ประชาชนเป็นครอบครัวมานอนรอคิวตรวจหาเชื้อโควิดที่ตลาดมหานาค เขตดุสิต จุดที่ กทม.จัดไว้
ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ระลอกใหม่ในประเทศยังพุ่งทะยานไม่หยุด การระบาดของสายพันธุ์เดลตามีความรุนแรง ตัวเลขเฉียดหลักหมื่นสองวันติดๆ เฉพาะในกรุงเทพมหานคร พบผู้ติดเชื้อใหม่หลายพันรายทุกวัน บางวันเกือบ 5,000 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสมระลอกเมษายน 297,969 ราย เฉพาะเมื่อวานนี้เสียชีวิตเพิ่มเกือบ 100 คน โควิดคร่าชีวิตคนไทยรวมแล้ว 2,625 คน
วิกฤตโควิดทำให้ผู้ป่วยล้นระบบบริการทางการแพทย์และสาธารณสุข เตียงไม่พอ ต้องรอเตียงอยู่ที่บ้าน ผู้ป่วยโควิดหลายรายเสียชีวิตที่บ้านระหว่างรอการรักษา ขณะที่หลายคนสิ้นหวังถึงกับคิดสั้นฆ่าตัวตายตามที่ปรากฏเป็นข่าวสะเทือนใจ
ล่าสุด ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ยกระดับการป้องกันโรคโควิด-19 สั่งเคอร์ฟิว 10 จังหวัดพื้นที่สีแดงเข้ม มีผลวันจันทร์ที่ 12 ก.ค. นี้ บังคับใช้ 14 วันหรือจนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น และเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรีต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินอีก 2 เดือน
ผู้ติดเชื้อรายวันพุ่งสูงขึ้น การตรวจเชื้อเพื่อล็อกตัวผู้ป่วยก่อนแพร่เชื้อสำคัญ
ส่วนมาตรการด้านการแพทย์และสาธารณสุขในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงระบบการตรวจหาเชื้ออย่างเพียงพอ เร่งเปิดจุดตรวจหาเชื้อให้ประชาชนเข้าถึง และแยกประชาชนติดเชื้อออกจากชุมชนให้เร็วที่สุด
จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากสถานการณ์แพร่ระบาดดังกล่าว ทำให้มีความต้องการใช้บริการตรวจหาเชื้อโควิดเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ สถานที่บริการตรวจโรคโควิดไม่ทั่วถึง โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล แม้ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) จะให้ข้อมูลทุกโรงพยาบาลมีการรับตรวจเชื้อหมด แต่เน้น 2 กลุ่มหลัก คือ กลุ่มที่ 1 กลุ่มที่เตรียมผ่าตัด คลอดลูก ฯลฯ กลุ่มที่ 2 มีประวัติเสี่ยงสูง เดินทางพื้นที่เสี่ยง เช่น สามีติดเชื้อ แจ้งกับบุคลากรทางการแพทย์ ในฐานะเป็นกลุ่มสัมผัสเสี่ยงสูง ปัจจุบัน 2 กลุ่มนี้ ทางโรงพยาบาลตรวจประมาณ 300-400 รายต่อวัน หากคนที่วอล์กอินเดินเข้าไปขอตรวจ โดยไม่ใช่กลุ่มเสี่ยง จะไม่ได้รับการตรวจ
การตรวจคัดกรองเชิงรุก ช่วยสกัดการระบาดเชื้อโควิด
ขณะที่กรุงเทพมหานครจัดหน่วยบริการตรวจเชิงรุก COVID-19 คัดกรองเชื้ออย่างต่อเนื่องตามเขตต่างๆ พบว่า ในกลุ่มคนวอล์กอินเข้ามาและเป็นกลุ่มเสี่ยงสูง เมื่อมีการตรวจ 100 คน พบ 90 คน เป็นผลบวก ถือว่าแม่นยำ 90 เปอร์เซ็นต์
แต่ปัญหาใหญ่ขณะนี้คนกรุงหาที่ตรวจไม่ได้ รพ.หลายแห่งปิดบริการตรวจโควิด ขณะที่ รพ.เอกชน จากเคยเปิดให้บริการ ทำ Drive-Through ตรวจวันละหลายร้อยคน จ่ายค่าตรวจขั้นต่ำ 3,000 บาท ก็จำกัดจำนวนเหลือเพียงวันละ 50 คน เท่านั้น แถวคิวเต็มแต่เช้ามืด เรียกว่า มีเงินก็ตรวจไม่ได้
ประชาชนรอการตรวจจำนวนมาก เพราะรู้ว่าเพื่อน คนในครอบครัว คนใกล้ชิด คนในที่ทำงานเดียวกันหรือคนในชุมชนติดเชื้อโควิด มีความกังวลและเครียดต้องการรับการตรวจ บางรายหาที่ตรวจในเมืองไม่ได้ ร้อนใจเดินทางไปตรวจที่ รพ.ต่างจังหวัด ใกล้กรุงเทพ ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงในการแพร่กระจายเชื้อ เมื่อการตรวจคัดกรองเชิงรุกไม่เพียงพอ ไม่สามารถล็อกตัวผู้ป่วยไว้ก่อนแพร่เชื้อ เป็นปัจจัยหนึ่ง ทำให้การระบาดมากขึ้น
จุดตรวจโควิดในกรุงเทพฯ ผู้คนแออัดเพื่อรอการตรวจหาเชื้อ
ด้าน กทม. มีการปรับการตรวจและค้นหาแบบเชิงรุกเปิดจุดตรวจโควิดวอล์กอินให้ประชาชนเข้าถึงมากขึ้น อย่างที่วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร เขตบางเขน หนึ่งใน 6 จุดตรวจโควิดฟรีที่สำนักงานเขตบางเขน ร่วมกับศูนย์บริการสาธารณสุข 24 บางเขน และ สปคม.กรมควบคุมโรค จัดตรวจตั้งแต่วันที่ 5-11 ก.ค. จะเริ่มตรวจตั้งแต่ 8.00 น. เป็นต้นไปถึงเวลา 14.00 น. บริการตรวจวันละ 900 คน สามารถวอล์กอิน และรับบัตรคิวตั้งแต่ 6.00 น.
ทุกคืนจะมีประชาชนมาเข้าคิวตรวจจำนวนมาก มารอคิวกันตั้งแต่ช่วงเย็น มากันเป็นครอบครัวก็มี ทั้งปูเสื่อ กางเต้นท์นอนค้างคืนที่วัด เพื่อให้ได้คิวตรวจเช้าวันรุ่งขึ้น คืนไหนฝนตกลงมาต้องยืนกางร่มตากฝน แต่ก็ยังมีคนจำนวนมากที่เข้าไม่ถึงการตรวจโควิด โดยวัดพระศรีมหาธาตุฯ เปิดโบสถ์ให้ประชาชนมาหลบแดดหลบฝน ในสถานการณ์ท้อแท้สิ้นหวัง กลับไม่แล้งน้ำใจ พระนำน้ำดื่ม ขนม และนม ที่มีผู้ใจบุญมาบริจาควัดแจกจ่ายให้ประชาชนที่รอคิวตรวจ มีคนใจดีนำอาหารกล่องแจกประทังหิว ลดรายจ่าย ลดแออัดร้านค้า
จุดตรวจโควิดวอล์กอินที่วัดพระศรีมหาธาตุฯ บางเขน
ขณะที่หน่วยบริการตรวจโควิดฟรีในเขตอื่น ๆ ก่อนหน้านี้ ไม่ว่าจะตลาดมหานาค เขตดุสิต ผู้คนมารอคิวยาวเหยียดสภาพแออัด คนห่วงจะได้บัตรคิวหรือไม่จนลืมรักษาระยะห่าง สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้น่าเป็นห่วงจะไปรับเชื้อเพิ่มแทน จุดต่างๆ ทั้งตลาดเอซีสายไหม เขตสายไหม โรงเรียนเคหะชุมชนลาดกระบัง และวัดพลมานีย์ เขตลาดกระบัง วิทยาลัยเทคนิคราชสิทธาราม เขตบางบอน วัดบางขุนเทียนนอก เขตจอมทอง ตลาดบางแคภิรมย์ เขตบางแค สนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา เขตมีนบุรี บริการตรวจฟรี700-900 คนต่อวัน สภาพไม่ต่างกัน ประชาชนแห่ไปรอคิว บางจุดมีรายงานคนเบียดกันวุ่นแย่งคิว ส่วนเอกสารและอุปกรณ์ที่ต้องใช้มีเพียงบัตรประจำตัวประชาชนตัวจริงพร้อมสำเนา ปากกาส่วนตัวใช้ลงทะเบียน เลี่ยงการสัมผัสร่วมหรือส่งต่อ
บัตรคิวตรวจโควิดเป็นที่ต้องการของประชาชนที่สงสัยว่าติดเชื้อ
นายวิทยา ตั้งวิริยะกุล วัย 68 ปี ชาวมีนบุรี บอกว่า ต้องการพาพี่ชายไปตรวจโควิด เพราะก่อนหน้านี้มีอาการไข้ เจ็บหน้าอก เข้ารับการตรวจรักษาที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งซึ่งมีประวัติการรักษาเดิม แพทย์ตรวจอาการเบื้องต้น ให้รับยากลับบ้าน พร้อมแนะนำให้หาสถานที่ตรวจเชื้อโควิด เพราะ รพ.ปิดบริการ เหตุเตียงเต็มแล้ว คืนนั้นหาข้อมูลเพื่อวางแผนไปตรวจแบบเสียค่าใช้จ่ายที่ รพ.เอกชนย่านประชาชื่น วันรุ่งขึ้นพาพี่ชายไปแต่คิวเต็มตั้งแต่ 6.00 น. จึงกลับมาหาสถานที่ตรวจ รพ.เอกชน อีกสองแห่งในเขตมีนบุรี ก็พบว่า ไม่รับตรวจหาเชื้อโควิดแล้ว
“ รู้สึกเครียดมาก ขับรถวนหาที่ตรวจโควิดให้พี่ชายไม่ได้ ลองค้นหาข้อมูลจุดตรวจโควิดเขตมีนบุรีในอินเตอร์เน็ต พบมีที่สนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา รับตรวจ 1,000 คนต่อวัน ก็รีบขับไป ถึงหน่วยตรวจเวลา 7.00 น. จอดรถไว้ด้านนอก เห็นคนยืนต่อแถวยาวเหยียด จนท.แจกคิวหมดแล้ว ตอนนั้นคิดว่า จะต้องหาโรงพยาบาลใกล้ๆ กรุงเทพฯ ขับรถพาพี่ชายไปตรวจ กำลังหันหลังกลับ โชคดีมีคนยกเลิกคิว เพราะเคยมาตรวจแล้ว จนท.ไม่ให้ตรวจซ้ำ ก็ได้คิวที่ 923 มา กรอกข้อมูลในแบบฟอร์มเสร็จ เดินกลับไปพาพี่ชายมารอตรวจ ระหว่างรอก็ระแวงกันว่าจะติดโควิด ตรวจเสร็จตอนเที่ยง จนท.บอกให้รอผลทางโทรศัพท์ “ นายวิทยาบอกหาที่ตรวจยากมาก
เขาบอกอีกว่า ระหว่างกลับมารอผลตรวจ สมาชิกในบ้านก็ต้องป้องกันตัวเอง ตนคอยดู SMS และฟังเสียงโทรศัพท์ ผ่านไป 4 วัน ไม่มีการแจ้งผล คิดว่านานเกินไป วันที่ 8 ก.ค. โทรไปถามสำนักงานเขตมีนบุรี เขตให้เบอร์โทรไป รพ.ที่บริการตรวจ โทรติดต่อ รพ. ไม่มีคนรับ ตัดสินใจขับรถไปที่ รพ. เพื่อขอผล ถึงรู้ผลตรวจว่า เป็นลบ ไม่ติดโควิด ส่วน SMS ได้รับเย็นวันที่ 9 ก.ค. อยากให้ปรับปรุงจุดบริการให้ดีขึ้น เพิ่มจุดตรวจ นี่แค่รอผลตรวจ ถ้ารอเตียงคนป่วยคงตายก่อน
คนกรุงเทพฯ เข้าแถวยาวเพื่อรอรับคิวตรวจหาเชื้อที่หน่วยตรวจตลาดมหานาค
การเปิดจุดตรวจโควิดฟรีของ กทม.จะมีการตรวจหมุนเวียนไปกลุ่มเขตต่างๆ ทุกวัน ปรับแปลี่ยนจุดตามสถานการณ์ โดย กทม.จะแจ้งสถานที่ให้ประชาชนทราบล่วงหน้า 1 วัน เท่านั้น ซึ่งก็ยังไม่เพียงพอกับความต้องการตรวจหาเชื้อที่เพิ่มขึ้นทุกวัน
ขณะที่ผู้ใช้แรงงาน ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 และประชาชนทั่วไป มีการเพิ่มสถานที่ตรวจหาเชื้อแบบวอล์กอิน โดยสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน เปิดให้มาใช้บริการตรวจหาเชื้อโควิดได้ ณ อาคารกีฬาเวสน์ 1 ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) เขตดินแดง กรุงเทพมหานคร ตั้งแต่วันจันทร์ที่ 12 ก.ค. 2564 และสามารถลงทะเบียนได้ตั้งแต่วันที่ 10 ก.ค. เป็นต้นไป ผ่านทาง https://sso.icntracking.com
หลังจากตรวจแล้วทางโรงพยาบาลจะแจ้งผลการตรวจคัดกรองโควิดผ่าน 3 ช่องทาง คือ QR Code, SMS และโทรศัพท์ แต่ในกรณีที่ผู้ประกันตนที่ยังไม่ได้รับผลการตรวจคัดกรอง เนื่องจากกรอกหมายเลขโทรศัพท์ไม่ถูกต้อง สามารถโทรสอบถาม 1506 กด 6 และกรณีตรวจพบเชื้อและมีอาการจะถูกส่งตัวเข้ารับการรักษาที่ รพ.ในเครือข่ายประกันสังคม ส่วนผู้ที่ตรวจพบเชื้อแล้วไม่มีอาการหรืออยู่ในระดับสีเหลืองตามเกณฑ์ สธ.กำหนด จะถูกส่งตัวรักษาที่ Hospitel ของประกันสังคม มีทีมแพทย์และพยาบาลดูแล
ผู้คนต่อคิวตรวจหาเชื้อโควิดที่จุดตรวจสนามกีฬาธูปะเตมีย์ เขตดอนเมือง
นอกจากนี้ ศบค.เพิ่มจุดตรวจเชื้อเริ่มวันจันทร์นี้ที่สนามกีฬาธุปะเตมีย์ สนามกีฬาหัวหมาก และแลปฯ ที่ผ่านการรับรองจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ประชาชนต้องติดตามอัพเดทข้อมูลจาก ศบค.เป็นระยะ
จากปัญหาการเข้าไม่ถึงบริการตรวจเชื้อโควิด คนรอคิวข้ามวันข้ามคืน เป็นโจทย์ใหญ่นำมาสู่การประชุมหาแนวทางเพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการตรวจโรคโควิด ซึ่ง ศบค.ได้เห็นชอบข้อเสนอการตรวจโรคโควิดแบบ“Rapid Antigen Test” สำหรับสถานการณ์ที่มีการติดเชื้อในชุมชนวงกว้างของกระทรวงสาธารณสุข
อธิบายง่ายๆ เป็นชุดทดสอบอย่างง่ายและรวดเร็ว เป็นการตรวจคัดกรองเบื้องต้นเพื่อตรวจหาเชื้อไวรัส ก่อนเข้ากระบวนการตรวจยืนยันผลจากห้องปฏิบัติการ ใช้งานง่าย ทราบผลภายใน 10-30 นาที เหมาะสำหรับการประเมินความชุกและการติดเชื้อ สามารถใช้ Rapid Antigen กับผู้สงสัยอยากรู้ติดโควิดหรือไม่ แต่ไม่มีอาการ ประวัติสัมผัสไม่ใช้ชัดเจน ไม่ต้องกักตัว แต่สังเกตอาการ หรือผู้สงสัยและมีอาการทางเดินหายใจ ถ้าผลตรวจเป็นบวกติดเชื้อ ให้ตรวจอีกรอบในห้องปฏิบัติการ ถ้าผลบวกรับเช่นเดิมรับเข้าระบบรักษาที่เหมาะสม
การตรวจโควิดเก็บเชื้อโดยแหย่ปาก
นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวถึงการตรวจโควิดโดยใช้ Rapid Antigen Test เมื่อร่างกายได้รับเชื้อโควิด จะพบเชื้อไวรัส การตรวจแต่ละวิธี การพบเจอช้าหรือเร็ว มีเชื้อขึ้นมากน้อยต่างกันไป แล้วจะภูมิคุ้มกันที่ร่างกายสร้างขึ้น การตรวจ Rapid Antigen Test มี 24 ผลิตภัณฑ์ขึ้นทะเบียนกับ อย. แต่ละยี่ห้อมีความแตกต่างหลากหลายในคุณภาพของชุดตรวจ การเก็บตัวอย่างที่ใช้ตรวจ บางชุดเก็บเชื้อโดยแหย่จมูกถึงช่องคอ บางชุดแหย่ปากถึงช่องคอ เทคนิคการตรวจหาโปรตีนในไวรัส และการทำลายเชื้อของสารทำละลายที่ใช้ในการตรวจ เก็บเชื้อโดยแหย่จมูก บางอันแหย่จมูกถึงคอหอย ปัจจุบันอนุญาตให้ใช้โดยบุคลากรทางการแพทย์และสถานบริการที่ขึ้นทะเบียนเท่านั้น ขณะนี้มีกว่า 300 แห่ง ไม่ใช่คลินิกใดก็ทำได้ เพราะต้องตรวจครบวงจร แต่ในอนาคตกำลังดำเนินการเพิ่มเติมพิจารณาการใช้ Antigen Test แบบให้ประชาชนตรวจโควิดเองที่บ้าน
ส่วนข้อแนะนำการใช้ Rapid Antigen Test นั้น 1.เลือกชุดตรวจที่ผ่านการประเมินและขึ้นทะเบียน อย. 2.เก็บตัวอย่างตามที่ชุดตรวจกำหนด 3.ใช้เพื่อคัดกรองเบื้องต้น และควรได้รับการตรวจยืนยันด้วย RT- PCR และทำคำแนะนำชัดเจนทั้งการแปรผลปละการแยกกักตนเอง 4.สถานที่ตรวจ Rapid Antigen Test ต้องมีช่องทางด่วนให้ผู้มีผลตรวจเป็นบวกได้รับการตรวจยืนยันด้วย RT-PCT และ5. เตรียมพร้อมระบบทางการแพทย์ การจัดกระบวนการรับการรักษา การคัดแยกความรุนแรง ช่องทางด่วนให้ผู้สูงอายุ เสี่ยงป่วยหนัก และการทำ Home Isolation กับผู้ที่ไม่มีอาการหรืออาการน้อย
“ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ออกคำแนะนำการตรวจวินิจฉัย ที่มีความจำเป็นต้องทราบผลเร็ว เพื่อนำผลเบื้องต้นไปใช้ แต่ให้เข้าใจว่า กรณีผลตรวจแล้วเป็นลบ อาจเชื้อน้อย ไม่ได้แปลว่า ไม่ติดเชื้อ แต่ผลบวกต้องตรวจยืนยันด้วยวิธีมาตรฐานจากห้องปฏิบัติการอีกครั้ง เพราะมีกรณีผลบวกลวง นี่คือ หลักการการตรวจด้วย antigen test สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แจ้งอัตราการตรวจไวรัสแอนติเจนโดยการตรวจเชิงรุกนอกสถานบริการ ไม่เกิน 450 บาท การตรวจในหน่วยบริการไม่เกิน 600 บาทต่อราย สปสช.อยู่ระหว่างกำหนดเกณฑ์ หากผู้รับบริการตรวจเชื้อเป็นไปตามเกณฑ์สามารถเบิกจ่ายได้ “ นพ.ศุภกิจ กล่าว
นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
นพ.ศุภกิจได้เผยความรู้สึกในฐานะแพทย์คนหนึ่งว่า การตรวจแบบนี้ช่วยให้คนเข้าถึงบริการมากขึ้น ไม่อยากเห็นประชาชนไม่มีคิวตรวจ ทำให้ไม่ได้ไปตรวจโรคโควิด ส่งผลให้คนจำนวนหนึ่งที่ไม่ทราบว่าตนเองมีเชื้อและกลายเป็นผู้แพร่เชื้อได้ แนวทางนี้ยังลดปริมาณการตรวจ RT-PCR ลงด้วย ทำให้คนที่สัมผัสเสี่ยงเข้าถึงบริการได้มากขึ้น แนวทางนี้จะต้องดำเนินการควบคู่กับมาตรการดูแลกักตัวผู้ป่วยโควิดที่บ้านและที่ชุมชนอย่างมีคุณภาพ มาตรฐานเหมือนอยู่โรงพยาบาล รวมถึงมีการส่งต่อป้องกันป่วยหนักหรือเสียชีวิต
อย่างไรก็ตาม เมื่อระดมตรวจมากขึ้น คนเข้าถึงการตรวจโรคโควิดมากขึ้น จะค้นเจอผู้ป่วยมากขึ้น ตัวเลขผู้ติดเชื้อย่อมสูงขึ้น แต่ทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันตรวจคัดกรองเชิงรุกคือปัจจัยสำคัญในการสกัดการระบาดของโควิด-19 เมื่อใดตรวจ 100 คนถึงจะเจอผู้ติดเชื้อ 1-2 คน นั่นเป็นสิ่งสะท้อนให้เห็นว่า ระบบเฝ้าระวังเชิงรุกเกิดผลสำเร็จ ในสถานการณ์ที่หนักเช่นนี้ทุกฝ่ายต้องช่วยกันฝ่าวิกฤต
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |