ทุ่ม4.2หมื่นล.เยียวยา แจกเงินลดค่าไฟ-นํ้า10จว.‘บิ๊กตู่’ลั่นสู้จนกว่าชนะ


เพิ่มเพื่อน    

“ประยุทธ์” ลั่นไม่ยอมแพ้สงครามโควิด-19 แม้มีอุปสรรคขวากหนาม ทุ่ม 42,000 ล้านบาทเยียวยาล็อกดาวน์ 10 จังหวัดได้เฮ ครม.ช่วยลูกจ้างและนายจ้างใน 14 กิจการ ทั้ง ม.33-ม.39-ม.40 รวมถึงฟรีแลนซ์ มนุษย์เงินเดือนคนไทยได้รับสูงสุด 10,000 บาท พร้อมลดค่าน้ำ 10% หั่นค่าไฟทั่วประเทศ สั่ง “ศธ.-กระทรวงการอุดมศึกษาฯ” ชงมาตรการลดค่าเทอมและช่วยเอกชนสัปดาห์หน้า กำชับ “คลัง-ธปท.” เร่งถกหาแนวทางดูแลเรื่องหนี้โดยด่วน
    เมื่อวันอังคารที่ 13 กรกฎาคม ในเวลา 15.51 น. หลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม โพสต์เฟซบุ๊ก “ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut-chan-o-cha” ถึงมาตรการเยียวยาจากคำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่ 9/2564 เรื่อง พื้นที่สถานการณ์ที่กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด พื้นที่ควบคุมสูงสุด พื้นที่ควบคุม และพื้นที่เฝ้าระวังสูง ตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ซึ่งมีการล็อกดาวน์และเคอร์ฟิวใน 10 จังหวัด ว่า ได้รับรู้ปัญหาของพี่น้องกลุ่มต่างๆ และไม่เคยหยุดคิดหาแนวทางช่วยเหลือประชาชนมาโดยตลอด โดยมาตรการล็อกดาวน์ครั้งนี้ได้สั่งการให้หน่วยงานด้านเศรษฐกิจเสนอมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบให้ได้มากที่สุด ซึ่งได้มีการประชุมไปแล้วเมื่อวันที่ 12 ก.ค. และ ครม.ได้ให้การเห็นชอบมาตรการที่นำเสนอในวันที่ 13 ก.ค.แล้ว
สำหรับมาตรการมีรายละเอียด คือ 1.มาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบสำหรับลูกจ้างและกิจการใน 10 จังหวัดสีแดงเข้ม โดยจะมี 2 กลุ่ม คือ กลุ่มแรก 9 หมวดกิจการ คือ 1.ก่อสร้าง 2.ที่พักแรมและบริการด้านอาหาร 3.ศิลปะ บันเทิงและนันทนาการ 4.กิจกรรมการบริการด้านอื่นๆ 5.ขายส่ง ขายปลีก และซ่อมยานยนต์ 6.ขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า 7.กิจกรรมการบริหารและบริการสนับสนุนกิจกรรมวิชาชีพ วิทยาศาสตร์ และกิจกรรมทางวิชาการ และ 9.ข้อมูลข่าวสารและสื่อสาร ส่วนกลุ่มที่ 2 จะเป็น 5 กิจการของถุงเงิน คือ 1.ร้านอาหารและเครื่องดื่ม 2.ร้าน OTOP 3.ร้านค้าทั่วไป 4.ร้านค้าบริการ และ 5.กิจการขนส่งสาธารณะไม่รวมกิจการขนาดใหญ่
“ระยะเวลาให้ความช่วยเหลือ 1 เดือน และอาจมีการขยายต่อตามสถานการณ์ ซึ่งรายละเอียดของการเยียวยาแบ่งตามกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบ คือ ลูกจ้างในระบบประกันสังคม ตามมาตรา 33 ในกิจการ 9 หมวด รัฐจะจ่ายเงินเยียวยาให้ 50% ของรายได้ สูงสุดไม่เกิน 7,500 บาท และจ่ายสมทบให้ลูกจ้างสัญชาติไทยอีก 2,500 บาทต่อคน รวมแล้วได้สูงสุด 10,000 บาท ในขณะที่นายจ้าง ม.33 ในกิจการ 9 หมวด รัฐจะจ่ายให้ตามจำนวนลูกจ้าง 3,000 บาทต่อราย สูงสุดไม่เกิน 200 คน ส่วนผู้ประกันตนตาม ม.39 และ 40 รัฐบาลจะช่วยเหลือค่าใช้จ่ายให้ 5,000 บาทต่อคน ส่วนผู้ประกอบอาชีพอิสระ (ฟรีแลนซ์) ให้ขึ้นทะเบียนตาม ม.40 ภายในเดือน ก.ค.นี้ เพื่อรับค่าช่วยเหลือ 5,000 บาท ขณะที่ผู้ประกอบการที่มีลูกจ้างแต่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม ให้ขึ้นทะเบียนตาม ม.33 ภายในเดือน ก.ค.นี้ เพื่อรับเงินช่วยเหลือเหมือนนายจ้างในระบบ และผู้ประกอบการที่ไม่มีลูกจ้างและไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม ให้ขึ้นทะเบียนตาม ม.40 ภายในเดือน ก.ค.นี้ เพื่อรับค่าช่วยเหลือ 5,000 บาท” 
ลด “ค่าไฟ-ค่าน้ำ” ทั่วประเทศ
ส่วนผู้ประกอบการในระบบถุงเงิน 5 หมวด ภายใต้โครงการคนละครึ่ง และโครงการเราชนะ ที่มีลูกจ้างให้ขึ้นทะเบียนตาม ม.33 ภายในเดือน ก.ค.นี้ เพื่อรับเงินช่วยเหลือเหมือนผู้ประกันตน ในขณะที่ผู้ประกอบการในระบบถุงเงิน 5 หมวด ภายใต้โครงการคนละครึ่ง และโครงการเราชนะ ที่ไม่มีลูกจ้างให้ขึ้นทะเบียนตาม ม.40 ภายในเดือน ก.ค.นี้ เพื่อรับค่าช่วยเหลือ 5,000 บาท รวมทั้งสิ้นภายใต้กรอบวงเงิน 30,000 ล้านบาท  
    พล.อ.ประยุทธ์โพสต์อีกว่า 2.มาตรการลดค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภคพื้นฐานสำหรับประชาชนทั่วประเทศนั้นจะประกอบด้วย ค่าไฟฟ้า ให้มีการลดค่าไฟฟ้าสำหรับบ้านอยู่อาศัย และกิจการขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ เฉพาะอย่าง องค์กรไม่แสวงหากำไร และการสูบน้ำเพื่อการเกษตร (ไม่รวมส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ) เป็นเวลา 2 เดือน คือ ก.ค. และ ส.ค.2564  สำหรับบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 150 หน่วยต่อเดือน ให้สิทธิใช้ไฟฟ้าฟรี 90 หน่วยแรก สำหรับบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าเกิน 150 หน่วยต่อเดือน ให้คิดดังนี้ 1.หากใช้ไฟฟ้าน้อยกว่าหรือเท่ากับค่าไฟเดือน ก.พ.2564 ให้คิดค่าไฟฟ้าตามหน่วยการใช้จริง 2.หากใช้ไฟฟ้ามากกว่าค่าไฟเดือน ก.พ.64 หากไม่เกิน 500 หน่วย ให้คิดค่าไฟฟ้าเท่ากับหน่วยของเดือน ก.พ.2564 3.หากใช้ 501-1,000 หน่วย ให้คิดค่าไฟเท่ากับหน่วยของเดือน ก.พ.2564 บวกด้วยหน่วยที่มากกว่าหน่วยของเดือน ก.พ.64 ในอัตรา 50% 4.หากใช้มากกว่า 1,000 หน่วย ให้คิดค่าไฟเท่ากับหน่วยของเดือน ก.พ.2564 บวกด้วยหน่วยที่มากกว่าหน่วยของเดือน ก.พ.2564 ในอัตรา 70% ทั้งนี้ให้เป็นส่วนลดก่อนการคิดภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับกิจการขนาดเล็กให้สิทธิใช้ไฟฟ้าฟรี 100 หน่วยแรก สำหรับกิจการขนาดกลาง ขนาดใหญ่ เฉพาะอย่าง องค์กรไม่แสวงหากำไร และการสูบน้ำเพื่อการเกษตร ให้ยกเว้นการเรียกกเก็บอัตราค่าไฟฟ้าต่ำสุดไปจนถึงสิ้นเดือน ธ.ค.2564 ส่วนค่าน้ำประปาลด 10% สำหรับบ้านอยู่อาศัยและกิจการขนาดเล็ก ซึ่งไม่รวมส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ เป็นเวลา 2 เดือน คือ ก.ค. และ ส.ค.2564 โดยรวมทั้งสิ้นภายใต้กรอบวงเงิน 12,000 ล้านบาท  
    3.มาตรการความช่วยเหลือบรรเทาค่าใช้จ่ายของประชาชนด้านอื่นๆ ประกอบด้วย มาตรการให้ความช่วยเหลือด้านการศึกษา ครม.เห็นชอบให้กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงการอุดมศึกษาฯ หารือกับสถานศึกษาในสังกัดเพื่อกำหนดแนวทางลดค่าใช้จ่ายและค่าธรรมเนียมต่างๆ ในภาคเรียนที่ 1/2564 และให้จัดทำโครงการที่รัฐร่วมสมทบส่วนลดบางส่วนให้แก่สถานศึกษา ให้เสนอ ครม.ภายใน1 สัปดาห์ รวมถึงแนวทางการช่วยเหลือปัญหาทางการเงินแก่สถานศึกษาเอกชนด้วย มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ ครม.มอบหมายให้กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หารือกับธนาคารพาณิชย์ดำเนินมาตรการผ่อนปรนการชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ย หรือเลื่อนงวดการชำระเงินต้นและดอกเบี้ยให้แก่ทั้งประชาชนและผู้ประกอบการอย่างจริงจัง และกำหนดมาตรการทางการเงินเพื่อช่วยเหลือประชาชนสำหรับผู้ให้บริการนอกระบบการกำกับของ ธปท. และกำหนดมาตรการจริงจังสำหรับผู้ทวงถามหนี้ที่ดำเนินการอย่างไม่เป็นธรรมกับประชาชนด้วย และให้ดำเนินการโดยเร็วที่สุด
ลั่นไม่ยอมแพ้สงคราม
    “การเยียวยาครั้งนี้แม้ต้องใช้งบประมาณพอสมควร แต่ได้พิจารณาอย่างรอบคอบ และมีความจำเป็น เพื่อช่วยให้พี่น้องประชาชนได้ผ่านวิกฤตินี้ไปให้ได้ ผมขอให้พวกเราทุกคนไม่ยอมแพ้ต่อช่วงเวลาที่ยากลำบาก ผมและรัฐบาลจะหาทางช่วยทุกท่านให้ได้มากที่สุด และจะไม่มีวันยอมแพ้ต่อสงครามครั้งนี้ ไม่ลดละเลิกล้มความพยายาม ไม่ว่าจะมีอุปสรรคหรือปัญหาใดๆ และจะสู้จนกว่าเราจะเอาชนะได้” พล.อ.ประยุทธ์โพสต์ทิ้งท้าย
    รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลแจ้งว่า ภายหลัง ครม.เห็นชอบมาตรการเยียวยาแล้ว นายกฯ ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดูมาตรการในระยะต่อไปเตรียมเอาไว้ด้วย เพราะหากสถานการณ์ไม่ดีขึ้นจะต้องมีแผนการในระยะต่อไป
    ด้านนายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกฯ แถลงผลประชุม ครม.ว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบมาตรการช่วยเหลือในระยะเร่งด่วน กลุ่มแรงงานและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากข้อกำหนดฉบับที่ 27 เพื่อลดผลกระทบในระยะสั้น โดยเป็นการทดแทนมาตรการช่วยเหลือตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 29 มิ.ย.2564 ระยะเวลาการช่วยเหลือ 1 เดือน โดยขยายพื้นที่จากเดิม 6 จังหวัด กรุงเทพฯ, นครปฐม, นนทบุรี, ปทุมธานี, สมุทรปราการ และสมุทรสาคร เพิ่มเติม 4 จังหวัด นราธิวาส, ปัตตานี, ยะลา และสงขลา โดยเป็น 10 จังหวัดในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด และเพิ่มประเภทกิจการรวม 9 สาขา จากเดิม  4 หมวดกิจการ 
    นายอนุชากล่าวอีกว่า การช่วยเหลือในระบบประกันสังคมตามมาตรา 33​ นายจ้างและผู้ประกอบการ รัฐบาลยังคงจ่ายให้นายจ้างตามจำนวนลูกจ้าง 3,000 บาท/หัว/สถานประกอบการ สูงสุดไม่เกิน 200 คน, ลูกจ้าง จ่ายเพิ่มเป็น 2,500 บาท/คน จากที่ลูกจ้างจะได้รับตามมาตรการช่วยเหลือเดิมเพียง 2,000 บาท/คน ซึ่งเมื่อรวมกับจ่ายชดเชยเยียวยา 50% ของรายได้ให้ลูกจ้าง สูงสุดไม่เกิน 7,500 บาท ระยะเวลาไม่เกิน 90 วัน ทำให้ผู้ประกันตน ม.33 สัญชาติไทยจะได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐไม่เกิน 10,000 บาท/คน, เพิ่มสิทธิให้ผู้ประกันตน ม.39 และ ม.40 ที่ประกอบอาชีพอยู่ในปัจจุบัน จะได้รับเงินช่วยเหลือ 5,000 บาท/คน  สำหรับผู้ที่อยู่นอกระบบ ม.33 อาชีพอิสระ ขอให้ขึ้นทะเบียนกับประกันสังคม (ม.40) ภายในเดือน ก.ค.64 เพื่อจะได้รับเงินช่วยเหลือ 5,000 บาท/คน    
    ส่วนผู้อยู่นอกระบบประกันสังคม กลุ่มผู้ประกอบการ/นายจ้าง กรณีมีลูกจ้าง ให้ขึ้นทะเบียนกับประกันสังคม (ม.33) ภายในเดือน ก.ค.64 เพื่อที่นายจ้างจะได้รับเงินช่วยเหลือตามจำนวนลูกจ้าง 3,000 บาท/หัว/สถานประกอบการ สูงสุดไม่เกิน 200 คน ขณะเดียวกันลูกจ้างสัญชาติไทยจะได้รับเงินช่วยเหลือ 2,500 บาท/คน​ ส่วนกรณีที่ไม่มีลูกจ้าง ให้ลงทะเบียนเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ภายในเดือน ก.ค. จะได้รับเงินช่วยเหลือ 5,000 บาท/คน ขยายมาตรการช่วยเหลือเดิมให้เฉพาะผู้ประกอบการในหมวดร้านอาหาร เครื่องดื่ม ในโครงการคนละครึ่งที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับประกันสังคม ได้รับการช่วยเหลือ 3,000 บาทเท่านั้น   
    สำหรับผู้ประกอบการในระบบถุงเงิน โครงการคนละครึ่ง และโครงการเราชนะ ขยายให้ความช่วยเหลือจากเดิมเฉพาะหมวดร้านอาหารและเครื่องดื่มเป็น 5 กลุ่ม กรณีที่มีลูกจ้าง ขอให้ขึ้นทะเบียนกับประกันสังคมภายในเดือน ก.ค.64 เพื่อนายจ้างจะได้รับเงินช่วยเหลือตามจำนวนลูกจ้าง 3,000 บาท/คน/สถานประกอบการ สูงสุดไม่เกิน 200 คน และลูกจ้างสัญชาติไทยจะได้รับเงินช่วยเหลือ 2,500 บาท/คน กรณีที่ไม่มีลูกจ้าง ให้ลงทะเบียนเป็นผู้ประกันสังคม (ม.40) ภายในเดือน ก.ค.64 เพื่อจะได้รับเงินในอัตรา 5,000 บาทต่อคน 
ครม.เตรียมเคาะช่วย SMEs
“กรอบวงเงินสำหรับมาตรการช่วยเหลือกลุ่มแรงงานและผู้ประกอบการนั้นใช้ 30,000 ล้านบาท ส่วนมาตรการช่วยเหลือด้านการเงินและลูกหนี้สถาบันการเงินนั้น กระทรวงการคลัง ธปท.จะหารือกับธนาคารพาณิชย์ เพื่อดำเนินมาตรการผ่อนปรนการชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ย หรือการเลื่อนงวดการชำระเงินต้นและดอกเบี้ยให้แก่ประชาชนและผู้ประกอบการด้วย และหลังจากนี้ ครม.ยังจะพิจารณามาตรการช่วยเหลือในระยะต่อไป โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs ทั่วประเทศด้วย” นายอนุชาระบุ
    นายอนุชายังกล่าวว่า ครม.ยังเห็นชอบการให้ความช่วยเหลือบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายไฟฟ้าและค่าน้ำประปาของประชาชนและธุรกิจทั่วประเทศเป็นเวลา 2 เดือน โดยกรอบวงเงินสำหรับมาตรการลดค่าน้ำ-ค่าไฟฟ้า ให้ กฟน. กฟภ. กปน. และ กปภ. ขอรับสนับสนุนภายใต้กรอบวงเงินรวมไม่เกิน 12,000 ล้านบาท​ ในส่วนมาตรการให้ความช่วยเหลือบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของครัวเรือนและประชาชนนั้น ได้ประกาศให้สถานศึกษาภาครัฐพิจารณาให้ความช่วยเหลือในการให้ส่วนลดเงินบำรุงการศึกษา ค่าธรรมเนียมการศึกษา ค่าธรรมเนียมการเรียน และค่าธรรมเนียมอื่นๆ ในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 เป็นกรณีพิเศษ ซึ่งวันนี้ ครม.ให้ ศธ.และกระทรวงการอุดมศึกษาฯ หารือกับสถานศึกษาในสังกัดเพื่อแนวทางการลดค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 เป็นกรณีพิเศษ พร้อมให้ทำข้อเสนอโครงการในลักษณะรัฐร่วมสมทบภาระส่วนลดให้แก่สถานศึกษาบางส่วน เพื่อเสนอให้ ครม.พิจารณาภายใน 1 สัปดาห์ รวมทั้งให้ร่วมกับกระทรวงการคลังและ ธปท.พิจารณาแนวทางทางการเงินเพื่อช่วยเหลือสถานศึกษาภาคเอกชนที่ประสบปัญหาทางการเงินที่เหมาะสมด้วย
    น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า ครม.ยังอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมการประกอบกิจการสถานประกอบการเพื่อสุขภาพรายปีแก่ผู้รับอนุญาตประกอบกิจการสปาและกิจการนวดเพื่อสุขภาพหรือเพื่อเสริมความงามออกไปอีกเป็นระยะเวลา 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 18 มี.ค.2564 ถึงวันที่ 17 มี.ค.2565 และกำหนดให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมการประกอบกิจการแก่การดูแลผู้สูงอายุหรือผู้มีภาวะพึ่งพิงแก่ผู้รับอนุญาตประกอบกิจการการดูแลผู้สูงอายุหรือผู้มีภาวะพึ่งพิงเป็นเวลา 2 ปี นับตั้งแต่ร่างกฎกระทรวงฉบับนี้มีผลบังคับใช้ ซึ่งค่าธรรมเนียมกิจการสปาอยู่ที่ปีละ 1,000 บาท กิจการนวดเพื่อสุขภาพหรือเสริมความงามปีละ 500 บาท และกิจการการดูแลผู้สูงอายุหรือผู้มีภาวะพึ่งพิงโดยมีการพักค้างคืนปีละ 1,000 บาท ซึ่งจะทำให้กิจการสปา 905 แห่ง, กิจการนวดเพื่อสุขภาพและเพื่อเสริมความงาม 10,934 แห่ง และกิจการการดูแลผู้สูงอายุหรือผู้มีภาวะพึ่งพิง จำนวน 138 แห่ง ได้ประโยชน์ แม้ทำให้รัฐสูญเสียรายได้ 6,640,000 บาท.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"