สธ. ยกระดับ 4 มาตรการสกัดโควิดพื้นที่กทม. หวังคุมโรคภายในเดือน ก.ค.นี้


เพิ่มเพื่อน    

5 ก.ค.64 - นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข แถลงแนวทางการควบคุมและป้องกันโรคโควิด-19 ในประเทศไทย ว่า การระบาดครั้งนี้เห็นตัวเลขผู้ป่วยเพิ่มขึ้นหลักพันระยะหนึ่งแล้ว เนื่องจากมีการกลายพันธุ์ของโรค อย่างไรก็ตาม การระบาดยังอยู่ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ส่วนต่างจังหวัด ก็เป็นผู้ที่เดินทางจากกรุงเทพฯ ทำให้เกิดการระบาดขึ้น แม้จะมีตัวเลขที่เพิ่มขึ้นแต่จังหวัดต่างๆ สามารถดูแลได้เป็นอย่างดีและสามารถนำผู้ป่วยเข้าสู่การรักษาได้ ทั้งนี้กระทรวงสาธารณสุขไม่มีอำนาจโดยตรงในการดูแลในพื้นที่กรุงเทพฯ แต่ด้วยความเป็นเมืองใหญ่ มีการติดเชื้อเพิ่มขึ้นมากจึงเข้ามาช่วยเหลือดูแลกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่การควบคุมโรค การบริหารจัดการเตียง และให้นโยบายวัคซีนโควิด-19 เพื่อการควบคุมโรคให้เร็วที่สุดและช่วยเหลือดูแลผู้ป่วยให้เร็วที่สุด

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า ในการรักษาพยาบาล สธ.สั่งการให้บุคลากรทางการแพทย์ พยาบาล เภสัชกร และเจ้าหน้าอื่นๆ ในพื้นที่ที่ยังมีการติดเชื้อจำนวนน้อย เข้ามาช่วยงานในโรงพยาบาลบุษราคัม ซึ่งมี 3,700 เตียง ดูแลผู้ป่วยอาการปานกลางไปจนถึงอาการมาก ซึ่งหากอาการรุนแรงมากก็จะมีการส่งต่อไปโรงพยาบาลสังกัดโรงเรียนแพทย์ หรือ รพ.ขนาดใหญ่ ขณะเดียวกัน ในสัปดาห์นี้ เราได้ร่วมกับ รพ.มงกุฎวัฒนะ เปิดเตียงไอซียูอีก 24 เตียง และร่วมกับภาคเอกชนเปิดเตียงไอซียู ที่ รพ.สนามมณฑลทหารบกที่ 11 อีก 58 เตียง โดยมีบุคลากรจากวชิระพยาบาล รพ.ธรรมศาสตร์ รพ.รามาธิบดี เข้าไปช่วยดูแลผู้ป่วย

นพ.เกียรติภูมิ ยังกล่าวอีกว่า กรมควบคุมโรค ได้เสนอมาตรการปรับวิธีการควบคุมโรคให้เหมาะสม เพื่อลดปริมาณผู้ติดเชื้อและให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลที่ดีขึ้น โดย 4 มาตรการใหม่ ได้แก่ 1.การค้นหาผู้ติดเชื้อใหม่ 2.ปรับระบบรักษาดูแลผู้ป่วย 3.มาตรการวัคซีน และ 4.มาตรการสังคม ซึ่งจะเป็นการควบคุมโรคที่จะใช้ในกรุงเทพฯ โดยทันที เพื่อพยายามควบคุมโรค ให้ได้ภายในเดือนก.ค.นี้ ในการลดจำนวนผู้ติดเชื้อลง ทั้งนี้ มีการใช้มาตรการแนวทางแยกกักที่บ้าน (Home isolation) ซึ่งจะมีระบบดูแลรักษาผู้ป่วย เราจะไม่ทอดทิ้งผู้ป่วย แต่หากมีอาการมากขึ้นก็จะส่งต่อตามระบบต่อไป

ในส่วนมาตรการวัคซีนกระทรวงสาธารณสุขประกาศนโยบายฉีดวัคซีน ใน 1.การฉีดวัคซีนกระตุ้น (booster dose) ให้กับบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าใน รพ. ผู้ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วยโดยตรง เพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันให้สูงขึ้นสำหรับการป้องกันไวรัส โดยเฉพาะสายกลายพันธุ์ หรือสายพันธุ์เดลต้า (อินเดีย) หรือสายพันธุ์อื่นๆ ที่เกิดขึ้นมา เพื่อธำรงรักษาระบบสาธารณสุขของประเทศให้เดินหน้าบริการให้ประชาชนต่อไปได้ แต่การฉีดวัคซีนกระตุ้นอย่างไร ก็ขอให้เป็นไปตามข้อมูลทางวิชาการในการใช้วัคซีน จากฝ่ายวิชาการที่มีอยู่ แต่จะให้เร่งให้ทันเวลา เพื่อเตรียมความพร้อมในการปฏิบัติงานให้เจ้าหน้าที่อย่างเต็มที่

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวอีกว่า นโยบายการฉีดวัคซีนให้กับผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป และผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง ย้ำว่า วัคซีนที่มีในเดือนก.ค.นี้ จะเทให้กับ 2 กลุ่มนี้ ให้ได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของวัคซีนที่ได้มา เพื่อลดอัตราการป่วยหนัก หรือการเสียชีวิต ส่วนการฉีดวัคซีนตามนโยบายปูพรมก็จะลดลง แต่จะฉีดในกลุ่มเฉพาะมากขึ้น มุ่งเน้นการฉีดเพื่อการควบคุมโรคในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรค ซึ่งจะวางมาตรการลงไป เช่น เฝ้าระวังการติดเชื้อ ฉีดวัคซีนเข้าไปในพื้นที่ระบาด เพื่อการควบคุมโรคให้ดีขึ้น ลดจำนวนการติดเชื้อ และลดการติดเชื้อในกลุ่มที่จะมีอาการรุนแรงและอาการหนักต่อไป อย่างไรก็ตาม เดือนต่อไป ก็จะฉีดวัคซีนให้กับประชาชนทั่วไปมากขึ้นเพื่อให้ครอบคลุมจำนวนประชากรให้มากที่สุด


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"