ศาลฝรั่งเศสพิพากษาเมื่อวันพุธว่า จำเลย 11 รายมีความผิดจากการรังควานวัยรุ่นสาวคนหนึ่งทางออนไลน์ เหตุเพราะเธอถ่ายวิดีโอแสดงความเห็นต่อต้านอิสลาม ในคดีที่ก่อการโต้เถียงอย่างเผ็ดร้อนในฝรั่งเศสเกี่ยวกับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและสิทธิในการดูหมิ่นศาสนา
ภาพแคปเจอร์จากอินสตาแกรม
เอเอฟพีกล่าวว่า การดำเนินคดีนี้ยังเป็นส่วนหนึ่งของการตอบโต้กลับผ่านการพิจารณาคดีกับพวกโทรลที่ตามรังควานและพวกที่รังแกบุคคลอื่นทางออนไลน์ หลังจากเด็กสาวรายนี้ ซึ่งมีชื่อว่า มิลา ถูกบีบให้ต้องย้ายโรงเรียนหลายครั้งและต้องมีตำรวจคุ้มครองเนื่องจากถูกขู่เอาชีวิต
คดีที่ศาลฝรั่งเศสมีคำพิพากษาเมื่อวันพุธที่ 7 กรกฎาคม 2564 มีชนวนเหตุย้อนไปตั้งแต่ปีที่แล้ว ซึ่งมิลา นักเรียนมัธยมวัย 16 ปีและเป็นเลสเบียนอย่างเปิดเผย ถ่ายวิดีโอตอบโต้เด็กชายคนหนึ่งที่ดูถูกเธอเกี่ยวกับเพศสภาพของเธอ "ในนามของอัลลอฮ์" โดยในวิดีโอที่เธอเผยแพร่ทางอินสตาแกรมเมื่อเดือนมกราคมปีนั้น มิลากล่าวตอบโต้ด้วยถ้อยคำหยาบคาย และพาลดูหมิ่นถึงศาสนาอิสลามและอัลลอฮ์ซึ่งเป็นสิ่งมุสลิมไม่อาจยอมรับได้ และในเดือนพฤศจิกายน เธอยังลงวิดีโอตามมาอีกทางติ๊กต็อก
ถ้อยคำด่าทอดูหมิ่นอิสลามของเธอกลายเป็นประเด็นโต้แย้งอย่างดุเดือดและทำให้ชาวฝรั่งเศสแบ่งเป็นสองฝักสองฝ่าย ฝ่ายที่สนับสนุนเธอมองว่า เธอเป็นนักรบเพื่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นที่กล้าหาญ แต่ฝ่ายที่วิจารณ์กล่าวว่าเธอจงใจยั่วยุและเกลียดชังอิสลาม
ศาลในกรุงปารีสไต่สวนจำเลย 13 คน อายุระหว่าง 18-30 ปี ที่มาจากแคว้นต่างๆ ในข้อหาก่อกวนมิลา ซึ่งทนายความของเธอกล่าวว่า เธอได้รับข้อความคุกคามมากกว่า 100,000 ข้อความ อันรวมถึงคำขู่ฆ่า ในจำนวนนี้มี 11 รายที่ศาลตัดสินลงโทษโดยให้รอลงอาญา ซึ่งหมายความว่าพวกเขาจะไม่ถูกจำคุกเว้นแต่จะทำผิดในคดีอื่นอีก บางคนถูกสั่งให้จ่ายค่าเสียหาย 1,500 ยูโร (ราว 57,200 บาท) และค่าธรรมเนียมศาล 1,000 ยูโร (ราว 38,130 บาท)
ผู้พิพากษามิเกล อุมแบร์ กล่าวในคำตัดสินว่า โซเชียลเน็ตเวิร์กก็เหมือนท้องถนน เมื่อคุณเดินไปเจอใครบนท้องถนน คุณไม่ด่า ไม่ล้อเลียน หรือข่มขู่เขา สิ่งที่คุณไม่ทำบนท้องถนน คุณก็ต้องไม่ทำบนโซเชียลมีเดีย
จำเลยเกือบทั้งหมดไม่มีประวัติก่อคดี บางคนบอกว่าตอนพิมพ์ส่งข้อความนั้นไม่ได้คิดก่อน เพราะนึกว่าเป็นการด่าแบบไม่เผยตัวตน รายหนึ่งเป็นนักศึกษาวัย 21 ปีบอกว่าเบื่อกับการเห็นชื่อมิลาในฟีดข่าวไม่หยุดหย่อน อีกคนวัย 19 ปีบอกว่าโกรธเพราะเห็นว่าคำพูดของเธอเหยียดผิวและหมิ่นศาสนา
รายงานกล่าวว่า คดีของมิลาได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางในฝรั่งเศสเพราะเกี่ยวข้องกับประเด็นที่เป็นข้อขัดแย้งร้อนแรง ตั้งแต่การคุกคามทางไซเบอร์ ไปจนถึงสิทธิในการดูหมิ่นศาสนา และทัศนคติต่อชนกลุ่มน้อยทางศาสนาในฝรั่งเศส
ฝรั่งเศสมีกฎหมายต่อต้านประทุษวาจา (เฮตสปีช) ที่เข้มงวด โดยถือเป็นความผิดอาญาหากยั่วยุให้เกลียดชังกลุ่มคนใดโดยอิงจากความเชื่อทางศาสนาหรือเชื้อชาติของพวกเขา แต่กฎหมายนี้ไม่ได้ป้องกันการวิจารณ์หรือดูหมิ่นความเชื่อทางศาสนา
แม้แต่ประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง ยังปกป้องมิลาว่า กฎหมายเขียนไว้ชัดเจนว่า เรามีสิทธิที่จะดูหมิ่นศาสนา ที่จะวิจารณ์ และล้อเลียนศาสนา
คดีนี้ชวนให้ย้อนนึกถึงการตีพิมพ์ภาพล้อเลียนศาสดามุฮัมมัดในนิตยสารชาร์ลีเอบโด โดยอ้างเสรีภาพในการแสดงออก สำนักพิมพ์แห่งนี้โดนมือปืนอิสลามิสต์บุกโจมตีสังหารหมู่ทีมงานรวมถึงนักวาดการ์ตูนชื่อดังเมื่อปี 2557 นอกจากนี้เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว ครูซามูแอล ปาตี ที่สอนโรงเรียนมัธยม โดนฆ่าตัดศีรษะ เพราะนำภาพการ์ตูนนี้มาแสดงในชั้นเรียนเพื่อถกเถียงเกี่ยวกับเสรีภาพในการพูด แต่กลับตกเป็นเหยื่อการอาฆาตทางออนไลน์โดยผู้ปกครองของนักเรียนที่เป็นมุสลิม.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |