โพลประจานชัด ทั่นนักการเมือง คือ‘อภิสิทธิ์ชน’


เพิ่มเพื่อน    

"นิด้าโพล" เผย ปชช.มอง "นักการเมือง-คนใกล้ชิด" ทำตัวเป็นอภิสิทธิ์ชน เจอจับได้ชอบแก้ตัวรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ไม่เชื่อจะแก้ให้หมดไปจากสังคมไทยได้ "ตำรวจ" ฮึ่ม! ฟันกลุ่มคาร์ม็อบหลายข้อหา "ไทยไม่ทน" ปรับยุทธศาสตร์ไล่ประยุทธ์ช่วงโควิดระบาด 
    เมื่อวันที่ 11 ก.ค. ศูนย์สำรวจความคิดเห็นนิด้าโพลร่วมกับคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่องอภิสิทธิ์ชนในสังคมไทย จากกลุ่มตัวอย่างประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 1,312 หน่วยตัวอย่าง พบว่า กลุ่มในสังคมที่ชอบทำตัวเป็นอภิสิทธิ์ชน ส่วนใหญ่ ร้อยละ 63.80 ระบุ เป็นนักการเมืองระดับชาติ/คนใกล้ชิด รองลงมา ร้อยละ 46.88 ระบุ เป็นนักการเมืองท้องถิ่น/คนใกล้ชิด ร้อยละ 27.13 ระบุ เป็นเศรษฐี คนมีเงิน/คนใกล้ชิด ร้อยละ 20.27 ระบุ เป็นข้าราชการ เจ้าหน้าที่รัฐ/คนใกล้ชิด ร้อยละ 10.52 ระบุ เป็นคนในวงการบันเทิง/คนใกล้ชิด ร้อยละ 6.55 ระบุ เป็นนักธุรกิจ เจ้าของกิจการขนาดใหญ่/คนใกล้ชิด ร้อยละ 6.33 ระบุ เป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมือง สังคม ร้อยละ 2.67 ระบุ เป็นสื่อมวลชน ผู้บริหารองค์กรสื่อ/คนใกล้ชิด ร้อยละ 1.83 ระบุ เป็นนักวิชาการ ผู้มีการศึกษาสูง/คนใกล้ชิด  
    ถามถึงปัจจัยสำคัญที่สุดที่ทำให้มีคนชอบทำตัวเป็นอภิสิทธิ์ชน พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 68.75 ระบุ เชื่อว่าตนเองมีตำแหน่ง อำนาจ รองลงมา ร้อยละ 48.48 ระบุ เชื่อว่าตนเองมีเงิน ร้อยละ 21.80 ระบุ มีนิสัยเห็นแก่ตัว ร้อยละ 20.35 ระบุ เชื่อว่าตนเองมีเส้นสายดี ร้อยละ 14.33 ระบุ เชื่อว่าตนเองเป็นคนมีชื่อเสียง เด่นดัง ร้อยละ 4.73 ระบุ เชื่อว่ามีคนกลัว/เกรงใจตนเอง
    สำหรับสิ่งที่จะทำหากต้องเผชิญกับเหตุการณ์ที่มีคนทำตัวเป็นอภิสิทธิ์ชนนั้น ส่วนใหญ่ร้อยละ 49.39 ระบุ ขอดูสถานการณ์ก่อนตัดสินใจ รองลงมา ร้อยละ 31.86 ระบุ อยู่นิ่งๆ เฉยๆ เพื่อความอยู่รอดปลอดภัยของเราเอง มีเพียงร้อยละ 11.36 ระบุ ขัดขวาง ไม่ยอมปล่อยให้มีใครทำตัวเป็นอภิสิทธิ์ชน และร้อยละ 7.01 ระบุ ถ่ายคลิปหรืออัดเสียงเพื่อประจานลง social media
    ส่วนความคิดเห็นของประชาชนต่อคำแก้ตัวของอภิสิทธิ์ชนที่น่ารังเกียจที่สุด พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 37.73 ระบุ รู้เท่าไม่ถึงการณ์ รองลงมา ร้อยละ 26.52 ระบุ ไม่รู้ว่าผิด ร้อยละ 18.45 ระบุ ไม่มีเจตนา และท้ายที่สุดเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อการแก้ไขปัญหาการมีอภิสิทธิ์ชนในสังคมไทย พบส่วนใหญ่ร้อยละ 36.82 ระบุ อาจจะแก้ไขได้ แต่ร้อยละ 33.08 ระบุ แก้ไขไม่ได้แน่นอน และร้อยละ 22.94 ระบุ แก้ไขได้แน่นอน และร้อยละ 7.16 ระบุอาจจะแก้ไขไม่ได้  
    วันเดียวกัน พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (รอง ผบช.น.) ในฐานะโฆษก บช.น. แถลงถึงกรณีการชุมนุม 3 กลุ่มขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 10 ก.ค.ที่ผ่านมาว่า การชุมนุมทั้ง 3 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มประชาชนคนไทย นำโดย นายนิติธร ล้ำเหลือ กลุ่มไทยไม่ทน นำโดย นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ และกลุ่มคาร์ม็อบที่นำโดย นายสมบัติ บุญงามอนงค์ ซึ่งในความผิดทั้ง 3 กลุ่ม พนักงานสอบสวนจะมีการประชุมในวันที่ 12 ก.ค.นี้ เพื่อพิจารณาแนวทางการดำเนินคดี
    "โดยเฉพาะกลุ่มคาร์ม็อบจะต้องมีการพิจารณาว่ามีใครถูกดำเนินคดีบ้าง ความผิดชัดเจน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ร.บ.โรคติดต่อ  และ พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ร.บ.ความสะอาด พ.ร.บ.เครื่องกระจายเสียง ถ้าพบการเดินทางของกลุ่มคาร์ม็อบมีการกีดขวางการจราจรก็จะผิดข้อหาขับรถยนต์กีดขวางการจราจร ถ้าขับรถโดยไม่ระมัดระวังกีดขวางคนอื่นอาจก่อให้เกิดอันตรายแก่บุคคลอื่นก็จะเป็นความผิดข้อหาขับรถไม่คํานึงถึงความปลอดภัยของผู้อื่น ที่จะต้องร่วมกันพิจารณา" โฆษก บช.น.กล่าว
     ขณะที่ นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 และแกนนำกลุ่มไทยไม่ทน คณะสามัคคีประชาชนเพื่อประเทศไทย กล่าวขอบคุณประชาชนทุกกลุ่มที่ออกมารวมพลังขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ โดยระบุว่า แม้สถานการณ์จะเปลี่ยนแปลงไป แต่ไม่สามารถหยุดยั้งประชาชนที่ไม่สามารถทนทุกข์กับความล้มเหลวของรัฐบาลนี้ได้ 
    "ขอเรียนประชาชนที่เคารพทุกท่านว่า ไทยไม่ทนกำลังปรับยุทธศาสตร์ยุทธวิธีในการเคลื่อนไหวเพื่อรุกคืบขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ให้ลาออกไปให้ได้ภายใต้สถานการณ์โควิดระบาดหนัก กิจกรรมต่างๆ จึงกำลังพิจารณาอย่างรอบคอบเพื่อความปลอดภัยจากโควิดในช่วงล็อกดาวน์ โดยมีมาตรการด้านสาธารณสุขอย่างเข้มงวด เพราะประชาชนต้องดูแลตัวเองและพึ่งรัฐบาลไม่ได้แล้ว เราพยายามจะไม่รวมกลุ่มจำนวนมาก แต่ใช้คนจำนวนน้อยเคลื่อนไหวกดดันรัฐบาลตามสถานการณ์ ซึ่งการเคลื่อนไหวที่ผ่านมาทำให้ประชาชนตื่นตัวเห็นถึงความล้มเหลวของ พล.อ.ประยุทธ์มากขึ้นเป็นลำดับ" นายอดุลย์กล่าว 
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังจากที่กลุ่มไทยไม่ทน สามัคคีประชาชนเพื่อประเทศไทย ประกาศนัดหมายหน้าทำเนียบรัฐบาล เดินหน้าขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ในวันอาทิตย์ เวลา 16.00 น. ก่อนการล็อกดาวน์ ในวันที่ 12 ก.ค.นั้น ทำให้ตั้งแต่เวลา 15.00 น. มีการนำลวดหนามหีบเพลง รวมถึงแผงเหล็กกั้นจุดต่างๆ ใกล้ทำเนียบรัฐบาล ทั้งบนผิวจราจรและบันไดทางขึ้น-ลงสะพานลอยในพื้นที่ 
    เพจ ‘ไทยไม่ทน สามัคคีประชาชนเพื่อประเทศไทย’ ได้แชร์ภาพจากเฟซบุ๊ก ‘Pimtha Cartoon’ เผยให้เห็นภาพบริเวณเชิงสะพานชมัยมรุเชฐก่อนข้ามมายังทำเนียบรัฐบาล รวมถึงสะพานลอยบริเวณดังกล่าวมีการตั้งหีบเพลงแผงเหล็กปิดทางขึ้นสะพานลอยเช่นเดียวกัน
    ต่อมาเวลา 16.00 น. กลุ่มไทยไม่ทนพร้อมรถเครื่องเสียงตั้งเวทีบรรเลงเพลง รอมวลชนเดินทางมาร่วมการชุมนุมครั้งสุดท้ายครั้งนี้ ขณะเดียวกันมีการจัดพ่นแอลกอฮอล์ ตรวจวัดอุณหภูมิ ก่อนเข้าพื้นที่ฟังปราศรัย ด้านพ่อค้าแม่ค้าได้มาตั้งร้านขายของเตรียมพร้อมรับผู้ชุมนุมเช่นเดียวกัน.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"