07 ก.ค.2564 - รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กถึงสถานการณ์โควิด-19 ว่าทั่วโลก 7 กรกฎาคม 2564 ทะลุ 185 ล้านไปแล้ว เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 417,924 คน รวมแล้วตอนนี้ 185,346,825 คน ตายเพิ่มอีก 7,596 คน ยอดตายรวม 4,008,260 คน 5 อันดับแรกที่มีจำนวนติดเชื้อต่อวันสูงสุด คือ บราซิล อินเดีย อินโดนีเซีย สหราชอาณาจักร และโคลอมเบีย อเมริกา เมื่อวานติดเชื้อเพิ่ม 8,368 คน รวม 34,616,076 คน ตายเพิ่ม 130 คน ยอดเสียชีวิตรวม 621,562 คน อัตราตาย 1.8%
อินเดีย ติดเพิ่ม 43,344 คน รวม 30,662,283 คน ตายเพิ่ม 909 คน ยอดเสียชีวิตรวม 404,219 คน อัตราตาย 1.3% บราซิล ติดเพิ่ม 62,504 คน รวม 18,855,015 คน ตายเพิ่มถึง 1,663 คน ยอดเสียชีวิตรวม 526,892 คน อัตราตาย 2.8% ฝรั่งเศส ติดเพิ่ม 3,585 คน ยอดรวม 5,790,584 คน ตายเพิ่ม 34 คน ยอดเสียชีวิตรวม 111,231 คน อัตราตาย 1.9% รัสเซีย ติดเพิ่ม 23,378 คน รวม 5,658,672 คน ตายเพิ่ม 737 คน ยอดเสียชีวิตรวม 139,316 คน อัตราตาย 2.5%
อันดับ 6-10 เป็น ตุรกี สหราชอาณาจักร อาร์เจนติน่า โคลอมเบีย และอิตาลี ติดกันหลักพันถึงหลายหมื่น
แถบอเมริกาใต้ แอฟริกา เอเชีย อย่างชิลี แซมเบีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ศรีลังกา บังคลาเทศ เนปาล ญี่ปุ่น เมียนมาร์ เวียดนาม และมาเลเซีย ติดกันเพิ่มหลักพัน มาเลเซียแม้จะล็อกดาวน์ไป แต่สถานการณ์ระบาดไม่ดีขึ้น ล่าสุดติดเพิ่มถึง 7,654 คน ตายถึง 103 คน ส่วนเมียนมาร์นั้นระบาดเร็วขึ้นมาก ล่าสุดติดเพิ่มถึง 3,602 คน ตายกว่าห้าสิบคน
แถบสแกนดิเนเวีย บอลติก และยูเรเชีย ก็มีการติดเชื้อเพิ่ม ส่วนใหญ่อยู่หลักร้อย ยกเว้นคาซักสถาน คีร์กีซสถาน จอร์เจีย และมองโกเลียที่ติดเพิ่มหลักพัน แถบตะวันออกกลาง ประเทศส่วนใหญ่ยังติดเพิ่มหลักร้อยถึงหลักพัน ในขณะที่อิหร่านหลักหมื่นอย่างต่อเนื่อง เกาหลีใต้ และกัมพูชา ติดเพิ่มหลักร้อย ส่วนจีน ไต้หวัน ลาว สิงคโปร์ และออสเตรเลีย ติดเพิ่มหลักสิบ ในขณะที่ฮ่องกงติดเพื่มต่ำกว่าสิบ
...วิเคราะห์สถานการณ์ระบาดของไทยเรา การระบาดยังเป็นระลอกสามอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เมษายนเป็นต้นมา ลักษณะการแพร่เชื้อนั้นมีจำนวนมากที่หาต้นตอที่มาได้ยาก เพราะมีการระบาดกระจายไปทั่วในชุมชน และเรื้อรังมานาน อันเป็นผลสืบเนื่องจากการไม่สามารถตัดวงจรการระบาดได้ตั้งแต่ระลอกสองเมื่อปลายปีที่ผ่านมา
ดังที่เคยเล่าให้ฟังไปหลายครั้งว่า ธรรมชาติของโรคระบาดนั้น จะมีระยะหลักๆ ดังนี้ ระยะที่ 1: พื้นที่หรือประเทศไม่มีคนติดเชื้อ แต่มีการนำพาเชื้อจากนอกพื้นที่/นอกประเทศเข้ามา ระยะที่ 2: เริ่มมีการติดเชื้อภายในพื้นที่ เพราะคนติดเชื้อจากนอกพื้นที่ได้แพร่ให้แก่คนในพื้นที่ ระยะที่ 3: คนในพื้นที่/ประเทศมีการติดเชื้อและแพร่ให้แก่กัน ถ้าเข้าใจหลักการข้างต้น เราจึงสามารถนำมาวิเคราะห์นโยบายและมาตรการต่างๆ ได้ว่าถูกต้องหรือเหมาะสมกับสถานการณ์หรือไม่
หากเป็นระยะที่ 1 มาตรการที่เหมาะสมย่อมเป็นการที่ต้องรีบปิดกั้นไม่ให้เกิดการนำพาเข้ามา ระยะที่ 2 ต้องรีบทำการป้องกันไม่ให้เกิดการสัมผัสกับผู้ติดเชื้อ ทั้งด้วยพฤติกรรมป้องกันตัวของกลุ่มที่เสี่ยงต่อการสัมผัส (personal protection) การมีระบบตรวจคัดกรองที่ดีและมีศักยภาพเพียงพอ เพื่อทำการตรวจและติดตามผู้ติดเชื้อเพื่อนำไปกักตัวและดูแลรักษา (early diagnosis, isolation, and early treatment) ในขณะที่ต้องเร่งหาผู้สัมผัสความเสี่ยงไปแยกสังเกตอาการ (quarantine)
ส่วนระยะที่ 3 พอมาถึงจุดที่เกิดการแพร่เชื้อกันระหว่างคนในพื้นที่หรือคนในประเทศแล้ว มักจะเกิดการแพร่วงกว้าง ยากต่อการจัดการ เพราะทุกๆ คนในพื้นที่ย่อมมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อและแพร่เชื้อได้ มาตรการที่ต้องทำจึงประกอบด้วยหลายอย่างที่ต้องทำอย่างเข้มข้นและทันเวลา ได้แก่ การทำให้ทุกคนอยู่กับที่เพื่อหยุดการพบปะติดต่อกัน (limit population mobility), การเร่งตรวจคัดกรองให้มาก ต่อเนื่อง และครอบคลุม (mass screening), การแยกคนที่สงสัยหรือสัมผัสความเสี่ยงเพื่อสังเกตอาการและตรวจ (quarantine), การนำผู้ติดเชื้อเข้าสู่ระบบการดูแลรักษา (isolation and treatment) นอกจากนี้หากมีอาวุธป้องกันอย่างวัคซีน ก็ต้องจัดหาวัคซีนที่ดีจริง ประสิทธิภาพสูง และปลอดภัย เข้ามาให้แก่ประชาชน โดยทุกมาตรการข้างต้นยังต้องมีนโยบายและมาตรการที่ต้องปิดกั้นไม่รับหรือไม่นำความเสี่ยงเพิ่มเข้ามาในพื้นที่ด้วย
เมื่อเข้าใจเช่นนี้ คงพอวิเคราะห์กันต่อได้ว่า ที่ผ่านมาตั้งแต่ปลายปี เราเจอการระบาดกระจายไปทั่ว หาต้นตอได้ยาก และมีการติดเชื้อจำนวนมากอย่างต่อเนื่องและทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เพราะเราเจอการระบาดตามธรรมชาติของโรคในระยะที่ 3 แต่นโยบายและมาตรการที่มีมานั้น ไม่ได้ตัดสินใจทำอย่างเพียงพอ ทั้งเรื่องการหยุดการพบปะติดต่อกัน ระบบการตรวจคัดกรองก็มีจำกัดจำเขี่ย ระบบดูแลรักษาก็มีจำกัดไม่เพียงพอต่อความต้องการ รวมถึงเรื่องวัคซีนที่มีปัญหาทั้งเรื่องปริมาณและประสิทธิภาพที่จำกัด และยังมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวทั้งๆ ที่สถานการณ์ระบาดยังรุนแรง ถือเป็นการเพิ่มความเสี่ยงโดยไม่เหมาะสม
ปัจจุบัน การระบาดของไทยเราจึงยังเป็นระลอกสามที่คุมไม่ได้ ดังที่เห็นจากกราฟการระบาดในแต่ละวัน จะเรียกระลอกสี่ได้นั้น ระลอกสามต้องกดลงมาให้ได้คงที่ระยะหนึ่งเสียก่อน แต่ที่เราเป็นมานั้นคือ สาหัสคงที่มาหลายเดือนและปะทุเป็นระยะ แบบ Table mountain with big volcanoes on top สิ่งที่ต้องระวังต่อจากนี้ หากศึกษาบทเรียนจากต่างประเทศ หนึ่ง การระบาดในสถานพยาบาลจะรุนแรงขึ้น จนอาจต้องมีการปิดวอร์ด ปิดโรงพยาบาล สอง จำนวนการเสียชีวิตจะสูงขึ้นมาก จะแตะหลักร้อย หากระบบมีเคสสะสมหลักหมื่นปลายๆ ถึงหลักแสน สาม การตัดสินใจล็อกดาวน์ในระยะระบาดรุนแรงมานานเช่นนี้ ให้เผื่อใจไว้ล่วงหน้าเลยว่า การล็อกดาวน์ระยะสั้นจะไม่ได้ผลอีกต่อไป แต่จะใช้เวลายาวนานขึ้นระดับหลักเดือนถึงหลายเดือน เพราะตัดสินใจช้าเกินไป เลยช่วงเวลาทองซึ่งมักต้องตัดไฟตั้งแต่ต้นลมภายใน 2-4 สัปดาห์แรกของการระบาด สี่ อาจเกิดผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชน เศรษฐกิจสังคม จะมีมากมายกว่าที่เคยเป็นมา เพราะแรงกายแรงใจและทรัพยากรร่อยหรอมาก ดังนั้นระบบสวัสดิการสังคมต้องวางแผนรับมือให้ดี และอาจต้องมีการปรับนโยบายการใช้จ่ายของประเทศ เน้นเรื่องการรัดเข็มขัด ห้า สำเร็จหรือล้มเหลว...ขึ้นกับศักยภาพของระบบการตรวจคัดกรองโรค ต้องทำได้มากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
สำหรับประชาชน เน้นย้ำว่า หน้ากากสำคัญมากที่สุด ...ใส่หน้ากากนะครับ สองชั้น ชั้นในเป็นหน้ากากอนามัย ชั้นนอกเป็นหน้ากากผ้า...นี่คือหัวใจ!!! ด้วยรักและห่วงใย
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |