ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ยังไม่ซาลง โดยเฉพาะประเทศไทยที่พบผู้ติดเชื้อหลัก 4 พัน และผู้เสียชีวิตเกิน 30 รายทุกวัน วัคซีนโควิด-19 ถือว่าเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องการมากที่สุด โดยเฉพาะวัคซีนที่สามารถป้องกันโรคได้มากที่สุดที่หลายคนพูดถึง คือวัคซีนชนิด mRNA ที่มีอยู่ในไฟเซอร์และโมเดอร์นา
โดยเฉพาะวัคซีนโมเดอร์นาที่เป็นวัคซีนทางเลือก ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เมื่อไม่นานมานี้ โดยโรงพยาบาลต่างๆ ทั้งรัฐและเอกชนได้เปิดให้มีการจองแล้ว โดยบางโรงพยาบาลใช้เวลาไม่ถึงครึ่งชั่วโมงก็มียอดจองเต็มเป็นที่เรียบร้อย
โมเดอร์นา เป็นวัคซีนชนิด mRNA-1273 ที่แตกต่างจากวัคซีนทั่วไปที่เป็นโปรตีนหรือเชื้อโรคที่ถูกทำให้ตาย และต่างจากวัคซีนชนิดที่ใช้ไวรัสพาหะ พัฒนาโดย บริษัท ModernaTX, Inc. สหรัฐอเมริกา ซึ่งจัดเป็นวัคซีนที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันโควิด-19 สูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก จากข้อมูลระบุว่าหลังจากฉีดเข็มแรกไปแล้ว 14 วัน จะมีประสิทธิภาพในการป้องกันประมาณ 50.8% หลังจากฉีดเข็มที่ 2 ไปแล้วประมาณ 2 สัปดาห์ จะมีประสิทธิภาพในการป้องกันได้ประมาณ 92.1% ป้องกันการติดโรคได้ 86.4% ในผู้สูงอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป ลดความรุนแรงของโรคได้ 100% และลดอัตราการเสียชีวิตจากการติดเชื้อได้ 100% อย่างไรก็ตาม แม้วัคซีนโมเดอร์นาจะสามารถสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาอยู่ได้หลายเดือน แต่ ณ ตอนนี้ยังไม่มีข้อมูลแน่ชัดว่าภูมิคุ้มกันนี้จะอยู่ได้นานแค่ไหน
ในส่วนของอาการไม่พึงประสงค์จากการฉีดวัคซีนโมเดอร์นา พบประมาณ 0.03% ของประชากรทั้งหมด ซึ่งสามารถหายได้เองภายใน 2-3 วัน และพบโอกาสแพ้ยาแบบรุนแรง เช่น หายใจลำบาก ปากบวม หน้าบวม หัวใจเต้นเร็ว ผื่นแพ้ขึ้นทั่วตัวหรือตามร่างกาย มีอัตราส่วน 2.5 :1,000,000 คน และจากข้อมูลทางห้องปฏิบัติการล่าสุด พบว่าสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ในระดับสูงพอที่จะยับยั้งสายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ) และเบตา (แอฟริกาใต้)
สำหรับหลักการผลิตวัคซีนโมเดอร์นา ส่วนแรกจะใช้สารพันธุกรรมโมเลกุลที่เรียกว่า mRNA หรือรหัสแม่แบบที่คล้ายหนาม (spike) ของเชื้อ SAR-CoV-2 ที่ก่อโรค COVID-19 เพราะหนาม (Spike) คืออาวุธสำคัญที่เชื้อใช้จับเซลล์ในร่างกาย ส่งผลให้ติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ ส่วนที่สองคือ ไขมันอนุภาคนาโน (lipid nanoparticle) ที่ใช้ห่อหุ้ม mRNA เพื่อป้องกันการย่อยสลายจากเอนไซม์ไรโบนิวคลิเอสซึ่งมีอยู่ทั่วร่างกาย
โดยกลไกการออกฤทธิ์ของวัคซีนหลังจากฉีดวัคซีน mRNA จะถูกห่อหุ้มด้วยไขมันอนุภาคนาโน แล้วเซลล์ร่างกายในบริเวณที่ฉีดจะกลืนกินไขมันอนุภาคนาโนที่มี mRNA เข้าไป ทำให้เซลล์บริเวณนั้นผลิตสารโปรตีนคล้ายหนามของเชื้อไวรัส ซึ่งโปรตีนนี้จะกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายให้สร้างแอนติบอดีหรือภูมิต้านทานขึ้นมาต่อต้านหนามของเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 แบบจำเพาะเจาะจง เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อสามารถก่อโรคในร่างกายได้
เมื่อกล่าวถึงความปลอดภัยของวัคซีนโมเดอร์นานั้น ได้รับการตรวจสอบจากองค์การยาแห่งสหภาพยุโรป (European Medicines Agency: EMA) และเป็นไปตามเกณฑ์ที่กลุ่มผู้เชี่ยวชาญที่ปรึกษาเชิงกลยุทธ์ (SAGE) จากองค์การอนามัยโลกตั้งไว้ โดย EMA ได้ประเมินข้อมูลประสิทธิภาพ และความปลอดภัยของวัคซีนโมเดอร์นาแล้ว จึงอนุมัติให้ใช้ได้ทั่วสหภาพยุโรป
โดยจะฉีดทั้งหมด 2 โดส ฉีดห่างกัน 4 สัปดาห์ แต่ทั้งนี้มีผลการทดลองทางคลินิกในกลุ่มคนอายุ 12-17 ปี พบว่ามีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคได้ 96% และนอกจากนี้กำลังอยู่ระหว่างทดสอบในเด็กอายุ 6 เดือน-11 ขวบ ซึ่งยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน ปัจจุบันมีมากกว่า 14 ประเทศที่ใช้ เช่น สหรัฐอเมริกา, แคนาดา, สวิตเซอร์แลนด์, อังกฤษ, ประเทศในยุโรป, อิสราเอล, กาตาร์, บรูไน, สิงคโปร์, เวียดนาม, ญี่ปุ่น ฯลฯ
ทั้งนี้ วัคซีนโมเดอร์นาเหมาะกับผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรังและอาจมีความรุนแรงมากขึ้นเมื่อติดโควิด เช่น โรคเบาหวาน, โรคความดันโลหิตสูง, โรคหอบหืด, โรคปอด, โรคตับ และโรคไต ผู้ที่ต้องทำงานด้านสาธารณสุข ใกล้ชิดกับผู้ป่วย ผู้ติดเชื้อ หรืองานใดๆ ที่ถือว่ามีความเสี่ยงรับเชื้อสูง และผู้สูงอายุ ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน ควรปรึกษาแพทย์เพื่อพิจารณาความเหมาะสมก่อนรับวัคซีน ผู้ป่วยที่ติดเชื้อ HIV เพราะอาจมีความรุนแรงมากขึ้นเมื่อติดโควิด-19 ผู้ที่เคยติดโควิด- 19 แล้ว ควรรับวัคซีนหลังจากติดเชื้ออย่างน้อย 6 เดือน สตรีที่อยู่ระหว่างให้นมบุตร ส่วนสตรีที่อยู่ในระหว่างตั้งครรภ์ควรปรึกษาแพทย์เป็นรายบุคคลก่อน
ส่วนผู้ที่อาจไม่เหมาะกับวัคซีนตัวดังกล่าวคือ ผู้สูงอายุที่มีร่างกายอ่อนแอมาก หรือได้รับการประเมินว่าอาจมีชีวิตอยู่ได้ไม่เกิน 3 เดือน ควรได้รับการพิจารณาร่วมกับแพทย์เป็นรายบุคคล ผู้ที่มีอายุน้อยกว่า 18 ปี ควรรอผลการศึกษาเพิ่มเติมก่อน ผู้ที่มีอาการแพ้ทั้งแบบรุนแรง และไม่รุนแรงต่อส่วนผสม mRNA ในวัคซีนโควิด-19 ไม่ควรรับวัคซีนชนิดนี้ ผู้ที่มีพบว่ามีอาการแพ้หลังจากฉีดวัคซีนเข็มแรกไปแล้ว ไม่ควรรับวัคซีนชนิดนี้เพิ่มเติม ผู้ที่มีประวัติแพ้สารโพลีเอทิลีน ไกลคอล (Polyethylene Glycol: PEG) ซึ่งเป็นส่วนผสมในยาและเครื่องสำอางบางชนิด และมีอยู่ในวัคซีนโควิดของโมเดอร์นา ผู้ที่มีประวัติแพ้สารพอลิซอร์เบต (Polysorbate) ซึ่งเป็นส่วนผสมในยาและเครื่องสำอางบางชนิด แม้จะไม่มีอยู่ในวัคซีนโควิดของโมเดอร์นา แต่คุณสมบัติใกล้เคียงกับ PEG มาก จึงอาจเป็นอันตรายได้
แม้จะมีการอนุมัติฉีดวัคซีนในหลายประเทศแล้ว แต่ประเทศไทยยังคงนำเข้าวัคซีนมาได้ไม่เพียงพอต่อประชากรส่วนใหญ่ ณ ขณะนี้ สำหรับใครจองไว้แล้วคงได้แต่รอ โดยคาดว่าในช่วงไตรมาสที่ 4 คงมาถึงประเทศไทย อย่างไรก็ตาม มาตรการเบื้องต้นที่ทุกคนต้องทำทั้งก่อนและหลังได้รับวัคซีนคือ ใส่หน้ากากอนามัย หมั่นล้างมือ และหลีกเลี่ยงสถานที่ชุมชนที่มีความแออัด.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |