ปิดพื้นที่เสี่ยง6จังหวัด อย่างน้อย14วันจำกัดการเดินทางเวิร์กฟรอมโฮม100%


เพิ่มเพื่อน    

“ประยุทธ์” รับไม่สบายใจตัวเลขผู้ติดเชื้อพุ่งปรี๊ด นัด ศบค.ชุดใหญ่ 9 ก.ค. เวลา 10 โมงเช้า หวังคนในชาติร่วมแรงร่วมใจฝ่าวิกฤติ “หมอเบิร์ท” แจงตัวเลขดับเบิลนิวไฮอีกรอบ ติดเชื้อใหม่ 7,058 ราย และเสียชีวิต 75 ราย รับตัวเลขอาจพุ่งกว่านี้เพราะผุดจุดตรวจเชื้อเพิ่มเติม แสลงคำ “ล็อกดาวน์” บอกสาธารณสุขแค่เสนอปรับมาตรการ “สธ.”แจงชง 5 ข้อคุมโควิด-19 โดยเฉพาะการยกระดับมาตรการสังคมที่มีทั้งห้ามเดินทางข้ามจังหวัด กำหนดเวลาปิด-เปิดห้างและร้านค้า และให้ออกจากบ้านเท่าที่จำเป็นแค่หาอาหารหรือไปหาหมอ 
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 8 กรกฎาคม เวลา 16.17 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม โพสต์เฟซบุ๊ก “ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut-chan-o-cha” ระบุว่า ได้ติดตามสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 อย่างต่อเนื่องด้วยความไม่สบายใจ และรับรายงานจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อประเมินสถานการณ์และความจำเป็นในการใช้แผนเผชิญเหตุ เพื่อกำหนดมาตรการการควบคุมโรคที่ต้องเกิดขึ้น และส่งผลกระทบต่อพี่น้องประชาชนเป็นจำนวนมาก แต่หากไม่ดำเนินการอาจส่งผลกระทบให้เกิดความรุนแรงมากกว่านี้ ซึ่งเราอาจจำเป็นต้องกำหนดมาตรการเข้มงวดมากยิ่งขึ้นในการจำกัดการเคลื่อนย้าย การป้องกันมิให้มีการรวมกลุ่มทำกิจกรรม การปิดสถานที่เพิ่มเติม และมาตรการอื่นๆ ที่จำเป็น โดยในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ได้เรียกประชุม ศบค.ชุดใหญ่ในเช้าวันที่ 9 ก.ค. เพื่อพิจารณามาตรการที่ฝ่ายต่างๆ ได้เสนอเข้ามา และจะแจ้งผลการพิจารณาให้ทราบโดยทันที
“ผมขอความร่วมมือจากพี่น้องประชาชนทุกคน ช่วยกันดูแล ป้องกันตัวเอง ครอบครัว สังคม ประเทศชาติไปด้วยกัน ไม่มีใครหรือประเทศใด ที่สามารถแก้ไขปัญหาโควิดได้สำเร็จโดยคนเพียงคนเดียว หรือหน่วยงานเดียว ในยามที่เปรียบเสมือนการทำสงครามกับเชื้อไวรัสในครั้งนี้ สิ่งที่จะทำให้เราชนะได้คือความสามัคคีของคนในชาติ ความมีวินัย ความอดทน การร่วมแรงร่วมใจ ช่วยเหลือกันของคนในชาติ และอีกสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งคือความมีสติในการรับข่าวสารในยามวิกฤติ ที่มีผู้ไม่หวังดีสร้างข้อมูลเท็จที่มุ่งร้ายให้เกิดเข้าใจผิดและสับสนวุ่นวายในสังคมอย่างมากมาย ซึ่งต้องมีการดำเนินการตามกฎหมายอย่างเด็ดขาด รวมถึงผู้ที่ฝ่าฝืนมาตรการของรัฐที่ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อผู้อื่นด้วย ผมขอให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ด่านหน้าทุกคนที่ทำงานอย่างเสียสละ และขอสัญญาว่าจะดูแลทุกคนอย่างดีที่สุด ผมและรัฐบาลจะดำเนินการอย่างเต็มที่เพื่อควบคุมสถานการณ์ให้ได้โดยเร็วที่สุดครับ” พล.อ.ประยุทธ์โพสต์ไว้
    ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า ในการประชุม ศปก.ศบค. ที่มี พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาฯ สมช. เป็นประธาน ได้สรุปสถานการณ์โควิด-19 และรับข้อเสนอจากกระทรวงสาธารณสุข เพื่อเสนอต่อที่ประชุม ศบค.ในวันที่ 9 กรกฎาคม ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะ ผอ.ศบค. เป็นประธาน โดยเบื้องต้นข้อกำหนดใหม่ที่จะออกมานี้ จะมีผลเฉพาะสำหรับพื้นที่เสี่ยงคือ กทม.และปริมณฑล รวม 6 จังหวัด เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 2 สัปดาห์ หรือ 14 วัน ทั้งการจำกัดการเดินทางออกจากบ้านและไปในสถานที่เสี่ยง โดยลดการเคลื่อนที่ของประชาชน โดยขอให้เวิร์กฟรอมโฮม 100 % ยกเว้นงานบริการที่จำเป็น และงานที่เกี่ยวข้องกับสาธารณูปโภค ขอให้ประชาชนงดการเดินทางโดยไม่จำเป็น ยกเว้นซื้ออาหาร ไปโรงพยาบาล และฉีดวัคซีน
    “มาตรการทั้งหมดจะให้ ศบค.ชุดใหญ่ วันที่ 9 ก.ค. พิจารณาเป็นมติออกมา แต่ยังไม่มีผลบังคับใช้ทันที โดยจะให้เวลาเพื่อการเตรียมตัว ซึ่งขณะนี้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ อยู่ระหว่างการร่างข้อกำหนดใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์และพื้นที่ โดยมาตรการและข้อกำหนดที่จะออกมาจะคล้ายกับเมื่อเดือน เม.ย.2563 โดยในส่วนของห้างสรรพสินค้าจะอนุญาตให้เปิดได้เฉพาะส่วนซูเปอร์มาร์เก็ต แผนกขายยา แผนกอาหาร แผนกสินค้าเบ็ดเตล็ดเช่นเดิม ร้านสะดวกซื้อจะมีกำหนดเวลาเปิด-ปิด พร้อมขอความร่วมมือประชาชนในพื้นที่เสี่ยง 6 จังหวัดไม่ออกนอกเคหสถานตามเวลาที่กำหนด ซึ่งจะเป็นช่วงเวลา 22.00-04.00 น. โดยเน้นเฉพาะพื้นที่ 6 จว.เท่านั้น เว้นแต่มีความจำเป็น แต่จะไม่ประกาศเป็นเคอร์ฟิว รวมทั้งการกำหนดให้สวมหน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้าเพื่อป้องกันการแพร่โรคเมื่ออยู่นอกเคหสถานหรืออยู่ในที่สาธารณะ”
    ล่าสุด ในส่วนของทำเนียบรัฐบาล สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีขอความร่วมมือช่างภาพสื่อมวลชน งดเข้าปฏิบัติภารกิจที่ทำเนียบรัฐบาล เบื้องต้นเป็นเวลา 14 วัน โดยสำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี จะเป็นผู้เผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ข่าวสารต่างๆ ผ่านทางเว็บไซต์ ออนไลน์และสื่อต่างๆ ของทำเนียบรัฐบาล ในขณะที่ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ยังคงทำงานอยู่ที่บ้าน ยกเว้นผู้ที่มีความจำเป็นเท่านั้น
    สำหรับบรรยากาศที่ทำเนียบรัฐบาลค่อนข้างเงียบเหงา เนื่องจากมีมาตรการเข้มข้นในการป้องกันโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง โดยข้าราชการและเจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่ยังคงเวิร์กฟรอมโฮม ขณะเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ก็อยู่ระหว่างการกักตัวเป็นวันที่ 3 หลังใกล้ชิดผู้ติดเชื้อระหว่างร่วมงานภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ เมื่อวันที่ 1 ก.ค. และล่าสุดพบเจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาล ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ประจำประตู 5 ตรงข้ามกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเป็นช่องทางเข้า-ออกหลักสำหรับผู้ที่เข้ามาติดต่อราชการ ติดเชื้อโควิด-19 อีก 1 คน แต่ได้เข้ารักษาตามขั้นตอนแล้ว
    ด้านนายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 ของทำเนียบฯ ว่าปัจจุบันได้ใช้มาตรการอย่างเข้มข้นตามมาตรฐานสากลและกระทรวงสาธารณสุขอยู่แล้ว โดยข้าราชการส่วนใหญ่ขณะนี้ก็ทำงานที่บ้าน ทุกคนและทุกหน่วยงานในสังกัด สามารถปรับตัวทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตามดำริของนายกฯ และผู้บังคับบัญชาระดับสูง ที่ได้สั่งให้ดูแลผู้ปฏิบัติงานอย่างดี มีการตรวจหาเชื้อต่อเนื่อง รวมทั้งจัดให้ฉีดวัคซีนตามกำหนด จึงไม่จำเป็นต้องปรับมาตรการเพิ่มเติม 
ดับเบิลนิวไฮอีกรอบ!
    ทั้งนี้ เมื่อเวลา 12.30 น. พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษก ศบค.แถลงสถานการณ์โควิด-19 ประจำวันว่า มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 7,058 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 6,981 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 5,249 ราย มาจากการค้นหาเชิงรุกในชุมชน 1,732 ราย จากเรือนจำและที่ต้องขัง 68 ราย และเป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 9 ราย ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 308,230 ราย ผู้หายป่วยเพิ่ม 4,978 ราย หายป่วยสะสม 236,149  ราย อยู่ระหว่างการรักษา 69,619 ราย อาการหนัก 2,564 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 698 ราย มีรายงานผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม 75 ราย ถือเป็นตัวเลขที่สูงที่สุด โดยเป็นชาย 39 ราย หญิง 36  ราย อยู่ใน กทม. 38 ราย, สมุทรปราการ 9 ราย, นราธิวาส และปทุมธานี จังหวัดละ  4 ราย, นครปฐมและยะลา จังหวัดละ 3 ราย, ชัยภูมิ, สงขลา และอุทัยธานีจังหวัดละ 2 ราย, ฉะเชิงเทรา, สระบุรี, นครราชสีมา, บุรีรัมย์, ปัตตานี, สมุทรสงคราม, สุพรรณบุรี และพระนครศรีอยุธยา จังหวัดละ 1 ราย ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตสะสม 2,462 ราย 
    พญ.อภิสมัยกล่าวต่อว่า 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด ได้แก่ กทม. 2,212 ราย, สมุทรปราการ 565 ราย, สมุทรสาคร 517 ราย, ชลบุรี 290 ราย, ปทุมธานี 229 ราย, สงขลา 213 ราย, นนทบุรี 180 ราย, ปัตตานี 175 ราย, ประจวบคีรีขันธ์ 150 ราย และยะลา 146 ราย ขณะที่ในพื้นที่ กทม.มีคลัสเตอร์ที่ต้องเฝ้าระวัง 121 คลัสเตอร์ ทำให้ประชาชนอาจเป็นห่วงเรื่องการติดเชื้อ ศบค.ไม่นิ่งนอนใจได้เร่งเปิดจุดตรวจหาเชื้อเพิ่มเติม โดยมีการเปิดที่สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง จะเริ่มตรวจได้ในวันที่ 9 ก.ค. ขณะที่วันที่ 12 ก.ค. จะเปิดอีก 2 จุดคือ สนามกีฬาธูปะเตมีย์ และสนามกีฬาหัวหมาก หากพบผู้ติดเชื้อจะนำเข้ากระบวนการรักษา แต่หากไม่ติดเชื้อเร่งระดมฉีดวัคซีนให้มากขึ้น และนอกจากเปิดศูนย์ตรวจหาเชื้อแบบวอล์กอินที่กล่าวมาแล้วจะเปิดเพิ่มเติมให้ได้ 6 จุด ตามกลุ่มเขตทั่ว กทม.ด้วย ขณะที่มาตรการตรวจเชิงรุกในชุมชนก็ยังมีอยู่ ส่วนแล็บตรวจของเอกชนที่ผ่านมาตรฐานก็จะเปิดให้ตรวจด้วยเช่นกัน ซึ่งต้องยอมรับว่าเมื่อเปิดจุดตรวจมากขึ้น เราก็ต้องพบผู้ติดเชื้อมากขึ้น  
    “ที่ประชุม ศปก.ศบค.ยังได้เร่งรัดมาตรการระบบแยกกักตัวรักษาอยู่บ้าน และศูนย์พักคอยในชุมชนเพื่อรอส่งเข้ารักษา โดยการกักตัวที่บ้านนั้น ขณะนี้มีการดำเนินการบ้างแล้ว ซึ่ง 1-2 วันจะเข้าสู่ระบบอย่างจริงจัง ขณะที่ศูนย์พักคอยนั้นจะดำเนินการโดยศูนย์บริการสาธารณสุข (ศบส.) ร่วมกับคลินิกอบอุ่นรวมกว่า 200 แห่ง เพื่อต้องการให้ผู้ป่วยเข้าสู่ระบบโดยเร็วที่สุด” พญ.อภิสมัยกล่าว และว่า ที่ประชุม ศปก.ศบค.ยังหารือถึงกรณีแคมป์คนงานก่อสร้างที่ปิดอยู่ ว่าหากมีตัวเลขที่ลดลงอาจมีมาตรการผ่อนคลาย แต่ต้องระดมฉีดวัคซีน โดย ศปก.ศบค.จะประสานขอรับการสนับสนุนการฉีดวัคซีนในพื้นที่ กทม.และปริมณฑลเพิ่มเติม ซึ่งทางกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) รับปากว่าจะจัดสรรวัคซีนให้ รวมถึงเพิ่มขีดความสามารถในจุดฉีดวัคซีนให้สามารถฉีดวัคซีนที่ได้รับมาในระยะเวลาที่เร็วขึ้นกว่าเดิม 
    พญ.อภิสมัยยอมรับว่า การที่มีผู้ป่วยจาก กทม.และปริมณฑลเดินทางข้ามพื้นที่ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้มีการกระจายเชื้อไปทั่วประเทศ ทำให้วันนี้มีรายงานการพบผู้ป่วยรายใหม่ในทุกจังหวัด และพบผู้ติดเชื้อที่มีประวัติการเดินทางจาก กทม.และปริมณฑล กระจายไปถึง 54 จังหวัด และยังเป็นห่วงว่าผู้กลุ่มที่เดินทางกลับไปจังหวัดสีเหลืองที่ร้านอาหารยังเปิดอยู่ อาจมีการสังสรรค์พบปะเพื่อนฝูง ดื่มแอลกอฮอล์ ทำให้มีผู้ติดเชื้อในจังหวัดต่างๆ เพิ่มขึ้น เช่น จังหวัดภาคอีสานจากเดิมมีกว่า 100 ราย แต่วันนี้สูงถึง 841 ราย ดังนั้นขอว่าใครที่เดินทางกลับจากพื้นที่สีแดงขอให้กักตัว 100% 
แสลงใช้คำ “ล็อกดาวน์”
     พญ.อภิสมัยกล่าวว่า ที่ประชุม ศบค.ชุดเล็กพูดคุยกันถึงมาตรการทางสังคมที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน (อีโอซี) สธ.นำหารือด้วยความเป็นห่วงถึงสถานการณ์ผู้ติดเชื้อที่เพิ่มจำนวนขึ้น และผู้เสียชีวิตสูงขึ้น ซึ่งหากไม่นับตัวเลขผู้ติดเชื้อจากเรือนจำก็ยังถือว่าสูง และไม่จำกัดอยู่ในวงแคมป์คนงานหรือแรงงานต่างด้าว แต่อยู่ในลักษณะชุมชน สถานประกอบการ และผู้ติดเชื้อเป็นคนไทยปริมาณสูงมาก ทาง สธ.จึงได้นำเรียนเสนอให้ปรับมาตรการทั้งมาตรการด้านสาธารณสุข มาตรการสังคม เสนอ ศปก.ศบค. ในการประชุมเช้าวันที่ 8 ก.ค. โดยจะปรับให้เข้มข้นมากขึ้น โดยมีหลักการให้จำกัดการเดินทางออกนอกพื้นที่ โดยเฉพาะห้ามการเคลื่อนย้ายระหว่างจังหวัด ในที่ประชุมหารือไปยังกระทรวงมหาดไทย, กระทรวงกลาโหม และศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง (ศปม.) เพื่อตั้งจุดตรวจลดการเคลื่อนย้ายข้ามพื้นที่, เสนอให้ปรับมาตรการเวิร์กฟรอมโฮมทั้งภาครัฐภาคเอกชนให้สูงสุด, เสนอให้ภาคประชาชนให้ความร่วมมือในการเปิด-ปิดกิจการ เพื่อลดการเคลื่อนย้ายการเดินทางออกนอกพื้นที่ โดยสถานที่ที่พูดถึงจะมีลักษณะทั้งห้างสรรพสินค้า กิจการประเภทเดียวกัน ร้านสะดวกซื้อ ร้านข้าวต้มรอบดึก และตลาด ซึ่งจะหารือกันเพื่อกำหนดเวลาปิดกิจการ เพื่อลดการที่ประชาชนจะเดินทางออกจากบ้าน  
    “ยังมีการหารือถึงเรื่องการขนส่งสาธารณะเพื่อเมื่อลดการเคลื่อนย้ายของบุคคลของประชาชนลงแล้วก็ต้องมีการปรับเวลาการให้บริการขนส่งสาธารณะให้สอดคล้องกับมาตรการที่สาธารณสุขเสนอ โดยที่ประชุมได้มีความเป็นห่วงด้วยว่าการลดเวลาต่างๆ การปรับมาตรการต่างๆ ก็ต้องคำนึงถึงการคงไว้ซึ่งความจำเป็น เช่น สาธารณูปโภค อาหาร และซูเปอร์มาร์เก็ต ที่อาจจำเป็นต้องเปิด หรือตลาด ร้านขายเครื่องมืออุปกรณ์ช่าง เพราะหากมีการจำกัดเวลาแล้วเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้นมา ซึ่งขอย้ำว่านี่คือมาตรการที่ สธ.หารือกันและนำเสนอ ศบค.ชุดเล็ก แต่ต้องนำเสนอไปยัง ศบค.ชุดใหญ่ที่จะประชุมกันในวันที่ 9 ก.ค.นี้ ในเวลา 10.00 น. ดังนั้น ข้อเสนอของ สธ.วันนี้ยังไม่มีผล ต้องรอให้ ศบค.ชุดใหญ่พิจารณาและอาจปรับรายละเอียดให้สอดคล้องต่อสถานการณ์” 
    เมื่อถามถึงกรณีที่มีกระแสข่าวว่า สธ.เสนอให้ล็อกดาวน์ 14 วันเริ่มศุกร์ 9 ก.ค.นี้ จริงหรือไม่ พญ.อภิสมัยกล่าวว่า ในที่ประชุมไม่มีคำว่าล็อกดาวน์ สิ่งที่ สธ.เสนอคือการปรับมาตรการ โดยมีรายละเอียดว่ากิจการ กิจกรรมใดมีการปรับระยะเวลาเปิดปิดอย่างไร พื้นที่ไหนจังหวัดใด แต่ยังไม่มีการสรุปออกมาเป็นข้อสรุป เพราะต้องนำเสนอต่อที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่อนุมัติในวันศุกร์ที่ 9 ก.ค.นี้ก่อน 
    “มาตรการที่จะเสนอที่จะเข้าที่ประชุมศบค.ใหญ่ ในวันที่ 9 ก.ค.นี้อาจมีข้อจำกัด ความติดขัดที่อาจทำให้ประชาชนหลายส่วนเกิดความไม่สะดวก คงต้องขออภัยมาในโอกาสนี้ด้วย ในยามนี้การปรับมาตรการให้เข้มข้นขึ้น อาจมีความจำเป็น และต้องขอขอบคุณทุกภาคส่วนทั้งสถานประกอบการและประชาชน ขอย้ำว่าเรา
มีความอดทนในวันนี้ แล้วที่สุดเราจะชนะไปด้วยกัน” พญ.อภิสมัยกล่าวทิ้งท้าย
เสนอ 5 มาตรการสกัดโควิด
    ขณะที่ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ. แถลงมาตรการควบคุมสถานการณ์โรคโควิด-19 ว่า สธ.ได้เสนอมาตรการเพื่อควบคุมสถานการณ์การระบาด 5 มาตรการ คือ 1.การตรวจหาเชื้อตามปกติใช้วิธี RT-PCR ซึ่งต้องใช้บุคลากรทางการแพทย์ ให้ใช้ Rapid Antigen Test หรือชุดทดสอบแบบรวดเร็ว โดยสถานพยาบาลดำเนินการได้ทันทีเมื่อมีความพร้อม และจะวางระบบรองรับเรื่องการตรวจด้วยตัวเองที่บ้านต่อไป 2.การดำเนินการแยกกักที่บ้านและชุมชน (Home Isolation & Community Isolation) ในผู้ป่วยโควิดกลุ่มไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อย จัดระบบสาธารณสุขดูแลติดตาม เพื่อลดปริมาณการใช้เตียง ให้คนที่มีความเสี่ยงหรือจำเป็นเข้าสู่โรงพยาบาลได้ต่อไป 3.มาตรการส่วนบุคคล โดยให้ Bubble and Seal ตัวเอง แยกรับประทานอาหารที่บ้านและที่ทำงาน 4.เร่งฉีดวัคซีนกลุ่มเสี่ยงผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปและ 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง โดยเน้นพื้นที่เสี่ยงใน กทม.และปริมณฑลจะเร่งฉีดให้ได้มากกว่า 1 ล้านโดสต่อสัปดาห์ ภายใน 1-2 สัปดาห์ และ 5.เสนอ ศบค.เพื่อยกระดับมาตรการทางสังคม ในการจำกัดห้ามเดินทางข้ามจังหวัด และปิดสถานที่เสี่ยงสถานที่รวมกลุ่มโดยไม่จำเป็น ยกเว้นตลาด ซูเปอร์มาร์เก็ต ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต ออกจากบ้านเท่าที่จำเป็น เช่น ไปซื้ออาหาร เดินทางไปโรงพยาบาล หรือไปฉีดวัคซีน เป็นต้น
“มาตรการนี้จะดำเนินการในพื้นที่เสี่ยงและพื้นที่กันชนอย่างน้อย 14 วัน เพื่อลดการระบาดใน กทม.และปริมณฑล ซึ่งจะเสนอ ศบค.เพื่อพิจารณามาตรการต่อไป เราเสนอไป ศบค.พื้นที่เสี่ยงและกันชน  เนื้อหาคือจำกัดการเดินทางและพื้นที่เสี่ยง  ซึ่งมาตรการจะเข้มข้นไม่น้อยกว่าล็อกดาวน์เมื่อ เม.ย.2563” ปลัด สธ.กล่าว
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การจำกัดการเดินทาง 14 วันเท่ากับระยะฟักตัวของโรค และตัวมาตรการนี้ยังเท่ากับ เม.ย.ปีที่แล้ว และยังมีฉีดวัคซีนเสริมเข้าไปด้วย 
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สธ. กล่าวถึงมาตรการควบคุมโควิด-19 ของ สธ.ว่า กระทรวงมีความกังวลตลอดเวลา และหาทางแก้ไขให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ ส่วนจะใช้คำว่าล็อกดาวน์หรือไม่ต้องรอให้มติที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ในวันที่ 9 ก.ค. เวลา 10.00 น. เพื่อกำหนดบทบัญญัติรายละเอียด ก็ต้องรอดูว่าข้อเสนอของปลัด สธ.จะออกมาเป็นอย่างไร ต้องฟังหลายฝ่ายๆ อาจต้องฟังภาคเอกชนด้วย เพราะ ศบค.ได้เชิญภาคเอกชนเข้าร่วม
    “สธ.เสนอทุกอย่างตามหลักวิชาการทางการแพทย์ สถานการณ์แต่ละครั้งเอามาเทียบกันไม่ได้ ต้องใช้สถานการณ์ปัจจุบันที่สุด คราวนี้เลขาฯ สมช.ก็ให้สัมภาษณ์ว่า เรื่องจะเพิ่มมาตรการ ขอให้สธ.เสนอขึ้นไปที่ ศบค. ซึ่งวันนี้ปลัด สธ. ก็ทำมาตรการเสนอขึ้นไป แล้วก็ไปหารือร่วมกันใน ศบค.ชุดเล็ก และนำเสนอ ศบค.ชุดใหญ่”
ผู้ต้องขังติดเชื้อทรงตัว
    นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในเรือนจำและทัณฑสถานว่า ข้อมูล ณ วันที่ 7 ก.ค.2564 พบผู้ต้องขังติดเชื้อรายใหม่ 68 ราย รักษาหายเพิ่ม 129 ราย รวมมีผู้ต้องขังติดเชื้อที่ยังอยู่ในการดูแลของกรมราชทัณฑ์ 1,553 ราย ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต ส่วนสถานะของเรือนจำสีแดงและสีขาวยังคงที่ มีเรือนจำสีขาวที่ไม่พบการระบาด 122 แห่ง และเรือนจำสีแดงที่พบการระบาด 11 แห่ง และผู้ติดเชื้อรายใหม่ยังคงพบต่ำกว่า 100 รายต่อเนื่อง 
พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (รอง ผบช.น.) ในฐานะโฆษก บช.น. กล่าวถึงกรณีตรวจพบข้าราชการตำรวจ สน.พระราชวัง ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จำนวน 7 ราย และครอบครัวข้าราชการตำรวจติดเชื้ออีก 5 ราย ว่า พล.ต.ต.เมธี รักพันธุ์ ผบก.น.6 ได้สั่งการให้ข้าราชการตำรวจที่ได้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อกักตัว 37 ราย และได้กำหนดมาตรการในการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 ตามมาตรการควบคุมโรค สธ.แล้ว ยืนยันไม่ส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนของ สน.พระราชวัง แต่อย่างใด
ส่วน ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษกกรุงเทพมหานคร โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า การแพร่ระบาดที่มีการติดเชื้อกันในครอบครัวเพิ่มมากขึ้น โดยหลายๆ ครอบครัวเมื่อพ่อแม่ติดเชื้อแล้ว ลูกจะติดเชื้อตามไปด้วย ติดเชื้อไม่พร้อมกัน ทำให้ต้องแยกกันเข้ารักษาตัวใน รพ. โดยตั้งแต่ เม.ย.ถึงปัจจุบัน มีเด็กแรกเกิดถึงอายุ 15 ปี ติดเชื้อโควิดจำนวน 2,738 ราย และตอนนี้มีเด็กป่วยโควิดรอส่งต่อรักษาในโรงพยาบาลที่ต้องเร่งแยกกักตัวออกจากครอบครัวและชุมชนให้เร็วที่สุด กทม. จึงได้จัดตั้งศูนย์พักคอยสำหรับเด็กตั้งแต่อายุ 3-14 ปี ที่ศูนย์สร้างสุขทุกวัยเกียกกาย เขตดุสิต ใช้เป็นสถานที่ดูแลเด็ก ช่วยลดความเครียดของพ่อแม่ที่กังวลกลัวว่าจะไม่มีคนดูแลลูก ลดความกดดันของเด็กที่ต้องแยกกักตัวจากพ่อแม่ ซึ่งต้องขอบคุณทีมแพทย์วชิรพยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุข เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ที่ช่วยกันจัดตั้งศูนย์พักคอยดูแลเด็กที่ป่วยโควิด เพื่อให้เราฝ่าวิกฤตินี้ไปด้วยกัน.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"