ตัวเลขผู้ป่วยล้นโรงพยาบาลต่อเนื่องตลอดช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมากำลังจะกลายเป็นวิกฤติซ้อนวิกฤติที่ร้ายแรงเกินคาด
นอกจากจะต้องให้คนป่วยมีอาการน้อยกักตัวและรักษาตัวในบ้านที่เรียกว่า Home Isolation แล้ว
ก็ยังต้องมีการจัดตั้ง “ศูนย์พักคอย” หรือ Community Isolation เพื่อเป็นจุดรอการส่งต่อผู้ป่วยเมื่ออาการหนักขึ้น และเมื่อสามารถหาเตียงในโรงพยาบาลให้ได้
เมื่อ กทม.และปริมณฑลเป็นแหล่งแพร่เชื้อระบาดที่หนักหน่วงที่สุด ก็ยิ่งต้องใช้ทุกวิถีทางที่จะ “แยก” ผู้ป่วยและคนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงออกจากคนอื่นๆ
ดังนั้น ในหลายกรณีการกักตัวอยู่ในบ้านอาจจะเสี่ยงที่จะแพร่เชื้อให้สมาชิกคนอื่นในครอบครัวได้
จึงต้องหาวิธีที่จะต้องเพิ่มศักยภาพของการ “พักคอย”
ผมเห็นผู้ว่าฯ กทม. พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง รายงานประชาชนผ่านเฟซบุ๊กของท่านในเรื่องนี้
จึงหวังว่าจะนำไปสู่การประสานกับทุกฝ่ายเพื่อสร้างระบบการ “Trace, Treat, Isolate” หรือ TTI
ซึ่งหมายถึงการตรวจเชิงรุก, รักษา และแยกตัวออก
ผู้ว่าฯ อัศวินรายงานเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาว่า
สถานการณ์การแพร่ระบาดในตอนนี้ กทม.ได้เร่งนำส่งผู้ป่วยเข้ารับการรักษาใน รพ.มาอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งแต่วันที่ 10 เม.ย.จนถึงวันนี้ ส่งผู้ป่วยโควิดเข้า รพ.แล้ว 19,337 ราย
แต่การระบาดในแต่ละวันมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ยังมีผู้ป่วยตกค้างอยู่ ถึงแม้ว่า กทม.ได้เพิ่มจำนวนเตียงเพื่อรองรับผู้ป่วยให้มากที่สุดแล้วก็ตาม
สิ่งสำคัญที่สุดที่จะต้องทำอย่างเร่งด่วน เพื่อไม่ให้มีการแพร่ระบาดในครอบครัวและในชุมชนเพิ่มมากขึ้น คือ การแยกผู้ป่วยออกจากครอบครัว โดยการจัดตั้ง “ศูนย์พักคอย” ใช้เป็นสถานที่ให้ผู้ป่วยโควิดสีเขียวอยู่ระหว่างการรอส่งต่อโรงพยาบาล และใช้เป็นสถานที่สำหรับดูแลกลุ่มคนที่ต้องการการดูแลเป็นพิเศษระหว่างรอเตียง เช่น เด็กที่พ่อแม่ติดเชื้อที่ไม่มีคนในครอบครัวดูแล
“ศูนย์พักคอย รอการส่งต่อผู้ป่วยโควิดเข้ารักษาในโรงพยาบาล” หรือ Community Isolation กทม. มีแผนจะจัดตั้งให้ครบทั้ง 6 กลุ่มเขต และจะจัดตั้งให้มากที่สุดทุกเขตทั่วพื้นที่ กทม.
การดูแลผู้ป่วยโควิดที่ศูนย์พักคอยทุกแห่ง จะมีเจ้าหน้าที่ศูนย์บริการสาธารณสุขในพื้นที่ อาสาสมัครสาธารณสุข (อสส.) คอยดูแลผู้ป่วยประเมินอาการอย่างใกล้ชิด โดยมีอุปกรณ์ที่จำเป็น ยาและเครื่องมือทางการแพทย์ดูแลอาการผู้ป่วยโควิด ได้แก่
1.เครื่องวัดค่าออกซิเจนปลายนิ้ว ไว้สำหรับวัดค่าออกซิเจนในเลือด เพราะคนไข้ที่ติดเชื้อโควิดสีเขียวจำนวนมากที่ไม่แสดงอาการจะเปลี่ยนเป็นผู้ป่วยเหลืองได้เร็ว แต่หากมีการวัดค่าออกซิเจนในระหว่างที่รอส่ง รพ. และพบว่ามีค่าต่ำกว่าปกติมาก (ต่ำกว่า 95%) จะได้รีบส่งเข้ารักษาใน รพ.
2.เครื่องออกซิเจน ใช้สำหรับช่วยชีวิตผู้ป่วยที่มีออกซิเจนต่ำกว่า 95% ระหว่างการรอส่งเข้าโรงพยาบาล เพราะผู้ป่วยโควิดเขียว หากมีอาการขึ้นมาจะเปลี่ยนเป็นผู้ป่วยสีเหลืองได้เร็วมากขึ้น
สำหรับกรณีที่ผู้ป่วยสมัครใจแยกกักตัวในบ้านที่พักอาศัยของตนเอง หรือ Home Isolation ระหว่างรอเตียงเข้ารักษาในโรงพยาบาล จะต้องผ่านการพิจารณาวินิจฉัยจากแพทย์ว่าสามารถรักษาตัวที่บ้านได้
โดยจะต้องเป็นผู้ป่วยโควิดสีเขียวที่ไม่มีอาการ ไม่มีภาวะอ้วน ไม่มีโรคประจำตัว และไม่เป็นผู้สูงอายุ โดยระหว่างการแยกกักตัวที่บ้านจะมีเจ้าหน้าที่ศูนย์บริการสาธารณสุขในพื้นที่ อาสาสมัครสาธารณสุข (อสส.) คอยดูแลผู้ป่วยและประเมินอาการอย่างใกล้ชิด มีการตรวจวัดค่าออกซิเจนและให้ยาตามอาการ ซึ่งถ้าผู้ป่วยมีอาการ เปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีเหลืองจะรีบนำส่งเข้ารักษาในโรงพยาบาลได้อย่างปลอดภัย
“ศูนย์พักคอย” เป็นสิ่งที่จำเป็นมากในสถานการณ์การแพร่ระบาดนี้ เพื่อเป็นสถานที่ที่ดูแลอาการเบื้องต้นให้ผู้ป่วยโควิดสีเขียวในชุมชนหรือในพื้นที่ใกล้บ้าน เพื่อแยกตัวผู้ป่วยออกจากคนในครอบครัว รอส่งต่อเข้ารักษาใน รพ. สนาม หรือ รพ.หลัก เพื่อลดการติดเชื้อในครอบครัวที่จะทำให้เกิดการแพร่ระบาดต่อไปในชุมชนหรือในที่ทำงานได้
ศึกนี้ยังอีกยาว ดังนั้นทุกมาตรการจะช่วยประคองสถานการณ์จนกว่าเราจะมีวัคซีนที่ดีและเร็วให้คนส่วนใหญ่ของประเทศ
ซึ่งก็ยังไม่รู้ว่าคือวันไหนและเมื่อไหร่.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |