สธ.ปรับสูตรฉีด‘ซิโนแวค’เข็มแรกสลับ‘แอสตร้าฯ’


เพิ่มเพื่อน    

นายกฯ ขอบคุณรัฐบาลญี่ปุ่นมอบวัคซีนโควิด-19 ศบค.อ้างข้อมูลสหรัฐฉีด 2 เข็มยังอาการหนักและตายได้แต่อัตราต่ำ คกก.โรคติดต่อฯ เห็นชอบฉีดบูสเตอร์โดสแอสตร้าหรือไฟเซอร์ให้บุคลากรการแพทย์เดือน ก.ค.ทันที เคาะเข็มแรกกับเข็มสองสลับชนิดได้ห่างกัน 3-4 สัปดาห์ เพิ่มประสิทธิภาพป้องเชื้อกลายพันธุ์เดลตา โฆษกรัฐบาลแจงรัฐไม่บวกกำไรวัคซีนทางเลือก
    ที่ห้องสีฟ้า ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม เวลา 08.30 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เป็นประธานงานรับมอบวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) จากรัฐบาลญี่ปุ่น ผ่านระบบประชุมทางไกล โดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายนาชิดะ คาซูยะ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย เป็นผู้แทนรัฐบาลไทยและญี่ปุ่น
    โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวขอบคุณในไมตรีจิตและความห่วงใยของรัฐบาลญี่ปุ่นในการสนับสนุนวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 รัฐบาลไทยรู้สึกซาบซึ้งใจอย่างยิ่งถึงความปรารถนาดีที่ญี่ปุ่นมีให้ตลอดมา สะท้อนถึงความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นของทั้งสองประเทศและความมุ่งมั่นของรัฐบาลไทย-ญี่ปุ่นที่ต้องการจะแก้ไขสถานการณ์ของโรคโควิด-19 ร่วมกัน ซึ่งการฉีดวัคซีนถือเป็นกลยุทธ์สำคัญที่จะช่วยลดการแพร่ระบาด อีกทั้งความช่วยเหลือของรัฐบาลญี่ปุ่นครั้งนี้ มีส่วนสำคัญที่จะมาเสริมกับวัคซีนที่ไทยได้ดำเนินการจัดหามาแล้วเพื่อเพิ่มการเข้าถึงวัคซีนให้ครอบคลุมประชาชนมากยิ่งขึ้น ลดอัตราการเจ็บป่วยและเสียชีวิต และสนับสนุนให้ไทยสามารถเดินหน้าต่อไปได้อย่างเข้มแข็ง พร้อมยืนยันว่า ไทยพร้อมที่จะก้าวผ่านอุปสรรคต่าง ๆ และวิกฤติครั้งนี้ไปพร้อมกับญี่ปุ่นโดยไม่มีวันทอดทิ้งกัน
    ด้านเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ได้มอบสารจากนายซูกะ โยชิฮิเดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ถึงนายกรัฐมนตรี พร้อมกล่าวว่า นับถือรัฐบาลไทยในการจัดการมาตรการโควิดครั้งนี้ หวังว่าการมอบวัคซีนครั้งนี้จะมีส่วนช่วยให้มาตรการฉีดวัคซีนของไทยราบรื่นยิ่งขึ้น 
    ทั้งนี้ วัคซีนดังกล่าวได้มีการลงนามหนังสือแลกเปลี่ยนระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 29 มิ.ย.2564 และจัดส่งถึงไทยเมื่อช่วงค่ำของวันที่ 9 ก.ค.2564 จำนวน 1,053,090 โดส เป็นวัคซีนของบริษัท AstraZeneca ซึ่งผลิตที่ประเทศญี่ปุ่น โดยบริษัท KM Biologics Co., Ltd. และบริษัท Daiichi Sankyo Co., Ltd.
    พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงว่า ข้อมูลการฉีดวัคซีนวันที่ 11 ก.ค. มีจำนวน 100,025 โดส ทำให้มียอดฉีดวัคซีนสะสม 12,569,213 โดส โดยสองสัปดาห์หลังจากนี้ ศบค.ได้ให้ กทม.และหน่วยงานต่างๆ เร่งระดมฉีดวัคซีนให้ผู้สูงอายุและ 7 โรคกลุ่มเสี่ยง 
    สำหรับผู้ที่ฉีดวัคซีน 2 โดสแล้วมีโอกาสเสียชีวิตได้หรือไม่นั้น ทางกระทรวงสาธารณสุขตอบคำถามมาว่ายังมีความเป็นไปได้ โดยข้อมูลในลอสแองเจลิส สหรัฐอเมริกา มีผู้ฉีดวัคซีนครบ 2 โดสไป 4.5 ล้านคน แต่ยังพบอัตราผู้ติดเชื้อที่น้อย จำนวน 2,190 คน คิดเป็น 0.048% ในจำนวนนี้มี 192 คนที่มีอาการป่วยหนักจนต้องเข้าโรงพยาบาล คิดเป็น 0.042% และพบผู้เสียชีวิต 20 คน หรือ 0.004% จึงเป็นข้อสรุปที่ว่าแม้ฉีดวัคซีนครบ 2 โดส แต่ยังสามารถเป็นผู้ติดเชื้อ ผู้แพร่เชื้อ อาจมีอาการทรุดหนักถึงขั้นเสียชีวิตได้ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญสหรัฐวิเคราะห์ว่ากลุ่มที่มีความเสี่ยงที่ฉีดวัคซีนครบแล้วยังอาจกลายเป็นผู้ป่วยหนักหรือเสียชีวิตคือ คนไข้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องอยู่ก่อนแล้ว เช่น คนไข้กลุ่มที่ได้รับการเปลี่ยนถ่ายอวัยวะที่จำเป็นต้องได้รับการกดภูมิคุ้มกัน หรือผู้ที่อยู่ดงเชื้อที่มีการแพร่ระบาดหนัก โดยเฉพาะที่ลอสแองเจลิสที่พบเป็นสายพันธุ์สายเดลตา  
    นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ได้รับทราบคำชี้แจงจากองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ถึงการกำหนดราคาขายวัคซีนโมเดอร์นา ซึ่งเป็นวัคซีนทางเลือกให้กับโรงพยาบาลเอกชนว่า อภ.ชี้แจงว่าได้คิดราคาขายจากราคาวัคซีนที่ได้รับจากตัวแทนผู้ผลิต ซึ่งในกรณีวัคซีนโมเดอร์นาคือบริษัท ซิลลิค ฟาร์มา จำกัด แล้วจึงนำมารวมกับภาษีมูลค่าเพิ่มและค่าใช้จ่ายส่วนอื่นๆ เช่น ค่าเก็บรักษา ค่าขนส่ง ค่าประกันภัยรายบุคคล โดยไม่ได้บวกกำไรหรือบวกภาษีนำเข้าในราคาที่ขายให้กับโรงพยาบาลเอกชน
    นอกจากนี้ กรมศุลกากรยังได้ชี้แจงเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันการนำเข้าวัคซีนและอุปกรณ์การแพทย์ต่างๆ นั้น ได้รับการยกเว้นการเก็บภาษีนำเข้าอยู่แล้ว สำหรับของที่นำเข้ามาใช้ในการรักษา วินิจฉัย หรือป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ตามรายการที่ สธ.กำหนด โดยจะมีผลบังคับใช้ไปจนถึงเดือน มี.ค. 2565 ทั้งนี้ จะมีการเก็บเพียงภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ที่ 7% จากผู้นำเข้าเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ซึ่งบริษัทผู้นำเข้าสามารถขอคืนได้หรือเอาไปหักออกจากภาษีขายได้ด้วย ดังนั้น หากนำเข้ามาแล้วขายต่อโดยไม่คิดกำไร บริษัทผู้นำเข้าสามารถขอคืน VAT ได้ทั้งหมดอยู่แล้ว แต่หากมีการนำเข้ามาแล้วบริษัทผู้นำเข้าขายทำกำไร จะเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเฉพาะส่วนต่างกำไรที่เกิดขึ้นเท่านั้น นอกจากนี้กรมสรรพากรชี้แจงว่า โรงพยาบาลเอกชนได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มเช่นกัน จึงไม่สามารถเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากวัคซีนทางเลือกที่ให้บริการแก่ประชาชนได้อีก แต่หากโรงพยาบาลเอกชนมีกำไรจากการประกอบการเป็นหน้าที่ในการเสียภาษีกำไรเช่นเดียวผู้ประกอบการในลักษณะอื่นๆ
    พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศปก.ศบค. กล่าวถึงกรณีที่มีกระแสข่าวการเลื่อนฉีดวัคซีนในพื้นที่กทม.ออกไปโดยไม่มีกำหนด ซึ่งสวนทางกับนโยบายการปูพรมฉีดวัคซีนในพื้นที่เสี่ยงสูงหรือสีแดงเข้มว่า ขณะนี้การฉีดวัคซีนกำลังอยู่ในระหว่างการดำเนินการ ไม่ได้มีการเลื่อนฉีดวัคซีน
    ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติครั้งที่ 7/2564 โดยมี นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ., นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กลาโหม มหาดไทย แรงงาน ศึกษาธิการ การต่างประเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ UHOSNET โรงพยาบาลเอกชน ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการแพทย์และสาธารณสุข ผู้แทนสภาวิชาชีพและองค์กรอิสระ ร่วมการประชุมและประชุมผ่านระบบออนไลน์
    นายอนุทินกล่าวว่า แต่วันที่ 28 ก.พ.-11 ก.พ.2564 ฉีดวัคซีนไปแล้ว 12,569,213 โดส เป็นเข็ม 1 จำนวน 9,301,407 ราย เข็ม 2 จำนวน 3,267,806 ราย ที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ได้มีมติเห็นชอบ 4 ประเด็นต่อการควบคุมโรคโควิด-19 คือ 1.การฉีดวัคซีนกระตุ้นภูมิคุ้มกัน (Booster dose) สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า โดยห่างจากเข็ม 2 นาน 3-4 สัปดาห์ เพื่อกระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกันให้สูงและเร็วที่สุด เพิ่มความปลอดภัยให้กับผู้ปฏิบัติงานด่านหน้า และธำรงระบบบริการสาธารณสุขของประเทศไทย เนื่องจากส่วนใหญ่ได้รับวัคซีนซิโนแวค ครบแล้วนานมากกว่า 3 เดือน จึงควรได้รับการกระตุ้นในเดือนก.ค.ได้ทันที อาจเป็นวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าหรือไฟเซอร์ 
    2.การให้ฉีดวัคซีนโควิดสลับ 2 ชนิด เข็ม 1 เป็นวัคซีนซิโนแวค และเข็ม 2 เป็นแอสตร้าเซนเนก้า โดยห่างจากเข็มแรกนาน 3-4 สัปดาห์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อกลายพันธุ์สายพันธุ์เดลตา ซึ่งจะสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสให้อยู่ในระดับที่สูงได้เร็วมากขึ้น เป็นประโยชน์ต่อผู้รับวัคซีน 
    นพ.เกียรติภูมิแถลงว่า ตอนนี้จำเป็นต้องเพิ่มประสิทธิภาพของวัคซีนในการต่อสู้กับไวรัสกลายพันธุ์ ซึ่งเราประสบปัญหาอยู่ในขณะนี้ เนื่องจากสายพันธุ์เดลตาเข้ามาในกรุงเทพฯ มากกว่า 50% แล้ว 
    นพ.โอภาสกล่าวว่า วัคซีนทั่วโลกมีหลายชนิด และมีเทคโนโลยีที่แตกต่างกัน โดยนักวิจัยในประเทศไทย ในแหล่งข้อมูลวิจัยมีอย่างน้อย 3 แหล่ง คือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ซึ่งมีข้อมูลตรงกันว่าการฉีดวัคซีนสลับชนิดกันจะมีประโยชน์ในการเพิ่มภูมิคุ้มกันให้สูงขึ้น และเชื่อว่าจะสามารถป้องกันเชื้อกลายพันธุ์ได้
    ทั้งนี้ มีการศึกษาว่า หากฉีดวัคซีนเข็ม 1 เป็นซิโนแวค หลังจากนั้น 3-4 สัปดาห์ ฉีดวัคซีนเข็ม 2 เป็นแอสตร้าฯ การฉีดลักษณะนี้จะเป็นตัวกระตุ้นประสิทธิภาพภูมิคุ้มกันให้สูงขึ้น และเชื่อว่าจะต่อต้านสายพันธุ์เดลตาได้ดีขึ้น เนื่องจากภูมิคุ้มกันจะอยู่ในระดับสูงได้เร็ว ใกล้เคียงกับผู้ที่ได้รับวัคซีนแอสตร้าฯ 2 เข็ม แต่หากฉีดวัคซีนแอสตร้าฯ เป็นเข็มแรก ยังมีข้อแนะนำให้ใช้วัคซีนแอสตร้าฯ เป็นเข็มที่ 2 โดยไม่ต้องสลับชนิดกัน จากข้อมูลนี้ ที่ประชุมจึงเห็นชอบให้สามารถฉีดวัคซีนสลับกันได้ โดยเข็ม 1 เป็นซิโนแวค และเข็ม 2 เป็นแอสตร้าฯ ห่างจากเข็มแรกประมาณ 3 สัปดาห์
    ผู้สื่อข่าวถามว่า วัคซีนแอสตร้าฯ และไฟเซอร์ จะเริ่มฉีดบูสเตอร์โดส ให้บุคลากรได้เมื่อไร และในส่วนของประชาชนที่ฉีดซิโนแวคครบ 2 เข็ม แล้วจะได้รับการฉีดบูสเตอร์เมื่อไร นพ.โอภาสกล่าวว่า ประการแรก วัคซีนไฟเซอร์ ที่บริจาคจากสหรัฐอเมริกา ยังไม่ได้ส่งมาที่ประเทศไทย กำลังหารือในรายละเอียดจำนวน และเวลาส่งมอบ ประการที่ 2 การฉีดกระตุ้น ขณะนี้การดำเนินการจะใช้แอสตร้าฯ ในบุคลากรด่านหน้า ดำเนินการเมื่อมีความพร้อมทันที ส่วนประชาชนที่ฉีดครบ 2 เข็มแล้ว การฉีดบูสเตอร์จะดำเนินการต่อไป ก็จะดูข้อมูลต่างๆ ให้ครบถ้วนต่อไป.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"