9 ก.ค. 2564 นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ ได้จัดทำแผนตามยุทธศาสตร์ “ตลาดนำการผลิต” ตามที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้สั่งการให้เร่งดำเนินการเพิ่มเติม โดยได้วางแผนในการส่งเสริมและผลักดันการส่งออกสินค้าที่ตอบโจทย์เมกะเทรนด์ของโลกในหลายด้าน ทั้งเรื่องการปกป้องสิ่งแวดล้อม ความต้องการสินค้าอาหารที่มีคุณภาพสูง อาหารฮาลาลสำหรับผู้บริโภคชาวมุสลิม และสินค้าที่มีแนวโน้มเติบโตสูง หลังจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจากผลกระทบจากโควิด-19
สำหรับสินค้าที่กรมฯ ประเมินว่า กำลังเป็นแนวโน้มใหม่ของโลก และเป็นเทรนด์ที่จะเป็นที่นิยมเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก ได้แก่ สินค้าไลฟ์สไตล์ ที่พัฒนามาจากของเหลือใช้ 2 รูปแบบ คือ ผลผลิตเหลือใช้ทางการเกษตร และขยะคุณภาพดีจากแหล่งอุตสาหกรรม ที่นำมาแปรรูปและออกแบบเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่เชิงสร้างสรรค์ สินค้าในกลุ่มอาหารแปรรูป เกษตรแปรรูป และสินค้าที่ไม่ใช่อาหาร ที่ได้รับการพัฒนาด้านบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (circular packaging) เพื่อตอบโจทย์นโยบาย BCG โดยกรมฯ มีแผนที่จะดำเนินการพัฒนาและส่งเสริมด้านการตลาด ผ่านการประชาสัมพันธ์ เพื่อสร้างการรับรู้และสร้างภาพลักษณ์สินค้า BCG ของไทยในตลาดต่างประเทศเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ ยังมีอาหารอนาคต (future food) ที่ประกอบด้วย 4 กลุ่มหลัก คือ 1.อาหารฟังก์ชั่น (functional food) 2.อาหารนวัตกรรมใหม่ (novel food) 3.อาหารทางการแพทย์ (medical food) และ 4.อาหารอินทรีย์ (organic food) ที่ตอบสนองพฤติกรรมผู้บริโภคในด้านต่างๆ อาทิ การเพิ่มภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย เพื่อโภชนาการเฉพาะบุคคล เพื่อสุขภาพจิตที่ดี เพื่อโภชนาการรูปแบบใหม่ที่ไม่บริโภคอาหารที่มาจากเนื้อสัตว์ (Plant-based) และอาหารผู้สูงอายุ เป็นต้น โดยมีตลาดส่งออกหลัก เช่น สหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย ส่วนอาหารมังสวิรัติ มีตลาดเป้าหมาย คือ อินเดีย
ขณะที่สินค้าฮาลาล มีเป้าหมายจะเร่งส่งเสริมและผลักดันการ่สงออกสินค้าในกลุ่มอาหาร แฟชั่นและเครื่องนุ่งห่ม เครื่องสำอาง โดยมีตลาดเป้าหมายในกลุ่มประเทศมุสลิม เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย ซาอุดิอาระเบีย อียิปต์ UAE เป็นต้น และตลาดในประเทศที่ไม่ใช่มุสลิม แต่มีชาวมุสลิมอาศัยอยู่มาก เช่น อินเดีย จีน รัสเซีย เป็นต้น รวมทั้งจะเร่งผลักดันการส่งออกสินค้าในกลุ่มสมุนไพร เครื่องสำอาง ที่มีแนวโน้มเติบโตดี โดยมีตลาดเป้าหมาย ได้แก่ จีน เวียดนาม รัสเซีย
ส่วนสินค้ากลุ่มอื่นๆ จะเน้นสินค้าที่มีความต้องการเพิ่มขึ้น ในช่วงที่ตลาดโลกฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด-19 ได้แก่ ชิ้นส่วนอุปกรณ์และส่วนประกอบยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า อัญมณีและเครื่องประดับ วัสดุก่อสร้าง เครื่องจักรกลการเกษตร สิ่งทอ ผลิตภัณฑ์ยาง และ ธุรกิจบริการมูลค่าสูง ได้แก่ ดิจิทัลคอนเทนต์ เช่น ภาพยนตร์ เกมส์ แอนิเมชันคาแรคเตอร์ และธุรกิจบริการเพื่อสุขภาพ
อย่างไรก็ตาม กลุ่มสินค้าเดิมที่มีความต้องการเพิ่มสูงขึ้นในช่วงสถานการณ์โควิด-19 จำนวน 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ 1.สินค้าเกษตร และอุตสาหกรรมการเกษตร โดยเฉพาะอาหาร ทั้งอาหารคน และอาหารสัตว์เลี้ยง 2.สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน และ 3.สินค้าที่เกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อ และสินค้าเพื่อสุขภาพและอนามัย กรมฯ ยังจะเดินหน้าผลักดัน และจัดกิจกรรมส่งเสริมการส่งออกอย่างต่อเนื่อง เพราะสินค้าเหล่านี้ ยังคงเป็นที่ต้องการ
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |