แนวทางในการฟื้นฟู เยียวยา และการแก้ปัญหาระยะยาว จะเป็นไปในทิศทางใดหลังโศกนาฏกรรม”หมิงตี้” วงเสวนา “ฟื้นฟู-เยียวยา-ป้องกัน” ที่ควรมี (ทำ) กรณีเหตุระเบิดกิ่งแก้ว จัดโดยวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย(วสท.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม ชวนนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญร่วมถอดบทเรียนหาทางออกให้เหตุการณ์ครั้งนี้
รศ.ดร.ปิยะบุตร วานิชพงษ์พันธ์ ประธานสาขาวิศวกรรมเคมีและปิโตรเคมี วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย(วสท.) กล่าวว่าข้อสันนิษฐานสาเหตุเพลิงไหม้โรงงานผลิตเม็ดโฟม สาเหตุที่แน่นอนยังอยู่ระหว่างการค้นหา ในฐานะวิศวกรกให้ข้อสันนิษฐานใกล้ความเป็นจริงมากที่สุด สาเหตุไฟไหม้อาจจะเกิดจากเม็ดโฟม EPS เพราะความเสี่ยงต่อการระเบิดหรือเพลิงไหม้จากก๊าซเพนเทนที่ผสมอยู่ในเม็ดโฟม ซึ่งเป็นสารไวไฟสูง อีกทั้งไอระเหยของเพนเทน มีน้ำหนักมากกว่าอากาศ ไม่มีสี และสามารถติดไฟได้ เป็นไปได้ว่า เกิดการรั่วไหลของสารดังกล่าว แต่เบื้องต้นยังไม่ทราบสาเหตุการรั่วไหลของสารเคมี อีกข้อสันนิษฐานมาจากของแข็งที่เป็นวัตถุดิบ อย่าง PS Resin, PS Foam, EPS Foam ที่มีคุณสมบัติเป็นสารติดไฟ เกิดไฟฟ้าสถิตย์ได้ และเป็นของเสียอันตราย ทุกชนิดมีอันตรายต่อสุขภาพ
ส่วนการระงับเหตุไฟไหม้ ดร.ปิยะบุตร อธิบายว่า เพลิงไหม้ที่มีการแปรเป็นสารไฮโดรคาร์บอน ไม่สามารถดับได้ด้วยน้ำ จึงใช้วิธีการระงับเหตุในรูปแบบต่างๆ อย่างโฟม แต่จุดเกิดเหตุขณะนั้นเครื่องมือดับเพลิงไม่มีความพร้อมเป็นอุปสรรค รวมถึงขาดความร่วมมือของโรงงาน ส่งผลให้การระงับเหตุเกิน 24 ชั่วโมง ส่วนผลกระทบจากสารเคมีเมื่อเข้าสู่ร่างกาย ไม่ว่าจะมาจากการหายใจหรือผ่านผิวหนังก่อให้เกิดพิษเฉียบพลัน เช่น ขาดอากาศหายใจ ระคายเคืองในบริเวณร่างกาย ดวงตา ส่งผลกระทบต่อการสร้างโลหิตและระบบประสาท ส่วนพิษเรื้อรังที่ส่งผลระยะยาว จะทำให้เกิดการผิดปกติทางพันธุกรรม ก่อมะเร็ง มีผลต่อกระดูกและระบบทางเดินหายใจ
ความเสี่ยงมลพิษกรณีกิ่งแก้ว ผศ.ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์ อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวรให้รายละเอียดว่า ไฟไหม้สารอันตราย เกิดการแพร่กระจายสารพิษ การแปรสภาพ และการตกสะสมของมลพิษในอากาศ น้ำและดิน การปลดปล่อยมลพิษจากเหตุการณ์กิ่งแก้ว มีทั้งที่เกิดจากการรั่วไหลที่ยังไม่เผาไหม้ คือ สไตรีน (Styrene) เพนเทน (pentane) แต่หากเกิดการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ อาจจะทำให้มีสไตรีนรั่วไหลออกมา
“ จากงานวิจัยปี 2020 ได้จำลองการเผาไหม้สไตรีนแบบที่มีอากาศจำกัด พบว่า แม้ว่าจะมีการเผาแล้ว ก็ยังพบการรั่วไหล และมีการแปรสภาพเป็นคาร์บอนไดออกไซด์ คาร์บอนมอนนอกไซด์ เขม่า และสารที่เกิดมากที่สุดคือ แนฟทาลีน(Naphthalene) “
ทั้งนี้ เขาระบุการเกิดผลกระทบแบบเฉียบพลัน จะมีเรื่องของกลิ่นที่เกิดขึ้น อย่าง สไตรีน จะมีกลิ่นเหมือนพลาสติก เพนเทน กลิ่นคล้ายน้ำมัน สารเหล่านี้มีความไวต่อจูมกมนุษย์ หากไม่ได้กลิ่นอาจจะเป็นไปได้ว่า ไม่ได้รับสารเคมีแบบเฉียบพลัน แต่เมื่อสารเหล่านี้ระเหยขึ้นไปในชั้นบรรยากาศ จะเกิดปฏิกิริยาเคมีกลายเป็นฝุ่น PM2.5 และอาจจะมีการตกผสมลงมาสู่ผิวดินได้ด้วย จากการประเมินการปลดปล่อยมลพิษและโมเมนตัมการเผาไหม้ ที่การเผาไหม้ทำให้เกิดกลุ่มก้อนอากาศสีดำซึ่งเป็นมลพิษเห็นได้ด้วยตาเปล่าลอยขึ้นสูงกว่า 300 เมตรจากจุดพื้นผิวดิน ส่งผลให้สารพิษส่วนที่มนุษย์จะได้สัมผัสมีความเบาบางลงตามด้วย
กลุ่มก้อนอากาศสีดำที่พวงพุ่งออกจากจากเหตุการณ์นี้ ผศ.ดร.ธนพล ได้ทำแบบจำลองจากสมมุติฐานการเผาไหม้ 1,600 ตันใน 22 ชั่วโมง และมีการนำไปแปรผลในแบบจำลอง AERMOD พบว่า ในสารสไตรีน คนจะสามารถได้กลิ่นในระดับ 70 ไมโครกรัม/ลบ.ม. แต่ไม่น่าได้รับพิษแบบเฉียบพลัน ส่วนการตกสะสมสู่พื้นดินและแหล่งน้ำ แม้ว่าจะมีกระจายเป็นวงกว้าง แต่ยังมีความเสี่ยงต่ำ โดยใช้มาตรฐาน US.EPA(2021) ที่ได้รับการยอมรับมาตรฐานและความปลอดภัย ส่วนสารแนฟทาลีนแม้ไม่มีความเสี่ยงแพร่กระจายถึงพื้นผิวและการตกสะสมในดิน แต่ควรจะมีการเก็บตัวอย่างเพื่อยืนยัน โดยเฉพาะในพื้นที่ที่อาจมีการตกสะสมสูง และเขม่าที่มีการแพร่กระจายได้น้อยกว่าสารที่กล่าวมาข้างต้น
ผศ.ดร.ธนพล บอกว่า ในพื้นที่ซอยกิ่งแก้วมีสภาพเป็นชั้นดินเหนียวปนทราย ดังนั้น การรั่วไหลของสารสไตรีนสู่น้ำใต้ดินนั้นยังไม่ทราบแน่ชัด อาจจะต้องมีการเก็บตัวอย่างมาเพื่อยืนยัน ได้ทำแบบจำลองการรั่วไหลของสารทั้งหมด 1,600 ตันใน 2 ชั่วโมง และปล่อยให้น้ำพัดพาไปอีก 30 ปี แบ่งเป็นแบบที่ธรรมชาติบำบัดและไม่มีธรรมชาติบำบัด การทำแบบจำลองจะสามารถระบุพื้นที่ในการเก็บตัวอย่างได้ เพื่อความสบายใจของชุมชนด้วย
“ หากพบสารสไตรีนตกค้างสามารถใช้ทั้งจุลชีพหรือสารเคมีในการฟื้นฟูใช้ระยะเวลาประมาณ 3 เดือน ทั้งนี้ หากประชาชนที่ยังได้รับกลิ่นสารเคมีอยู่ อาจจะมาจากการปนเปื้อนในดิน และกลายเป็นไอที่ลอยขึ้นมา หรือสารเคมีที่คงค้างในพื้นที่ ต้องจัดการที่แหล่งกำเนิดให้ไวที่สุด กำหนดระยะเวลาการฟื้นฟูที่แน่นอน “ นักวิชาการ ม.นเรศวรบอก
เหตุการณ์เพลิงไหม้หมิงตี้ไม่ใช่อุบัตภัยสารเคมีครั้งแรก ในอดีตเคยเกิดขึ้นในพื้นที่ จ.กรุงเทพฯ ปทุมธานี ชลบุรี ระยอง เชียงใหม่ ผศ. ดร.ธนพล เสนอแนวคิดการทำโมเดลแบบจำลอง SAFER SYSTEMS คือ การนำ Chemical sensors + Real time air dispersion Modeling and Source locator algorithm ซึ่งสามารถคำนวนย้อนกลับหาแหล่งกำเนิดสารรั่วไหล และตรวจวัดสารเคมีระเหยง่าย (VOC) ไซยาไนต์ แอมโมเนีย ไฮโดรเจนซัลไฟด์ หรือก๊าซไข่เน่า ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ คาร์บอนมอนอกไซด์ สารประกอบไนโตรเจนออกไซด์ และคาร์บอนไดออกไซด์ได้แบบเรียลไทม์ เพื่อหยุดปัญหาการรั่วไหลของสารเคมีในโรงงาน จนทำให้เกิดเพลิงไหม้ และนำไปสู่ผลกระทบสิ่งแวดล้อมหลายด้าน
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |