เมื่อวันที่ 1 มิ.ย.61 ที่ผ่านมา เกิดความโกลาหลกันเกือบครึ่งค่อนประเทศ เมื่อช่วงเวลาประมาณ 13.00 น. เกิดไฟฟ้าดับเป็นวงกว้างแทบทุกภาค อาทิ บางส่วนในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และกรุงเทพมหานคร สร้างความเดือดร้อนไปทุกพื้นที่ เมื่อตรวจสอบจึงทราบว่าสาเหตุหลักนั้นมาจากระบบส่งไฟฟ้า 500 กิโลโวลต์จากโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนหงสา ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ที่ส่งมายังประเทศไทยเกิดขัดข้อง
จากปัญหาที่เกิดขึ้นดังกล่าวนั้น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ออกมาชี้แจงสาเหตุว่าเกิดจากฟ้าผ่าสายส่งไฟฟ้าแรงสูง 500 กิโลโวลต์ น่าน-หงสา ส่วนที่อยู่ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ทำให้ระบบป้องกันทำงาน และสั่งหยุดเดินเครื่องโรงไฟฟ้าหงสาทันที เป็นผลให้กำลังผลิตไฟฟ้าที่ส่งให้ระบบไฟฟ้าของไทยขาดหายไปจำนวน 1,300 เมกะวัตต์
และได้ส่งผลต่อเนื่อง ทำให้ระดับแรงดัน และความถี่ของระบบไฟฟ้ารวมลดต่ำกว่ามาตรฐาน เป็นผลให้ระบบป้องกันความถี่ต่ำในระบบไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าเอกชนขนาดเล็ก หรือ เอสพีพี จำนวน 23 รายทั่วประเทศทำงานและปลดเครื่องออกจากระบบ ซึ่งเป็นระบบป้องกันอัตโนมัติทำงานเพื่อรักษาระบบไฟฟ้าส่วนใหญ่ของประเทศให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด เพื่อป้องกันไฟฟ้าดับทั่วประเทศ (Black Out) ทำให้กำลังผลิตไฟฟ้าหายไปเพิ่มอีกจำนวน 1,930 เมกะวัตต์
ดังนั้น กฟผ.ต้องเร่งแก้ปัญหาด้วยการจ่ายไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำและโรงไฟฟ้ากังหันก๊าซ ทั้งจากโรงไฟฟ้าวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา, โรงไฟฟ้าบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา และโรงไฟฟ้าพระนครใต้ จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งโรงไฟฟ้าทั้งสองประเภทสามารถเริ่มเดินเครื่องได้อย่างรวดเร็ว ทำให้สามารถเริ่มทยอยจ่ายไฟฟ้ากลับคืนเข้าสู่ระบบตั้งแต่เวลา 13.08 น. และจ่ายไฟฟ้ากลับคืนได้ทั้งหมดในเวลา 13.55 น.
และจากเหตุการณ์ล่าสุด รมว.กระทรวงพลังงานอย่าง ศิริ จิระพงษ์พันธ์ นั่งไม่ติด ถึงกับได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำเรื่องนี้มาเป็นบทเรียน และให้ไปเร่งวิเคราะห์หาทางป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีก โดยเฉพาะการปรับปรุงระบบส่ง, การเพิ่มสำรองไฟฟ้า จากปัจจุบันที่มีอยู่ 15% นอกจากนี้ยังมอบหมายให้ไปศึกษาความเป็นไปได้ถึงการสำรองไฟฟ้าเป็นรายภาค และให้นำเข้าไปบรรจุในแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศแบบใหม่ด้วย (พีดีพี 2018)
เมื่อย้อนมาดูแผนการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยในปัจจุบันแล้วจะพบว่า จากความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ในด้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่เพื่อรองรับกับความต้องการกับไม่สามารถเพิ่มขึ้นตามได้ ดังนั้น รัฐบาลจึงต้องจัดหาพลังงานไฟฟ้าให้เพียงพอกับความต้องการ ซึ่งที่เหมาะสมและมีความเป็นไปได้มากที่สุดคือการซื้อพลังงานไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ สปป.ลาว จีน พม่า กัมพูชา และมาเลเซียมาทดแทน
อย่างไรก็ตาม ในจำนวนประเทศเหล่านี้ สปป.ลาวนับว่ามีความก้าวหน้ามากกว่าประเทศอื่น โดยได้มีการจัดทำบันทึกความเข้าใจระดับรัฐบาล ในการรับซื้อไฟฟ้าในปริมาณ 3,000 เมกะวัตต์ อาทิ โครงการน้ำเทิน-หินบุน, ห้วยเฮาะ, น้ำเทิน 2, น้ำงึม 2, น้ำเทิน-หินบุน (ส่วนขยาย), หงสาลิกไนต์, เซเปียน - เซน้ำน้อย และไซยะบุรี
และเมื่อเกิดปัญหาขึ้น กระทรวงพลังงานในฐานะที่กำกับดูแลด้านพลังงานของประเทศ ก็คงต้องกลับมาคิดใหม่ว่า การผลักดันโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินนั้นมีความจำเป็นหรือไม่ เพราะดูแลนโยบายที่ท่าน รมว.พลังงาน ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับไปศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดทำระบบสำรองไฟฟ้าเป็นรายภาคนั้น มันเหมาะสมหรือเปล่า
โดยเฉพาะภาคใต้หากจะสำรองไฟฟ้าเป็นรายภาคแล้วจะเอามาจากไหน ปัจจุบันยังแทบไม่พอใช้ จะหวังพึ่งพลังงานทดแทนก็คงยากเนื่องจากมีความไม่เสถียรค่อนข้างสูง โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์ก็รู้กันอยู่ว่าภาคใต้นั้น ฝน 8 แดด 4 จะหวังพึ่งมาเลเซียก็ไม่ได้เช่นกัน ประเทศเขาก็ต้องใช้ไฟฟ้า
แต่การก่อสร้างโรงไฟฟ้าก็คงเป็นไปได้ยาก เพราะการต่อต้นยังคงมีอยู่ ดังนั้นเมื่อสร้างไม่ได้ ก็คงต้องอาศัยยืมจมูกชาวบ้านเขาหายใจไปเรื่อยๆ เกิดปัญหาก็แก้กันไปตามยถากรรม.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |