เจาะลึกเทรนด์รักษ์โลกเมืองไทย


เพิ่มเพื่อน    

ดูเหมือนว่าเทรนด์รักษ์โลกและความยั่งยืนกำลังได้รับความนิยมเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ในประเทศไทย โดยเฉพาะในช่วงที่มีการแพร่ระบาดโควิด-19 เห็นได้ชัดเจนว่าพฤติกรรมคนไทยได้ปรับเปลี่ยนมาเลือกซื้อสินค้าและบริการจากบริษัทที่ทำธุรกิจเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น แน่นอนว่าทำให้นักลงทุนและผู้ประกอบการต่างๆ จะเริ่มหันมาใช้แนวคิด ESG (Environmental, Social, Governance: ESG) กันมากกว่าเดิม เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างภาพลักษณ์ที่ดี รวมถึงยังตอบโจทย์ความต้องการลูกค้าในยุคนี้ด้วย
    สำหรับในประเด็นดังกล่าวมีข้อมูลที่น่าสนใจ โดย นายชาญชัย ชัยประสิทธิ์ ประธานกรรมการบริหารและหุ้นส่วนบริษัท PwC ประเทศไทย ระบุว่า การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้ผู้บริโภคชาวไทยหันมาใส่ใจกับแนวคิดการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนที่คำนึงถึงประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social, Governance: ESG) มากกว่าเดิม โดยผู้บริโภคต้องการแสดงความรับผิดชอบในการช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมในฐานะพลเมืองที่ดี ผ่านการสนับสนุนองค์กรและหน่วยงานที่ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง
    จะเห็นได้ว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยิ่งกระตุ้นให้คนไทยหันมาให้ความสำคัญกับสินค้าและบริการที่บริโภคมากกว่าเดิม ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้จะผลักดันให้ผู้ผลิตและผู้ประกอบการต้องผนวกแนวคิดการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนเข้ากับกลยุทธ์ขององค์กร เพื่อตอบรับกับเทรนด์รักษ์สิ่งแวดล้อมที่จะยิ่งมีผลต่อการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคมากขึ้นนั่นเอง
    มาดูผลสำรวจ Global Consumer Insights Pulse Survey ของ PwC ประจำเดือนมิถุนายน 2564 ซึ่งได้ทำการสำรวจผู้บริโภคจำนวน 8,681 คนใน 22 ประเทศและอาณาเขต รวมทั้งประเทศไทย พบว่า 76% ของผู้บริโภคชาวไทยต้องการซื้อสินค้าที่มีบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือใช้บรรจุภัณฑ์น้อยที่สุด หากเปรียบเทียบกับการสำรวจในเดือนมีนาคมอยู่ที่ 74%
    ขณะที่ 78% เลือกซื้อเฉพาะผลิตภัณฑ์จากบริษัทที่มีจิตสำนึกและสนับสนุนการปกป้องสิ่งแวดล้อมเท่านั้น เปรียบเทียบกับเดือนมีนาคมที่ 77% ขณะเดียวกันผลสำรวจยังพบว่า 79% ของผู้บริโภคไทยยังต้องการเลือกซื้อสินค้าที่ระบุแหล่งที่มาอย่างชัดเจนและสามารถตรวจสอบหาต้นกำเนิดได้ เปรียบเทียบกับเดือนมีนาคมที่ 77%
    ถามว่า ผลสำรวจข้างต้นบอกอะไรเราได้บ้าง? ก็ต้องตอบว่าวันนี้เทรนด์ผู้บริโภคเปลี่ยนไปสู่อะไรที่ eco-conscious มากขึ้น โดยคนยอมที่จะจ่ายมากขึ้น หากสินค้าและบริการที่ได้รับกลับมาจะมีคุณภาพ และช่วยลดการสร้างปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมให้กับสังคมได้บ้าง ไม่เหมือนกับอดีตที่ราคาเป็นปัจจัยอันดับแรกในการเลือกซื้อ
    หากเป็นเช่นนั้นแล้ว ต่อไปคงต้องจับตาการลงทุนอย่างยั่งยืน เพราะนอกเหนือจากผู้บริโภคที่หันมาให้ความสนใจกับสินค้าและบริการที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้นแล้ว ในปัจจุบันการลงทุนอย่างยั่งยืนมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสำหรับในประเทศไทยเองการลงทุนอย่างยั่งยืนกำลังได้รับความสนใจจากผู้ลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ลงทุนสถาบันและผู้จัดการกองทุนที่นำผลการดำเนินงานด้าน ESG ของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) มาใช้เป็นองค์ประกอบในการพิจารณาคัดเลือกหลักทรัพย์ในการลงทุนมากขึ้น
    ทั้งนี้ ข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยชี้ว่า มูลค่าตามราคาตลาดของหุ้นกลุ่มดัชนีความยั่งยืน (SETTHSI Index) ณ สิ้นเดือนพฤษภาคมปีนี้อยู่ที่ 11.2 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 16% จาก ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2563 ที่ 9.8 ล้านล้านบาท เปรียบเทียบกับมูลค่าตามราคาตลาดรวมของ SET ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2564 อยู่ที่ 18.3 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 13% จาก ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2563 ที่ 16.1 ล้านล้านบาท  
    คงต้องยอมรับว่าบริษัทไทยยังไม่ตื่นตัวกับการนำแนวคิด ESG มาใช้ในการดำเนินธุรกิจมากเท่ากับในต่างประเทศ จะมีก็แต่ บจ.ขนาดใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ เท่านั้นที่สนใจในเรื่องนี้ และสามารถจัดทำรายงานความยั่งยืนได้ตรงตามมาตรฐานสากล ซึ่งแนวโน้มดังกล่าวจะมีผลกระทบต่อภาพลักษณ์และการเติบโตของธุรกิจในระยะยาว รวมถึงยังดึงดูดความสนใจจากนักลงทุน โดยเฉพาะกองทุนทั่วโลกที่จะยิ่งหันมาใช้แนวคิดนี้ประกอบการตัดสินใจลงทุนควบคู่กับการพิจารณาผลประกอบการในวงกว้างมากขึ้น คงถึงเวลาแล้วที่บริษัทไทยควรหันมาศึกษาและผนวกประเด็นด้าน ESG เข้ากับกลยุทธ์ทางธุรกิจ รวมทั้งจัดทำรายงานความยั่งยืนเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค นักลงทุน และสังคมส่วนรวมอีกด้วย.

รุ่งนภา สารพิน


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"