"หมอยง" ชี้ไวรัสกลายพันธุ์ตลอดเวลา เปิดผลการศึกษาฉีดวัคซีนซิโนแวคสลับกันกับแอสตร้าฯ ใน 1,200 คน ภูมิต้านทานเทียบเท่าได้รับแอสตร้าฯ 2 เข็ม ยันไม่พบอาการข้างเคียงรุนแรง "หมอประสิทธิ์" แนะคนที่มีโรคร่วมไม่ควรรอ mRNA ควรฉีดไปก่อนค่อยกระตุ้นภายหลัง องค์การอนามัยโลกระบุประเทศต่างๆ ใช้วัคซีนต่างชนิดจากผู้ผลิตคนละแห่ง แต่จะอันตรายและวุ่นวายนิดหน่อย
ที่กระทรวงสาธารณสุข วันที่ 13กรกฎาคม ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แถลงถึงวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ว่าประเทศไทยเริ่มฉีดวัคซีนมาตั้งแต่ 28 ก.พ.2564 หลังจากนั้นเราก็รณรงค์การฉีดวัคซีนกันเรื่อยมา วันนี้เรายังฉีดวัคซีนไม่ถึง 13 ล้านโดส เนื่องจากปริมาณวัคซีนมีจำกัด จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องบริหารวัคซีนให้ประโยชน์สูงสุด โดยการศึกษาวิจัยรูปแบบการให้วัคซีนในประเทศไทยจึงมีความจำเป็น ระยะแรกวัคซีนทุกบริษัทผลิตจากต้นแบบสายพันธุ์ไวรัสโคโรนาที่มีต้นกำเนิดมาจากอู่ฮั่น ซึ่งการผลิตออกมาได้ใช้เวลาร่วม 1 ปี แต่ในระยะเวลา 1 ปี ไวรัสมีการเปลี่ยนแปลงตัวมันเอง มีการกลายพันธุ์เพื่อหนีออกจากระบบภูมิต้านทานของเรา จึงเห็นว่าบริษัทไหนก็ตามแต่ที่ผลิตวัคซีนได้ก่อน การศึกษาในประสิทธิภาพวัคซีนจะได้สูง แต่ถ้าบริษัทไหนที่ใช้สายพันธุ์เดิม แล้วมาศึกษาวิจัยในระยะหลังๆ ประสิทธิภาพวัคซีนก็จะเริ่มต่ำลง
ศ.นพ.ยงกล่าวว่า ในประเทศไทยเมื่อมีข้อจำกัดเรื่องวัคซีน เราใช้วัคซีนรูปแบบเชื้อตายกับรูปแบบไวรัสเวกเตอร์ โดยวัคซีนเชื้อตายเป็นของซิโนแวค ส่วนไวรัสเวกเตอร์คือแอสตร้าเซนเนก้า ซึ่งวัคซีนทั้ง 2 รูปแบบต่างกันโดยสิ้นเชิง แต่เดิมจะเห็นได้ว่าวัคซีนชนิดเชื้อตาย การกระตุ้นภูมิต้านทานจริงๆ ได้น้อยกว่า การกระตุ้นภูมิต้านทานของไวรัสเวกเตอร์ แต่อย่าลืมว่าไวรัสมีการกลายพันธุ์ตลอดเวลา ซึ่งปัจจุบันนี้การศึกษาของเราทำให้รู้ว่าเมื่อให้ครบ 2 เข็มของวัคซีนเชื้อตายนี้แล้วภูมิต้านทานได้เท่ากับคนที่หายจากโรค โดยเฉพาะหายจากการติดเชื้อโควิดสายพันธุ์อู่ฮั่นดั้งเดิม แต่เมื่อมาติดเชื้อสายพันธุ์ใหม่ ไม่ว่าอัลฟาหรือเดลตา มันต้องการภูมิต้านทานที่สูงขึ้น จึงทำให้ประสิทธิภาพของวัคซีนลดลง และลดลงทุกตัว เพราะฉะนั้นในทางปฏิบัติ จึงต้องพิจารณาดูว่า ถ้าเราฉีดวัคซีนแอสตร้าฯ 2 เข็ม ห่างกัน 10 สัปดาห์ เรารู้ว่าถ้าฉีดไวรัสเวกเตอร์ 2 เข็ม ห่างกันน้อยกว่า 6 สัปดาห์ภูมิต้านทานที่กระตุ้นขึ้นสูงไม่ดี เท่ากับที่ห่างกันเกินกว่า 6 สัปดาห์ ยิ่งห่างนานเท่าไหร่ยิ่งดี ซึ่งแต่เดิมคิดว่าไวรัสเวกเตอร์หรือแอนตร้าฯ เข็มเดียวก็เพียงพอที่สามารถป้องกันไวรัสสายพันธุ์อู่ฮั่นเดิมได้ แต่พอมาเจอไวรัสเดลตาเข้า วัคซีนแอสตร้าฯ เข็มเดียวไม่สามารถป้องกันได้
"เรารู้ว่าถ้าใช้วัคซีนเชื้อตายซิโนแวค 2 เข็ม ภูมิต้านทานสูงไม่พอที่จะป้องกันไวรัสที่มีการกลายพันธุ์มาถึงเดลตาแล้ว แต่ในขณะเดียวกันแอสตร้าฯ เข็มเดียวก็ไม่เพียงพอป้องกันไวรัสเดลตา กว่าจะรอ 2 เข็มก็ช้าไป จึงเป็นที่มาของการทำการศึกษาว่า ถ้าเช่นนั้นเราจึงฉีดวัคซีนเชื้อตายก่อนค่อยตามด้วยไวรัสเวกเตอร์ ซึ่งการฉีดไวรัสเชื้อตายก่อนเปรียบเสมือนทำให้ร่างกายเราติดเชื้อ แล้วไปสอนนักรบ หรือสอนหน่วยความจำของร่างกายไว้ หลังจากนั้น 3-4 สัปดาห์ค่อยไปกระตุ้นด้วยวัคซีนที่เป็นไวรัสเวกเตอร์ ที่มีอำนาจในการกระตุ้นเซลล์ของร่างกายมากกว่า ผลปรากฏว่าผลกระตุ้นสูงกว่า และเร็วกว่าที่เราคาดคิดไว้ ถึงแม้จะกระตุ้นได้ไม่เท่าแอสตร้าฯ 2 เข็ม แต่ก็จะให้ภูมิต้านทานที่สูงในเวลาแค่ 6 สัปดาห์" ศ.นพ.ยงระบุ
ศ.นพ.ยงยังกล่าวอีกว่า ขณะนี้คนไข้เรามากกว่า 40 คนที่เราได้ติดตามมา จะเห็นได้ว่ากลุ่มก้อนแรกถ้าเราฉีดซิโนแวค 2 เข็ม ภูมิต้านทานที่เกิดขึ้นจะสูงเท่ากับคนไข้ที่หายแล้ว แต่เนื่องจากปัจจุบันเป็นสายพันธุ์เดลตา จึงทำให้ภูมิในขณะนี้ป้องกันไม่ได้ แต่ถ้าเราฉีดแอสตร้าฯ 2 เข็มแล้ววัดภูมิต้านทานอีก 1 เดือนหลังจากนั้น แสดงว่าห่างกัน 10 สัปดาห์ แล้ววัดที่ 14 สัปดาห์ ภูมิต้านทานจะสูงเพียงพอหรือพอสมควรป้องกันไวรัสที่กลายพันธุ์ได้ แต่เราต้องใช้เวลาถึง 14 สัปดาห์ จึงทำให้ภูมิสูงขนาดนั้น แต่ถ้าเรามาฉีดวัคซีน 2 เข็มที่สลับกัน โดยวัคซีนเข็มแรกเป็นซิโนแวค แล้วเข็มสองเป็นแอสตร้าฯ จะเห็นได้ว่าภูมิต้านทานขึ้นมาใกล้เคียงกับการฉีดแอสตร้าฯ 2 เข็ม ถึงแม้จะน้อยกว่ากันนิดเดียว โดยฉีดแอสตร้าฯ 2 เข็มภูมิต้านทานอยู่ที่ 900 แต่ถ้าฉีดสลับกันเหมือนที่กล่าวข้างต้น ภูมิต้านทานอยู่ที่ 800 ซึ่งเปรียบเทียบกับการฉีดซิโนแวค 2 เข็มอยู่ที่ประมาณ 100 แต่ถ้าการติดเชื้อในธรรมชาติจะอยู่ระหว่าง 70-80 ถ้าเป็นแบบนี้ไวรัสที่กลายพันธุ์ก็มีโอกาสป้องกันได้มีมากกว่า แล้วผลสัมฤทธิ์ในระดับภูมิต้านของร่างกายให้สูงขึ้นใช้เวลาเพียง 6 สัปดาห์
"เพราะฉะนั้นในสถานการณ์ในการระบาดของโรคที่เป็นไปอย่างรุนแรง เรารอเวลา 12 สัปดาห์ไม่ได้ การที่ต้องการให้ภูมิสูงขึ้นเร็ว การฉีดวัคซีนสลับเข็มเรามีภูมิที่สูงใกล้เคียงกับวัคซีนที่ใช้เวลาถึง 12 สัปดาห์ จึงน่าจะเป็นประโยชน์สูงสุดสำหรับประเทศไทย ณ เวลานี้ แต่ในอนาคต ถ้ามีวัคซีนอื่นที่ดีกว่า พัฒนาที่ดีกว่า เราค่อยหาวิธีการที่ดีกว่า หรือไวรัสกลายพันธุ์ไปมากกว่านี้ก็อาจจะมีวัคซีนที่จำเพาะเจาะจงกับสายพันธุ์นั้นๆ ยกตัวอย่างเช่นไข้หวัดใหญ่ ที่ต้องมีการฉีดทุกปี เพราะฉะนั้นเวลาทุกวันของเรามีค่ามากในการต่อสู้กับโรคร้าย จึงขอนับสนุนให้เห็นว่าข้อมูลทางวิชาการที่ศึกษามาจะเป็นประโยชน์ในการใช้จริง" ศ.นพ.ยงกล่าว
เมื่อถามว่า เชื้อกลายพันธุ์ในขณะนี้มีความคืบหน้าอย่างไร และมีผลต่อการฉีดวัคซีนในไทยหรือไม่ ศ.นพ.ยงกล่าวว่า เราได้ทดสอบการ Blocking antibody จะเห็นได้ว่าการเปรียบเทียบซิโนแวค 2 เข็มกับซิโนแวคบวกกับแอตร้าฯ ที่สลับกันแล้ว เปอร์เซ็นต์การขัดขวางตัวไวรัสขึ้นไปได้ถึงสูงทีเดียว จากการศึกษาเรื่องความปลอดภัยเบื้องต้น มีการฉีดวัคซีนสลับกันแบบนี้ในประเทศไทยมากกว่า 1,200 คน แล้วที่ฉีดมากที่สุดคือ รพ.จุฬาลงกรณ์ โดยที่ถูกลงบันทึกในแอปหมอพร้อม โดยให้บันทึกอาการข้างเคียงลงไป ปรากฏว่าไม่มีใครในจำนวนนี้มีอาการข้างเคียงรุนแรง เพราะฉะนั้นจึงยืนยันว่าการให้วัคซีนที่สลับกันมีความปลอดภัยในชีวิตจริง ส่วนการศึกษาของเราจะมีการนำออกมาอีกครั้งหนึ่ง ขอให้ผู้ปฏิบัติสบายใจว่า เราไม่ได้มีการฉีดสลับเป็นคนแรก
ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ขณะนี้ทั่วโลกผู้ผลิตวัคซีนกำลังเร่งพัฒนาวัคซีนเจเนอเรชั่น 2 ที่คาดว่าจะมีประสิทธิภาพมากขึ้น และปลอดภัยกว่าเดิม โดยบางบริษัทก็นำเอาเอไอเข้ามาจับ เพื่อหวังทั้งประสิทธิภาพ ครอบคลุมทุกสายพันธุ์ และมีความปลอดภัย คาดว่าวัคซีนที่ได้รับการพัฒนาเจเนอเรชั่น 2 นี้ จะเริ่มฉีดได้จริงต้นปีหน้า 2565 ดังนั้นขณะนี้ไม่อยากให้ประชาชนกังวล หรือรอเลือกวัคซีนถึงจะฉีด เพราะในจำนวนคนป่วยของ รพ.ศิริราชที่เป็นผู้ป่วยหนัก ส่วนใหญ่ ได้รับวัคซีนแค่ 1 เข็ม ยังไม่ครบ 2 เข็ม บางคนก็ยังไม่รับวัคซีนเพราะอยากรอวัคซีนทางเลือก mRNA ไฟเซอร์ โมเดอร์นา ทั้งที่ความจริงตนเองมีโรคร่วม ไม่ควรรอ เบาหวาน, ความดันโลหิตสูง ควรฉีดวัคซีนก่อน จากนั้นค่อยฉีดกระตุ้นในภายหลังได้
รายงานรอยเตอร์อ้างคำเตือนจาก ดร.โสมยา สวามีนาธาน หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ขององค์การอนามัยโลก ซึ่งกล่าวต่อที่ประชุมทางออนไลน์ของดับเบิลยูเอชโอที่นครเจนีวาเมื่อวันจันทร์ว่า ขณะนี้กำลังเกิดแนวโน้มที่ประเทศต่างๆ ใช้วิธีฉีดวัคซีนโควิด-19 โดยผสมวัคซีนต่างชนิดกันจากผู้ผลิตคนละแห่งกัน ถือเป็นแนวโน้มที่อันตรายนิดหน่อย เนื่องจากเรายังไม่มีข้อมูลและหลักฐานเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนแบบผสมสูตร
"มันจะเป็นสถานการณ์ที่โกลาหลวุ่นวายในประเทศต่างๆ หากประชาชนเริ่มตัดสินใจว่าเมื่อใดและใครจะได้รับยาโดสที่ 2, ที่ 3 และ 4" กุมารแพทย์ชาวอินเดียผู้นี้กล่าวเตือน
รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลแจ้งว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ได้มีการนำคลิปวิดีโอของ ดร.โสมยา ที่พูดถึงการผสมสูตรวัคซีน เพราะยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบด้านสุขภาพ มาเปิดให้ที่ประชุมชม จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้พูดถึงมติคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ที่จะให้มีการฉีดสลับยี่ห้อได้ โดยระบุว่าเรื่องดังกล่าวให้หมอเป็นผู้ตัดสินใจ และนำข้อมูลของ WHO มาประกอบการพิจารณาให้ถี่ถ้วน ขณะที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข กล่าวเสริมว่า คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติที่เป็นผู้พิจารณาเรื่องนี้ไม่ได้มีแค่หมอในกระทรวงสาธารณสุข แต่มีหมอจากหลายภาคอยู่ในนั้นด้วย.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |