จาก'หมิงตี้'รอวันจัดการปัญหาโรงงานกลางชุมชน


เพิ่มเพื่อน    

 

 

      หลังเกิดเหตุระเบิดและเพลิงไหม้โรงงานหมิงตี้ เคมีคอล จำกัด ใน อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ เมื่อเช้ามืดวันที่5 กรกฎาคม 2564 ซึ่งต้องใช้เจ้าหน้าที่ และสรรพกำลังหลายฝ่าย ในการควบคุมเพลิง และเฝ้าสังเกตุการณ์ว่าจะไม่เกิดการปะทุหรือระเบิดขึ้นอีกจากสารเคมีจำนวนมหาศาลที่อยู่ในถังที่ฝังใต้ดิน ก็ต้องใช้เวลาถึง 2 วัน 2 คืน แต่ก่อนที่เหตุการณ์จะสงบผู้คนจากชุมชนโดยรอบโรงงาน ก็อกสั่นขวัญแขวน เพราะอุบัติภัยจากสารเคมีครั้งใหญ่นี้สร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินมหาศาล แถมยังมีปัญหาเรื่องสารเคมีที่เป็นพิษตกค้าง และเป็นสารก่อมะเร็งที่ปลดปล่อยออกมาขณะเกิดเหตุ

         เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้เกิดคำถามมากมายว่า เหตุใดโรงงานที่มีเชื้อเพลิงติดไฟง่ายและเต็มไปด้วยวัตถุสารพิษปริมาณมาก ถึงมาตั้งอยู่ในใจกลางชุมชนได้ เป็นความผิดพลาดในการจัดการด้านผังเมืองของรัฐหรือเป็นความผิดของประชาชน ที่เลือกไปซื้อบ้านอยู่อาศัยใกล้โรงงานเอง แล้วใครต้องร่วมรับผิดชอบกับความเสียหายจากอุบัติเหตุครั้งนี้ อีกทั้งสารเคมีที่ค้างคา หรือรั่วไหลออกไป จะมีการจัดการอย่างไรต่อไป เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมและชีวิตผู้คนชุมชนโดยรอบ แล้วชุมชนอื่นๆที่อยู่ใกล้โรงงานที่มีสารเคมีอันตรายเป็นวัตถุดิบสำคัญจะมีการป้องกัน หรือจัดการไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยกับโรงงานกิ่งแก้วนี้ได้อย่างไร

       ย้อนไปเมื่อปี 2532 โรงงานหมิงตี้ เคมีคอล ที่เป็นทุนจากไต้หวัน ได้จดทะเบียนก่อตั้งโรงงานขึ้นบนถนนกิ่งแก้ว อ.บางพลี ในสมัยที่พื้นที่แถบนั้น ยังเป็นท้องไร่ท้องนาห่างไกลบ้านเรือน ไม่มีชุมชน และพื้นที่ดังกล่าวถูกจัดเป็นพื้นที่โซนสีม่วง หรือโซนโรงงานอุตสาหกรรม ต่อมาภาครัฐได้ปรับผังเมืองขึ้นใหม่ เมื่อปี 2552 วัตถุประสงค์ก็คือ ต้องการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสนามบินสุวรรณภูมิ ผังเมืองลดระดับพื้นที่จากสีม่วง กลายเปลี่ยนเป็นพื้นที่สีแดง สามารถทำการค้า การพาณิชย์ สร้างที่อยู่อาศัยได้ เป็นเหตุให้เกิดหมู่บ้านจัดสรรผุดขึ้นประชิดรอบรั้วโรงงานในเวลาต่อมา ถ้าดูจากภาพดาวเทียมจะเห็นได้ว่า ในรัศมีรอบโรงงาน 5 กิโลเมตร เต็มไปด้วยชุมชนหนาแน่น ขณะที่ โรงงานหมิงตี้ ยังไม่ได้ขยับไปไหน ยังคงเดินเครื่องผลิตเม็ดโฟม เม็ดพลาสติกต่อไป

          นอกจากนี้ จากการตรวจสอบในรัศมี 10 กิโลเมตร จากจุดโรงงานกิ่งแก้วไฟไหม้ พบว่ายังมีโรงงานตั้งอยู่อีกกว่า1,000 โรงงาน ถือว่าความเสี่ยงที่ประชาชนต้องแบกรับ ในประเด็นนี้ เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ ไล่เรียงให้ฟังว่า กรณีโรงงานกิ่งแก้วไฟไหม้สะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้างหลายด้านเริ่มจากด้านผังเมือง โรงงานนี้ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการปี 2534 อยู่มาก่อนชุมชน ก่อนที่จะเปลี่ยนพื้นที่ให้เป็นโซนสีแดงจึงดำเนินการผลิตต่อไปได้ในที่สุดเมืองที่ขยายก็มาชิดพื้นที่อุตสาหกรรม มีข้อถกเถียงกว้างขวาง ประเด็นอยู่ที่ว่า เมื่อมีการกำหนดผังเมืองรวมแล้วชัดเจน กรณีหมิงตี้เป็นอุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่มีสารอันตรายการใช้ประโยชน์ที่ดินจึงไม่เหมาะสม สะท้อนความผิดพลาดการจัดการด้านผังเมืองที่อนุญาตให้โรงงานประกอบกิจการต่อไป

        อีกประเด็นสำคัญ เพ็ญโฉม ให้ข้อมูลว่าโรงงานหมิงตี้กำลังการผลิตจากเริ่มแรก 2,000 กว่าตันต่อปีเมื่อปี 34 แต่กลางปี 62กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) อนุมัติขยายกำลังการผลิต 36,000 ตันต่อปีเป็นความผิดของ กรอ.ชัดเจนเพราะจังหวัดสมุทรปราการ ประกาศให้เป็นเขตควบคุมมลพิษเมื่อปี 2537 เพราะพื้นที่มีปัญหามลพิษสูง ไม่ควรมีโรงงานอุตสาหกรรมเพิ่มเติม แต่กรอ.ไม่เคารพกฎหมายสิ่งแวดล้อม และหากจะเพิ่มกำลังการผลิตได้ก็ต้องมีเงื่อนไขกับโรงงาน เช่น ย้ายโรงงานออกจากพื้นที่ก่อนหรือมีโรงงานที่เป็นส่วนขยายเพิ่มในพื้นที่อื่นๆ ไม่ใช่ตั้งที่เดิม

        “ กรณีโรงงานหมิงตี้สะท้อนความไม่กล้าหาญตัดสินใจให้โรงงานอยู่หรือไปถ้าให้โรงงานย้ายออกไปก็ต้องจ่ายค่าชดเชยหรือค่าเวรคืนให้แต่ถ้าไม่ให้ไปก็ต้องมีการปรับวางผังใช้ประโยชน์ที่ดินใหม่โดยกำหนดพื้นที่กันชนชัดเจนไม่อนุมัติโครงการก่อสร้างที่พักอาศัยบริเวณรอบโรงงานรวมถึงระงับการพัฒนาพื้นที่รอบสนามบินสุวรรณภูมิต้องมีการทำงานร่วมกันอย่างบูรณาการจากหลายหน่วยงาน

      เพ็ญโฉม ชี้ไปที่ กรอ.ว่า ต้องเปิดเผยข้อมูลที่แท้จริงปริมาณสารเคมีอันตรายที่โรงงานได้รับอนุญาตให้จัดเก็บ จากข่าวที่ปรากฏหลังเพลิงไหม้ กรอ.เข้าตรวจสอบมี"สารสไตรีนโมโนเมอร์"ตกค้างอยู่ภายในถังเก็บกว่า 1,000 ตัน คำถามที่เกิดขึ้น คือ โรงงานสะสมสไตรีนเกินปริมาณที่ได้รับอนุญาตหรือไม่ หรือ กรอ. อนุมัติให้เพิ่มปริมาณเก็บสารเคมี อีกทั้ง ที่ผ่านมารัฐมีการตรวจสอบให้โรงงานปฏิบัติตามแผนบริหารความเสี่ยงและมาตรการความปลอดภัยตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตรายมากน้อยเพียงใด เหตุที่เกิดสะท้อนความล้มเหลวและความไม่เข้มงวดในการกำกับดูแลทั้งที่โรงงานใกล้ชุมชน ใช้สารไวไฟในการผลิต ต้องเพิ่มความระมัดระวังยิ่งขึ้น

        “ จังหวัดสมุทรปราการมีความเสี่ยงสูงมากเกิดอุบัติภัยสารเคมีห่างไปไม่ไกลจากโรงงานหมิงตี้ มีโรงงานผลิตเม็ดโฟมอีกแห่งตั้งอยู่ภายในจังหวัด ยังเป็นที่ตั้งโรงงานกลั่นน้ำมัน คลังก๊าซอันตรายต่อความปลอดภัยของประชาชน มีโรงงานรีไซเคิลพลาสติกจำนวนมาก ซึ่งหากเกิดไฟไหม้ จะปล่อยมลพิษรุนแรง รัฐต้องมีมาตรการเฝ้าระวังเพลิงไหม้สารเคมีในโรงงาน และการป้องกันการเกิดเหตุแผนอพยพคน ซึ่ง กทม. ปภ. และเขต ต้องทำงานร่วมกัน “ เพ็ญโฉม ย้ำ ถ้าปล่อยปละละเลยจะเกิดความเสียหาย

               กรณีโรงงานกิ่งแก้วไม่ถูกตรวจสอบ เพราะ พ.ร.บ.โรงงาน ปี 2562 ฉบับใหม่ เป็นอีกปมปัญหาใหญ่ ที่ต้องถอดบทเรียนไม่ให้วิกฤตครั้งนี้สูญเปล่า เนื่องจาก พ.ร.บ.โรงงาน ฉบับใหม่ มีการปรับเปลี่ยนและตัดบางมาตราของ พ.ร.บ.โรงงานพ.ศ.2535 ฉบับเก่าออก มีการยกเลิกระบบต่อใบอนุญาตทุก 5 ปี ทำให้โรงงานไม่ถูกตรวจสอบ มาตรการความปลอดภัยจึงลดลง ซึ่งถ้าหากโรงงานอยู่ในสภาพไม่ปลอดภัยก็จะไม่ได้รับการแก้ไข และเกิดอันตรายขึ้นได้   
      นอกจากนี้ ในพ.ร.บ.โรงงานใหม่ ยังมีการแก้นิยามโรงงานว่าหมายถึง อาคารที่ใช้เครื่องจักรตั้งแต่ 50แรงม้าขึ้นไป หรือใช้คนงาน 50 คนขึ้นไป ส่งผลให้โรงงานขนาดเล็กกว่า 6 หมื่นแห่ง ไม่ถูกกฎหมายกำกับ สามารถตั้งโรงงานได้

       "  ต้องทบทวน พ.ร.บ.โรงงานฉบับใหม่ และทบทวนอำนาจ กรอ.ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทอนุญาตประกอบกิจการและส่งเสริมการลงทุนของภาคอุตสาหกรรม เดิมมีอำนาจกำกับกิจการด้านสิ่งแวดล้อม การควบคุมมลพิษและการกำกับความปลอดภัยด้านสารเคมีของโรงงานจะต้องยกให้เป็นหน้าที่ของหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมถึงจะเหมาะสมเพื่อคานอำนาจ นี่คือ เรื่องใหญ่ต้องแก้ไข" เพ็ญโฉม ระบุ

          นอกจากนี้ กม.ฉบับใหม่ ยังไม่มีการกำหนดให้จัดทำการประกันความเสี่ยงหรือตั้งกองทุนเพื่อประกันความเสียหายจากการประกอบกิจการทั้งภายในและภายนอกโรงงาน ซึ่งหากเกิดเหตุอุบัติภัยขึ้น กองทุนนี้จะทำหน้าที่ช่วยเหลือเยียวยาประชาชน

         " มูลนิธิบูรณะนิเวศ มีส่วนร่วมยกร่าง โดยเสนอกฎหมายมาตรานี้ แต่ถูกคณะกรรมการกฤษฎีกาตัดทิ้งไปก่อนเข้าสู่การพิจารณา สนช.หากมีกองทุนนี้หลังเกิดโรงงานกิ่งแก้วไฟไหม้ ประชาชนจะไม่เคว้งคว้าง หรือมีคำถามจะเอาเงินที่ไหนมารับผิดชอบ อีกหลักรับประกันสำคัญช่วยให้ชุมชนไม่เผชิญกับผลกระทบจากอุบัติภัยทางอุตสาหกรรมซ้ำซาก คือกฎหมาย รายงานการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม (PollutantRelease and Transfer Registers-PRTR) "

      เพ็ญโฉม ยังบอกอีกว่าตัวกฎหมายรายงานการเคลื่อนย้ายสารพิษสู่สิ่งแวดล้อม ก่อนหน้านี้ นายกฯ ปัดตกร่าง กม.นี้ไป ทั้งที่กฎหมายนี้นำไปสู่การกำกับให้ผู้ประกอบการมีความรับผิดชอบต่อประชาชนผ่านการรายงานการครอบครอบสารมลพิษ และการปล่อยมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะฝุ่น PM2.5 ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ น้ำเสีย ขยะอุตสาหกรรม ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยมีฐานข้อมูลพื้นฐานขนาดใหญ่ เพื่อกำหนดนโยบายสิ่งแวดล้อม รวมถึงแนวทางวางแผนป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษ การวางแผนรองรับเหตุฉุกเฉินได้อย่างรวดเร็วลดความสูญเสียเพราะมีพิมพ์เขียวสารมลพิษอยู่ในมือ ถือเป็นแหล่งข้อมูลสำหรับพนักงานดับเพลิงโรงพยาบาล ตำรวจ หน่วยกู้ภัย แพทย์หน่วยปฏิบัติการฉุกเฉินเมื่อเกิดอุบัติภัยสารเคมี

       “ ถ้ามีกฎหมาย PRTR นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์หรือประชาชนจะข้อมูลประกอบการเลือกที่อยู่อาศัยโดยรู้ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากมลพิษรอบตัว หรือเมื่อเกิดเหตุการณ์อุบัติภัยก็ทราบว่ามีโรงงานอันตรายอยู่ใกล้บ้านหรือไม่ มีการเฝ้าระวังมลพิษในพื้นที่ตนเองไม่ต้องโกลาหลหรือใช้ชีวิตด้วยความเสี่ยงเหมือนคนในชุมชนกิ่งแก้วที่เผชิญปัญหาอยู่ในขณะนี้ ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยต้องมีกฎหมายนี้เพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนโดยเฉพาะผู้ได้รับผลกระทบจากมลพิษอุตสาหกรรม เพ็ญโฉม กล่าว และว่าภาคประชาชนและองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมจะมีความเคลื่อนไหวเพื่อกดดันให้รัฐบาลผ่านร่าง กม.ปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษหรือ PRTR โดยเร็วหลังได้รับบทเรียนโรงงานโฟมกิ่งแก้ว


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"
Thailand Web Stat