ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่ 13 ของพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ที่ต้องการเปลี่ยนบัตรเลือกตั้งเป็น 2 ใบ เริ่มต้นด้วยการถูกดูแคลนว่าไม่รอบคอบ และอาจจะไปต่อไม่ได้ หลังรัฐสภาให้ความเห็นชอบ โดยมี ส.ว.โหวตสนับสนุนมากถึง 210 เสียง และ ส.ส. 342 เสียง รวม 552 เสียง
เนื่องจากร่างของ ปชป.เสนอแก้ไขเพียง 2 มาตราคือ มาตรา 83 และ มาตรา 91 เพื่อให้มี ส.ส.เขตจำนวน 400 คน และบัญชีรายชื่อ จำนวน 100 คน
มีการมองว่าอาจจะขัดแย้งกับบทบัญญัติรัฐธรรมนูญมาตราอื่นๆ เช่น มาตรา 85 ที่บอกว่าผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนได้คนละหนึ่งคะแนน แต่ที่ขอแก้คือบัตรสองใบ หรือมาตรา 86 (1) และ (4) ที่กำหนดให้แบ่งเขตเลือกตั้งเป็น 350 เขต เป็นต้น
แตกต่างจากร่างของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และพรรคเพื่อไทย (พท.) ที่เสนอแก้ไขครอบคลุมทุกมาตราในระบบเลือกตั้งบัตร 2 ใบ แต่กลับถูกตีตกไปเพราะอำนาจวุฒิสภา ที่ต้องใช้เสียงเห็นชอบ 84 เสียง
แต่ปัญหาดังกล่าวอาจมีทางออก เมื่อ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมายของรัฐบาล ชี้ช่องว่า คณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พุทธศักราช... (แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 83 และมาตรา 91) มีเซียนทางด้านกฎหมาย อย่างนายบัญญัติ บรรทัดฐาน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ และนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พปชร. จะใช้เทคนิคกฎหมาย เพื่อไปแก้ไข และขยายให้ครอบคลุมมาตราอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องตามหลักการของร่าง ปชป.
ล่าสุด กมธ.ได้แต่งตั้งนายไพบูลย์นั่งประธาน จึงต้องจับตาดูว่า จะแก้ปัญหาดังกล่าวเพื่อให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับ ปชป. ผ่านฉลุยหรือไม่ หรือสุดท้าย มีสมาชิกรัฐสภาติดใจต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดก่อน
เบื้องต้นแนวทางที่จะแก้ปัญหาร่างของ ปชป.ที่เสนอแก้ไขเพียง 2 มาตรา โดยจะใช้ข้อบังคับการประชุมรัฐสภาปี 2563 ในหมวด 8 การเสนอและการพิจารณาร่าง รธน.แก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 124 วรรคท้าย ระบุว่า ... "การแปรญัตติเพิ่มมาตราขึ้นใหม่ หรือตัดทอน หรือแก้ไขมาตราเดิม ต้องไม่ขัดกับหลักการแห่งร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม เว้นแต่การแก้ไขเพิ่มเติมมาตราที่เกี่ยวเนื่องกับหลักการนั้น"
มีการประเมินว่าจะมี ส.ส.และ ส.ว. แปรญัตติด้วยการเสนอมาตรา อื่นๆ อาทิมาตรา 86, 90, 92, 93, 94 เพิ่มเติมขึ้นใหม่เข้าไป ขณะเดียวกัน กมธ.ยังสามารถปรับแก้ไขให้ตรงเป้าหมาย สอดคล้องกับหลักการแก้ไขบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ
"หลังจากนี้ กมธ.จะใช้เวลาทำงาน ประมาณ 1 เดือน และจะนำเสนอต่อที่ประชุมรัฐสภาให้พิจารณาในวาระ 2 ช่วงกลางเดือน ส.ค. ก่อนเว้นไว้ 15 วัน และ ลงมติวาระ 3 ในต้นเดือน ก.ย.นี้ และมีความมั่นใจว่า รัฐสภาจะให้ความเห็นชอบเสียงข้างมากในวาระ 3"
"โดยมี ส.ว.ให้ความเห็นชอบด้วยเกิน 84 เสียง เพราะรับหลักการตั้งแต่วาระแรกจำนวน 210 เสียง คงไม่คิดเปลี่ยนใจภายหลัง ส่วน ส.ส.รับหลักการวาระแรก 342 เสียง ขณะที่เสียงของฝ่ายค้าน ที่ต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 เสียง เชื่อว่าพรรคเพื่อไทยที่มี ส.ส.ประมาณ 134 เสียง จะมีผู้เห็นด้วยเห็นระบบเลือกตั้ง 2 ใบเกิน จำนวนที่ รธน.กำหนด"
"หลังจากมีการโปรดเกล้าฯ การแก้ไขรธน.เป็นที่เรียบร้อย จากนั้น กมธ.หรือ ระหว่างนี้อาจมีการเตรียมพร้อมในการแก้ไขกฎหมายลูกที่เกี่ยวกับระบบเลือกตั้งบัตร 2 ใบให้สอดคล้องต่อไป" แหล่งข่าวจากรัฐสภากล่าว
ส่วนประเด็นดังกล่าว จะมี ส.ส.และ ส.ว.ไม่เห็นด้วย และขอยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่
ซึ่งกฎหมายเปิดช่องให้ยื่นผ่านบทหลัก ที่ระบุไว้ในมาตรา 256 (9) แต่จะยื่นภายใต้กรณีตามมาตรา 256 (7) ขัดต่อมาตรา 255 หรือมีลักษณะตาม (8)
สอดคล้องกับคำอธิบาย "ความมุ่งหมายและคำอธิบายประกอบมาตราของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 โดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน ที่ระบุไว้ในเอกสารหน้า 459 -460 ระบุว่า
ต้องไม่กระทบต่อการเปลี่ยนแปลงระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ
หรือประเด็นที่การแก้ไขร่างของ ปชป.เกี่ยวกับบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ จะยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยนั้น ว่าต้องทำประชามติก่อนหรือไม่
มีเงื่อนไขดังนี้ เกี่ยวข้องกับการแก้ไขหมวด 1 และหมวด 2, เกี่ยวข้องกับคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ และเป็นเรื่องเกี่ยวกับหน้าที่หรือ อำนาจของศาล หรือองค์กรอิสระต่างๆ หรือเรื่องที่ทำให้ศาลหรือองค์กรอิสระไม่อาจปฏิบัติตามหน้าที่หรืออำนาจได้ หรือไม่
และที่สำคัญสุด ถ้าจะยื่นต้องใช้เสียง ส.ส.หรือ ส.ว.รวมกัน 1 ใน 10 ของสมาชิกรัฐสภา หรือประมาณ 74 เสียง เข้าชื่อเสนอต่อประธานรัฐสภา เพื่อส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญ เท่าที่ดู มีพรรคการเมืองที่ไม่ค่อยเห็นด้วยคือพรรคก้าวไกล ที่มี ส.ส. 53 เสียงเท่านั้น
ซึ่งต้องดูว่า หลังจากนี้จะมี ส.ส.จากพรรคการเมืองอื่น และ ส.ว.จะมีมุมมองข้อกฎหมายอื่นๆ ที่ยังสงสัยหรือไม่ ว่าร่างของ ปชป.ที่เสนอแก้ไข 2 มาตรา โดยใช้อาศัยข้อบังคับรัฐสภาข้อ 124 มาแก้ปัญหาว่าจะไม่ขัดรัฐธรรมนูญหรือกระทบอำนาจองค์กรอิสระหรือไม่
แต่สุดท้ายทุกอย่างผ่านฉลุย มีความเป็นไปอย่างที่ว่า พปชร., พท. และ ปชป. จะได้ประโยชน์จากระบบเลือกตั้งบัตร 2 ใบ ส่วนจะสมหวังหรือไม่... ประชาชนจะให้คำตอบ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |