ผอ.พอช.ชี้แจงกรณี ‘พีมูฟ’ ขอให้ชุมชนบ้านมั่นคงใช้น้ำ-ไฟฟรีเหมือนคลองลาดพร้าว ยืนยันทุกครัวเรือนต้องจ่ายตามมิเตอร์ที่ใช้จริงในแต่ละเดือน ไม่มีใครได้ใช้ฟรี


เพิ่มเพื่อน    

สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน/ ผอ.พอช. ชี้แจงกรณี พีมูฟ ขอให้ชุมชนบ้านมั่นคงใช้น้ำ-ไฟฟรีเหมือนคลองลาดพร้าว  ยืนยันทุกครัวเรือนต้องจ่ายค่าน้ำ-ไฟตามที่ใช้จริงในแต่ละเดือนตามมิเตอร์  ไม่ได้ใช้ฟรี  แต่ พอช.สนับสนุนงบประมาณด้านสาธารณูปโภค  เพื่อให้ชุมชนใช้จ่ายเป็นค่าติดตั้งระบบประปา         -ไฟฟ้า  ขณะที่ กปน.และ กฟน.ร่วมสนับสนุนโครงการบ้านประชารัฐริมคลอง  โดยลดค่าดำเนินการติดตั้งให้ชุมชนริมคลอง 50 %

 

กรณีข่าวที่นำเสนอโดยสำนักข่าวอิสราเมื่อวันที่ 4 มิถุนายนที่ผ่านมา   เกี่ยวกับการติดตามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาให้แก่กลุ่มพีมูฟ (p-move หรือขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม) ที่กระทรวงมหาดไทย  โดยนายจำนง หนูพันธ์ แกนนำกลุ่มพีมูฟ  กล่าวว่า  ตั้งแต่ครั้งที่พีมูฟมาชุมนุมที่กระทรวงมหาดไทย  เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคมที่ผ่านมา   ขณะนั้นได้มีการรับปากว่าจะแก้ไขปัญหาให้ภายใน 1 เดือน  ในวันนี้จึงมาติดตามความคืบหน้าในเรื่องการแก้ไขปัญหาที่ดินในรูปแบบของโฉนดชุมชน 58 ชุมชนทั่วประเทศ  อยากให้มีการนำร่องก่อนจำนวน 15 ชุมชน  เพื่อเร่งแก้ไขปัญหา

 

“ส่วนโครงการของรัฐที่เป็นส่วนต่อขยาย เช่น โครงการบ้านมั่นคง อยากให้รัฐบาลกำหนดออกมาเป็นนโยบายให้ทุกพื้นที่ที่เป็นส่วนต่อขยายในโครงการรัฐ จะต้องใช้น้ำประปา และไฟฟ้าฟรีทั้งหมด เหมือนกับชุมชนคลองลาดพร้าว ที่ต้องย้ายชุมชนไปอาศัยในโครงการบ้านมั่นคงของ พม.ก็ได้ใช้น้ำไฟฟรีทั้งหมด ซึ่งขณะนี้ยังมีอยู่อีกประมาณ 4 ชุมชนใน กทม.ดังนั้น จะสองมาตรฐานไม่ได้” นายจำนงค์กล่าวถึงข้อเรียกร้องการใช้น้ำประปาและไฟฟ้าฟรีสำหรับชุมชนที่เข้าร่วมโครงการบ้านมั่นคง

นายสมชาติ   ภาระสุวรรณ  ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)  กล่าวว่า  กรณีข้อเรียกร้องของกลุ่มพีมูฟนั้น  อาจมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองลาดพร้าว  และโครงการบ้านมั่นคง   สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ  จึงขอชี้แจงเท็จจริงดังนี้

 

                1.โครงการบ้านมั่นคงที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ หรือ พอช.สนับสนุน  เป็นการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยให้แก่ชาวชุมชนที่มีความเดือดร้อนในเรื่องที่อยู่อาศัย  เช่น  เป็นที่ดินเช่า  หรือบุกรุกที่ดินของรัฐหรือเอกชน  ไม่มีความมั่นคงในการอยู่อาศัย  โดยชุมชนที่เดือดร้อนจะต้องรวมตัวกันเพื่อแก้ไขปัญหา  เช่น   จัดตั้งคณะทำงาน  จัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อเป็นทุน   จัดตั้งสหกรณ์เคหสถานขึ้นมาบริหารงาน  โดย พอช.และหน่วยงานต่างๆ ร่วมสนับสนุน  เช่น  จัดหาที่ดินแปลงใหม่  โดยการเช่าหรือซื้อ  เพื่อปลูกสร้างบ้านใหม่ 

 

ทั้งนี้ พอช.จะสนับสนุนสินเชื่อเพื่อก่อสร้างบ้าน  ครัวเรือนหนึ่งไม่เกิน  300,000  บาท  ระยะเวลาผ่อนชำระภายใน 20 ปี   อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 บาทต่อปี   นอกจากนี้ พอช.จะสนับสนุนงบประมาณด้านสาธารณูปโภค  เช่น  การปรับถมพื้นที่  สร้างถนน   ไฟฟ้า  ประปา  ระบบบำบัดน้ำเสีย   ฯลฯ  กรณีที่ดินเดิม  ครัวเรือนละ 30,000 บาท   กรณีที่ดินใหม่  ครัวเรือนละ  50,000  บาท  โดย พอช.จะสนับสนุนงบประมาณผ่านสหกรณ์ฯ  เพื่อให้สหกรณ์นำไปดำเนินงานสร้างบ้านและสาธารณูปโภคต่างๆ

 

“พอช.ดำเนินโครงการบ้านมั่นคงมาตั้งแต่ปี 2546  ปัจจุบันดำเนินการแล้วทั่วประเทศ   รวม 74  จังหวัด  จำนวน 2,134   ชุมชน   ทำให้ประชาชนมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง  รวมแล้วกว่า 100,000  ครัวเรือน   ซึ่งแต่ละครัวเรือนมีน้ำประปาและไฟฟ้าเข้าถึงทุกครัว  ไม่ต้องพ่วงจากภายนอกมาใช้  หรือต้องจ่ายแพงเหมือนเมื่อก่อน  แต่ทุกเรือนก็จะต้องจ่ายค่าน้ำประปาและค่าไฟฟ้าตามมิเตอร์เหมือนประชาชนทั่วไป  ไม่มีใครได้ใช้ฟรี"  นายสมชาติกล่าว

2. โครงการบ้านประชารัฐริมคลองลาดพร้าว  เป็นโครงการความร่วมในการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองที่มีหลายหน่วยงานเข้ามาสนับสนุน  เช่น  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน  ภายใต้สังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคม (พม.) สนับสนุนงบประมาณช่วยเหลือผู้เดือดร้อน  เช่น  ค่าเช่าบ้านในระหว่างการสร้างบ้าน  การรื้อย้ายบ้าน  การก่อสร้างบ้าน   รวมทั้งสินเชื่อก่อสร้างบ้าน   กรมธนารักษ์ให้ชุมชนเช่าที่ดินในอัตราผ่อนปรน   การประปานครหลวง (กปน.)  การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.)  สนับสนุนการรื้อย้ายและติดตั้งท่อประปา-ไฟฟ้าเข้าสู่ชุมชน  ฯลฯ  โดยมีรูปแบบการดำเนินการ  2 รูปแบบ  คือ  1.รื้อย้ายบ้านให้พ้นแนวก่อสร้างเขื่อนระบายน้ำ  แล้วสร้างบ้านใหม่ในชุมชนเดิม (กรณีมีพื้นที่เหลือจากแนวก่อสร้างเขื่อน)  2.จัดหาที่ดินใหม่เพื่อสร้างบ้าน (กรณีที่ดินเดิมมีพื้นที่ไม่เพียงพอ)

 

3.การก่อสร้างสาธารณูปโภคในชุมชนริมคลองลาดพร้าว  เช่น  ถนน   ระบบประปา  ไฟฟ้า  บ่อบำบัดน้ำเสีย  ฯลฯ  ทั้งในชุมชนเดิมและชุมชนที่จัดหาที่ดินใหม่   พอช.จะสนับสนุนงบประมาณให้แก่ชุมชนต่างๆ    โดยคิดตามจำนวนครัวเรือนที่เข้าร่วมและอยู่อาศัยจริง  ครัวเรือนละ 50,000 บาท  โดยจ่ายงบประมาณผ่านสหกรณ์เคหสถานที่ชุมชนจัดตั้งขึ้นมา  เพื่อให้สหกรณ์ฯ นำไปบริหารจัดการเป็นค่าใช้จ่ายสาธารณูปโภคต่างๆ  รวมทั้งเป็นค่าติดตั้งระบบประปา  ไฟฟ้าเข้าสู่ชุมชนและครัวเรือน 

 

“ส่วนการติดตั้งมิเตอร์ประปาและมิเตอร์ไฟฟ้าเข้าสู่ครัวเรือนต่างๆ ในชุมชน   การประปานครหลวงและการไฟฟ้านครหลวงจะลดค่าดำเนินการให้ชุมชน 50 %  โดยสหกรณ์ฯ จะใช้จ่ายจากงบประมาณที่ทาง พอช.สนับสนุน  เมื่อติดตั้งระบบน้ำประปาและไฟฟ้าในชุมชนแล้ว  แต่ละครัวเรือนที่ใช้น้ำประปาและไฟฟ้าก็จะต้องจ่ายตามมิเตอร์หรือค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงในแต่ละเดือน   ไม่ได้ใช้น้ำประปาและไฟฟ้าฟรีแต่อย่างใด”  ผอ.พอช.ชี้แจง

สำหรับกรณี  4 ชุมชนในกรุงเทพฯ ที่เป็นสมาชิกของกลุ่มพีมูฟ   คือ  1.ชุมชนหลัง สน.ทองหล่อ  2.ชุมชนเพชรคลองจั่น  3.ชุมชนโรงหวาย   และ 4.ชุมชนหลวงวิตร   นายสมชาติกล่าวว่า   ขณะนี้ทั้ง 4 ชุมชนกำลังอยู่ในกระบวนการที่จะเข้าร่วมกับโครงการบ้านมั่นคงของ พอช.  ซึ่งหากทั้ง 4 ชุมชนได้เข้าร่วมโครงการบ้านมั่นคงแล้ว  ก็จะได้รับการสนับสนุนทั้งเรื่องสินเชื่อและงบสนับสนุนด้านสาธารณูปโภคตามหลักการของ พอช.เหมือนกับชุมชนอื่นๆ ทั่วไป


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"