เชียงใหม่เป็นจังหวัดที่เมื่อใครได้ไปเยือนจะต้องมนต์เสน่ห์ ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวหลากหลายทั้งธรรมชาติ ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรม ไม่นับรวมวัดเก่าแก่ที่น่าไป บรรยากาศของเมืองเชียงใหม่ยังคงกลิ่นอายวิถีวัฒนธรรมล้านนาไม่เสื่อมคลาย
ช่วงนี้ถ้าใครอยากเรียนรู้วัฒนธรรมพื้นบ้าน ภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชนใน จ.เชียงใหม่ ซึ่งแต่ละแห่งนั้นเต็มไปด้วยมรดกทางวัฒนธรรม ความงาม เห็นแล้วปลื้มอกปลื้มใจ แนะนำให้มาถนนสายวัฒนธรรมและตลาดประชารัฐถนนวัฒนธรรม ชุมชนศิลปวัฒนธรรม หัตถกรรมเครื่องเงิน “วัดศรีสุพรรณ” ถนนวัวลาย ซึ่งกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม สภาวัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกับวัดศรีสุพรรณ จัดขึ้นทุกวันเสาร์ตั้งแต่เดือน ม.ค.ถึงเดือน มี.ค.2561 ระหว่างเวลา 17.00-22.00 น. โดยนายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานเปิดโครงการครั้งแรก พร้อมด้วยนางพิมพ์รวี วัฒนวรางกูร อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม เมื่อวันก่อน
ลวดลาย 12 ราศีบนเครื่องเงินฝีมือชุมชน
หัวใจสำคัญที่ชุมชนวัดศรีสุพรรณแห่งนี้ได้รับคัดเลือกจัดถนนสายวัฒนธรรม เพราะเป็นศูนย์กลางเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น หัตถกรรมช่างหล่อ และหัตถกรรมเครื่องเงิน ย่านถนนวัวลาย วัดศรีสุพรรณร่วมสืบสานภูมิปัญญาชาวล้านนาอย่างแข็งขัน ตลอดจนสืบทอดพระพุทธศาสนาและปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9
นายวีระ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ. )กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายสร้างรายได้ สร้างความยั่งยืนแก่ชุมชน ผ่านโครงการตลาดประชารัฐ ปัจจุบันมีจำนวน 10 ประเภท วธ.ได้รับมอบหมายให้ทำตลาดประชารัฐถนนวัฒนธรรม โดยจะจัดในพื้นที่วัด อุทยานประวัติศาสตร์ และชุมชนที่มีต้นทุนทางวัฒนธรรม อีกทั้งมีการผลิตสินค้าจากต้นทุนทางวัฒนธรรม ที่สำคัญชุมชนรักษาอัตลักษณ์ได้ การเปิดโครงการที่วัดศรีสุพรรณ เพราะเห็นศักยภาพของวัด และพระครูพิทักษ์สุทธิคุณ เจ้าอาวาสวัดศรีสุพรรณ ขับเคลื่อนมรดกงานภูมิปัญญาท้องถิ่นต่อเนื่อง
การแสดงศิลปวัฒนธรรมล้านนาน่าชมทุกค่ำวันเสาร์
“วัดรวบรวมภูมิปัญญาชาวบ้าน จัดตั้งเป็นกลุ่มหัตถศิลป์ล้านนาวัดศรีสุพรรณขึ้นภายในวัด สร้างอุโบสถเงินหลังแรกของโลก ให้เป็นสถาปัตยกรรมสำคัญทางพระพุทธศาสนา ดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างประเทศมาเยี่ยมชมความงามของพระอุโบสถหลังนี้อย่างต่อเนื่อง ฝาผนังมีหัตถกรรมเครื่องเงินการดุนลายประดับตกแต่งด้วย ถือว่ามีทุนทางวัฒนธรรมอยู่แล้ว การเพิ่มตลาดประชารัฐ ถนนวัฒนธรรมจะสร้างรายได้ อีกทั้งส่งเสริมให้ชุมชนหัตถกรรมรอบวัดมีพื้นที่จำหน่ายสินค้ามากยิ่งขึ้น เป็นการบูรณาการร่วมกันระหว่างวัด ชุมชน จังหวัด และ วธ.ซึ่งจะขับเคลื่อนในวัดต่างๆ ทั่วประเทศต่อไป" นายวีระกล่าวพร้อมเชิญชวนมาไหว้พระวัดศรีสุพรรณ แวะเที่ยวตลาดกัน
ภายในวัดเพลิดเพลินเดินกาดหมั้วคนเมือง
ด้านนายปวิณ ชำนิประศาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า จ.เชียงใหม่เป็นราชธานีแห่งแรกของอาณาจักรล้านนา ปัจจุบันมีอายุกว่า 700 ปี มีขนบธรรมเนียม ประเพณีสืบทอดกันมา สำหรับชุมชนวัดศรีสุพรรณนับว่ามีความเจริญรุ่งเรือง โดดเด่นของวัฒนธรรมเฉพาะท้องถิ่น ทั้งเครื่องเงิน เครื่องเขิน วิถีชีวิตผู้คนที่เรียบง่าย งานถนนสายวัฒนธรรมชุมชนวัดศรีสุพรรณมีคุณค่าต่อการศึกษา เรียนรู้ และเกิดประโยชน์ในการอนุรักษ์ภูมิปัญญาเครื่องเงินและเครื่องเขิน ได้ต่อยอดทุนวัฒนธรรมสู่การสร้างสรรค์เศรษฐกิจได้ การมาเยือนของนักท่องเที่ยวยังแสดงถึงความชื่นชมและเป็นกำลังให้แก่ชุมชนแห่งนี้
ไปเที่ยวถนนสายวัฒนธรรม ช็อปปิ้งหัตถกรรมท้องถิ่นขึ้นชื่อ
ถนนสายวัฒนธรรมชุมชนวัดศรีสุพรรณมีกิจกรรมน่าสนใจภายในวัด เริ่มจาก 7 ข่วงหัตถกรรม ท่องเที่ยววัดศรีสุพรรณ ข่วงที่ 1 เวทีการแสดงศิลปวัฒนธรรมล้านนา ฟ้อนเหนือแสนงดงาม ฟ้อนนกโตของกลุ่มชาติพันธุ์ แต่ละเสาร์ไม่ซ้ำกัน ข่วงที่ 2 ข่วงบุญสมปรารถนา อุโบสถเงิน สื่อสอนธรรม ข่วงที่ 3 พิธีทำบุญสืบชะตาล้านนา ถวายสังฆทาน ข่วงที่ 4 หัตถศิลป์ ช่างสิบหมู่ล้านนา ข่วงที่ 5 ทางสู่สวรรค์บูชาพระบรมธาตุเจดีย์สู่วิสาหกิจชุมชน ข่วงที่ 6 กิจกรรมดีไอวาย แหล่งเรียนรู้หัตถกรรมเครื่องเงิน ข่วงที่ 7 วิสาหกิจชุมชน : ของที่ระลึกอัตลักษณ์ชุมชน มีของที่ระลึกถ้าร่วมครบ 7 ข่วง เรื่องราวของอาหารก็โดดเด่น มีกาดหมั้วคนเมือง ขายอาหาร ขนมพื้นเมืองรสชาติลำขนาด แถมได้สัมผัสบรรยากาศงานวัดที่รื้อฟื้นให้คนรุ่นใหม่ได้เห็น ก่อนจากต้องได้ช็อปผลิตภัณฑ์เครื่องเงิน ผ้าทอสวยงาม ที่เดียวมีครบจริงๆ แวะเที่ยวได้ทุกเย็นวันเสาร์.
สล่าล้านนารังสรรค์งานแกะสลัก อีกเอกลักษณ์สร้างรายได้
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |