ตัวเลขที่เห็นอยู่ยังต่ำ กว่าความจริงอยู่มาก!


เพิ่มเพื่อน    

      คนที่อยู่ “วงใน” หลายท่านยืนยันตรงกันว่า ตัวเลขคนติดเชื้อและเสียชีวิตจากโควิด-19 ที่เรารับทราบจาก  ศบค.ทุกวันนี้เป็นแค่ “ยอดของภูเขาน้ำแข็ง” เท่านั้น

            ของจริงน่ากลัวกว่านี้หลายเท่า

            คุณหมอสมิทธิ์ ศรีสนธิ์ หัวหน้าห้องปฏิบัติการนิติเวชศาสตร์ ภาควิชาพยาธิวิทยา คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กของท่านเมื่อต้นสัปดาห์นี้ว่า....

            วันนี้จะมาเล่าให้ฟังในฐานะแพทย์นิติเวชเกี่ยวกับสถานการณ์โควิดใน กทม.นั้นหนักมากขนาดไหน ผมไป  swab ตรวจโควิด-19 จากศพ แล้วเจอ positive  เยอะมากครับ

            อย่างเมื่อวานตรวจศพ 4 ราย รายหนึ่งอายุมากรู้แน่นอนว่าเป็นโควิดแต่ไม่มีเตียง admit แล้วก็ตายในที่เกิดเหตุครับ

            อีกสามราย swab แล้ว positive ทั้งหมดเลยครับ (นี่แค่วันเดียวนะครับ และแค่เขตที่โรงพยาบาลรามาฯ รับเท่านั้น)

            โดยรวมๆ การอยู่เวรตั้งแต่วันพฤหัสฯ ที่ผ่านมา ผู้ตายส่วนใหญ่ที่ตายแล้ว swab เจอจะอยู่ในชุมชนแออัดที่แออัดมากๆ (พื้นที่นิดเดียวนอนกันสามคนก็มี) หรือแฟลตการเคหะฯ

            โดยสถานที่ทั้งหมดจะมีประวัติว่า คนในนั้นเป็นแล้วหลายคน แต่ก็ไม่ได้เตียง admit หรือบางคนมีคนในครอบครัวเป็นแต่ยังหาที่ swab ไม่ได้ก็มี

            นอกจากนี้ยังมีผู้ตายรายหนึ่งเป็นผู้ป่วยติดเตียง แล้วญาติพามาติด โดยญาติก็ไม่รู้ตัวว่าเป็นก็มีครับ

            ถ้าไม่ swab ตรวจแล้วเจอในศพ ก็ไม่รู้เลยครับ

            เพราะก็ติดเตียงและอายุมากแล้ว

            ปกติถ้าไม่มีโควิดก็จะไม่ทำอะไร แล้วมอบให้ญาติดำเนินการไป

            มีอีกรายเป็นชุมชนแออัดของคนใบ้ ซึ่งก็สื่อสารกันยากมาก คิดว่าคนในชุมชนไม่รู้จะมีคนติดอีกมากเท่าไหร่ เพราะยังไม่มีใครมาดูแลเลยครับ

            สรุปคือจะบอกว่า สถานการณ์หนักมากครับ ผู้ป่วยกับตายที่เห็นนี่ไม่เป็นตัวเลขจริงแน่นอนครับ มีเยอะกว่านั้นมาก มีคนที่ไม่ได้ swab ตรวจอีกเยอะ

            (ตอนนี้ที่รามาฯ ถ้าจะมา swab ผมเห็นคิวมานั่งรอตั้งแต่สี่ห้าทุ่มเพื่อตรวจตอนเช้า)

            ส่วนคนตายก็มีเยอะกว่านี้ เพราะก็มีหลายๆ เคสที่ไม่ได้ swab

            แพทย์นิติเวชบางที่ก็ไม่สามารถ swab ตรวจให้ได้หมด ถึงแม้ว่ามีประวัติเสี่ยงครับ เพราะไม่สามารถเบิกเงินค่า swab จากศพที่ตายในที่เกิดเหตุ

            คุณพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย นักเศรษฐศาสตร์และการเงิน เป็นอีกหนึ่งท่านที่นำเสนอทางออกในประเด็นนี้

            ท่านเห็นว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อที่เราคุยกันว่าเพิ่มขึ้นวันละ  5,000-6,000 ต่อวัน (เมื่อวานพุ่งมาเกิน 9,000)  นั้นอาจจะต่ำกว่าความเป็นจริงหลายเท่า และเราไม่เห็นภาพว่าจำนวนผู้ติดเชื้อจริงๆ มีวันละเท่าไร

            คุณพิพัฒน์มีข้อสังเกตที่น่าสนใจว่า

            -เราตรวจหาเชื้อได้แค่ประมาณ 50,000-60,000 ตัวอย่างต่อวัน มีคนจำนวนมากที่อยากตรวจแต่ไม่ได้ตรวจ หรือไปรอกันเป็นชั่วโมงเพื่อให้ได้ตรวจ

            -พบคนเสียชีวิตที่ติดเชื้อโดยไม่รู้มาก่อนจำนวนมาก

            -ผลตรวจเป็นบวกโดยรวมเกือบ 10% ที่สูงกว่ามาตรฐานแนะนำ 3-5% หลายเท่า

            -อัตราการตรวจเชื้อเป็นบวกใน กทม.สูงมาก เกิน  10%

            -จำนวนคนที่ผลตรวจบอกว่าติดแล้วไม่แสดงอาการ มีน้อยกว่าคนติดแล้วแสดงอาการเยอะ ทั้งที่สัดส่วนของคนที่ติดไม่แสดงอาการน่าจะมีเยอะกว่า

            -สายพันธุ์ Delta ที่รู้ว่าแพร่พันธุ์ได้เยอะและหลบวัคซีนได้เก่งมีสัดส่วนมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะใน กทม.

            -จำนวนเตียง ICU และเครื่องช่วยหายใจมีความต้องการใช้เพิ่มไม่หยุด และใกล้จะเกินขีดความสามารถของระบบเต็มที่แล้ว

            -อัตราการเสียชีวิตส่วนเกิน (excessive  mortality) คืออัตราการเสียชีวิตรวมเทียบกับอัตราการเสียชีวิตปกติก่อน Covid เพิ่มขึ้นประมาณ 18%  (อาจจะไม่ได้เกี่ยวโดยตรง แต่การปรับทรัพยากรเพื่อรับคนไข้ Covid อาจจะทำให้มีคนเสียชีวิตเพิ่มขึ้น)

            -เทียบกับอังกฤษที่ติดเชื้อกันวันละสองหมื่น (เขาตรวจได้วันละเกือบล้านตัวอย่าง โดยใช้ rapid test  มาช่วย) แต่อัตราการเสียชีวิตและเคสหนักน้อยกว่าไทยเยอะ (อาจจะเป็นผลความสำเร็จจากนโยบายวัคซีน) 

            นั่นแปลว่าสถานการณ์จริงๆ อาจจะเลวร้ายกว่าที่เราเห็นหลายเท่า

            เพราะการตรวจน้อยกว่าที่ควรจะเป็น และนโยบายการตรวจที่ผูกกับการหาเตียงได้ กำลังเป็นการกดจำนวนผู้ติดเชื้อแบบตั้งใจลด capacity ในการตรวจ

            เป็นเหตุให้เราตกอยู่ในภาวะที่การประเมินสถานการณ์ไม่ตรงกับความเป็นจริง

            คุณพิพัฒน์เสริมว่า

            “ผมว่าถ้าเรายังไม่เข้าใจสถานการณ์ให้ตรงกับความเป็นจริงว่าใครติดบ้าง ใครเสี่ยง ใครควรแยกตัวออกจากสังคม 

            ไม่ส่งสัญญาณที่ถูกต้อง ทำความเข้าใจ และขอความร่วมมือกับประชาชนอย่างตรงไปตรงมา

            การติดเชื้อก็คงวน ๆ กันไป และมาตรการที่หนักกว่านี้อาจจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะถ้าเตียงเต็มจนเราเริ่มรับเคสหนักๆ เพิ่มไม่ได้

            จึงเสนอให้

            •เพิ่มศักยภาพในการตรวจ (เช่นเอา rapid test  มาร่วมด้วยสำหรับคนไม่แสดงอาการ) การสืบสวนโรค

            •จัดหาวัคซีนที่มีคุณภาพ

            •ปรับทรัพยากรในการให้การรักษา (เช่น สื่อสารเรื่อง  home isolation สำหรับคนไม่แสดงอาการ) และ

            •เยียวยาประชาชนอย่างเร่งด่วนและจริงจัง"

            สรุปว่าจะต้องช่วยกันปรับนโยบายรับมือก่อนกันอย่างจริงจังและเร่งด่วนก่อนที่สถานการณ์จะเลวร้ายไปกว่านี้

            เพราะที่เราเห็นอยู่ทุกวันนี้ยังไม่เลวร้ายที่สุด!

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"