8 มิ.ย.61-นายรัชต์ยุตม์ ศิรโยธินภักดี หรือ อมร อมรรัตนานนท์ อดีตแกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.)ที่ถูกกรมบังคับคดียึดทรัพย์ที่ดินจากคดีพธม.ชุมนุมปิดสนามบิน เปิดเผยว่า ที่ดินดังกล่าวเป็นมรดกร่วม 7 พี่น้อง ซึ่งตนเป็นคนสุดท้อง เรายอมรับชะตากรรมที่ปัญหาไปผูกพันเดือดร้อนพี่น้องอีก 6 คน ที่ดินแปลงนี้ไม่ตั้งใจขาย เนื่องจากบิดามารดายกให้ไว้เป็นที่ใช้ประโยชน์ร่วมกัน นอกเหนือจากทรัพย์สินอื่นที่แบ่งกันแต่ละคนไปแล้ว ที่ดินแปลงนี้เรา 7 คน จึงไม่ขายและใช้รักษาร่วมกันมาตลอด แต่ขณะนี้ถูกบังคับขาย
"สำหรับสภาพที่ดินในปัจจุบันนั้น เป็นที่ดินติดถนนขนาด 20 กว่าไร่ ยังไม่ได้ใช้ทำประโยชน์อะไร พี่น้องแต่ละคนแยกย้ายไปทำงาน ซึ่งก็ตั้งใจว่าจะใช้ปลูกบ้านให้ลูกหลานใช้ประโยชน์ในอนาคต ตรงกลางขุดสระน้ำก็ได้ ส่วนผมก็จะบอกลูกหลานให้เป็นที่เก็บกระดูกผมเมื่อเสียชีวิต เพราะเป็นที่ดินของปู่ของย่า"
เมื่อถามถึงแนวทางการสู้คดีต่อไป นายอมร บอกว่า ทางทนายความแนะนำว่าข้อเท็จจริงยึดที่ดินทั้งหมดไม่ได้ โดยมี 2 แนวทางในการเจรจาคือ 1.เจรจาความคิดเห็นร่วมกันกับพี่น้องอีก 6 คน ให้แบ่งที่ดินออกเป็น 7 ส่วน แล้วให้ยึดไป 1 ส่วนของตน ไม่ให้กระทบส่วนที่เหลือ 2.เจรจากับทางเจ้าหนี้ขอให้ประเมินมูลค่าทรัพย์สินของที่ดินนี้ทั้งหมด แล้วหารเป็น 7 ส่วน โดยตนจะนำเงิน 1 ส่วนที่ต้องชดใช้ไปจ่าย หรือ ถ้าทางเจ้าหนี้ไม่ยินยอม บังคับขายต้องยึดที่ดินทั้งแปลงขายทอดตลาด แล้วเอามูลค่าทรัพย์สินมาหาร 7 ส่วน คืนให้พี่น้องอีก 6 คน ก็ไม่เป็นผลดี เพราะการขายบังคับคดีได้ราคาต่ำกว่าราคาตลาด และไม่ได้อยากขายอยู่แล้ว
"หลังจากนี้ผมก็จะแต่งตั้งทนายความไปขอเจรจาอะลุ่มอล่วยต่อไปในการชดใช้ จะพยายามจัดการไม่ให้กระทบพี่น้อง ผมขอความเห็นใจจาก ทอท. ด้วย อยากให้ใช้แนวทางที่ 2 ที่ผมยอมจ่ายเป็นหนี้สินได้"นายอมร กล่าว
ก่อนหน้านี้ นายอมร โพสต์เอกสารของกรรบังคับคดีพร้อมความข้อความลงในเพจเฟซบุ๊ก ระบุว่า "แจ็คพอต รางวัลชืวิต กรมบังคับคดีทำงานดีมาก ไล่ล่ายึดทรัพย์ ที่ดินมรดกที่เป็นทรัพย์สินของคุณพ่อคุณแม่ ทิ้งไว้ให้ซึ่งผมมีชื่อร่วมอยู่กับพี่น้องผม ซึ่งผมตั้งใจไว้ว่าจะเป็นที่ดินที่ผมจะใช้เป็นที่ฝังกระดูกของผมในยามที่ต้องจากโลกนี้ไปงานนี้ผมพร้อมรับกับชะตากรรม แต่ทำไมต้องทำให้พี่น้องของผมต้องเดือดร้อนด้วย ใครมีความรู้ทางด้านกฎหมายขอคำแนะนำด้วย
สำหรับคดีนี้ ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาให้แกนนำพธม. และแนวร่วมรวม 13 คน จำเลยร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เป็นเงิน 522,160,947.31 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 3 ธ.ค. 2551 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ซึ่งตกคนละประมาณ 40,166,226 บาท จากกรณีระหว่างวันที่ 24 พ.ย. – 3 ธ.ค. 2551 พวกจำเลยร่วมกันนำผู้ชุมนุมหลายหมื่นคนไปบุกยึดท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและดอนเมือง เพื่อประท้วงรัฐบาลและขับไล่นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี ขณะนั้น ทำให้การให้บริการต่างๆ ภายในท่าอากาศยานทั้งสองต้องหยุดลง
ต่อมาจำเลยไม่ได้ยื่นฎีกาภายในระยะเวลา จึงยื่นคำขออนุญาตขยายฎีกาโดยอ้างเหตุสุดวิสัยการปิดหมายแจ้งคดี ซึ่งศาลฎีกาพิจารณาแล้วยกคำร้องดังกล่าว ทำให้คดีถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ที่แกนนำและแนวร่วม พธม.ต้องชดใช้ค่าเสียหาย.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |