ครม.ไฟเขียว 2.5 พันล้านบาทเยียวยานายจ้างและผู้ประกันตนมาตรา 33 ในเขต กทม.และปริมณฑลรวม 6 จังหวัด พร้อมเคาะมาตรการสินเชื่ออิ่มใจ สั่งออมสินปล่อยกู้ 2 พันล้านอุ้มร้านอาหาร-เครื่องดื่ม
ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุมอนุมัติโครงการเยียวยานายจ้างและผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด กรุงเทพมหานครและปริมณฑล (จังหวัดนครปฐม, นนทบุรี, ปทุมธานี, สมุทรปราการ และสมุทรสาคร) กรอบวงเงินจำนวน 2,519.38 ล้านบาท ช่วยเหลือผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน ได้แก่ นายจ้างและผู้ประกันตน มาตรา 33 ใน 4 ประเภทกิจการ ได้แก่ กิจการก่อสร้าง, กิจการที่พักแรมและบริการด้านอาหาร, กิจการศิลปะ ความบันเทิงและนันทนาการ และกิจการกิจกรรมการบริการด้านอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบ
หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการเข้าร่วมโครงการ ดังนี้ 1.นายจ้างที่อยู่ในฐานข้อมูลประกันสังคม ณ วันที่ 28 มิ.ย. 64 หรือนายจ้างที่ขึ้นทะเบียนใหม่ตั้งแต่วันที่ 29 มิ.ย.- 30 ก.ค.64 จำนวน 41,940 ราย โดยจะได้รับเงินเยียวยาในอัตรา 3,000 บาทต่อลูกจ้างหนึ่งคน สูงสุดไม่เกิน 200 คนต่อแห่ง 2.ผู้ประกันตนมาตรา 33 จำนวน 663,916 ราย จะได้รับเงินเยียวยาในอัตรา 2,000 บาทต่อคน ทั้งนี้ กรณีที่ผู้ประกันตนทำงานกับนายจ้างมากกว่า 1 ราย ให้มีสิทธิ์ได้รับเงินเยียวยาเพียงครั้งเดียวในอัตรา 2,000 บาท
สำหรับวิธีการจ่ายเงินเยียวยานั้น กรณีบุคคลธรรมดาและผู้ประกันตนมาตรา 33 จะโอนผ่านบัญชีพร้อมเพย์ เฉพาะการผูกบัญชีพร้อมเพย์กับเลขบัตรประชาชน กรณีนายจ้างที่เป็นนิติบุคคล สำนักงานประกันสังคมจะโอนเข้าบัญชีเงินฝากตามที่นายจ้างแจ้ง หรือตามวิธีการอื่นๆ ที่กระทรวงแรงงานกำหนด โดยเริ่มโอนเงินเยียวยาครั้งแรกภายในวันที่ 23 ก.ค.64 และโอนเงินซ้ำทุกสัปดาห์ สัปดาห์ละ 1 ครั้ง
นอกจากนี้ ที่ประชุม ครม.ยังมอบหมายให้สำนักงานประกันสังคมเร่งลงทะเบียนนายจ้าง และให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานตรวจสอบนิติสัมพันธ์ความเป็นนายจ้างลูกจ้างของนายจ้างที่ขึ้นทะเบียนประกันสังคมรายใหม่ในช่วงวันที่ 29 มิ.ย.-30 ก.ค.64
โฆษกประจำสำนักนายกฯ แถลงเพิ่มเติมว่า ที่ประชุมเห็นชอบมาตรการสินเชื่ออิ่มใจ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการร้านอาหาร หรือเครื่องดื่มที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิดระลอกใหม่ โดยกลุ่มเป้าหมายสำคัญ คือ ผู้ประกอบการร้านอาหารหรือเครื่องดื่มที่เป็นร้านจำหน่ายแบบถาวร เช่น ร้านอาหารในห้างสรรพสินค้า, ร้านอาหารที่เปิดในห้องแถวหรืออาคารพาณิชย์, ภัตตาคาร, ร้านที่มีลักษณะเป็นบูธ เป็นต้น ซึ่งไม่ใช่เป็นร้านแบบเคลื่อนที่ได้ เช่น หาบเร่, แผงลอย, รถเข็น เป็นต้น ที่มีรายได้ลดลง ให้มีสภาพคล่องเพียงพอ ลดการพึ่งพาสินเชื่อที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงหรือสินเชื่อนอกระบบ
หลักเกณฑ์โครงการคือ ธนาคารออมสินสนับสนุนสินเชื่อวงเงินรวม 2,000 ล้านบาท วงเงินสินเชื่อต่อรายสูงสุด 100,000 บาท โดยไม่ต้องมีหลักประกัน คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3.99 ต่อปี ระยะเวลากู้ไม่เกิน 5 ปี ปลอดชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 6 งวดแรก และขยายระยะเวลาปลอดชำระเงินต้นและดอกเบี้ยเพิ่มเติมได้ตามความเหมาะสม แต่ต้องไม่เกิน 5 ปี ทั้งนี้ รัฐบาลชดเชยความเสียหายที่เกิดจากหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ไม่เกินร้อยละ 50 ของสินเชื่อที่อนุมัติทั้งหมด 2,000 ล้านบาท รวมทั้งสิ้นไม่เกิน 1,000 ล้านบาท โดยธนาคารออมสินจะเริ่มดำเนินการให้บริการสินเชื่อจนถึงอนุมัติเต็มวงเงินสินเชื่อ หรือถึงวันที่ 31 ธ.ค.64 ซึ่งเป็นวันสิ้นสุดโครงการ
นายอนุชากล่าวคาดว่า มาตรการสินเชื่ออิ่มใจจะช่วยเหลือผู้ประกอบร้านอาหารและเครื่องดื่มได้ไม่น้อยกว่า 40,000 ราย เฉลี่ยรายละ 50,000 บาท ซึ่งช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกอบการจากที่ผู้บริโภคหลีกเลี่ยงใช้บริการภายในร้าน หรือเปลี่ยนพฤติกรรมจากการนั่งรับประทานอาหารที่ร้านเป็นการซื้ออาหารกลับ รวมทั้งที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมแบบบูรณาการเร่งด่วน ที่กำหนดให้ร้านอาหารหรือเครื่องดื่มเปิดดำเนินการเฉพาะนำกลับไปบริโภคที่อื่นให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ และป้องกันความเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นได้
ด้านนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า สำหรับผู้ประกอบการร้านอาหารหรือเครื่องดื่มที่เป็นร้านแบบเคลื่อนที่ได้ เช่น หาบเร่, แผงลอย, รถเข็น เป็นต้น สามารถเข้าร่วมมาตรการสินเชื่อผ่อนปรนของรัฐบาลที่มีอยู่ ได้แก่ มาตรการสินเชื่อสู้ภัยโควิด-19 โดยธนาคารออมสินสนับสนุนสินเชื่อวงเงิน 10,000 บาทต่อราย ดอกเบี้ย 0.35% ต่อเดือน ระยะเวลากู้ 3 ปี ปลอดชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 6 เดือนแรก รับคำขอสินเชื่อถึงวันที่ 31 ธ.ค.64 หรือโครงการอื่นๆ ที่ธนาคารออมสินดำเนินการเอง เช่น สินเชื่อโครงการธนาคารประชาชน, สินเชื่อ Street Food เป็นต้น
ที่รัฐสภา กลุ่มสมาพันธ์ผู้ประกอบอาชีพธุรกิจกลางคืนและธุรกิจบันเทิงแห่งประเทศไทย นำโดยนายนนทเดช บูรณะสิทธิพร ตัวแทนชมรมผู้ประกอบการสถานบันเทิง ผับ บาร์ และนายธัญญ์นิธิ ปภัสสุรีย์โชติ ตัวแทนชมรมคนดนตรีแห่งประเทศไทย พร้อมด้วยศิลปินนักร้องหลากหลายวง อาทิ วงไททศมิตร, ทรีแมนดาวน์ (Three Man Down), Klear, Safeplanet, เอ้ The Voice ยื่นหนังสือถึง นายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอมาตรการผ่อนปรนและมาตรการเยียวยาให้กลุ่มผู้ประกอบอาชีพธุรกิจกลางคืนและธุรกิจบันเทิงที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |