สธ.โต้เอกสารหลุดของปลอม เตือนห้ามค้ากำไรโมเดอร์นา


เพิ่มเพื่อน    

ไทยฉีดวัคซีนเกิน 10 ล้านโดสแล้ว อธิบดีกรมควบคุมโรคเผยเอกสารหลุดไฟเซอร์ไม่ใช่ฉบับจริง แค่เอกสารที่เขียนเองอ่านเอง เหมือนเอาสไลด์การประชุมไปปะติด ขณะที่ ผอ.องค์การเภสัชฯ เตือน รพ.เอกชนห้ามค้ากำไรวัคซีนโมเดอร์นา
    เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2564 นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงว่า การฉีดวัคซีนวันที่ 4 ก.ค. การฉีดทั้งสิ้น 106,851 โดส ทำให้ยอดรวมสะสมการฉีดวัคซีนตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ. มีทั้งสิ้น 10,777,748 โดส และจากข้อมูลประเทศอังกฤษที่มีการฉีดวัคซีนจำนวนมากแล้ว แต่วันนี้ยังพบผู้ติดเชื้อกว่า 2.4 หมื่นราย แต่ผู้เสียชีวิตแทบไม่มี ทำให้เห็นว่าวัคซีนป้องกันอาการหนักและเสียชีวิต โดยเราจะเร่งฉีดวัคซีนให้กับผู้สูงอายุและคนที่มี 7 โรคเรื้อรัง ซึ่งถือเป็นกลุ่มเสี่ยง 
    โฆษก ศบค.กล่าวว่า ตอนนี้เรื่องการฉีดวัคซีน ที่ต้องเรียนรู้ร่วมกันว่าถึงแม้จะฉีดวัคซีนแล้วยังมีการติดเชื้อ เป็นหลักข้อมูลที่จะต้องเรียนรู้ร่วมกัน แต่เมื่อฉีดวัคซีนแล้วอัตราการเสียชีวิตลดลงทันทีในกลุ่มของผู้สูงอายุ และ 7 กลุ่มโรค ซึ่งกรมควบคุมโรครายงานสถิติว่าผู้ป่วยอายุมากกว่า 60 ปี ติดเชื้อ 10 คน ตาย 1 คน คนอายุ 40-60 ปี ติดเชื้อ 100 คน ตาย 1 คน คนอายุ 18-40 ปี ติดเชื้อ 1,000 คน ตาย 1 คน ขอให้ทุกคนช่วยกันในการดูแลสุขอนามัยส่วนตัว เพราะการไม่ป่วยก็ไม่เป็นภาระต่อระบบบริการทางการแพทย์ เพราะตอนนี้พวกเขาเหนื่อยมากๆ  
    นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า องค์การฯ ขอยืนยันว่าวัคซีนที่จะรับจากบริษัท ซิลลิค ฟาร์มา ตัวแทนของโมเดอร์นาในช่วงแรกไตรมาส 4 ปี 64 และไตรมาส 1 ปี 65 ได้เพียง 5 ล้านโดสเท่านั้น ส่วนที่มีการนำเสนอข่าวว่ามีการสั่งจองวัคซีนดังกล่าวถึง 9 ล้านโดสนั้น เป็นจำนวนทั้งหมดที่สมาคมโรงพยาบาลเอกชนได้สำรวจความต้องการหรือมีการจองอย่างไม่เป็นทางการ ซึ่งเกินกว่าจำนวนที่จะได้รับจากบริษัทซิลลิคอย่างเป็นทางการในช่วงแรกนี้ 5 ล้านโดส เป็นจำนวนที่จะได้รับจากซิลลิค 
    ส่วนอีก 4 ล้านโดสเป็นความต้องการที่เกินจำนวนกว่าวัคซีนที่จะได้รับ ซึ่งในส่วนความต้องการที่เกินเพิ่มมานี้ ได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบร่วมกันไปแล้วเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา โดยองค์การฯ ได้ประสานการจองวัคซีนจำนวนที่เกินมานี้สำหรับรอบการผลิตในปี 2565 ไว้กับบริษัท ซิลลิค ฟาร์มา จำกัด เพิ่มเติมแล้ว รอการยืนยันจำนวนที่จะได้รับการจัดสรรที่ชัดเจนจากบริษัทต่อไป
    สำหรับแนวทางการจองวัคซีนของแต่ละโรงพยาบาลนั้นได้มีแนวทางร่วมกันว่า ให้แต่ละโรงพยาบาลรับการจองวัคซีนจากประชาชนที่ประสงค์จะฉีดจริงๆ มีการแสดงหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ชัดเจน และไม่มีการเก็งกำไรจากการให้บริการนี้ เพื่อความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายภายใต้ข้อจำกัดของจำนวนวัคซีนที่ได้รับมา องค์การฯ ขอยืนยันว่า การดำเนินการจัดหาวัคซีนโมเดอร์นานั้น ได้มีการประสานงานเพื่อสั่งจองวัคซีนกับทางโมเดอร์นาในต่างประเทศมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2564 ซึ่งได้รับคำตอบว่าสามารถจัดส่งได้เร็วสุดในไตรมาส 1 ปี 2565 และได้สอบถามถึงตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการมาอย่างต่อเนื่อง จนเดือนเมษายนโมเดอร์นาจึงแจ้งว่าได้ให้บริษัทซิลลิคเป็นตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการ และวันที่ 15 พฤษภาคม บริษัทซิลลิคประกาศว่าการจัดซื้อวัคซีนโมเดอร์นาจำเป็นต้องจัดซื้อผ่านตัวแทนภาครัฐเท่านั้น ในที่นี้คือองค์การเภสัชกรรมเป็นไปตามเงื่อนไขของโมเดอร์นา หลังจากนั้นจึงได้มีการประชุมหารือร่วมกันระหว่างองค์การฯ สมาคมโรงพยาบาลเอกชน และบริษัทซิลลิคมาอย่างต่อเนื่อง มีการกำหนดเป็นแผนดำเนินงานและได้รับทราบร่วมกันว่า วัคซีนช่วงแรกไตรมาส 4 ปี 64 และไตรมาส 1 ปี 65 ได้เพียงประมาณ 5 ล้านโดสเท่านั้น 
    “ขอย้ำว่าการดำเนินการจัดหาวัคซีนโมเดอร์นาทุกขั้นตอนเป็นไปตามแผนที่ทุกฝ่ายเห็นชอบร่วมกัน แม้มีบางรายละเอียดต้องดำเนินการเพิ่ม การดำเนินงานยังเป็นไปตามกรอบเวลาของแผน ไม่ได้ช้ากว่าแผน บริษัทซิลลิคก็ยังคงยืนยันว่าจะส่งวัคซีนได้ตามกำหนด ส่วนที่มีการกล่าวหาว่ามีการดำเนินการล่าช้านั้นจึงไม่เป็นความจริง อย่างไรก็ตาม ขอขอบคุณทุกท่านที่ให้ความสนใจและคาดหวังว่าหากมีการดำเนินการทุกอย่างเร็วกว่านี้ วัคซีนจะได้เร็วขึ้น ต้องข้อเรียนย้ำว่า บริษัทซิลลิคยังคงยืนยันว่าจะส่งวัคซีนได้ตามกำหนดเดิมคือ ไตรมาส 4 ปี 64 และไตรมาส 1 ปี 65 และขอให้ติดตามข่าวสารความจริงเรื่องวัคซีนจาก 3 องค์กรหลัก คือ องค์การเภสัชกรรม สมาคมโรงพยาบาลเอกชน และบริษัทซิลลิคเท่านั้น” นพ.วิฑูรย์กล่าว
    ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีมีการเผยแพร่ข้อมูลในที่ประชุมคณะกรรมการวิชาการด้านวัคซีนป้องกันโควิด-19 ชนิดไฟเซอร์ ที่ประเทศไทยได้รับบริจาคจากสหรัฐอเมริกา จำนวน 1.5 ล้านโดส ว่า ในการประชุมวิชาการต้องการความเห็นที่หลากหลายเพื่อให้ได้ข้อสรุป ซึ่งกรรมการต่างออกความเห็น แต่ความเห็นนั้นไม่ได้เป็นทางการ ดังนั้นต้องดูบริบทด้วยว่าพูดอะไร การเอาเพียงบางส่วนไปเปิดเผยก็ไม่เป็นธรรมกับผู้เข้าประชุม อย่างไรก็ตาม ตนเข้าร่วมประชุมแต่ไม่ได้อยู่จนจบ ดังนั้นจึงไม่ทราบว่าใครพูดอย่างไรบ้าง และโดยมารยาทก็ไม่ควรพูด
    ดังนั้นกรณีนี้จึงไม่ใช่เอกสารหลุด แต่เป็นการเผยแพร่เอกสารที่ไม่จริง ไม่ถือว่าเป็นฉบับจริงของที่ประชุม เพราะวันนั้นเป็นการประชุมหลักๆ คือ ด้านวิชาการ 3 คณะ คือ คณะวิชาการใน พ.ร.บ.โรคติดต่อแห่งชาติ คณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค พ.ร.บ.ความมั่นคงด้านวัคซีน ของสถาบันวัคซีนแห่งชาติ และคณะกรรมการด้านวิชาการและวิจัยในการฉีดวัคซีน ซึ่งเน้นในด้านวิชาการ คนเข้าประชุมเยอะ ทั้งในที่ประชุมและประชุมผ่านระบบออนไลน์ เพื่อให้ความเห็นทางวิชาการที่หลากหลาย โดยเฉพาะที่จะมีวัคซีนตัวอื่นๆ เข้ามาในอนาคต เช่น ไฟเซอร์ ว่าจะฉีดให้กลุ่มเป้าหมายอย่างไร เพราะมีความรู้ใหม่ๆ เกิดขึ้นทุกสัปดาห์ จึงต้องเตรียมการล่วงหน้า
    นพ.โอภาสกล่าวว่า โดยกระบวนการ เมื่อการประชุมเสร็จสิ้น จะมีการเสนอรายงานการประชุมต่อคณะกรรมการที่ดูแลต่อไป ทั้งนี้ พอคณะที่เป็นทางการทั้ง 3 คณะ เห็นชอบแล้ว ก็ต้องเสนอต่อ ศบค.เพื่อเห็นชอบต่อไป "หากสังเกตดีๆ เหมือนเอกสารที่เขียนเอง อ่านเอง และเอกสารนั้นเหมือนเอาสไลด์การประชุมไปปะติด ยืนยันว่าไม่ใช่เอกสารจริงจากฝ่ายประชุม ทั้งนี้ ไม่ควรเผยแพร่ต่อ เพราะถ้าเผยแพร่ต่อก็จะเป็นเรื่องไม่จริงไปกันใหญ่"
    เมื่อถามถึงข้อเท็จจริงของวัคซีนไฟเซอร์และวัคซีนซิโนแวค ตามเอกสาร นพ.โอภาสกล่าวว่า เรานำเรียนหลายครั้ง โดยสัปดาห์ที่แล้วก็มีการเปิดเสวนา จาก นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์, นพ.นคร เปรมศรี,  นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร และ รศ.นพ.ทวี  โชติพิทยสุนนท์ ตรงกันว่า วัคซีนที่ไทยใช้นั้นผ่านการรับรองจากองค์การอนามัยโลก และผ่านการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แล้ว ซึ่งที่ผ่านมาใช้เพื่อควบคุมการระบาดใน จ.สมุทรสาคร และช่วยลดการติดเชื้อโควิด-19 ในกลุ่มบุคลากรสาธารณสุข และเป็นตัวอย่างให้เห็นจากการใช้งานจริง เช่น ที่ จ.ภูเก็ต ลดการติดเชื้อได้ร้อยละ 80-90 ส่วนที่ จ.เชียงราย ที่พบติดเชื้อโควิด-19 ก็พบว่าได้รับวัคซีนซิโนแวคครบ 2 เข็ม ลดโอกาสติดเชื้อได้มากกว่าบุคลากรที่ยังไม่ได้ฉีด หรือยังฉีดไม่ครบ 2 เข็มอย่างชัดเจน
    นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการวิชาการ มีอาจารย์แพทย์ ซึ่งแต่ละท่านเสียสละเวลาเข้ามาเพื่อให้ความเห็น เพื่อให้ทัศนะ เมื่อผ่านขั้นตอนนี้ไปแล้ว ก็ต้องไปพิจารณากันอีกหลายชั้นว่าจะปฏิบัติแบบไหน
    “ทั้งหมดเป็นเพียงความเห็นเท่านั้น เป็นความเห็นของคณะกรรมการคนหนึ่ง ในทั้งคณะ เมื่อเป็นรูปแบบของคณะกรรมการจึงไม่ได้ให้ใครคนใดคนหนึ่งตัดสินใจ ส่วนจะนำวัคซีนไฟเซอร์มาฉีดเป็นเข็มที่ 3 ให้บุคลากรทางการแพทย์หรือไม่ เป็นเรื่องวิชาการ ขอรอให้คณะกรรมการวิชาการได้ข้อสรุปออกมาก่อน” นายอนุทินกล่าว.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"