ซึมซับผ้าทอยกดอกลำพูน งานหัตถศิลป์ที่มีอัตลักษณ์
คนกรุงเทพฯ จะไปลำปางต้องกักตัว 14 ตัว แต่ชาวลำปางจะเที่ยวใกล้ๆ ไปดื่มด่ำวิถีวัฒนธรรม จ.ลำพูน ทำได้เลย เพื่อสร้างสีสันและเติมชีวิตชีวาให้กับวงการศิลปวัฒนธรรมไทย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานลำปาง จัดกิจกรรมอินเทรนด์ภายใต้การท่องเที่ยววิถีใหม่อย่างรับผิดชอบ ใส่หน้ากาก พกเจลล้างมือ รักษาระยะห่าง และเที่ยวใกล้ เที่ยวง่าย ปลอดภัย เพื่อกระตุ้นการใช้จ่าย กระจายรายได้ให้กับชุมชนตลอดเส้นทางการท่องเที่ยว ภายใต้ชื่อ “นุ่งซิ่นปากันแอ่ว : เยือนนครหัตถศิลป์ถิ่นลำปางพลัสลำพูน” โดยร่วมกับเพจกลุ่มนุ่งซิ่นปากันแอ่วจังหวัดลำปาง ชวนสมาชิก25 คนจากเมืองรถม้าหยิบผ้าซิ่นผ้าไทยมาใส่อย่างสวยเท่ห์เที่ยวข้ามจังหวัดไปลำพูนหลังสถานการณ์โควิดผ่อนคลาย
หมุดหมายเป็นแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมเมืองลำพูนทั้งหอศิลป์ใหม่และแหล่งสำคัญที่มีอยู่เดิม ถือโอกาสพาไปรู้จัก หอศิลป์ สล่าเลาเลือง ตั้งอยู่ อ.เมือง แหล่งรวบรวมภูมิปัญญาสล่าหรือผู้มีความเชี่ยวชาญด้านศิลปะ หรือช่างแขนงต่างๆ ของลําพูน ส่วนคำว่า”สล่าเลาเลือง” หมายถึงช่างผู้ปราดเปรื่องรอบรู้ในเรื่องต่างๆ จนได้รับการยกย่องเป็นสล่าที่มีฝีมือชั้นครู เป็นพ่อครูแม่ครู
จัดแสดงประวัติช่างแขนงต่างๆ ของลำพูน
ที่นี่จัดแสดงตั้งแต่ประวัติของเจ้าผู้ครองนครในจ.ลำพูน ไปจนถึงประวัติของครูบาอาจารย์ทางด้านศิลปะหลายแขนง ผู้เป็นต้นแบบรังสรรค์ศิลปะ วรรณกรรม รวมงานศิลปะล้านนาทุกแขนงไว้ที่นี่ ทั้งยังเปิดให้มีผู้สนใจเข้าไปศึกษาหาความรู้ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมลำพูน ตลอดจนฝึกอบรม โดยเฉพาะเยาวชน ปลูกสำนึกรักท้องถิ่น
หอศิลป์นี้ได้รับการสนับสนุนจากเจ้าดารารัตน์ ณ ลําพูน ทายาทเจ้าผู้ครอง นครลําพูนองค์สุดท้ายบริจาคที่ดิน 7 ไร่ ตั้งหอศิลป์ สล่าเลาเลือง และได้มอบที่ดินให้เป็นกรรมสิทธิ์ของวัดพระธาตุหริภุญชัย จังหวัดให้งบสร้างอาคาร ส่วนการปรับปรุง พัฒนาองค์การบริหารส่วนจังหวัดลําพูนช่วยงบส่วนหนึ่ง ก่อนทางวัดเข้ามาดูแล เป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้งานช่าง อาคารไม้สองชั้นโดดเด่นด้วยสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น บรรยากาศภายนอกก็ออกแบบตกแต่งสวยงาม แสดงผลงานช่างตามจุดต่างๆ สร้างความประทับใจผู้มาเยือนและคนรักศิลปะ
นุ่งซิ่นชมหอศิลป์สล่าเลาเลือง แหล่งรวมภูมิปัญญางานช่างลำพูน
ไปต่อกันที่ สถาบันผ้าทอมือหริภุญชัย ถ่ายทอดให้เห็นถึงวิวัฒนาการยาวนานของผ้าทอมืออันน่าตื่นตาตื่นใจ ที่นี่จัดตั้งขึ้นเพื่อสืบสาน รักษา ไม่ให้ผ้าทอลำพูนสูญหายไป ปัจจุบันอยู่ในความดูแล อบจ.ลำพูน เปิดให้ชมวัฒนธรรมการทอผ้าของคนลำพูน ความเป็นมาของผ้าทอ ช่วยสร้างความรู้ความเข้าใจมรดกภูมิปัญญาไทย
ดั้งเดิมหญิงลำพูนมีทักษะการทอผ้า ประกอบกับ “ลำพูน”เป็นจังหวัดที่มีความเก่าแก่ที่สุดในภาคเหนือ นับว่าเป็นเมืองที่มีความหลากหลายของชาติพันธุ์ คนยองหรือไตยองเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีจำนวนมากที่สุดในเมืองลำพูน สอดคล้องกับเรื่องการทอผ้าของชนชาวยองที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น
ส่วนเรื่อง “ผ้าทอ” ที่นำมาใช้เป็นเครื่องแต่งกายก็แบ่งอย่างชัดเจน กลุ่มชนชั้นสูง วัตถุดิบที่ใช้สำหรับการทอผ้าเน้นเป็นเส้นไหมมากกว่าเส้นฝ้าย กาลเวลาล่วงมาการทอผ้าไหมและผ้าฝ้ายยังประยุกต์ใช้กันอยู่ แต่ลวดลายนั้นไม่วิจิตรนัก จวบจนกระทั่ง เจ้าดารารัศมี พระธิดาในพระเจ้าอินทวิชยานนท์ ผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ 7 พระราชชายาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จกลับไปประทับที่เชียงใหม่หลัง ร.5 สวรรคต ทรงนำความรู้ที่เรียนมาจากราชสำนักส่วนกลางขณะประทับ ณ วังหลวง มาประยุกต์ใช้ในการประดิษฐ์ลวดลาย ฝึกหัดให้คนในคุ้มเชียงใหม่ทอผ้ายก เพิ่มลวดลายลงในผืนผ้าไหมเพื่อความโดดเด่น เพิ่มด้ายเส้นพุ่งพิเศษเป็นดิ้นเงิน ดิ้นทอง การเก็บลายจึงต้องใช้ตะกอเพื่อให้สามารถทอลายที่ซับซ้อน ประณีต งดงามได้ เทคนิคนี้เรียกว่า “ยกดอก”
ดื่มด่ำกับผ้าทอโบราณทรงคุณค่า หาชมได้ยาก
อีกทั้งทรงสอนให้แก่ เจ้าหญิงส่วนบุญ พระราชชายาของเจ้าจักรคำ ขจรศักดิ์ เจ้าผู้ครองนครลำพูน องค์สุดท้าย) และ เจ้าหญิงลำเจียก พระธิดา ทั้ง 2 พระองค์นำความรู้การทอผ้ายกมาฝึกแก่คนในคุ้มหลวงลำพูน จากคุ้มเจ้าก็ถึงชาวบ้าน เกิดความชำนาญ ทอผ้ายกดอกขยายไปทั่ว
ลำพูนถือเป็นศูนย์กลางการทอผ้าไหมยกดอกแหล่งสำคัญของไทย ลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์ อาทิ ลายดอกพิกุล, ลายกลีบลำดวน, ลายใบเทศ, ลายเม็ดมะยม, ลายพุ่มข้าวบิณฑ์ เป็นต้น ลายโบราณยังเป็นที่นิยมในปัจจุบันคือ ลายดอกพิกุล ปัจจุบันได้มีการคิดลวดลายให้หลากหลายขึ้น เช่น พิกุลเครือ พิกุลมีขอบ พิกุลก้านแย่ง พิกุลเชิงใหญ่ พิกุลถมเกสร พิกุลเล็ก พิกุลใหญ่ พิกุลสมเด็จ พิกุลกลม เป็นต้น
สถาบันผ้าทอมือหริภุญชัยส่งเสริมการเรียนรู้วิธีการทอผ้าด้วยมือควบคู่การสร้างตลาดผ้าทอมือ สำหรับผู้ที่สนใจผ้าทอผืนสวยและหัตศิลป์สร้างสรรค์ของคนลำพูน บริเวณโซนร้านค้ามีผลิตภัณฑ์หลากหลายให้เลือกชมเลือกซื้อ ในเส้นทางนครหัตถศิลป์นำไปสู่พิพิธภัณฑ์ผ้าโบราณเฮือนยองวัดต้นแก้ว อ.เมือง และ บ้านดอนหลวง อ.ป่าซาง แหล่งเรียนรู้ผ้าฝ้ายทอมือแห่งใหญ่ของภาคเหนืออันน่าสนใจ ถ้าเยือนลำพูนเมื่อไหร่อย่าพลาดมาสัมผัสแหล่งท่องเที่ยววัฒนธรรมดีๆ เหล่านี้กัน
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |