ศปม.ตั้ง 147 จุดตรวจ 10 จังหวัดคุมเข้มช่วงเคอร์ฟิว ลั่นดำเนินการขั้นเด็ดขาดกับผู้ละเมิด มท.สั่งการ ผวจ.ปฏิบัติตามคำสั่ง ศบค.โดยเคร่งครัด แจงทุกหน่วยและประชาชนในพื้นที่ให้ความร่วมมือ นครบาลเตือนจงใจฝ่าเคอร์ฟิวคุก 2 ปี-ปรับ 4 หมื่น เอาผิดยกกองประกวดมิสแกรนด์สมุทรสาครขัด พ.ร.ก.ฉุกเฉินและ พ.ร.บ.โรคติดต่อ
ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ในฐานะหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง (หน.ศปม.) แถลงว่า ภายหลังรัฐบาลโดยศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ประกาศล็อกดาวน์และเคอร์ฟิว ซึ่งมีผลบังคับใช้ในวันที่ 12 ก.ค.นั้น เป็นการยกระดับมาตรการโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดหรือจำกัดการเคลื่อนย้ายการเดินทางของบุคคล ลดการรวมกลุ่มของบุคคล เพื่อควบคุมและลดการแพร่เชื้อโควิด-19 ศปม.ที่ประกอบด้วย กองทัพไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ดำเนินการร่วมกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการบังคับใช้มาตรการต่างๆ ซึ่งจะมีความเข้มข้นตามระดับพื้นที่
โดยในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 10 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร, นนทบุรี, ปทุมธานี, สมุทรปราการ, นครปฐม, สมุทรสาคร, สงขลา, ยะลา, ปัตตานี และนราธิวาส จะบังคับใช้การห้ามออกนอกเคหสถานตั้งแต่เวลา 21.00-04.00 น. จะมีการตรวจการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคและตรวจคัดกรองการเดินทางเข้าออกจังหวัด ซึ่งใน กทม.มีการตั้งจุดตรวจ 88 แห่ง จังหวัดปริมณฑล 5 จังหวัด 20 แห่ง และจังหวัดชายแดนภาคใต้ 4 จังหวัด 39 แห่ง จึงขอให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการเดินทางข้ามจังหวัดโดยไม่จำเป็น ซึ่งมีการจัดชุดตรวจสายตรวจร่วมและชุดลาดตระเวนร่วมในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล เพื่อตรวจและกวดขันให้ประชาชนปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนด รวมทั้งบังคับใช้มาตรการห้ามการจัดกิจกรรมในการรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจำนวนมากกว่า 5 คน และร่วมกลุ่มทำกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค
สำหรับจังหวัดอื่นๆ ได้จัดตั้งจุดตรวจคัดกรองผู้ที่เดินทางเข้าออกจังหวัด โดยเฉพาะผู้ที่เดินทางมาจากจังหวัดควบคุมสูงสุดและเข้มงวด โดยแนวทางปฏิบัติของ ศปม.จะเริ่มจัดจุดตรวจ สายตรวจร่วมและชุดลาดตระเวนร่วมตั้งแต่บัดนี้ ในขั้นต้นเป็นการตรวจตามการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค โดยใช้วิธีชี้แจงทำความเข้าใจและขอความร่วมมือจากประชาชน และเมื่อข้อกำหนดมีผลบังคับใช้ในวันที่ 12 ก.ค. ศปม.จะยึดหลักความเข้มงวดในการบังคับใช้มาตรการ จะดำเนินการต่อผู้ละเมิดอย่างเด็ดขาด สำหรับประชาชนทั่วไปที่ปฏิบัติตามมาตรฐานที่กำหนดอาจได้รับผลกระทบบ้าง เจ้าหน้าที่จะดำเนินการโดยให้มีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตน้อยที่สุด
ขณะที่พื้นที่ชายแดนมีการเข้มงวดกวดขันป้องกันและปราบปรามการลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย รวมถึงการลักลอบขนส่งยาเสพติดและสินค้าผิดกฎหมายต่างๆ ตลอดจนการดำเนินมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 โดยใช้กองกำลังป้องกันชายแดนในการจัดตั้งจุดตรวจจุดสกัดและลาดตระเวนเฝ้าตรวจพื้นที่ โดยเฉพาะช่องทางธรรมชาติจะเสริมด้วยการวางเครื่องกีดขวางและใช้เครื่องมือพิเศษเพิ่มประสิทธิภาพ รวมทั้งร่วมกับฝ่ายปกครองทำการสำรวจตรวจสอบหมู่บ้านตามแนวชายแดน ปิดล้อมตรวจค้นพื้นที่เป้าหมาย และร่วมกับหน่วยราชการเครือข่ายภาคประชาชนในการจัดตั้งจุดตรวจจุดสกัดทั้งแบบประจำที่และไม่ประจำที่ รวมถึงจัดชุดสายตรวจร่วมลาดตระเวนตามเส้นทางตลอดแนวชายแดนและเส้นทางในการลักลอบเข้าสู่พื้นที่ทางตอนใน ช่วงที่ผ่านมาได้รับข้อมูลเบาะแสจากประชาชนนำไปสู่การจับกุมได้หลายครั้ง และขอเชิญชวนในการร่วมมือให้ข้อมูลที่สายด่วน 191, 1599, 1138, 1111 ตลอด 24 ชั่วโมง
กำชับ ผวจ.ปฏิบัติตามคำสั่ง ศบค.
ด้านนายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินภายใต้ ศบค.มท.ได้สั่งการไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศและ กทม. ตามที่นายกรัฐมนตรีได้ลงนามในข้อกำหนด ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 27) ลงวันที่ 10 ก.ค.64 และคำสั่ง ศบค. ที่ 9/2564 ลงวันที่ 10 ก.ค.64 กำหนดเขตพื้นที่สถานการณ์เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 10 จังหวัด พื้นที่ควบคุมสูงสุด 24 จังหวัด พื้นที่ควบคุม 25 จังหวัด และพื้นที่เฝ้าระวังสูง 18 จังหวัด โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 12 ก.ค.เป็นต้นไปโดยเคร่งครัด
พร้อมสร้างการรับรู้แก่ผู้ประกอบการ พนักงาน ผู้ให้บริการ ผู้รับบริการ ประชาชน และเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องทุกระดับ ให้รับทราบถึงเจตนารมณ์ของมาตรการตามข้อกำหนดดังกล่าวในการมุ่งจำกัดการเคลื่อนย้าย ลดการรวมกลุ่มของบุคคล และเร่งรัดมาตรการด้านการป้องกันและการควบคุมโรค การรักษาพยาบาล และการฉีดวัคซีนเพื่อลดความรุนแรงของโรค และในขณะเดียวกันก็ยังคงมาตรการเพื่อให้ระบบเศรษฐกิจพื้นฐานยังคงดำเนินการต่อไปได้ ซึ่งมาตรการเหล่านี้ “จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจของทุกภาคส่วน” เพื่อให้ฝ่าวิกฤตินี้ให้ผ่านพ้นไปด้วยกัน นอกจากนี้ ให้นำมาตรการควบคุมแบบบูรณาการสำหรับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ข้อห้าม และข้อปฏิบัติตามข้อกำหนดฯ (ฉบับที่ 24) ลงวันที่ 19 มิ.ย.64 และข้อกำหนดฯ (ฉบับที่ 25) ลงวันที่ 26 มิ.ย.64 ใช้บังคับกับพื้นที่ สถานการณ์เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับข้อกำหนดฯ ฉบับล่าสุด
