วันที่ 7 ก.ค. นางเข็มเพชร เลนะพันธ์ รักษาการผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และผู้อำนวยการสำนักสร้างสรรค์โอกาส สสส. กล่าวว่า สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 สร้างผลกระทบโดยตรงกับประชาชนทั่วประเทศ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด พบจังหวัดทางภาคใต้ติดอันดับถึง 3 จังหวัด ได้แก่ สงขลา ปัตตานี และยะลา รวมผู้ป่วยสะสมกว่า 1 หมื่นคน ที่น่าห่วงคือ เศรษฐกิจในพื้นที่หยุดชะงัก ทำให้คนว่างงานจำนวนมาก ทั้งชาวไทยพุทธและไทยมุสลิม โดยเฉพาะในกลุ่มรับจ้างรายวันที่ถูกเลิกจ้างจากประเทศมาเลเซีย ทั้งทำงานโรงแรม โรงงาน ร้านค้า ที่ไม่มีเงินสำรองเลี้ยงชีพ ทำให้กระทบต่อรายได้และความเป็นอยู่ของครัวเรือน สสส. เห็นความสำคัญของปัญหาที่เกิดขึ้น ได้ริเริ่มโครงการฟื้นฟูคุณภาพชีวิต และพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เพื่อการสร้างเสริมสุขภาวะจังหวัดภาคใต้ มุ่งสร้างความมั่นคงทางอาหารในชุมชนลดภาระค่าใช้จ่าย บรรเทาผลกระทบของประชาชนจากการระบาดของโควิด-19 ระลอกที่สาม
นางเข็มเพชร กล่าวว่า โครงการฟื้นฟูคุณภาพชีวิต และพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เพื่อการสร้างเสริมสุขภาวะจังหวัดภาคใต้ ได้นำร่องใน 5 จังหวัด 15 พื้นที่ ได้แก่ สงขลา 3 พื้นที่ ปัตตานี 3 พื้นที่ ยะลา 3 พื้นที่ นราธิวาส 3 พื้นที่ และสตูล 3 พื้นที่ มุ่งสร้างความมั่นคงด้านอาหารที่ถือเป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิตสุขภาวะให้กับคนในชุมชน โดยมีทีมคนสร้างสุขภาคใต้เข้าไปเป็นพี่เลี้ยงสอนให้ชุมชนมีทักษะการทำเกษตร สร้างแหล่งผลิตอาหารด้วยตัวเองเพื่อลดรายจ่ายรายวัน รวมถึงสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้สามารถพึ่งพาตัวเองได้ ขณะนี้มีคนในชุมชนเข้าร่วมเป็นแกนนำในโครงการฯ แล้วทั้งสิ้นกว่า 300 คน โดยภายในปีนี้ตั้งเป้าหมายจะขยายพื้นที่เพื่อกระจายความมั่นคงด้านอาหารไปสู่ผู้ได้รับผลกระทบทั้ง 14 จังหวัดในภาคใต้
สอนทักษะทำเกษตรผสมผสานไม่ใช้สารเคมี สร้างแหล่งอาหารที่ปลอดภัยในภาคใต้
นายสุวิทย์ หมาดอะดำ ผู้จัดการโครงการฟื้นฟูคุณภาพชีวิต และพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เพื่อการสร้างเสริมสุขภาวะจังหวัดภาคใต้ สสส. กล่าวว่า ชุมชนภาคใต้ถือเป็นแหล่งผลิตอาหารที่หลากหลายเป็นทุนเดิม เพราะเป็นพื้นที่เพาะปลูก ทำสวน และเลี้ยงสัตว์หลายชนิด ทำให้คนในชุมชนมีจุดเด่นในเรื่องความเชี่ยวชาญด้านการเกษตรที่หลากหลาย โครงการฯ ของ สสส. เข้ามามีส่วนช่วยกระตุ้นให้คนในชุมชนตระหนักถึงความสำคัญและการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรในพื้นที่ โดยขั้นตอนการทำงานมีดังนี้ 1.ทีมพี่เลี้ยงร่วมกับแกนนำชุมชนจัดหาพื้นที่โล่งกว้างที่เหมาะสมจะใช้เป็นแหล่งผลิตอาหารสำหรับคนในพื้นที่ 2.อบรมและให้ความรู้การทำการเกษตรปลอดสารพิษ ทั้งการปลูกผัก ฟาร์มไก่ไข่ เลี้ยงปลา ให้สามารถสร้างเป็นอาชีพและรายได้ในระยะยาว และ 3.อบรมแกนนำทำหน้าที่คอยดูแล และพัฒนาแหล่งอาหารชุมชนเพื่อนำไปสู่การเป็นพื้นที่ต้นแบบศึกษาดูงานความมั่นคงด้านอาหารระดับจังหวัดต่อไป
“ ความสำเร็จของโครงการฯ มาจากความทุ่มเทแรงกาย แรงใจของคนในพื้นที่ ยิ่งไปกว่านั้น บางชุมชนปรับพื้นที่โรงเรียนให้กลายเป็นแหล่งอาหารของชุมชน เช่น ชุมชนในเทศบาลเมืองปาดังเบซาร์ 8 ชุมชน ปรับพื้นที่สถาบันปอเนาะอัรฉาดียะฮ์ ต.ปาดังเบซาร์ อ.สะเดา จ.สงขลา เนื้อที่กว่า 10 ไร่ เป็นแปลงผักเกษตรปลอดสารเคมี ฟาร์มเลี้ยงไก่ไข่ พร้อมจัดสร้างครัวกลางผลิตอาหารปลอดภัยสำหรับบริโภคในชุมชน โดยให้เด็กนักเรียน 30 คน ทำหน้าที่บริหารจัดการ ขณะเดียวกันภาพความสำเร็จยังเห็นได้จาก ชุมชนบ้านสันติ ต.สุคิริน อ.สุคิริน จ.นราธิวาส ที่มีผู้เข้าร่วมโครงการกว่า 30 ครัวเรือน ร่วมปลูกผักปลอดสารเคมี เลี้ยงปลา จนเกิดเป็นโมเดล “เกษตรสันติ พึ่งพาตนเอง” ยกระดับเป็นพื้นที่ศึกษาดูงานสำหรับชุมชนรอบข้าง ซึ่งนอกจากสร้างความมั่นคงทางอาหารในชุมชนและช่วยลดรายจ่ายแล้ว ยังถือเป็นการเสริมทักษะอาชีพทางการเกษตรรับความเสี่ยงช่วยให้อยู่รอดในทุกวิกฤต ผู้ที่สนใจสามารถสอบถามและติดตามได้ที่เฟซบุ๊กแฟนเพจ สร้างสุขภาคใต้” นายสุวิทย์ กล่าว