วันที่ 13 ก.ค.บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด ร่วมกับ สถาบันพลาสติก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย PPP Plastics กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย และเครือข่ายพันธมิตรได้แก่ กรมควบคุมมลพิษ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม สำนักสิ่งแวดล้อมกรุงเทพมหานคร และเขตปทุมวัน เดินหน้าโครงการ Siam Pieces (สยาม พีซเซส) เพื่อสร้างต้นแบบการจัดการขยะพลาสติกอย่างยั่งยืนตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน นำไปสู่การพัฒนาแบบแผนธุรกิจตลอดห่วงโซ่ธุรกิจผ่านการศึกษาวิจัยพฤติกรรมจากกลุ่มตัวอย่างของผู้บริโภคในพื้นที่เขตปทุมวัน โดยได้รับทุนสนับสนุนโครงการจาก บพข. (หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ) ภายใต้สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ หรือ สอวช.
โครงการนี้มีเป้าหมายที่จะพัฒนาแบบแผนธุรกิจในการนำพลาสติกใช้แล้วทุกชนิดกลับสู่กระบวนการรีไซเคิลอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมสร้างโมเดลศูนย์คัดแยกที่มีศักยภาพในการจัดเก็บขยะพลาสติกทุกประเภทบนพื้นที่ศูนย์กลางแห่งธุรกิจค้าปลีกของประเทศไทยอย่าง วันสยาม ที่ประกอบด้วย 3 ศูนย์การค้าระดับโลก ได้แก่ สยามพารากอน สยามเซ็นเตอร์ และสยามดิสคัฟเวอรี่ รวมถึงการคัดแยกประเภทวัสดุที่สามารถนำไปเข้ากระบวนการรีไซเคิลและอื่นๆ ได้ ตลอดจนเพื่อส่งต่อแนวคิดในการใช้ชีวิตให้ผู้คนในสังคมร่วมกันตระหนักถึงความสำคัญของวิกฤตขยะพลาสติกในปัจจุบันที่ทุกคนมิอาจมองข้าม ซึ่งจะเป็นแนวทางสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนให้เกิดวัฏจักรของการบริหารจัดการพลาสติกใช้แล้วอย่างยั่งยืนได้อย่างแท้จริง
นางสาวนราทิพย์ รัตตประดิษฐ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส สายงานปฏิบัติการ บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด กล่าวว่า การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่สยามพิวรรธน์ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก ด้วยความมุ่งมั่น
ที่จะขับเคลื่อนธุรกิจสู่ความยั่งยืน เราจึงได้นำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนมาพัฒนาเป็นหลักการบริหารจัดการขยะ
ในทุกกระบวนการของธุรกิจ ตั้งแต่การรณรงค์ภายในองค์กร ไปจนถึงการสร้างจิตสำนึกให้ลูกค้า ล่าสุด กับการร่วมเปิด Recycle Collection Center จุดรับขยะรีไซเคิลที่เปิดให้คนทั่วไปสามารถนำมาทิ้งได้ โดยสยามพิวรรธน์ มีความยินดีที่ได้ร่วมมือกับสถาบันพลาสติก และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการใช้พื้นที่วันสยามในการทำวิจัย รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลจากพนักงานและลูกค้าวันสยาม เพื่อนำองค์ความรู้มาพัฒนาเป็นต้นแบบของการบริหารจัดการขยะพลาสติกในสังคมอย่างยั่งยืน พร้อมต่อยอดไปใช้แก้ไขปัญหาการจัดการขยะพลาสติกในพื้นที่ต่างๆ ในประเทศไทย ทั้งยังสอดรับกับสถานการณ์โลกปัจจุบันที่ขณะนี้ทางสหภาพยุโรป หรืออียู ต้องการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของโลกในการลดปริมาณขยะพลาสติก และมุ่งมั่นที่จะสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนจึงได้ออกระเบียบว่าด้วยการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวของสหภาพยุโรปที่เริ่มต้นใช้ตั้งแต่วันที่ 3 ก.ค.ที่ผ่านมา
ด้าน นายวีระ ขวัญเลิศจิตต์ ผู้อำนวยการสถาบันพลาสติก กล่าวว่า ด้วยความร่วมมือขององค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนที่ร่วมกันสร้างแนวคิดและแบบแผนเศรษฐกิจหมุนเวียนในปัจจุบัน หรือ Circular Economy ทำให้ในปัจจุบันหลากหลายหน่วยงานเกิดความตระหนักในเรื่องการใส่ใจของสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเรื่องการจัดการขยะพลาสติก ทางสถาบันพลาสติกเห็นถึงโอกาสที่จะแก้ไขปัญหาขยะพลาสติก และเพิ่มการรีไซเคิลของขยะพลาสติกเข้าสู่ระบบมากยิ่งขึ้น สถาบันพลาสติกจึงได้รับงบประมาณจาก บพข.เพื่อจัดตั้งโครงการพัฒนาแบบแผนธุรกิจสำหรับการบริหารจัดการขยะพลาสติกหลังการใช้โดยใช้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในพื้นที่เขตเมืองชั้นใน
" เราเล็งเห็นศักยภาพของพื้นที่เขตปทุมวัน ที่ประกอบด้วยสถานที่สำคัญหลายแห่ง เช่น สถานศึกษา ห้างสรรพสินค้า อาคารสำนักงาน โรงพยาบาล และ ชุมชน โดย “SIAM PIECES” นี้เป็นหนึ่งในโครงการพัฒนาแบบแผนธุรกิจสำหรับการบริหารจัดการขยะพลาสติกหลังการใช้ โดยใช้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในพื้นที่เขตเมืองชั้นใน ที่ทำการศึกษาตั้งแต่พฤติกรรมของผู้บริโภคที่มีผลต่อการคัดแยกและทิ้งขยะพลาสติก เพื่อเข้าใจและหาเครื่องมือที่จะทำให้เกิดแรงจูงใจในการคัดแยกพลาสติกของผู้บริโภคที่มากขึ้น และต่อยอดไปจนถึงการศึกษาผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตลอดห่วงโซ่เศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อนำผลการศึกษามาพัฒนาและจัดทำแบบแผนธุรกิจเพื่อลดการเพิ่มขยะพลาสติกสู่สิ่งแวดล้อมและส่งเสริมให้มีการนำขยะพลาสติกเข้าสู่ระบบรีไซเคิลมากยิ่งขึ้น " นายวีระ กล่าว
ขณะที่ ศ.ดร. สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ปัจจุบัน
ทุกภาคส่วนให้ความสำคัญกับการรักษาสิ่งแวดล้อม มีการคิดค้นนวัตกรรมในการจัดการวัสดุเหลือใช้ โดยเฉพาะกลุ่มพลาสติก อย่างไรก็ตาม การจัดการปัญหาขยะพลาสติกนั้นไม่สามารถสำเร็จได้ด้วยเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมเพียงอย่างเดียว แต่จำเป็นต้องมีการประยุกต์ใช้องค์ความรู้ด้านอื่นมาร่วมด้วย โดยเฉพาะการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ใช้พลาสติกหรือผู้บริโภค และการสร้างกลไกทางเศรษฐกิจที่ทำให้เกิดจัดการพลาสติกที่ครบวงจรเศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งจะทำให้พลาสติกทั้งที่มีมูลค่าสูงและส่วนที่ยังมีมูลค่าต่ำอยู่ได้กลับเข้าสู่ระบบเพื่อการจัดการอย่างเหมาะสม ซึ่งจำเป็นต้องมีการเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลที่ถูกต้องตามหลักวิชาการเพื่อให้สามารถนำผลสัมฤทธิ์ที่เกิดขึ้นไปอ้างอิงและขยายผลสู่พื้นที่อื่นได้ จุฬาฯ ในฐานะสถาบันการศึกษาจะร่วมเป็นส่วนหนึ่งในโครงการที่ส่งเสริมให้เกิดการจัดการขยะพลาสติกอย่างครบวงจร เพื่อร่วมขับเคลื่อนแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนและผลักดันการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศ
ด้าน ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ประธาน PPP Plastics กล่าวว่า โครงการความร่วมมือภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม เพื่อจัดการพลาสติก และขยะอย่างยั่งยืน (PPP Plastics) ได้มีส่วนร่วมในการพิจารณาร่วมให้ทุนสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินงานโครงการพัฒนาแบบแผนธุรกิจสำหรับการบริหารจัดการขยะพลาสติกหลังการใช้โดยใช้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในพื้นที่เขตเมืองชั้นใน ปัจจุบันองค์กรภาคธุรกิจได้เข้ามามีบทบาทสำคัญเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อแก้ไขปัญหาขยะพลาสติก เพื่อร่วมหาทางออกการบริหารจัดการขยะพลาสติก เพื่อสร้างรูปแบบที่สมดุลอันมุ่งไปสู่
เศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างยั่งยืนในมิติต่างๆ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
" การขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกได้มีการดำเนินงานในบริบทที่มีความสอดคล้องกับแนวทางเศรษฐกิจ BCG หรือ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green: BCG Model) ที่รัฐบาลกำหนดเป็นโมเดลเศรษฐกิจในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนและเป็นวาระแห่งชาติ นับได้ว่าการปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจดังกล่าวเป็นการตอบสนองนโยบายของภาครัฐในการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ความยั่งยืนในอนาคต ” ดร.วิจารย์ กล่าว
นายฉัตรชัย เลื่อนผลเจริญชัย ประธานบริหาร กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย กล่าวว่า โครงการนี้สอดคล้องเป็นอย่างยิ่งกับหนึ่งในเป้าหมายด้านความยั่งยืนที่ ดาวได้ประกาศไปเมื่อปีที่แล้วคือ “การหยุดขยะพลาสติก” โดยเราตั้งเป้าจะผลักดันให้พลาสติกที่ใช้แล้วจำนวน 1 ล้านตันจากทั่วโลกถูกเก็บกลับมาใช้ประโยชน์ หรือ รีไซเคิล ภูมิใจที่ดาวได้ร่วมมือกับพันธมิตรในการก่อตั้งโครงการ Siam Pieces อีกทั้งร่วมผลักดันให้เกิด business model ของการจัดการพลาสติกใช้แล้วที่มีประสิทธิภาพ และช่วยยกระดับผู้ประกอบการรับซื้อของเก่า ซาเล้ง รวมทั้งผู้มีส่วนได้เสียตลอดทั้ง value chain ให้มีรายได้พอเพียงที่จะสามารถดำเนินธุรกิจได้ด้วยตนเอง ซึ่งจะทำให้การจัดการพลาสติกเป็นไปอย่างยั่งยืนในอนาคต
นอกจากนี้ ภายใต้งานแถลงข่าวโครงการ Siam Pieces ในรูปแบบออนไลน์ผ่านระบบ ZOOM และ Facebook Live เพจ สถาบันพลาสติก ยังมีการจัดเสวนาหัวข้อ “Siam Pieces โมเดลเส้นทางการจัดการพลาสติกใช้แล้วครบวงจร” โดยมี นราทิพย์ รัตตประดิษฐ์ ผู้บริหารระดับสูงแห่งบริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด พร้อมด้วยเหล่าคนดังสายนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและผู้เชี่ยวชาญทางท้องทะเลมาร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองและร่วมหาทางออกในการกู้วิกฤตขยะพลาสติก ทั้ง เชอรี่ เข็มอัปสร สิริสุขะ นักขับเคลื่อนด้านสิ่งแวดล้อม ศ.ดร. พิสุทธิ์ เพียรมนกุล รองคณบดีด้านยุทธศาสตร์นวัตกรรมและความยั่งยืน คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผศ.ดร. ธรณ์ ธำรงนาราสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศทางทะเล และรองคณบดีกิจการพิเศษ ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปรม พฤกษ์ทยานนท์ เจ้าของเพจ ‘ลุงซาเล้งกับขยะที่หายไป’ และ ก้อง-ชณัฐ วุฒิวิกัยการ พิธีกรหนุ่มสายกรีนที่หันมาเอาจริงเอาจังในการสื่อสารเรื่องสิ่งแวดล้อม
ผู้ที่สนใจร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยพัฒนาการบริหารจัดการพลาสติกใช้แล้วอย่างยั่งยืนเพื่อนำไปสู่การพัฒนาแบบแผนธุรกิจตลอดห่วงโซ่ธุรกิจ ด้วยการตอบแบบสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อพฤติกรรมการ
คัดแยกขยะได้ในช่องทาง https://bit.ly/3xLS8GG หรือ Scan QR Code