นับตั้งแต่เข้ารับเก้าอี้นายกรัฐมนตรี ไม่ว่าจะในยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หรือยุคปัจจุบันที่มาจากการเลือกตั้ง วิกฤติศรัทธาต่อผู้นำครั้งนี้ถือว่าหนักหนาสาหัสที่สุดสำหรับ ‘บิ๊กตู่’ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม
การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปัจจุบัน มันเป็นวิกฤตการณ์ที่ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ส่วนสำคัญมาจากการบริหารจัดการที่ผิดพลาด
ผิดตั้งแต่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ภายใต้การบัญชาการของ ‘บิ๊กตู่’ ในฐานะ ผอ.ศบค. ตัดสินใจไม่ฉีดยาแรงด้วยการล็อกดาวน์ นับตั้งแต่เห็นสัญญาณว่าจะมีการแพร่ระบาดอย่างหนักในช่วงก่อนเทศกาลสงกรานต์
เพราะนับตั้งแต่การปล่อยให้ประชาชนเดินทางกลับภูมิลำเนาในช่วงเทศกาลสงกรานต์เป็นต้นมา การแพร่ระบาดในประเทศดูทวีคูณขึ้นเรื่อยๆ
การระบาดระลอกที่ 4 ในต้นเดือนเมษายนมาตอนนี้ผ่านไปแล้วกว่า 3 เดือน นอกจากไม่มีวี่แววว่าสถานการณ์จะเบาบางลงได้อย่างไร ยอดผู้ติดเชื้อกลับพุ่งสูงขึ้นวันละเฉียดหมื่น ยอดผู้เสียชีวิตพุ่งสูงขึ้นวันละเฉียดร้อย
ที่ร้ายแรงกว่าคือ ปัจจุบันระบบสาธารณสุขแทบจะเกินกำลังที่จะรับไหว แต่ละวันเริ่มเห็นคนป่วยเสียชีวิตระหว่างรอโรงพยาบาลมารับไปรักษาคนแล้วคนเล่า
แม้แต่การเข้ารับการตรวจเชื้อยังเป็นเรื่องที่ยากยิ่ง จุดที่เปิดบริการก็รับในปริมาณจำกัด ต้องอดตาหลับขับตานอนไปจองคิวกันดึกดื่น นอนกันกลางดิน กินกันกลางทราย เป็นภาพที่สะเทือนใจเมื่อได้เห็น
ขณะที่วัคซีนกลายเป็นสิ่งที่เหมือนต้องชิงโชค หนำซ้ำยังต้องเอาชีวิตไปเสี่ยงกับความแน่นขนัดของประชาชนที่ต้องการอยากจะฉีด
หากวันนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ไม่เสียน้อยเสียยาก เสียมากเสียง่าย ยอมเจ็บแต่จบ โดยตระหนักว่าหากระบบสาธารณสุขพัง ระบบเศรษฐกิจย่อมไม่เหลือ ประเทศไทยอาจไม่อยู่ในสภาพนี้
อย่างไรก็ตาม สิ่งดีงามอย่างเดียวที่เกิดขึ้นในปัจจุบันที่ยังเหลืออยู่คือ ภาพของประชาชนต้องออกมาร่วมด้วยช่วยกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเข้าถึงการรักษาของผู้ป่วย การใช้ทุนทรัพย์ส่วนตัวเพื่อช่วยเหลือคนที่ด้อยโอกาส คนที่ขาดแคลน ซึ่งเป็นการตอกย้ำถึงน้ำใจคนไทยในช่วงวิกฤติที่เห็นกันครั้งแล้วครั้งเล่าไม่ว่าประเทศต้องเผชิญอะไร
ส่วนย่างก้าวของ พล.อ.ประยุทธ์ นั้น ไม่ว่าขยับอะไร ประชาชนล้วนมีปฏิกิริยาตอบกลับในแง่ลบทั้งสิ้น อันมีผลมาจากความอึดอัด อัดอั้น กับแผนบริการจัดการที่ควรจะดีกว่านี้
พล.อ.ประยุทธ์ น่าจะเป็นนายกรัฐมนตรีคนเดียวในโลกที่เสียสละเงินเดือน 3 เดือน แล้วถูกประชาชนในประเทศก่นด่ามากกว่าขอบคุณ นั่นเพราะความคาดหวังของประชาชนที่คิดว่า ‘ผู้นำ’ น่าจะทำอะไรได้มากกว่านี้
แน่นอนว่า ปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นสิ่งที่เผชิญกันทั่วโลก มิอาจหลีกเลี่ยงได้ หากแต่วันนี้สิ่งที่ประชาชนในประเทศไม่ว่ามีความคิดอ่านทางการเมืองแบบไหน ไม่พอใจการทำงานของรัฐบาลคือ การบริหารจัดการที่ไม่เป็นระบบ
รัฐบาลเห็นปัญหา เห็นสัญญาณอันตรายมาตั้งแต่ช่วงเดือนเมษายน มีเวลาวางแผน วางระบบ สำหรับกรณีวิกฤติ ซึ่งมันควรจะทำได้ดีแบบนี้
ดังนั้น หากไม่ถือทิฐิและเปิดกว้างฟังเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่เกิดขึ้น โดยไม่มองเป็นประเด็นการเมืองกับปรากฏการณ์โซเชียลรุมถล่มแม้แต่ลมหายใจนายกฯ ก็ควรเร่งปรับระบบไม่ให้มันเลวร้ายไปกว่านี้
คนดีมีฝีมือในประเทศยังมีอีกมากมาย ควรเปิดโอกาสให้เข้ามามีส่วนร่วม ระดมสมองว่าจะทำอย่างไร เพราะวันนี้มันแสดงให้เห็นแล้วว่ารัฐบาลเอาไม่อยู่
การรวบอำนาจแบบเบ็ดเสร็จไว้ที่ตัว ผ่านมาหลายเดือนพิสูจน์แล้วว่ามันไม่สอดรับกับสถานการณ์ จึงถึงเวลาต้องทบทวน เปลี่ยนแปลง
และดูเหมือนแนวทางดังกล่าวยังจะทำให้ พล.อ.ประยุทธ์เองกลายเป็นคนที่ ‘โดดเดี่ยว’ มากขึ้นเรื่อยๆ
ภาพที่ชัดเจนที่สุดคือ ในวันที่แม้แต่หายใจยังผิดของ พล.อ.ประยุทธ์ แม้แต่รัฐมนตรีในรัฐบาลยังไม่มีใครออกมาเคียงข้างหรือปกป้อง ทั้งที่โดยวิสัยคนอยู่ด้วยกันต้องเทกแอคชั่นบ้าง
ที่ตลกร้ายกว่า ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ที่เป็นดังนั่งร้านค้ำยันของ 3 ป. ไม่มีใครกล้าออกมาปกป้องผู้นำของตัวเอง เพราะกลัวจะเปลืองตัว โดนทัวร์ลงโดยใช่เหตุ
กลับกัน ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลกลับเป็นบุคคลที่ออกมาเรียกร้องและกดดันให้ ศบค. ภายใต้การนำของ ‘บิ๊กตู่’ เร่งแก้ไขปัญหาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการรักษาพยาบาลหรือวัคซีน
ถึงตรงนี้คนข้างตัวจริงๆ ที่เคียงบ่าเคียงไหล่แทบจะนับหัวได้
มันถึงเวลาที่ต้องทบทวนการทำงานและปรับรูปแบบการแก้ปัญหาใหม่ เพราะไม่มีทางที่จะทำอะไรเดิมๆ แล้วจะได้ผลลัพธ์ที่แตกต่างออกไป.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |