บรรยากาศของคลองบางลำพูดูสวยงาม สะอาดตา
บางลำพู ย่านการค้าและแหล่งชุมชนเก่าแก่ของกรุงเทพฯ ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักทั่วโลก ผู้คนหลากหลายวัฒนธรรมที่อาศัยอยู่ในพื้นที่นี้ยังคงสืบสานมรดกทางวัฒนธรรมที่สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น ย้อนอดีตไปเมื่อแรกย้ายราชธานีจากฝั่งธนบุรีมายังฝั่งบางกอก มีการระดมแรงงานชาวเขมรนับหมื่นคนขุดคลองครั้งมโหฬาร เพื่อขยายพื้นที่เขตพระนครให้กว้างขวางขึ้นตั้งแต่บริเวณแม่น้ำเจ้าพระยาตรงหน้าวัดสามปลื้ม ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 พระราชทานนามว่า "คลองรอบกรุง”
คูคลองรอบพระนคร หนึ่งในนั้น คือ คลองบางลำพูใช้เป็นเส้นทางสายใหม่ในการคมนาคม ราษฎรต่างเชื้อชาติศาสนาเข้ามาจับจองตั้งถิ่นฐาน เกิดชุมชนริมคลอง มีการค้าขายทางเรือแลกเปลี่ยนสินค้าอย่างคึกคัก โดยรอบตั้งแต่วัดชนะสงครามถึงกำแพงพระนครด้านคลองลำพู มีตลาดอยู่กลางย่าน เรียกว่า ตลาดบางลำพู อีกทั้งเป็นชุมชนของช่างฝีมือ อาทิ หมู่บ้านช่างทองเลื่องชื่อ
ภูมิทัศน์คลองบางลำพู คูเมืองคู่กรุงเทพฯ
ในสมัยรัชกาลที่ 5 เริ่มการค้าขายกับนานาชาติ มีการสร้างถนนหลายสาย มีรถรางรอบเมืองตั้งแต่ที่บางลำพู ถึงคลองผดุงกรุงเกษม บางลำพูยังเป็นย่านความบันเทิงทั้งดนตรีไทยบ้านดุริยประณีต ละครร้องแม่บุนนาค โรงลิเกหอมหวน โรงหนัง และมีถนนข้าวสารแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมยามค่ำคืนของกรุงเทพมหานคร เป็นเสน่ห์ดึงดูดนักท่องเที่ยวทั่วโลกให้มาเยือนซึมซับประวัติศาสตร์ย่านชุมชนเก่าของกรุงรัตนโกสินทร์แห่งนี้ ถ้าไม่เผชิญสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 พื้นที่แห่งนี้จะเป็นศูนย์กลางนักท่องเที่ยวจากทั่วสารทิศมาชมวิถีวัฒนธรรม ลิ้มลองเมนูคาวหวานต้นตำรับในย่านเก่า ทั้งถนนพระอาทิตย์ ต่อเนื่องไปถนนข้าวสาร
เนื่องด้วยย่านบางลำพูอยู่ใกล้เขตวังหลวง บริเวณโดยรอบจึงเป็นเขตที่พักอาศัยของ ข้าราชการบริพาร ข้าราชการ และช่างฝีมือหลากหลาย สาขา ซึ่งภูมิปัญญาและหัตถกรรมของ กลุ่มช่างฝืมือนี้ ได้รับการสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นจนกระทั่งปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่า ย่านบางลำพู ไล่เรียงไปถึงคลองบางลำพู จำเป็นต้องมีการปรับปรุงและพัฒนาเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวบ้านในพื้นที่ ตลอดจนยกระดับเป็นเส้นทางส่งเสริมท่องเที่ยววัฒนธรรมที่มีความสะอวด สวยงาม และเป็นเอกลักษณ์เชิดหน้าชูตาในคนกรุงเทพฯ
ลุยพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวในคลองบางลำพู ปลัด กทม.นำทีมสำรวจ
ความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ กรุงเทพมหานคร (กทม.) ประสานความร่วมมือกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม เนื่องจากคลองบางลำพูขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานไว้การพัฒนาคลองบางลำพูอย่างยั่งยืนจึงต้องเกิดขึ้นจากความร่วมมือของทุกภาคส่วน โดย ศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร ลงเรือตรวจความเรียบร้อยคลองบางลำพูตั้งแต่หัวคลองจนสุดท้ายคลอง พร้อมผู้บริหารสำนักการโยธา สำนักการระบายน้ำ สำนักการจราจรและขนส่ง ผู้บริหารเขตพระนคร และผู้ที่เกี่ยวข้อง ร่วมสำรวจเมื่อวานนี้
ศิลปะสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัดกทม. กล่าวว่า กรุงเทพมหานครมีแผนปรับปรุงภูมิทัศน์คลองบางลำพูเพื่อพัฒนาเป็นเส้นทางส่งเสริมการท่องเที่ยว ระยะทางประมาณ 1.5 กิโลเมตร จากการสำรวจ พบว่าในเส้นทางต้องทำการพัฒนาปรับปรุงหลายส่วน อาทิ ผนังเขื่อนและรั้วบางจุดชำรุด มีการตั้งวางสิ่งของริมคลองและมีสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำที่สาธารณะ การจัดระเบียบสายสื่อสารและต้นไม้ริมคลอง รวมทั้งการบำบัดน้ำเสียภายในคลอง จึงมอบหมายสำนักการโยธา สำรวจและออกแบบการปรับปรุงภูมิทัศน์ตลอดแนวคลองและก่อสร้างทางเดินริมคลองเพิ่มเติม
ผนังเขื่อนริมคลองที่ชำรุดต้องปรับปรุง
ด้านสำนักการระบายน้ำมีภารกิจปรับปรุงเขื่อน ผนังเขื่อน ราวกันตก และระบบบำบัดน้ำเสีย สำนักการจราจรและขนส่ง ศึกษาแนวทางการเดินเรือไฟฟ้าในคลอง สำนักงานเขตพระนครและเขตดุสิต ประสานทำความเข้าใจกับประชาชนขอความร่วมมือระเบียบต้นไม้ริมคลอง งดตั้งวางสิ่งและสิ่งปลูกสร้างที่รุกล้ำริมคลอง โดยให้หน่วยงานดังกล่าวร่วมหารือกันในการวางแผนการทำงาน
“ กทม. ประสานความร่วมมือกับกรมศิลปากรในการพัฒนาปรับปรุงคลอง และเร่งดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องทุกมิติ ถ้าการปรับปรุงภูมิทัศน์คลองบางลำพูแล้วเสร็จจะเป็นเส้นทางส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่ที่มีความสวยงาม สามารถส่งเสริมรายได้และกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชนริมคลอง โดยสามารถเดินทางเชื่อมต่อแหล่งท่องเที่ยว อาทิ พิพิธภัณฑ์บางลำพู สวนสันติชัยปราการ วัดเก่าแก่ในย่านลำพู ตลอดจนชุมชนในพื้นที่ “ ปลัด กทม. กล่าวทิ้งท้าย
การเที่ยวบางลำพูจะนั่งเรือล่องคลองเก่าคู่พระนครหรือเดินท่องเที่ยวก็ได้ดื่มด่ำกับวิถีวัฒนธรรมไทยก็น่าสนใจไม่น้อยกว่ากัน
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |