งสำคัญคือรัฐบาลจะต้องให้ความรู้อย่างรอบด้านแก่ประชาชน ดังนั้นนายกรัฐมนตรีไม่มีนโยบายที่จะระงับการใช้วัคซีนผสมสูตรแต่อย่างใด และขอให้ทุกฝ่ายรับฟังความเห็นของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ในกรณีวัคซีนผสมสูตร/สลับสูตร เพื่อนำมาพิจารณาอย่างถี่ถ้วนด้วย"
ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลก (WHO) โดยหัวหน้านักวิทยาศาสตร์, โสมยา สวามีนาธาน ได้ให้ข้อสังเกตว่า “ประชาชนไม่ควรตัดสินใจเองในเรื่องนี้ แต่ควรเป็นการตัดสินใจของหน่วยงานของรัฐด้านสาธารณสุข บนพื้นฐานของข้อมูลที่มีอยู่ ทั้งในส่วนของภูมิคุ้มกันและความปลอดภัยเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องนำมาพิจารณา”
ต่อมานายอนุชาชี้แจงอีกครั้งถึงความสับสนในเรื่องการใช้วัคซีนผสมสูตร โดยระบุว่า นายกรัฐมนตรีได้ขอให้คณะแพทย์ที่เกี่ยวข้องได้ชี้แจงเพิ่มเติม เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลในรายละเอียดที่ชัดเจนต่อไป
ลดส่งออกวัคซีนแอสตร้าฯ
ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ และ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงภายหลังการประชุมคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ โดยนพ.นครกล่าวว่า ที่ประชุมให้ความเห็นชอบกรอบในการจัดหาวัคซีนโควิด-19 สำหรับประชาชนในปี 2565 เป็นจำนวนอีก 120 ล้านโดส โดยให้มีการจัดหาวัคซีนในรูปแบบ mRNA วัคซีน รูปแบบเวกเตอร์ และรูปแบบอื่นๆ ที่เหมาะสมกับสถานการณ์การแพร่ระบาดจำนวนซัพพลายของตัววัคซีน และให้คำนึงถึงวัคซีนที่ตอบสนองต่อการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสที่จะมีขึ้นต่อไปด้วย โดยเป้าหมายในการจัดหาเพื่อให้วัคซีนมีเพียงพอสำหรับการฉีดให้กับประชากร ผู้ที่ยังเข้าไม่ถึงวัคซีน และฉีดเพิ่มเติมสำหรับกรณีที่ต้องได้รับการกระตุ้นภูมิคุ้มกันในปีถัดไป รวมทั้งเตรียมสำรองวัคซีนไว้สำหรับการใช้ในกรณีที่เกิดการระบาดด้วย นอกจากนี้ยังมีมติให้กรมควบคุมโรคและสถาบันวัคซีนแห่งชาติ เร่งดำเนินการจัดหาวัคซีนสำหรับปี 2564 ให้ได้ตามเป้าหมาย 100 ล้านโดส
นพ.นครกล่าวอีกว่า ในส่วนของการพิจารณาตัวร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข ภายใต้มาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ พ.ศ.2561 ในการกำหนดสัดส่วนการส่งออกวัคซีนไวรัสติดเชื้อโคโรนา 2019 ภายนอกราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว ซึ่งที่ประชุมได้อภิปรายกันอย่างกว้างขวาง โดยพิจารณาถึงผลกระทบและความเป็นไปได้ รวมทั้งยังมีองค์ประกอบอื่นๆ ที่ต้องมีการพิจารณาต่อไปข้างหน้า ทำให้ที่ประชุมเห็นชอบในหลักการที่จะให้มีการออกประกาศดังกล่าว
“โดยเวลานี้มอบให้ฝ่ายเลขานุการคือสถาบันวัคซีนแห่งชาติ และกรมควบคุมโรค พิจารณาทบทวนในเนื้อหาของร่างประกาศดังกล่าว พิจารณาถึงผลกระทบ และผลประโยชน์ในด้านต่างๆ ที่จะมีต่อประเทศและประชาชนเป็นหลัก และให้ดำเนินการเจรจาอย่างเต็มที่กับผู้ผลิตวัคซีน ให้ได้จำนวนวัคซีนที่เหมาะสมกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคภายในประเทศไว้ก่อน และเมื่อได้ผลประการใด ก็ให้กลับมารายงานให้ที่ประชุมพิจารณา ทั้งในรื่องผลการเจรจา กับผู้ผลิตวัคซีนเพื่อให้มีการส่งมอบให้กับประเทศไทย และเนื้อหาของประกาศนั้น เพื่อให้ที่ประชุมให้ความเห็นชอบต่อไป” นพ.นครกล่าว
เมื่อถามถึงกรณีนายกรัฐมนตรีให้มีการพิจารณาในเรื่องคำเตือนขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่ประชุมได้มีการพิจารณาเรื่องนี้หรือไม่ นพ.โอภาสกล่าวว่า ไม่ได้มีการพิจารณาในเรื่องนี้ แต่จะมีคณะกรรมการวิชาการตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อแห่งชาติ 2558 อย่างไรก็ตาม WHO เห็นว่าถ้าหน่วยงานสาธารณสุขแต่ละประเทศมีข้อมูลวิชาการสนับสนุนในการเลือกใช้วัคซีนแบบใดแบบหนึ่งก็ถือว่าสามารถดำเนินการได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ เหตุการณ์ของแต่ละประเทศ ไม่ได้บอกว่าถือว่ามีความอันตรายหรือว่าห้ามทำ
เมื่อถามอีกว่า ที่ผ่านมาได้มีการกำหนดหรือไม่ว่าวัคซีนแต่ละสัปดาห์ที่เขาจะส่งมาให้เรา หรือแต่ละเดือนจะต้องได้สัดส่วนเท่าใดสำหรับวัคซีนที่ผลิตภายในประเทศ นพ.นครกล่าวว่า ปัจจุบันแนวทางของการจัดสรรอยู่ 1 ใน 3 ของกำลังการผลิตที่เกิดขึ้นในประเทศ เพราะยอดการสั่งซื้อของเราอยู่ในประมาณสัดส่วน 1 ใน 3 ของยอดกำลังการผลิตโดยรวมทั้งหมด ซึ่งเขาจะจัดส่งวัคซีนให้ไม่น้อย 1 ใน 3 ของกำลังการผลิตในแต่ละช่วงเวลาเพราะการผลิตวัคซีนไม่ได้มีจำนวนที่ตายตัวในแต่ละช่วงเวลาซึ่งขึ้นอยู่กับกำลังการผลิต
นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ มีมติปรับสูตรการให้วัคซีนโควิด-19 ว่า รับทราบเรื่องแล้ว แต่ สธ.ยังไม่ได้มีข้อสั่งการ หรือแนวทางการปฏิบัติในรายละเอียดไปให้จังหวัดรับทราบ ดังนั้น จะมีการประชุมผู้บริหาร สธ.และนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) ทั่วประเทศ เพื่อแจ้งพื้นที่ให้รับทราบมติและแนวปฏิบัติ ขณะนี้ยืนยันว่า ทุกอย่างยังยึดตามมติของคณะกรรมการโรคติดต่อฯ ที่ให้ฉีดวัคซีนซิโนแวคเข็มแรก จากนั้น 3 สัปดาห์ จึงฉีดเข็มที่ 2 เป็นวัคซีนแอสตร้าฯ แต่การฉีดวัคซีนสูตรใหม่ ยังมีรายละเอียดอื่นๆ อีก เช่น ต้องฉีดให้กับประชาชนอายุเท่าไรจึงจะเหมาะสม ซึ่ง สธ.กำลังจัดทำรายละเอียดอยู่ คาดว่าจะมีการเผยแพร่ให้ทราบทั่วกันในเร็วๆ นี้
อภ.เอาผิด"ลอย-หมอบุญ"
องค์การเภสัชกรรมออกแถลงการณ์ ระบุว่า ได้แจ้งความดำเนินคดีตามกฎหมายต่อพนักงานสอบสวน สน.พญาไท เพื่อดำเนินการเอาผิดกับนายลอย ชุนพงษ์ทอง และ นพ.บุญ วนาสิน ประธานกรรมการบริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ในข้อหา “หมิ่นประมาทผู้อื่นด้วยการโฆษณา อันเป็นเหตุให้องค์การเภสัชกรรมได้รับความเสียหาย” เมื่อวันที่ 13 ก.ค. เนื่องจากนายลอย และ นพ.บุญนำข้อมูลซึ่งไม่ตรงกับข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการจัดซื้อวัคซีนโมเดอร์นาโดยกล่าวหาองค์การเภสัชกรรมในฐานะผู้แทนภาครัฐที่ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ประสานงานจัดซื้อจัดหาวัคซีนโมเดอร์นาให้กับสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ว่า ดำเนินภารกิจนี้โดยมุ่งแสวงหาผลกำไรสูงสุดจากประชาชน ซึ่งเป็นข้อมูลอันเป็นเท็จก่อให้เกิดความเข้าใจผิดและความเสียหายต่อองค์การเภสัชกรรม
ทั้งนี้ องค์การเภสัชกรรมยืนยันว่า เป็นหน่วยงานภาครัฐที่เป็นตัวแทนจัดซื้อจัดหาวัคซีนทางเลือกโมเดอร์นา เพื่อให้ประชาชนได้มีวัคซีนทางเลือกเพิ่มขึ้น โดยมิได้มุ่งแสวงหาผลกำไร
ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า ขณะนี้ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ยังไม่มีนโยบายให้ฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มที่ 1 และเข็มที่ 2 ต่างชนิดกัน เนื่องจากเป็นวัคซีนใหม่ที่ใช้ในภาวะฉุกเฉินเท่านั้น โดยแนะนำให้ฉีดวัคซีนชนิดเดียวกันทั้ง 2 เข็มตามที่บริษัทผู้ผลิตได้รับอนุญาต “ยกเว้น” ผู้อยู่ในโครงการศึกษาวิจัย หรือกรณีผู้ฉีดแพ้หรือมีอาการข้างเคียงรุนแรงจากการฉีดวัคซีนเข็มแรกสามารถให้วัคซีนต่างชนิดกันในเข็มที่ 2 ได้ถ้าแพทย์เห็นสมควร
ทั้งนี้ หากท่านไม่ให้ข้อมูลที่สมบูรณ์และหลีกเลี่ยง เพื่อให้ได้รับวัคซีนต่างชนิดหรือวัคซีนเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันก่อนเวลาที่เหมาะสม ทางราชวิทยาลัยฯ จะไม่รับผิดชอบผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นทั้งทางตรงและทางอ้อม และการประกันอาจไม่คุ้มครองการรักษาพยาบาลที่เกิดจากอาการข้างเคียงหลังการฉีดวัคซีน
ด้าน ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เปิดเผยว่า หลังจัดสรรวัคซีนป้องกันโควิด-19 ซิโนฟาร์มให้กับองค์กรต่างๆ แล้ว รอบใหม่จะจัดสรรให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเปิดให้ประชาชนทั่วไปจองผ่านแอปพลิเคชัน ที่จะเปิดให้ดาวน์โหลดและจองในวันที่ 15-16 ก.ค.ที่จะถึงนี้ โดยในล็อตแรกจะให้จอง 30,000-50,000 คน จากนั้นจึงจะเปิดให้จองอีกครั้งหลังผ่านไป 4-5 วัน ทั้งนี้ ราคาที่จะเปิดจองจะไม่เกินเข็มละ 888 บาท เท่ากับราคาที่องค์กรต่างๆ ได้ไปก่อนหน้านี้ หากเป็นไปได้ จะทำให้ราคาต่ำกว่านี้ อย่างไรก็ตาม กำลังมองหาวัคซีนสำหรับอนาคตที่มีความสามารถในการป้องกันไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ เพราะต้องมีการฉีดวัคซีนกระตุ้นภูมิเป็นระยะๆ ซึ่งทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ได้จองไว้บ้างแล้ว
"ไทยสร้างไทย" ฟ้องนายกฯ
จากกรณีที่มีภาพกำลังพลกองร้อยส่งทางอากาศที่เดินทางไปร่วมการฝึกกระโดดร่มทางยุทธศาสตร์ (Strategic Airborne Operation) กับกองทัพบกสหรัฐ ณ Fort Bragge รัฐนอร์ทแคโรไลนา ระหว่างวันที่ 10-26 ก.ค.64 ที่สนามบินไปเผยแพร่และบิดเบือนโดยกล่าวหาว่าเดินทางไปฉีดวัคซีนไฟเซอร์เข็ม 3 และใช้ภาษีประชาชนเป็นค่าตั๋วเครื่องบินในการเดินทางนั้น พล.อ.ณรงพันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผบ.ทบ. ได้มอบหมายให้ พล.อ.พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ ผู้ช่วย ผบ.ทบ. ทำหน้าที่แทนดำเนินการแจ้งความเอาผิดกับบุคคลที่นำภาพไปบิดเบือน จนทำให้กองทัพบกเกิดความเสียหาย พร้อมให้ พ.อ.ณครสม เนาวบุตร ผู้อำนวยการกองคดี สำนักพระธรรมนูญทหารบก เข้าแจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีกับบุคคลล็อตแรก 9 ราย ประกอบด้วย ผู้ในเฟซบุ๊ก 8 ราย, ทวิตเตอร์ 1 ราย และจะมีการทยอยแจ้งความกับบุคคลอื่นเพิ่มเติมอีก ข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา โทษจำคุก 2 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ
น.ส.อรุณี กาสยานนท์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่รัฐมีแนวคิดฉีดวัคซีนโควิด-19 สลับชนิด เข็มที่ 1 เป็นซิโนแวค เข็มที่ 2 เป็นแอสตร้าเซนเนก้า ว่าหากรัฐตัดสินใจใช้วิธีการนี้ ถ้ามีผลข้างเคียงเกิดขึ้นกับประชาชน รัฐบาลจะรับผิดชอบอย่างไร เพราะประชาชนไม่ใช่หนูทดลองของพวกท่าน หากรัฐปรับการฉีดตามวิธีการนี้ เท่ากับว่ารัฐบาลยอมว่าวัคซีนซิโนแวคไม่มีประสิทธิภาพพอที่จะป้องกันเชื้อโควิดได้ แต่รัฐบาลไม่ระงับการสั่งซื้อ กลับเพิ่มจำนวนวัคซีนดังกล่าว ทำให้ประเทศต้องสูญเงินไปอีกกว่า 6 พันล้านบาท
ที่พรรคไทยสร้างไทย ได้เชิญนายนรินท์พงศ์ จินาภักดิ์ นายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย มาร่วมหารือกับนายโภคิน พลกุล และนายวัฒนา เมืองสุข แกนนำพรรคไทยสร้างไทย ในประเด็นมติครม. เมื่อวันที่ 6 ก.ค. เห็นชอบให้กรมควบคุมโรคสั่งซื้อวัคซีนซิโนแวคเพิ่มเติมอีกจำนวน 10.9 ล้านโดส ในวงเงินประมาณ 6,100 ล้านบาท โดยใช้จ่ายจากเงินกู้ภายใต้แผนงานที่ 1.2 ตามบัญชีท้าย พ.ร.ก.
หลังจากหารือที่ประชุมมีมติว่า เมื่อการควบคุมโรค การป้องกันโรค และการรักษาพยาบาลเป็นหน้าที่ของรัฐ การที่รัฐปล่อยให้มีการแพร่ระบาดหลายครั้งป้องกันโรคล้มเหลวและไม่สามารถให้การรักษาพยาบาลประชาชนได้อย่างทั่วถึง คือหน้าที่ความรับผิดชอบโดยตรง ปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ซึ่งสามารถดำเนินการได้ 2 ทาง คือร้องต่อ ป.ป.ช. ตามมาตรา 234 (1) ของรัฐธรรมนูญ หรือประชาชนสามารถใช้สิทธิฟ้องผู้ที่เกี่ยวข้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ โดยภายในระยะเวลาเพียง 6 วัน มีประชาชนเข้าชื่อแสดงความเห็นให้ฟ้องรัฐบาลถึง 650,000 ชื่อ เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของประชาชน พรรคไทยสร้างไทยจึงขอให้นายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย ทำหน้าที่เป็นทนายความฟ้องผู้ที่เกี่ยวข้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ
"ที่ประชุมเห็นว่าควรฟ้องผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรงในแต่ละประเด็น และนายกฯ รวมทั้งเป็นผู้รับผิดชอบ ตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน นายกสมาคมฯ จะดำเนินการร่างฟ้องและพิจารณาผู้เสียหายที่จะเป็นโจทก์ฟ้องคดีแทนประชาชนที่เข้าชื่อมาทั้งหมดเพื่อให้การดำเนินคดีเป็นไปโดยสะดวก รวดเร็ว และชอบด้วยกฎหมายต่อไป".
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |