สารพัดเรื่อง รัฐอย่านิ่ง จัดการโควิด-19ระบาด


เพิ่มเพื่อน    

ทุกวันนี้การดำเนินการบริหารและจัดการเกี่ยวกับการแพร่ระบาดเชื้อโคโรนา 2019 เกิดสารพัดปัญหา
    เช่น ล่าสุดกรณีปรับแผนฉีดวัคซีน คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ มีมติให้ฉีดเข็มที่สามเพื่อกระตุ้นประสิทธิภาพให้กับกลุ่มคนที่รับวัคซีนซิโนแวคครบสองเข็ม โดยเฉพาะฉีดให้กับบุคลากรทางการแพทย์ที่เป็นด้านหน้าที่สำคัญที่สุด
    หรือแม้แต่มติให้ฉีดซิโนแวคเป็นเข็มที่หนึ่ง และให้ฉีดแอสตร้าเซนเนก้าเป็นเข็มที่สอง รวมถึงการจะอนุญาตให้ประชาชนหาซื้อชุดแอนติเจน เทสต์ คิต มาตรวจด้วยตัวเอง
    มติเหล่านี้เข้าใจว่าเกิดจากแรงกดดันจากสังคม แต่ก็ไม่ควรพูดเร็ว จนกว่าจะได้แนวทางที่สมบูรณ์แบบ แต่เมื่อแจ้งให้สังคมทราบแล้ว เรื่องนี้ก็ต้องเลยตามเลย และแน่นอนว่าสังคมเกิดปฏิกิริยาตอบโต้ขึ้นทันที มีการถามต่อยอด บางฝ่ายก็ออกมาด่าทอ เพราะหงุดหงิดกับความครึ่งๆ กลางๆ ของหน่วยงานรัฐ ไร้แนวทางที่ชัดเจน
    ฉะนั้น เมื่อหมอใหญ่ “นพ.ยง ภู่วรวรรณ” หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกมาแถลงเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (13 ก.ค.) ต่อประเด็นต่างๆ จึงกลายเป็นหนังหน้าไฟ โดนถล่มเละเทะ    
    เกิดดรามาในโลกโซเชียลจำนวนมาก ทั้งข่าวจริง ข่าวปลอมผสมมั่วไปหมด ตัดตอนคำพูดของ “หมอยง” ผสมโรงกับข่าวขององค์การอนามัยโลกที่ออกมาแตะเบรกว่าไม่แนะนำให้ฉีดเข็มหนึ่งและเข็มสองแบบไขว้สูตร
    กระทั่งเมื่อวานนี้ พญ.โสมยา สวามินาธาน หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ขององค์การอนามัยโลก ออกมาขยายความว่า “ไม่ใช่เรื่องที่บุคคลใดบุคคลหนึ่งจะสามารถตัดสินใจได้เอง ว่าเมื่อใดจะฉีดวัคซีนเข็มที่สอง เข็มที่สาม หรือแม้แต่เข็มที่สี่ รวมถึงจะสามารถฉีดวัคซีนข้ามยี่ห้อและคนละเทคโนโลยีได้หรือไม่ เรื่องแบบนี้ต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขผู้เชี่ยวชาญ บนพื้นฐานของข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่มีอยู่”
    เป็นอันว่าประเด็นไฟลุกฉีดวัคซีนไขว้สูตรจึงมอดลง
    ทว่า สังคมก็ยังถามหาแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการฉีดเข็มที่สามให้กับผู้ที่ฉีดซิโนแวคครบสองเข็มว่าจะฉีดเมื่อไหร่
    เข้าใจได้ว่ายังไงก็ต้องฉีดไฟเซอร์ หรือแอสตร้าเซนเนก้า แก่แพทย์ พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ก่อนอยู่แล้ว แต่สำหรับบุคคลทั่วไปจะฉีดได้เมื่อใด ไม่ใช่แถลงเพียงว่าจะฉีดเข็มที่สามแล้วจบเอาดื้อๆ
    การปล่อยให้ประชาชนต้องตัดสินใจจองหรือไม่จองวัคซีนทางเลือกกับโรงพยาบาลเอกชนเพื่อเป็นเข็มบูสเตอร์ก็ต้องคิดหนัก เพราะมีค่าใช้จ่ายถึงเข็มละ 1,650 บาท ถ้าฉีด 2 เข็ม ปาไป 3,300 บาท ตัวเลขนี้ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ เพราะประชาชนกำลังประสบกับรายรับที่หดหาย
    นอกจากนี้ เรื่องการอนุมัติให้ใช้ชุดตรวจหาเชื้อเบื้องต้นด้วยตัวเอง หรือ “แอนติเจน เทสต์ คิต” ถือเป็นเรื่องที่ดีมาก ทำได้เร็วเท่าไหร่ ก็แปลว่ายิ่งเป็นการลดความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัสได้เร็วเท่านั้น
    ที่ผ่านมาจะเห็นการรายงานเสมอว่าเมื่อตั้งเต็นท์ตรวจโควิดเชิงรุกฟรีที่ไหน ประชาชนแห่ไปปักหลักพักค้างแรม นอนตากฝนริมถนน เพื่อเอาคิวตรวจ ถ้าเกิดหาซื้อ “แอนติเจน เทสต์ คิต” ได้สะดวกเมื่อไหร่ จะเป็นการดี
    แต่ไม่วาย เมื่อมีข่าวว่ารัฐจะให้หาซื้อได้ กระบวนการฉวยโอกาสก็มาทันที เริ่มมีการโก่งราคาเหมือนสมัยระบาดระลอกแรกที่หน้ากากอนามัยมีการกักตุนสินค้าจนราคาแพงหูฉี่ จึงหวังว่าจากนี้เป็นต้นไป รัฐ กระทรวงพาณิชย์จะมีวิธีจัดการก่อนปัญหาจะซ้ำรอย
    บางฝ่ายถึงขั้นเสนอให้แจกฟรีไปเลย เพื่อดัดหลังพวกหัวหมอเอาเปรียบบนความทุกข์ยากของชาวบ้าน เหมือนกับต่างประเทศที่ใครต้องการตรวจ ต้องได้ตรวจ สามารถเดินเข้าไปขอรับชุดตรวจได้ที่ร้านขายยา หรือคลินิก หรือสถานที่ที่รัฐคิดว่ามีความเหมาะสม
    อีกประเด็นสำคัญที่เป็นอุปสรรคในการควบคุมการแพร่ระบาด หน่วยงานรัฐทราบหรือไม่ว่าตามตลาดนัดต่างๆ ตลาดขายส่ง เช่น สำเพ็ง หรือแม้ในตลาดออนไลน์ มีการจำหน่ายหน้ากากอนามัยปลอมที่ไม่ได้มาตรฐานเพียบ
    โดยขณะนี้ที่ฮิตกันคือ หน้ากากอนามัยเกาหลี 3 มิติ ด้วยรูปทรงและราคาถูกเกินจริงกว่าราคาท้องตลาด จึงเป็นที่นิยมมาก รวมถึงหน้ากากอนามัยญี่ปุ่น มีวางขายสนนราคากล่องละ 70-80 บาท มี 50 ชิ้น สินค้าเหล่านี้คือสินค้านำเข้า แต่เหตุใดจึงนำมาขายในราคาที่ถูกเกินจริง
    หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เข้าไปดูแล ควบคุมหรือไม่ เกิดสินค้าไม่ได้มาตรฐานจะส่งผลเสียต่อภาพรวมในการควบคุมโรค ผู้บริโภคซื้อไปใช้หรือได้รับจากการบริจาค นำไปสวมใส่ก็เปล่าประโยชน์ เพราะป้องกันโควิด-19 ไม่ได้
    เวลานี้ในเมืองหลวงของประเทศไทยวิกฤติตั้งแต่การตรวจหาเชื้อ รถรับ-ส่งผู้ป่วย ยันเตียงเต็ม แนวคิดรับผู้ป่วยที่มีภูมิลำเนาอยู่ต่างจังหวัดในกรุงเทพฯ กลับมารักษาตัวที่บ้านเกิดตัวเองจึงบังเกิดขึ้น เริ่มเห็น ส.ส.จากพรรคภูมิใจไทยและพรรคประชาธิปัตย์ลงมือทำ ด้วยการใช้คอนเน็กชันที่ตัวเองมี จัดหารถรับ-ส่งประสานสาธารณุสขอย่างเป็นระบบ หาเตียงในจังหวัดนั้นๆ เพื่อให้ประชาชนได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที
    แต่กระนั้น “พิมพ์รพี พันธุ์วิชาติกุล” ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ แม้จะเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ แต่ก็ทำงานเกาะติดพื้นที่กระบี่ตลอด สะท้อนเรื่องนี้ว่า “ยังมีปัญหานำผู้ป่วยจาก กทม.กลับบ้านในต่างจังหวัด ในส่วนกลางยังไม่มีมาตรการเชื่อมโยงกับจังหวัดต่างๆ เลย มีแต่ละจังหวัดต้องดิ้นรนกันเอาเองทั้งสิ้น ถ้ามีการดำเนินการอย่างเป็นระบบ ประสานจากส่วนกลางสู่จังหวัด จะทำให้การเข้าถึงระบบสาธารณสุขของผู้ป่วยทำได้ง่ายขึ้น และยังช่วยกระจายผู้ป่วยเข้าสู่การรักษาในพื้นที่ที่ยังไม่เกิดวิกฤติสาธารณสุข ผ่อนคลายสถานการณ์ภายใน กทม.ได้ด้วย เรื่องเหล่านี้ท่านต้องทำอย่างเป็นระบบ แต่ตอนนี้เรายังไม่เห็น ปัญหาใหญ่อีกประเด็นหนึ่งคือ การส่งผู้ป่วยกลับบ้านเกิด ถ้าระยะทางใกล้ ความยุ่งยากน้อย แต่ถ้าระยะทางไกลจะเป็นปัญหามาก เนื่องจากรถที่ใช้รับ-ส่งยังไม่มีการกั้นระหว่างคนขับกับผู้โดยสารอย่างเป็นมาตรฐาน ใช้แอร์ร่วมกัน ไม่เพียงคนขับเสี่ยง กู้ภัยที่นั่งไปด้วยเป็นเวลากว่าสิบชั่วโมงก็หนีไม่พ้นความเสี่ยงด้วยเช่นเดียวกัน ตอนนี้ ส.ส.ช่วยประสานกันเต็มที่ แต่รัฐควรมีมาตรการที่เป็นระบบและมีหน่วยงานเจ้าภาพในเรื่องนี้ด้วย”
    สิ่งที่สะท้อนทั้งหมดข้างต้นคือตัวอย่างเพียงเล็กน้อยที่รวบรวมมา ยังไม่รวมปัญหาใหญ่ เช่น การลักลอบแรงงานข้ามชายแดน ที่ข้าราชการ เจ้าหน้าที่รัฐ ไร้ซึ่งจริยธรรมรู้เห็นเป็นใจร่วมกระบวนการ เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน รับสินบน ให้แรงงานผิดกฎหมายเดินทางข้ามมาหน้าตาเฉย ซ้ำเติมประเทศ
    ต่อให้ภายในประเทศจัดการดีเพียงใด แต่ยังไม่หวดหรือบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดเพื่ออุดรูรั่วกระบวนการนี้ มันก็เหมือนตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"