ได้เน้นย้ำให้ผู้ว่าฯ กทม.และผู้ว่าราชการจังหวัดปริมณฑลหารือกับคณะกรรมการโรคติดต่อ กทม./คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ประสานการปฏิบัติกับฝ่ายทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง วางระบบและกำกับติดตามให้เป็นไปตามมาตรการตามข้อกำหนด ได้แก่ 1.ห้ามบุคคลออกนอกเคหสถานในระหว่างเวลา 21.00-04.00 น. ของวันรุ่งขึ้น ต่อเนื่องเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 14 วัน นับแต่วันที่ข้อกำหนดฉบับนี้ใช้บังคับ 2.ให้หัวหน้าส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐดำเนินมาตรการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งให้เต็มความสามารถที่จะทำได้ สำหรับการปฏิบัติงานของภาคเอกชน ให้เจ้าของกิจการ ผู้ประกอบการ หรือผู้รับผิดชอบในสถานประกอบการพิจารณาสนับสนุนปรับรูปแบบการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่และบุคลากรในสังกัดให้เหมาะสมกับสถานการณ์การแพร่ระบาด
3.มาตรการควบคุมแบบบูรณาการเร่งด่วนสำหรับสถานที่ กิจการ หรือกิจกรรม ให้เปิดดำเนินการได้ภายใต้เงื่อนไข เงื่อนเวลา การจัดระบบ ระเบียบ และมาตรการป้องกันโรคที่เข้มงวดยิ่งขึ้น ตามข้อกำหนดฯ (ฉบับที่ 27) ลงวันที่ 10 ก.ค.64 โดยกรณีกิจกรรมรวมกลุ่มของบุคคลที่พนักงานเจ้าหน้าที่ให้จัดกิจกรรมได้ หากประสงค์จะจัดกิจกรรมในช่วงระยะเวลานี้ ให้ผู้รับผิดชอบการจัดกิจกรรมดังกล่าวดำเนินการขออนุญาตต่อคณะกรรมการโรคติดต่อ กทม./คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด และให้พนักงานเจ้าหน้าที่กวดขันการมั่วสุมประชุมกัน เพื่อเล่นการพนัน ดื่มสุรา เสพยาเสพติด หรือการกระทำผิดกฎหมายอื่นใดอย่างเคร่งครัดและให้บังคับใช้กฎหมายอย่างเต็มที่
4.ให้เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจคัดกรองการเดินทางข้ามจังหวัด ในเส้นทางคมนาคมเข้า-ออกกรุงเทพมหานคร และจังหวัดปริมณฑล เพื่อควบคุมการเคลื่อนย้ายแรงงาน และคัดกรองการเดินทางของประชาชนทั่วไป 5.มาตรการป้องกันและรองรับผู้ติดเชื้อ ให้ประสานการดำเนินการร่วมกันระหว่างภาคประชาสังคม ภาคประชาชน ท้องถิ่น และชุมชนในพื้นที่ สนับสนุนให้มีการใช้สมุนไพรหรือการแพทย์แผนไทยในการบำบัดหรือรักษา เพิ่มโอกาสการเข้าถึงระบบการตรวจหาเชื้อ เร่งรัดจัดตั้งสถานพยาบาลชั่วคราว โรงพยาบาลสนาม การวางระบบหรือจัดหาสถานที่เพื่อจัดตั้งเป็นศูนย์พักคอยรอการส่งตัว หรือระบบแยกกักเพื่อรองรับการให้ความช่วยเหลือผู้ติดเชื้อ เพิ่มจำนวนจุดบริการตรวจคัดกรองและเร่งรัดการให้บริการตรวจคัดกรอง รวมถึงการฉีดวัคซีนป้องกันโรคในกลุ่มเป้าหมายที่เป็นกลุ่มเสี่ยงและในพื้นที่การแพร่ระบาดเป็นกลุ่มก้อน
ฝ่าเคอร์ฟิวคุก 2 ปีปรับ 4 หมื่น
ส่วน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดหารือกับคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ประสานการปฏิบัติกับฝ่ายทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง วางระบบและกำกับติดตามให้เป็นไปตามมาตรการ ห้ามบุคคลออกนอกเคหสถานในระหว่างเวลา 21.00-04.00 น. ของวันรุ่งขึ้น ต่อเนื่องเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 14 วัน นับแต่วันที่ข้อกำหนดฉบับนี้ใช้บังคับ การปฏิบัติกรณีบุคคลที่ได้รับการยกเว้นการห้ามออกนอกเคหสถาน ดำเนินการตามแนวทางเดียวกันกับ กทม.และจังหวัดปริมณฑล รวมทั้งเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจคัดกรองการเดินทางข้ามจังหวัดในเส้นทางคมนาคมเข้าออกจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อควบคุมการเคลื่อนย้ายแรงงานและคัดกรองการเดินทางของประชาชนทั่วไป
สำหรับในการเดินทางข้ามจังหวัดของประชาชนในพื้นที่อื่นๆ ให้ทุกจังหวัดประสานการปฏิบัติกับฝ่ายทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สร้างการรับรู้ให้ประชาชนหลีกเลี่ยงหรือชะลอการเดินทางข้ามพื้นที่จังหวัดในช่วงระยะเวลานี้โดยไม่มีเหตุจำเป็นเพื่อประโยชน์ส่วนรวม กรณีที่จำเป็นต้องเดินทางข้ามเขตพื้นที่อาจไม่ได้รับความสะดวกในการเดินทางและอาจต้องใช้ระยะเวลามากกว่าปกติ พร้อมเฝ้าระวัง คัดกรองผู้เดินทางจากพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด
ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล กล่าวถึงการตั้งด่านตรวจ 88 จุดในช่วงเวลาเคอร์ฟิวว่า พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร.ได้นำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ ผู้บังคับบัญชาสามารถตรวจสอบการปฏิบัติของผู้ใต้บังคับบัญชาได้ตลอดเวลา ทำให้การปฏิบัติหน้าที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดย ผบ.ตร.มุ่งเน้นการสร้างความเข้าใจการตระหนักรู้ให้ประชาชนได้รับทราบว่า ในคืนนี้จะต้องปฏิบัติตนอย่างไรให้ถูกต้องตามกฎหมาย พร้อมกันนี้ พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผบช.น.ให้ใช้หลักนิติศาสตร์และหลักรัฐศาสตร์ควบคู่กัน ดูเหตุผลความจำเป็น ส่วนในกรณีที่มีการจงใจฝ่าฝืนข้อกำหนดอย่างชัดเจน เช่นการไปสังสรรค์ งานปาร์ตี้ งานวันเกิด แล้วกลับเกินเวลากำหนด จะถูกดำเนินคดีอย่างแน่นอน อัตราโทษเป็นความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
พล.ต.ต.ปิยะกล่าวถึงกรณีผู้อำนวยการเขตห้วยขวางเข้าแจ้งความดำเนินคดีกองประกวดมิสแกรนด์สมุทรสาคร 2021 ที่มิรินเธียร์เตอร์ RCA เขตห้วยขวาง เนื่องจากไม่ปฏิบัติตามแผนการจัดงานและมาตรการควบคุมโรค จนมีการแพร่ระบาดเชื้อโรคว่า การประกวดดังกล่าวปรากฏภาพและเสียงตามโซเชียลและสื่อต่างๆ รวมทั้งการไลฟ์สด มีการฝ่าฝืนข้อกำหนดที่พนักงานเจ้าหน้าที่คือ ผู้อำนวยการเขตที่อนุญาตและกำหนดเงื่อนไขไว้
ในกรณีนี้มีความผิดชัดเจน พนักงานสอบสวนต้องเรียกตัวผู้เกี่ยวข้องมาแจ้งข้อกล่าวหา ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมดต้องถูกดำเนินคดี ทั้งผู้ที่ร่วมงาน มิสแกรนด์หรือผู้สมัคร รวมทั้งบุคคลที่เกี่ยวข้องและร่วมงานที่มีเจตนาจงใจ ฝ่าฝืนข้อกำหนดเหล่านี้เป็นความผิดตามข้อกฎหมายทั้งหมดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินและประกาศของกรุงเทพมหานครฉบับที่ 44 และ พ.ร.บ.โรคติดต่อ ทั้งนี้พบว่ามีผู้เข้าร่วมประกวดมิสแกรนด์ติดเชื้อ 13 คน ส่วนผู้ติดตามหรือพี่เลี้ยงติดเชื้ออีก 9 คน ซึ่งเป็นความผิดชัดเจน.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |