6 ก.ค.64 - ที่กระทรวสาธารณสุข ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.อุดม คชินทร รองประธานคณะที่ปรึกษาศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 (โควิด-19) (ศบค.) แถลงข่าวประเด็นวัคซีนป้องกันโควิด-19 ว่า วานนี้ (5 ก.ค.64) มีการประชุมเรื่องวัคซีนโควิด-19 มีการรายงานผลการประชุมต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะ ผอ.ศบค. เรียบร้อยแล้ว ซึ่งวันนี้เป็นการแถลงเพื่อทำความเข้าใจกับประชาชนให้รับทราบ เป็นส่วนหนึ่งของการแถลงในนาม ศบค. และรัฐบาล
นพ.อุดม กล่าวว่า ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ทั่วทั้งโลกมีการระบาดของสายพันธุ์เดลต้า (อินเดีย) อย่างมาก แพร่กระจายถึง 96 ประเทศ สถานการณ์ในประเทศไทยเมื่อ 2 เดือนที่แล้วมีการระบาดสายพันธุ์อัลฟ่า (อังกฤษ) ประมาณ 85-90% แต่ช่วงเดือน มิ.ย.-ก.ค. มีการระบาดสายพันธุ์เดลต้า ภาพรวมประเทศอยู่ที่ 30% ถือว่าเร็วมาก ถ้านับเฉพาะกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล คิดเป็น 50% ของเชื้อที่เราพบ
นพ.อุดม กล่าวเพิ่มเติมว่า สายพันธุ์เดลต้า มีความสามารถคือ 1.ระบาดเร็ว โดยสายพันธุ์อัลฟ่าระบาดเร็วกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิม (อู่ฮั่น) 60-70% แต่เดลต้าระบาดเร็วกว่าอัลฟ่าอีก 40% จึงเป็นเหตุผลที่เราคาดการณ์ว่า 1-2 เดือน ประเทศไทยและทั่วโลก ส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดจะเป็นเดลต้า เพราะกระจายเร็วมาก 2.ภาพรวมของเดลต้า ไม่ได้มีความรุนแรงกว่าอัลฟ่า แต่มีลักษณะพิเศษคือทำให้ผู้ป่วยอยู่ในภาวะที่ต้องการออกซิเจน หรือออกซิเจนในเลือดต่ำกว่าปกติเร็วขึ้น เกิดปอดอักเสบเร็วขึ้น ซึ่งสำหรับอัลฟ่าใช้เวลา 7-10 วัน หลังติดเชื้อ ถึงจะพบอาการปอดอักเสบ ต้องใช้ออกซิเจน ใช้เครื่องไฮโฟลว์ (Oxygen High Flow) เครื่องช่วยหายใจ แต่เดลต้าใช้แค่เวลา 3-5 วัน ก็ต้องใช้เครื่องไฮโฟลว์ เครื่องช่วยหายใจแล้ว
“เมื่อเปอร์เซ็นต์ติดเชื้อมาก ก็มีความต้องการเตียงป่วยหนัก เตียงไอซียู ห้องความดันลบเพิ่มขึ้นด้วย จึงเห็นว่าตอนนี้เตียงเราตึงมาก โดยเฉพาะเตียงผู้ป่วยสีแดง ดังนั้น หากเราปล่อยให้เกิดเหตุการณ์นี้ไปเรื่อยๆ ก็จะทำให้ระบบสาธารณสุขอยู่ไม่ได้” นพ.อุดมกล่าว
นพ.อุดม กล่าวอีกว่า ไวรัสมีการปรับตัวเพื่อความอยู่รอดด้วยการกลายพันธุ์ ยิ่งแบ่งตัวได้เยอะก็จะยิ่งกลายพันธุ์ได้เยอะ และถ้ากลายพันธุ์ ก็จะดื้อต่อภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นจากวัคซีนป้องกัน เดิมเราใช้วัคซีนควบคุมการระบาด ซึ่งเป็นวัคซีนที่ทำจากไวรัสตัวดั้งเดิม (อู่ฮั่น) ตอนนั้นวัคซีนจึงได้ผลดีมาก แต่ตอนนี้ไม่ใช่ว่าวัคซีนไม่ดี แต่เพราะไวรัสมีการกลายพันธุ์เป็นเดลต้า อัลฟ่า ประสิทธิภาพของวัคซีนจึงลดลงชัดเจน เป็นเหตุผลว่า เราต้องหาวัคซีนรุ่นใหม่ เพื่อให้ครอบคลุมไวรัสกลายพันธุ์อัลฟ่าและเดลต้า ซึ่งตอนนี้ยังไม่มี แต่อยู่ในระหว่างการทำวัคซีนรุ่นใหม่อยู่ ทั้งวัคซีนไฟเซอร์ โมเดอร์นา แอสตร้าเซนเนก้า หรือซิโนแวค คาดว่าเร็วสุดจะเป็นปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า จึงเป็นเหตุผลที่เราต้องคำนึงในการสั่งซื้อวัคซีนต่อไปข้างหน้า
“ระหว่างที่รอ เราจึงต้องหากระบวนการบูสเตอร์โดส (booster dose) เพื่อสร้างภูมิฯให้มากขึ้นในการต่อสู้เชื้อกลายพันธุ์ ซึ่งไม่ได้เพิ่งเริ่ม แต่คณะกรรมการฯ มีการหารือกันมา 2-3 เดือนแล้ว ในการหาเข็ม 3 หรือการสลับฉีดไขว้เข็มที่ 1 และ 2 แต่ว่าไม่ได้มีการออกข่าวเป็นทางการ ดังนั้น ข้อมูลที่หลุดลอดออกไปจึงไม่ครบถ้วน” นพ.อุดม กล่าว
นพ.อุดม กล่าวต่อว่า การกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์เดลต้า ข้อมูลระดับภูมิต้านทานโรคในวัคซีนที่ใช้ในปัจจุบัน เมื่อเจอเดลต้าก็ทำให้ภูมิคุ้มกันที่สร้างขึ้นลดลง เช่น วัคซีนไฟเซอร์ ครบ 2 เข็ม เมื่อเจอเดลต้า ภูมิคุ้มกันลดลง 2.5 เท่า ส่วนสายพันธุ์เบต้า (แอฟริกาใต้) ลดลง 7.5 เท่า วัคซีนแอสตร้าฯ ครบ 2 เข็ม ข้อมูลจากประเทศอังกฤษ พบว่า สายพันธุ์เบต้า ทำให้ภูมิฯลด 9 เท่า สายเดลต้า การสร้างภูมิฯลดลง 4.3 เท่า ขณะที่ข้อมูลวัคซีนซิโนแวคครบ 2 เข็ม ข้อมูลที่ทำในไทยระหว่าง สวทช. กับศูนย์วิจัยจุฬาฯ พบว่า เมื่อเจอเดลต้า ภูมิฯลดลง 4.9 เท่า
นพ.อุดม ยังกล่าวอีกว่า สำหรับข้อมูลทางคลินิก พบว่า วัคซีนไฟเซอร์และโมเดอร์นา ที่เป็นชนิด mRNA ต้องยอมรับว่าเป็นตัวที่กระตุ้นภูมิต้านทานได้สูงสุด ประมาณหลัก 1,000-10,000 ยูนิต รองลงมาเป็นแอสตร้าฯ ในหลักพันต้นๆ ส่วนซิโนแวค จะอยู่ในหลักหลายร้อยปลายๆ โดยหากดูการสร้างภูมิต้านทาน ต้องยอมรับว่า mRNA ดีที่สุด รองมาเป็นแอสตร้าฯ และรองมาเป็นซิโนแวค แต่หากดูเรื่องการป้องกันโรควัคซีนไฟเซอร์ ป้องกันเดลต้า ได้ลงลดจาก 93% เป็น 88% ส่วนแอสตร้าฯ ป้องกันสายเดลต้า จาก 66% เหลือ 60% แต่ที่สำคัญคือ ป้องกันการเจ็บป่วยรุนแรง วัคซีนไฟเซอร์ ป้องกันได้ 96% แอสตร้าฯ ได้ 92% ซึ่งไม่แตกต่างกันในทางสถิติ
“จึงอยากย้ำให้เห็นว่า แม้การป้องกันลดลงแต่การป้องกันอาการเจ็บป่วยรุนแรง ต้องเข้าโรงพยาบาล ป้องกันการตาย ยังได้ผลสูงมาก ขณะที่วัคซีนซิโนแวค ข้อมูลยังน้อยว่าป้องกันได้เท่าไร แต่หากเทียบจากภูมิต้านทาน เราคิดว่ามันคงป้องกันเดลต้าไม่ดีแน่ แต่ซิโนแวค 2 เข็มจะป้องกันการเจ็บป่วยรุนแรง ต้องเข้า รพ. ป้องกันตายได้มากกว่า 90% เป็นข้อมูลจากหลายประเทศที่ใช้ซิโนแวค รวมทั้งข้อมูลในภูเก็ตด้วย” นพ.อุดม กล่าว
นพ.อุดม ยังกล่าวว่า ตอนนี้เราต้องทำความเข้าใจใหม่ว่า วัตถุประสงค์การฉีดวัคซีนไม่มีทางป้องกันได้ 100% และแต่วัคซีนมีประสิทธิภาพต่างกัน แต่สิ่งสำคัญ แม้ประสิทธิภาพป้องกันลดลง แต่ประสิทธิภาพป้องกันเจ็บป่วยรุนแรง ต้องเข้า รพ. หรือลดการตายยังสูงมาก เกิน 90% แม้ว่าจะเป็นวัคซีนซิโนแวค ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องย้ำ เนื่องจากหากไม่เจ็บป่วยรุนแรง ก็การนอนเตียงที่กำลังตึงในตอนนี้ทั้งกลุ่มสีเขียว เหลืองและแดง และช่วยผ่อนภาระงานของบุคลากรแพทย์ที่กำลังหนักมากในตอนนี้
ทั้งนี้ทุก รพ.ใน กทม.และต่างจังหวัดหนักมากจริงๆ เช่น เตียงผู้ป่วยหนักสีแดง ในภาวะปกติเฉพาะใน กทม. ที่เป็น รพ.ใหญ่ทั้งหมด มีประมาณ 230 เตียง แต่ตอนนี้เรามีเพิ่มเท่าตัวเป็น 400 กว่าเตียง แต่คนเท่าเดิม หมอ พยาบาลเท่าเดิม เราต้องเอาบุคลากรจากแผนกอื่นมาฝึกสอน เพื่อมาอยู่กันดูแลผู้ป่วย ตอนนี้ไม่ไหวจริงๆ ไม่มีขวัญกำลัง ที่เราเห็นตัวเลขตายวันละ 50 -60 ราย ติดเชื้อใหม่วันละ 5-6 พันราย เดือนหนึ่ง 1.5-2 แสนราย แล้วมันจะไหวหรือไม่ เราต้องช่วย อย่างน้อยวัคซีนป้องกันให้เราไม่ต้องเจ็บป่วยเข้า รพ. ป้องกันไม่ให้เป็นผู้ป่วยหนัก ซึ่งคุ้มค่ามหาศาลสำหรับตัวท่านเอง และเพื่อป้องกันระบบสาธารณสุข
นพ.อุดม กล่าวว่า หากเราดูด้านที่เลวร้ายที่สุดของโรคโควิด-19 คือ ติดเชื้อแล้วเสียชีวิต ซึ่งข้อมูลพบว่า คนในโลกนี้ อัตรา 50 คนจะมีคนติดเชื้อ 1 คน และมีอัตราเสียชีวิตอยู่ที่ 2.1% ดังนั้น หากมีการติดเชื้อ 50 คนจะมีคนเสียชีวิต 1 คน เป็นตัวเลขที่สูงมาก แต่สำหรับด้านดีที่สุดคือหากไม่ติดเชื้อ ก็ต้องฉีดวัคซีน ซึ่งเฉลี่ยป้องกันได้ 60-70% เราจึงต้องช่วยกันในมาตรการป้องกันส่วนบุคคล สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ หลีกเลี่ยงเข้าที่แออัด เป็นสิ่งสำคัญมากจริงๆ โดยเฉพาะผู้ป่วยรายใหม่ 20% เป็นการติดเชื้อจากครอบครัว อีก 40% เป็นการติดเชื้อในองค์กร มาตรการบุคคลและองค์กรจึงสำคัญมาก
อย่างไรก็ตามแม้วัคซีนป้องกันไม่ได้มาก แต่ท่านต้องฉีดวัคซีน ข้อมูลจากสหรัฐอเมริกา คนที่ฉีดไฟเซอร์ครบ 2 เข็มแล้ว 3.7 ล้านคน พบว่ายังมีการติดเชื้อใหม่ 0.1% เหมือนจะดูน้อย แต่หากเทียบคนล้านๆ ก็เยอะ ส่วนอินเดีย ฉีดแอสตร้าฯ ครบ 2 เข็ม ยังติดโควิด-19 ใหม่ 0.2% ดังนั้น ต้องย้ำว่าวัคซีนมีประโยชน์แน่ แต่ตอนนี้ต้องคิดว่าช่วยการป้องกันไม่ให้เจ็บป่วยรุนแรง ไม่ตาย ปกป้องระบบสาธารณสุข ไม่ให้เกินกำลัง
เมื่อถามว่า ตอนนี้เข้าสู่ระลอก 4 หรือไม่ นพ.อุดมกล่าวว่า เรื่องนี้ยังมีความเห็นแตกต่างกันเล็กน้อย แต่ส่วนตัวถือว่าเป็นระลอก (เวฟ) 4 แล้ว เพราะเป็นไวรัสตัวใหม่กลายพันธุ์ กำลังจะเป็นสายพันธุ์เดลต้า มีพฤติกรรมไม่เหมือนเดิม ส่วนคุณสมบัติสำคัญที่บอกเป็นเวฟ 4 คือ การแพร่ระบาดในชุมชน ครอบครัว องค์กร หาที่มาที่ไปไม่ได้ เท่ากับคำจำกัดความเกิดเป็นเวฟใหม่ ตัวเลขขึ้น 5-6 พันราย ถือเป็นเวฟ 4 แล้ว ส่วนจะจบเมื่อไร เรายกระดับมาตรการแล้ว แต่ยังไม่สูงสุด
ขณะนี้เป็นแค่เซมิล็อกดาวน์ กว่าจะเห็นผล 14 วัน ตามระยะเวลาฟักตัวของไวรัส ต้องหลัง 14 วันไปก่อนถึงจะเริ่มเห็นผล ซึ่งจะครบช่วงวันที่ 11-12 ก.ค.และจะประเมินอีกทีว่าเป็นอย่างไร ซึ่งถ้าจะไม่ให้มากเกินกำลังบุคลากรสาธารณสุข ทั้งเตียง ยา ต่างๆ เราต้องการเห็นตัวเลขไม่เกิน 500-1,000 วัน เราสู้ไหว ตอนนี้บอกตรงๆ ว่าสู้ไม่ไหว ต้องช่วยกัน คือเพิ่มมาตรการด้านสาธารณสุข มาตรการส่วนบุคคล และมาตรการสังคมมากกว่านี้ และเร่งฉีดวัคซีน 2 เข็มให้มากที่สุดเกิน 70% ของประชากรให้ได้ ตรงนี้เป็นหัวใจสำคัญ
เมื่อถามว่า มาตรการที่ใช้อยู่พอเพียงหรือไม่ ต้องมีมาตรการอะไรเพิ่มเติม นพ.อุดม กล่าวว่า ถ้าเรามาดูตอนนี้ยังบอกไม่ได้ แต่จะประเมินในช่วง 15 วัน และ 30 วัน เชื่อว่าการติดเชื้ออาจจะลงบ้าง แต่อาจยังอยู่ในระดับ 3-4 พัน ก็ยังเกินที่จะรับไหว สิ่งสำคัญคือต้องลดการเคลื่อนย้ายของคน เพราะเชื้อโรคไปเองไม่ได้ ต้องไปกับคน คนพาไป ถึงไม่อยากให้เคลื่อนย้าย ให้อยู่กับบ้าน ต้อง Work From Home 75% ซึ่งตอนนี้ยังทำไม่ถึง 50% เลย ต้องไม่ไปตลาด ศูนย์การค้า แต่คนยังไปกันเยอะมาก ยังออกต่างจังหวัด ตรงนี้ต้องช่วยกัน ไม่นำเชื้อไปแพร่คนอื่น ถ้ายังทำไม่ได้ คิดว่าต้องยกระดับมาตรการต้องล็อกดาวน์เหมือน เม.ย.2563 ที่ระบาดไม่กี่ร้อยคนทำแล้วคุมอยู่
“ตอนนี้ต้องบอกว่าช้าไปหน่อยแล้ว เราให้เวลา 2-3 เดือน ยังคุมไม่ได้ ตอนนี้ขึ้นกับความร่วมมือของประชาชนที่ต้องช่วยกัน ปฏิบัติตัวอย่างเคร่งครัด ยกระดับสูงสุด ต้องคิดว่าคนที่ไปเจอ ทั้งคนในครอบครัวที่บ้านซึ่งบางส่วนออกไปทำงาน เสมือนเป็นผู้ติดเชื้อไม่มีอาการและอาจติดได้ และเราอาจไปแพร่เชื้อต่อ ต้องเข้มมาตรการส่วนบุคคล องค์กร และมาตรการสังคม โดยเฉพาะการเคลื่อนย้ายเดินทางและใช้ Work From Home ตัวเลขถึงจะควบคุมได้” นพ.อุดม ระบุ
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |