12ก.ค.64- "เอกชัย "ลั่น "ตั๋วครู" ต้องสอบวิชาเอก ถามไม่ทราบว่าสำนักงานคุรุสภา ใช้หลักคิดอะไรที่น่าเชื่อถือทางวิชาชีพ ชี้สาเหตุที่ร้องเรียนข้อสอบยากคนสอบผ่านน้อย มาจากกลุ่ม ป.บัณฑิต สอบผ่านแค่ 10% ถ้าตัดทดสอบเอกเท่ากับผิดเจตนารมณ์การได้ครูดีมีคุณภาพ และตัดโอกาส คนเรียนครูหลักสูตร 4 ปี ที่ยังไม่ได้รับการทดสอบ และได้สิทธิสอบครั้งแรกในปี 65
ตามที่คณะกรรมการคุรุสภามีมติให้ตัดหมวดความรู้วิชาเอกออกไป จากการทดสอบและประเมินสมรรถนะทางวิชาชีพครู ด้านความรู้ และประสบการณ์วิชาชีพ ตามมาตรฐานวิชาชีพครู ในการทดสอบเพื่อขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ที่จะจัดขึ้นครั้งที่ 2 ในเดือนตุลาคมนั้น
นายเอกชัย กี่สุขพันธ์ ประธานคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ (ประธาน กมว.) กล่าวว่า กมว.ได้มีมติยืนยันว่าต้องสอบสิชาเอก และหากไม่มีวิธีการอื่นที่น่าเชื่อถือได้ เรื่อง ความรู้ความสามารถวิชาเอก ยังคงต้องทดสอบไปก่อนซึ่งเจตนารมณ์เรื่องนี้ มีมานานกว่า 10 ปี เรื่องความพยายามหาวิธีดำเนินการเกี่ยวกับการทดสอบเพื่อขอรับใบประกอบวิชาชีพครูและวิชาชีพควบคุม เพื่อให้มั่นใจว่าจะได้ครูที่มีคุณภาพตามมาตรฐานวิชาชีพที่กำหนดไว้ และได้ดำเนินการจนกระทั่งมีประกาศ เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีทดสอบฯ และประเมินสมรรถนะทางวิชาชีพครูเพื่อขอรับใบประกอบวิชาชีพครู เมื่อวันที่ 30 มีนาคม พ.ศ.2563 เรื่องการจัดสอบเพื่อขอรับใบประกอบวิชาชีพครู 5 วิชา คือ การสื่อสารภาษาไทย การสื่อสารภาษาอังกฤษ การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการศึกษา วิชาชีพครู และวิชาเอก ซึ่งประกาศคุรุสภาดังกล่าวมีผลบังคับใช้กับผู้ที่เข้าศึกษาตั้งแต่ปีการศึกษา 2562 เป็นต้นไปทุกหลักสูตร ที่ต้องการใบประกอบวิชาชีพครู การสอบเพื่อขอใบประกอบวิชาชีพครู การทดสอบครั้งแรก คือ กลุ่มที่เรียนประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครู (ป.บัณฑิต) ประมาณ 7,200 คน ได้เข้ารับการทดสอบเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา ผลปรากฏว่าสอบวิชาครู จากคะแนนดิบผ่านเกณฑ์ ร้อยละ 60 มีไม่ถึงร้อยละ10 จนต้องมีการปรับค่าสถิติช่วยเหลือจึงได้ผู้สอบผ่านวิชาครูขึ้นมาเป็นตัวเลขประมาณเกือบร้อยละ 40 ส่วนวิชาเอก คะแนนดิบสอบผ่านไม่ถึงร้อยละ 40 เช่นกัน จึงมีผลให้เกิดการอ้าง เรื่อง การออกข้อสอบยาก ไม่ตรงตามผังข้อสอบจนถึงขนาดขอให้ยกเลิกการสอบวิชาเอก ทั้งๆ ที่วิชาเอกเป็นสิ่งที่สำคัญและสร้างความมั่นใจกับผู้ปกครอง และสังคมให้เชื่อมั่นว่าได้ครูเก่งในเนื้อหาวิชาที่สอนจริงตามมาตรฐานวิชาชีพครู
สำหรับสาเหตุที่ผู้เรียนหลักสูตร ป.บัณฑิต สอบวิชาเอกผ่านน้อย เพราะความจริงที่ปรากฏเป็นข้อมูลก็คือผู้เรียนป.บัณฑิตมีไม่ต่ำกว่า ร้อยละ 30-40 ที่สอนไม่ตรงวิชาเอกที่จบมา เช่น จบการท่องเที่ยวไปสอนภาษาจีน เป็นต้น เลยขอสอบวิชาภาษาจีนที่ตนเองสอน เพราะไม่มีวิชาการท่องเที่ยวให้ทดสอบ การสอนไม่ตรงวิชาเฉพาะ (วิชาเอก) ก็ไม่เป็นไปตามมาตรฐานวิชาชีพครูอยู่แล้ว เพราะกำหนดให้ปฏิบัติการสอนวิชาเฉพาะ นี่คือสาเหตุหลักที่ทำให้ผู้เรียน ป.บัณฑิตที่เข้ารับการทดสอบรุ่นแรกสอบไม่ผ่านวิชาเอกเกินครึ่งของผู้เข้ารับการทดสอบเมื่อต้นปีที่ผ่านมา โดยที่ผู้เรียนหลักสูตรครูจริงๆ ทั้ง 4 ปี และ 5 ปีที่เข้าศึกษาตั้งแต่ปี การศึกษา 2562 ยังไม่ได้รับการทดสอบเลย เพราะจะมีสิทธิสอบครั้งแรกในปี 2565 ก็มายกเลิกการสอบวิชาเอก ทั้งๆที่กลุ่มเป้าหมายนิสิต นักศึกษาครู ในสถาบันผลิตครูจริงๆ ยังไม่ได้เข้ารับการทดสอบเลย การคิดยกเลิกการสอบวิชาเอกก่อนที่กลุ่มเป้าหมายหลักจะทดสอบ ไม่ทราบว่าสำนักงานคุรุสภา ใช้หลักคิดอะไรที่น่าเชื่อถือทางวิชาชีพครับ
"ความพยายามสร้างกระแสให้มีการยกเลิกการสอบวิชาเอก หรือให้ผู้เรียน ป.บัณฑิตทุกคน ได้ใบประกอบวิชาชีพครู ของนักการเมืองบางคนใช้หลักคิดอะไร หรือต้องการคะแนนเสียงนิยมมากกว่าคุณภาพครูที่จะมีผลต่อคุณภาพนักเรียน และผู้เรียน ป.บัณฑิต รุ่นแรกที่ผ่านการสอบมาเมื่อต้นปีบางกลุ่มที่พยายามอ้างข้อสอบยาก ข้อสอบไม่เป็นไปตามผังข้อสอบ ก็เป็นเรื่องที่รับฟังได้มีเหตุและคงต้องให้ สทศ.ในฐานะผู้รับผิดชอบการออกข้อสอบทำการทบทวน หากเป็นจริงก็ต้องปรับแก้ไข สำนักงานคุรุสภาเองก็ต้องมีหลักการที่ถูกต้องในการดำเนินการเกี่ยวกับการทดสอบเพื่อให้ได้ครูวิชาเอกที่มีคุณภาพเก่งเนื้อหาจริงๆ การยกเลิกสอบวิชาเอกด้วยเหตุผล เพราะเห็นว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีกระบวนการสอบวัดความรู้วิชาเอกอยู่แล้ว เช่น การสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน” และ “และการปฏิบัติงานในสถานศึกษา โดยประเมินจากการสอบสัมภาษณ์ แฟ้มสะสมงาน และการสอบสาธิตการปฏิบัติการสอนอยู่แล้ว”ประธาน กมว.กล่าว
นายเอกชัย กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม ตนคิดว่าเรื่องการทดสอบเพื่อขอรับใบประกอบวิชาชีพตามมาตรฐานวิชาชีพ กับการปฏิบัติการสอน ในสถานศึกษา และการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุเป็นคนละวัตถุประสงค์กัน ไม่สามารถนำมาเป็นข้ออ้างที่จะไม่ทดสอบวิชาเอกไ้ด้ เพราะถ้าจะอ้างเช่นนั้นการทดสอบทุกวิชาก็ไม่จำเป็นเช่นกันไม่ว่าจะภาษาไทย ภาษาอังกฤษ เทคโนโลยีฯ หรือวิชาครู เพราะการเรียนการสอนในสถาบันก็มีการสอบอยู่แล้ว และหลายวิชาการสอบแข่งขันบรรจุก็มีการทดสอบอยู่แล้วเช่นกัน ซึ่งตรรกะการคิดและผลกระทบที่ตามมาเกี่ยวกับคุณภาพของครูสำคัญ ถ้าเมื่อใดที่เล่นการเมืองในการบริหารวิชาชีพครู หรือวิชาชีพควบคุมอย่างที่เห็นและเป็นอยู่โดยไม่ห่วงคุณภาพผู้เรียนเลย ถ้าทุกคนไม่ห่วงคุณภาพครูที่จะส่งผลถึงคุณภาพเด็ก แต่ตนมีความห่วงใยอย่างมาก