8 จังหวัดภาคเหนือรวมพลังแก้ปัญหาฝุ่นควัน เสนอรัฐบาล 8 มาตรการแก้วิกฤตก่อนเข้าสู่ฤดูเผาไหม้รอบใหม่


เพิ่มเพื่อน    

การลงนามความร่วมมือแก้ไขปัญหาฝุ่นควัน 8 จังหวัดภาคเหนือและภาคีเครือข่าย

 

เชียงใหม่/ ภาคีเครือข่าย 8 จังหวัดภาคเหนือร่วมลงนามบันทึกข้อตกลง ‘ขับเคลื่อนสภาลมหายใจภาคเหนือ’ แก้ปัญหาฝุ่นควันที่เรื้อรังมานานกว่า 15 ปี  ส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน กระทบด้านเศรษฐกิจ  การท่องเที่ยว  เสนอมาตรการ 8 ข้อต่อรัฐบาลเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังและยั่งยืน  เช่น  ประกาศมาตรฐานคุณภาพอากาศใหม่เป็นไปตามมาตรฐานของ WHO  ขยายผล ‘โรงเรียนสู้ฝุ่น’ กระจายอำนาจร่วมจัดการไฟให้ชุมชนและท้องถิ่น  แก้ปัญหาฝุ่นควันข้ามแดนจากประเทศเพื่อนบ้าน ฯลฯ

          ปัญหาฝุ่นควันในภาคเหนือ  โดยเฉพาะที่จังหวัดเชียงใหม่เกิดขึ้นต่อเนื่องมานานกว่า 15 ปี  โดยมีสาเหตุที่หลากหลาย  เช่น  ไฟป่า  การเผาเศษซากไร่  ฝุ่นควันจากการเผาซากไร่ข้ามแดนจากประเทศเพื่อนบ้าน   ฝุ่นควันจากในเมือง  ผลกระทบจากโลกร้อน  ฯลฯ  ทำให้เกิดการรวมตัวของภาคประชาสังคมตั้งแต่ปี 2562 เพื่อรณรงค์และหามาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่นควันโดยความร่วมมือของทุกภาคส่วนในนาม ‘สภาลมหายใจเชียงใหม่’  และปัจจุบันได้ขยายความร่วมมือไปยังภาคีเครือข่าย 8 จังหวัด

          ล่าสุดวันนี้ (9 กรกฎาคม) ที่โรงแรมเชียงใหม่แกรนด์วิว  ระหว่างเวลา 9.00-10.30 น. มีการประชุม ‘สภาลมหายใจภาคเหนือครั้งที่ 1  และพิธีลงนามความร่วมมือ 8 จังหวัด  ขับเคลื่อนสภาลมหายใจภาคเหนือ’ โดยมีนายเจริญฤทธิ์  สงวนสัตย์  ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่  เป็นประธานในพิธี  มีผู้แทนสภาลมหายใจเชียงใหม่  สภาลมหายใจภาคเหนือ 8 จังหวัด  ผู้แทนสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)  นายวิชัย  นะสุวรรณโน  ผู้อำนวยการสำนักงานภาคเหนือ  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) และผู้แทนภาคีเครือข่ายเข้าร่วมงานประมาณ 50 คน

 

 

          นายวิทยา ครองทรัพย์ หัวหน้าโครงการขับเคลื่อนกิจกรรมเครือข่ายสภาลมหายใจภาคเหนือ (สภน.) เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากปัญหามลพิษอากาศฝุ่นควัน PM 2.5 ของภาคเหนือเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี  และเป็นปัญหาต่อเนื่องมานานกว่า 15 ปี ส่งผลให้ประชาชนในภาคเหนือได้รับผลกระทบด้านสุขภาพ และส่งผลต่อภาวะเศรษฐกิจในพื้นที่เป็นอย่างมาก โดยมีสาเหตุปัจจัยที่เป็นภาพรวมและมีความแตกต่างกันในแต่ละจังหวัดของภาคเหนือ โดยปัญหาฝุ่นควันดังกล่าวมีผลกระทบต่อชีวิตและสุขภาพของประชาชนทุกคน ทุกเพศ ทุกวัยในภาคเหนือเป็นอย่างมาก  และมีแนวโน้มปัญหาจะเพิ่มความรุนแรงมากขึ้น  แต่ยังไม่มีแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ตรงจุดและยั่งยืนเกิดขึ้น

          “ดังนั้น ภาคีเครือข่ายจึงได้ร่วมกันจัดทำโครงการขับเคลื่อนกิจกรรมเครือข่ายสภาลมหายใจภาคเหนือภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อระดมความคิดเห็น  และพัฒนาข้อเสนอของเครือข่ายสภาลมหายใจภาคเหนือ รวมถึงแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้เกิดข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อให้บรรลุการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนในการลดความรุนแรงและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนในพื้นที่ภาคเหนือในอนาคต จึงได้จัดการประชุมและร่วมลงนามความร่วมมือขับเคลื่อนสภาลมหายใจภาคเหนือ 8 จังหวัดในวันนี้ นายวิทยากล่าวถึงความเป็นมาของโครงการ  

          เขาบอกว่า  สมาชิกสภาลมหายใจภาคเหนือ 8 จังหวัด  ประกอบด้วย  เชียงใหม่  ลำพูน  เชียงราย  แพร่  พะเยา  ลำปาง  แม่ฮ่องสอน และน่าน   และต่อไปจะขยายให้ครบทั้ง 17 จังหวัดภาคเหนือ โดยได้รับการสนับสนุนจากภาคีเครือข่ายหลายหน่วยงาน เช่น  หอการค้าภาคเหนือ สภาการเกษตร  สถาบันการศึกษาในแต่ละพื้นที่ องค์กรพัฒนาเอกชน ชมรมด้านสิ่งแวดล้อมทางอากาศ  และภาคประชาสังคม  เป็นต้น

 

นายเจริญฤทธิ์  สงวนสัตย์  ผวจ.เชียงใหม่ (แถวหลังที่ 5 จากซ้ายไปขวา)

 

          นายสมบัติ ชินสุขเสริม ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคเหนือ หอการค้าไทย และที่ปรึกษาสภาลมหายใจภาคเหนือ กล่าวว่า แนวโน้มของสถานการณ์มลพิษทางอากาศมีความรุนแรงมากขึ้น ส่งผลให้มีการขยายตัวของมลพิษครอบคลุมไปยังพื้นที่ต่าง ๆ กว้างขวางขึ้น และยังส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจในพื้นที่ภาคเหนือแลประเทศ ทั้งในด้านงบประมาณในการรักษาพยาบาล ความเสียหายต่อธุรกิจการท่องเที่ยว และภาพลักษณ์ของประเทศที่สะท้อนถึงความล้มเหลวในการจัดการเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพของประชาชนและการจัดการมลพิษ

          “หอการค้าไทย และหอการค้าจังหวัดภาคเหนือทั้ง 17 จังหวัด พร้อมที่จะร่วมสนับสนุนการดำเนินงานของสภาลมหายใจภาคเหนือ  และทุกภาคส่วน  เพื่อช่วยกันแก้ไขฝุ่นควันและมลพิษทางอากาศให้หมดไปในอนาคตนายสมบัติกล่าว

          ศ.นพ.ชายชาญ  โพธิรัตน์  อาจารย์ประจำภาควิชาอายุรศาสตร์  คณะแพทยศาสตร์  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่ปรึกษาสภาลมหายใจภาคเหนือ กล่าวว่า จากการถอดบทเรียนของปัญหาฝุ่นควันภาคเหนือในปี 2564 ช่วงวิกฤติฤดูแล้งที่ผ่านมา แม้ว่าจะมีการรายงานต่อคณะรัฐมนตรีว่าสถานการณ์ดีขึ้นโดยลำดับ เมื่อได้วิเคราะห์ประเด็นปัญหาแล้วพบว่า  สถิติจุดความร้อนลดลงอย่างชัดเจน  ส่วนหนึ่งมาจากการยกระดับปัจจัยจากการบริหารจัดการในบางจังหวัด

 

ไฟป่าที่เชียงใหม่  ภาพโดย Phurinat  Singthorat

 

          “แต่ปัจจัยเอื้อสำคัญที่สุดมาจากสภาพภูมิอากาศ เกิดปรากฏการณ์ลานีญ่ามีฝนมากกว่าปกติ ค่ามลพิษและการเกิดไฟโดยเฉพาะในเดือนเมษายนลดลงเมื่อเทียบจากปีปกติ จึงไม่อาจยืนยันว่ามาตรการแก้ปัญหาของปี 2564 ได้รับความสำเร็จ และยังพบว่ามาตรการแก้ปัญหาของรัฐหลายประการยังมีปัญหาในเชิงประสิทธิภาพ ไม่เป็นไปตามแผนปฏิบัติการตามวาระแห่งชาติฯ และคาดว่าปัญหามลพิษอากาศฝุ่นควันไฟ pm 2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือระยะต่อจากนี้ไปถึงปลายปี 2564 และต้นปี 2565 จะรุนแรงขึ้นกว่าปีนี้  เนื่องปัจจัยทางภูมิอากาศความแห้งแล้ง และการสะสมของเชื้อเพลิงจากใบไม้ในป่า รวมถึงพื้นที่เผาไหม้ทางการเกษตรในเขตภาคเหนือตอนล่าง และจากประเทศเพื่อนบ้าน .นพ.ชายชาญแจงรายละเอียด  

          จากเหตุผลดังกล่าว  สภาลมหายใจภาคเหนือ จึงได้เสนอให้รัฐบาลเร่งดำเนินมาตรการป้องกันและแก้ปัญหาที่ถูกละเลยก่อนฤดูฝุ่นควันรอบใหม่ พ..2565  รวม 8 ด้านด้วยกัน  ดังนี้

          1.รัฐบาลต้องประกาศมาตรฐานคุณภาพอากาศใหม่เป็นไปตามเป้าหมายระยะ 3 ของ WHO คือ ค่าเฉลี่ยราย 24 ชั่วโมง  ปรับจาก 50 มคก./ลบ.. เป็น 37มคก./ลบ.. และค่าเฉลี่ยรายปีปรับจาก 25 มคก./ลบ.. เป็น15 มคก./ลบ.. ขอให้รัฐบาลจัดการต่อยอดขยายโครงการโรงเรียนสู้ฝุ่น ซึ่งจะมีการให้องค์ความรู้ในการป้องกันตัวเองของนักเรียนและชุมชน ติดตั้งเครื่องวัดคุณภาพอากาศขนาดเล็กที่มีประสิทธิภาพให้ครอบคลุมทุกตำบลใน 8 จังหวัดภาคเหนือที่มีวิกฤตคุณภาพอากาศเป็นประจำทุกปี เพื่อให้เกิดการตื่นตัวในหมู่ประชาชนและเป็นการเตรียมการป้องกันด้านสุขภาพของตัวเองด้วยก่อนขยายไปทั้งภาคเหนือ

 

สภาลมหายใจเชียงใหม่ร่วมกับภาคีเครือข่ายมอบอุปกรณ์ทำแนวป้องกันและดับไฟป่าให้ชาวบ้านในตำบลต่างๆ เมื่อต้นปี 2564

 

          2.ขอให้รัฐบาลเร่งศึกษาสาเหตุต้นตอการเกิดไฟในพื้นที่ป่าภาคเหนืออย่างจริงจัง และวางมาตรการป้องกันและแก้ไขให้ตรงกับลักษณะปัญหา รวมถึงเปิดให้มีกระบวนการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน  ทั้งหน่วยงานรัฐอื่น และภาคประชาชนให้เข้ามามีส่วนในการร่วมแก้ปัญหาตลอดทั้งปี  โดยไม่ติดข้อปัญหาทางกฎหมายป่าไม้

          3.ให้รัฐบาลเร่งรัดทุกมาตรการเปลี่ยนการเผาภาคเกษตรให้เป็นวิธีการอื่นที่ยั่งยืน โดยขอให้เกิดมาตรการเชิงรุกกำหนดเป้าหมายโซนนิ่ง  เกิดพื้นที่นิเวศเกษตรยั่งยืน รับรองสิทธิเกษตรกรให้ปลูกพืชผลยืนต้นปลอดการใช้ไฟ โดยกำหนดเป้าหมายเชิงปริมาณให้ชัดเจน และให้เกิดการดำเนินการร่วมกับประชาชนในท้องถิ่นได้ภายในปีงบประมาณ 2564 เช่น ไร่อ้อยในสัดส่วนที่ยังจำเป็นต้องเผา ให้มีมาตรการบริหารจัดการไม่ให้เผาแปลงใหญ่  ไม่ให้เผาข้ามคืน โดยให้เสร็จสิ้นภายในเวลากำหนด  เป็นต้น

 

ชาวบ้านตำบลแม่โป่ง  อ.ดอยสะเก็ด ช่วยกันทำแนวป้องกันไฟป่า

 

          4.เสนอให้เกิดกลไกกระจายอำนาจร่วมจัดการไฟให้ชุมชนและท้องถิ่น ในการร่วมออกแบบวางแผน กำหนดมาตรการระดับพื้นที่สามารถดำเนินการได้ต่อเนื่องตลอดทั้งปี โดยมีงบประมาณสนับสนุนด้วย  นอกจากจะมีกลไกแก้ปัญหาที่ทำงานกับชุมชนทั้งปีแล้ว ยังเกิดประสิทธิภาพการบูรณาการระหว่างชุมชนและท้องถิ่นกับผู้ว่าราชการจังหวัดในช่วงเผชิญเหตุในช่วงฤดูไฟ และมีการเสนอให้แต่ละจังหวัดมีการดำเนินการพื้นที่ต้นแบบชุมชนนำร่องที่เป็นต้นแบบแต่ละจังหวัด ครอบคลุมทั่วภาคเหนือ  เพื่อความยั่งยืนและขยายผลในอนาคตต่อไป

          5.การเร่งรัดนำนวัตกรรมเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ทุกจังหวัดอย่างทั่วถึง เท่าเทียม และให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนในการรับรู้ข้อมูล สภาพการณ์ระหว่างที่เกิดปัญหามลพิษอากาศอย่างรวดเร็ว ทั่วถึง และสะดวก  โดยตั้งศูนย์ข้อมูลสารสนเทศมลพิษฝุ่นควันไฟและระบบสื่อสารประชาสัมพันธ์เชิงรุกระดับจังหวัด และให้มีการตั้งวอร์รูมบัญชาการสถานการณ์ระดับจังหวัดที่มีเทคโนโลยีทันสมัย ทราบข้อมูลดาวเทียม สภาวะอากาศและการสื่อสารสั่งการที่ทันสมัย รวมถึงเกิดการนำนวัตกรรมเทคโนโลยีที่มาจากผลการวิจัย การริเริ่มแนวทางการแก้ไขปัญหาเชิงนวัตกรรมมาใช้ให้แพร่หลาย โดยสร้างกลไกความร่วมมือกับภาควิชาการและมหาวิทยาลัยในพื้นที่ภาคเหนือ  รวมถึงชุมชน  ประชาสังคม  ตามความต้องการของแต่ละพื้นที่

 

ใบตองตึงที่ร่วงอยู่ในป่าอาจกลายเป็นเชื้อเพลิงอย่างดี  ชาวบ้านจึงเก็บมาทำประโยชน์

 

          6.เร่งกระบวนการแก้ไขปัญหาฝุ่นควันข้ามแดนเชิงรุกที่เกิดจากพื้นที่เกษตรอุตสาหกรรม (Trans-boundary Externality) ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่และสร้างฝุ่นควันให้กับภาคเหนือ การเกิดผลกระทบจากภายนอกข้ามพรมแดนส่งผลต่อระดับคุณภาพอากาศของจังหวัดที่มีชายแดนต่อกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างชัดเจน เสนอให้เกิดกระบวนการส่งเสริมการประสาน งานระหว่างประชาชนกับประชาชน  ควบคู่การเจรจาระหว่างหน่วยงานรัฐ  ส่งเสริมโครงการการเปลี่ยนอาชีพและรับซื้อผลผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในพื้นที่พรมแดนตลอดถึงสินค้าข้ามแดน และพิจารณาเตรียมศึกษาและนำมาตรการกีดกันทางการค้าและการลงทุนที่กระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมเป็นมาตรการเชิงรุกเพิ่มเติม

          7.ส่งเสริมสิทธิทางกฎหมายสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนและชุมชน เนื่องจากการได้รับอากาศที่สะอาดเป็นสิทธิพื้นฐานที่ประชาชนพึงจะได้รับจากการปกป้องของภาครัฐที่จะสามารถบริหารจัดการได้ หลักการข้อนี้เป็นหลักพื้นฐานที่รัฐควรส่งเสริมให้เกิดการรับรู้อย่างกว้างขวางและเกิดสภาพปฏิบัติจริงในทุกระดับ โดยให้มีการประกาศหลักปฏิบัติของหน่วยงานรัฐ  เพื่อรับรองสิทธิในอากาศสะอาดของประชาชนเกิดขึ้นและใช้ปฏิบัติจริง

          8.เสนอให้รณรงค์ความรู้ความเข้าใจแก่ชุมชนเป้าหมายตลอดทั้งปี  ใช้ข้อมูลด้านสุขภาพต่อคนในชุมชน  โดยเฉพาะผลกระทบด้านการพัฒนาการของเด็กเล็ก ให้มีมาตรการเชิงรุกตั้งแต่ต้นปีก่อนฤดูฝุ่นควันไฟ  ให้มีการตั้งห้องปลอดภัยติดตั้งเครื่องฟอกอากาศ  และแจกจ่ายหน้ากากกันฝุ่น PM 2.5 ให้ครอบคลุมทุกหมู่บ้าน ศูนย์เด็กเล็ก  และมีมาตรการช่วยเหลือกลุ่มเสี่ยง ผู้สูงอายุ  ผู้ป่วยติดเตียง  เพื่อให้กลุ่มเสี่ยงเหล่านี้ปลอดภัยจากฝุ่นควันเกินมาตรฐานครอบคลุมทุกพื้นที่ภาคเหนือที่มีค่ามลพิษเกินมาตรฐาน รวมถึงแนวทางหยุดเรียนหรือหยุดงานกลางแจ้งกรณีค่าฝุ่นควันเกินมาตรฐาน ให้เป็นข้อปฏิบัติอย่างครอบคลุม

 

ตัวอย่างการนำใบตองตึงมาอัดขึ้นรูปเป็นจานชามขาย  ช่วยลดเชื้อเพลิงในป่า  และสร้างรายได้ให้ชาวบ้าน

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"