แก้วิกฤติโควิดกทม. หมอนิธิชง5ข้อ/กรณ์เสนอส่งเคสเหลืองไปตจว.


เพิ่มเพื่อน    

ฉุดไม่อยู่! ติดเชื้อรายใหม่​เฉียด​ 6 ​พัน​ราย​ ดับ​ 44​ ราย​ พบอีก 5 คลัสเตอร์ กระจาย 5 จังหวัด รพ.บุษราคัมเพิ่ม 1,500 เตียง รับเคส กทม.รวม 3,700 เตียง "อนุทิน" ยันทำเต็มที่ไม่ให้มีภาพผู้ป่วยอยู่บ้าน ผอ.รพ.บุษราคัมยอมรับการระบาดขยายวงกว้าง การส่งต่อผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงค่อนข้างยาก  กทม.เร่งตั้ง "ศูนย์พักคอย" 6 เขตให้ผู้ป่วยสีเขียวระหว่างรอส่งต่อ รพ. "ก้าวไกล" หนุน "Home Isolation" สวนดุสิตโพล-ซูเปอร์โพลบี้ ส.ส.-ส.ว.สละเงินเดือนช่วย ปชช.ที่เดือดร้อนจากโควิด
    เมื่อวันอาทิตย์ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. เผยแพร่ข้อมูลสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทยว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 5,916 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 5,871 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 4,071 ราย, มาจากการค้นหาเชิงรุก 1,800 ราย, มาจากเรือนจำ 39 ราย, เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 6 ราย ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อสะสม 283,067 ราย หายป่วยเพิ่มเติม 3,404 ราย หายป่วยสะสม 220,903 ราย อยู่ระหว่างรักษา 59,938 ราย อาการหนัก 2,147 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 616 ราย และมีรายงานผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม 44 ราย เป็นชาย 24 ราย หญิง 20 ราย อยู่ใน กทม. 30 ราย,   สมุทรปราการ 3 ราย, ยะลาและนครปฐม จังหวัดละ 2 ราย, ขอนแก่น ฉะเชิงเทรา ปทุมธานี นราธิวาส ประจวบคีรีขันธ์ พระนครศรีอยุธยา นครศรีธรรมราช จังหวัดละ 1 ราย ซึ่งในจำนวนผู้เสียชีวิต 44 รายนี้ มีชาวเมียนมาด้วย 1 ราย ทำให้มียอดผู้เสียชีวิตสะสม 2,226 ราย ขณะที่สถานการณ์โลก มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 184,233,949 ราย เสียชีวิตสะสม 3,987,322 ราย โดยประเทศไทยอยู่อันดับที่ 65 
    ส่วนจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดในประเทศ รายใหม่ วันที่ 4 ก.ค.2564 ใน 5 อันดับแรก ได้แก่ กทม. 1,498 ราย, ปทุมธานี 458 ราย, สมุทรปราการ 412 ราย,   สมุทรสาคร 395 ราย และชลบุรี 275 ราย สำหรับผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ จำนวน 6 รายนั้น เดินทางมาจากคูเวต 2 ราย, กัมพูชา 4 ราย โดยมี 1 ราย เดินทางผ่านช่องทางธรรมชาติ และอีก 3 ราย เดินทางผ่านด่านข้ามแดนถาวรทางบก 
    ทั้งนี้ ได้มีรายงานการพบการระบาดซึ่งเป็นคลัสเตอร์ใหม่ในประเทศเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ อาทิ บริษัทเครื่องใช้ในครัวเรือน อ.เมืองสมุทรสาคร พบผู้ติดเชื้อใหม่ 15 ราย, บริษัทพิมพ์บรรจุภัณฑ์ อ.พานทอง จ.ชลบุรี พบผู้ติดเชื้อใหม่ 16 ราย และแคมป์ก่อสร้าง อ.ไทรน้อย จ.นนทบุรี พบผู้ติดเชื้อใหม่ 28 ราย, โรงงานเสื้อผ้า อ.แม่สอด จ.ตาก พบผู้ติดเชื้อใหม่ 153 ราย และโรงเรียนแห่งหนึ่งใน อ.คลองท่อม จ.กระบี่ พบผู้ติดเชื้อใหม่ 14 ราย 
     ขณะที่จังหวัดที่ไม่พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 มีเพียง 4 จังหวัด ได้แก่ อ่างทอง ลำพูน ชุมพร และแม่ฮ่องสอน ส่วนจังหวัดที่พบผู้ติดเชื้อ 1-10 ราย (สีเขียว) มี 22 จังหวัด, ผู้ติดเชื้อ 11-50 ราย (สีเหลือง) มี 33 จังหวัด, ผู้ติดเชื้อ 51-100 (สีส้ม) มี 7 จังหวัด และผู้ติดเชื้อมากกว่า 100 ราย (สีแดง) มี 11 จังหวัด
บุษราคัมเพิ่ม 1.5 พันเตียง
    นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังตรวจเยี่ยมการขยายศักยภาพ รพ.บุษราคัม อิมแพ็ค ชาเลนเจอร์ ว่า สธ.มีความต้องการที่จะช่วยเหลือสถานการณ์เตียงของ กทม. แบ่งเบาผู้ป่วยจาก กทม. มาที่ รพ.บุษราคัม ให้มากที่สุด วันนี้จึงเดินทางมาตรวจเยี่ยมความพร้อมการขยายเตียงฮอลล์กลางอีก 1,500 เตียง จากที่ผ่านมาเปิดไปแล้ว 2 ฮอลล์ จำนวน 2,161 เตียง ทำให้เพิ่มศักยภาพรวมประมาณ 3,700 เตียง รพ.บุษราคัมดูแลผู้ป่วยในกลุ่มสีเขียวที่เริ่มมีอาการแล้วไปจนถึงกลุ่มสีเหลือง รองรับผู้ป่วยที่มีอาการดีขึ้นจากใน รพ.ต่างๆ ออกมา เพื่อทำให้ รพ.มีเตียงมากขึ้น โดยจะมีการสับเปลี่ยนหมุนเวียนบุคลากรแพทย์เพื่อเข้ามาช่วยดูแลผู้ป่วยในส่วนนี้ทุกๆ 2 สัปดาห์ และจะมีการเตรียมความพร้อมในเรื่องของเวชภัณฑ์ ยารักษาเพื่อรองรับสถานการณ์ โดยขณะนี้มีผู้ป่วยสะสม 5,000 ราย รักษาหายกลับบ้านแล้วกว่า 3,000 ราย มีรักษาอยู่ประมาณ 2,000 ราย และยังมีเตียงสำหรับผู้ป่วยสีแดงอีก 12 เตียง
    "วันนี้ กทม.และปริมณฑลจะมีเตียงเพิ่มขึ้นอีก 1,500 เตียง รวมกับที่เพิ่งเปิด รพ.สนามมณฑลทหารบกที่ 11 อีก 180 เตียง ซึ่งมีเตียงไอซียูประมาณ 58 เตียง และบริหารศักยภาพ รพ.สนามทุกแห่งให้ดีที่สุด ดังนั้น หากประชาชนที่มีปัญหาป่วยอยู่ที่บ้าน ก็ขอให้ติดต่อมาที่ รพ.บุษราคัม เพื่อรอการประสานเรื่องเตียง ดังนั้นหาก กทม.ได้รับแจ้งผู้ป่วยจาก 1669 ก็ไม่ต้องปฏิเสธ ขอให้ประสาน สธ. ที่เรามีเครือข่ายแพทย์ฉุกเฉินเพื่อจัดรถไปรับผู้ป่วยมาที่นี่ได้ เราต้องพร้อมรับเต็มที่เพื่อไม่ให้มีภาพผู้ป่วยเจ็บอยู่ที่บ้าน” 
    นายอนุทินกล่าวอีกว่า ส่วนผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวที่ยังไม่มีอาการ ทางกรมการแพทย์ได้ออกแนวทางแยกกักตัวเองที่บ้าน (Home Isolation) เพื่อบริหารสถานการณ์ให้มีความคล่องตัวมากที่สุด ส่วนกรณีการตรวจหาเชื้อโควิด-19 เราได้เพิ่มตามทรัพยากรให้เรามีอยู่อย่างเต็มที่ ส่วนของ กทม. ต้องฝากสำนักอนามัย กทม. เพิ่มจุดตรวจให้มากที่สุด สธ.พร้อมสนับสนุนเต็มที่ ขณะนี้จะพบว่าปัญหายังอยู่ที่ กทม.และปริมณฑล ต้องเน้นให้จุดนี้มีการทำงานร่วมมือกันให้มากที่สุด สธ.พยายามทำทุกวิถีทาง เพราะใน กทม.เราไปจัดการอะไรมากไม่ได้ แต่เราก็ไม่ยอมแพ้ เราก็อยู่ด้านหลังคอยรับภาระช่วยกัน อะไรที่ถ่ายมาให้เราได้เราก็ช่วยกัน คนละไม้คนละมือ
    ด้าน นพ.กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ ผอ.รพ.บุษราคัม กล่าวว่า ขณะนี้พื้นที่ กทม.และปริมณฑลมีการระบาดขยายวงกว้าง ดังนั้นการส่งต่อผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงจึงค่อนข้างเป็นไปได้ยาก ทั้งนี้ ตามนโยบายของ รมว.สธ. ที่อยากให้ผู้ ป่วยทุกประเภทได้รับการดูแล เราจึงขยายเตียงเพิ่งอีก 1,500 เตียง เพื่อรองรับผู้ป่วยที่เกินกำลังของ กทม.ส่งมาให้เราช่วยดูแล แม้ว่าภารกิจของเราจะรองรับผู้ป่วยกลุ่มสีเหลืองที่มีอาการปานกลางถึงรุนแรง แต่เราก็ต้องดูแลผู้ป่วยในทุกกลุ่ม โดยเฉพาะกรณีที่ กทม. ส่งต่อให้เรา เราก็จะสนับสนุนในส่วนนี้
    เมื่อถามว่า คนที่ทราบผลว่าติดโควิดสามารถวอล์กอินมารับเตียงได้หรือไม่ นพ.กิตติศักดิ์กล่าวว่า ข้อตกลงของ ศปก.ศบค.ร่วมกับ กทม.ที่แบ่งพื้นที่เป็น 6 กลุ่มเขต แต่ละเขตก็จะดูแลผู้ป่วยของตัวเอง บริหารสถานบริการทั้งภาครัฐ เอกชนและมหาวิทยาลัย เพื่อประสานเตียงระหว่างโซน แต่กรณีที่ประสานแล้วมีปัญหา หรือผู้ป่วยรอนานก็ให้ประสานมาที่ รพ.บุษราคัมได้ในเบื้องต้น ขณะนี้ยังไม่สามารถเปิดให้วอล์กอินเข้ามา เพราะมีประเด็นเรื่องของการคัดกรองผู้ป่วย เนื่องจากบางรายมีการใช้ชุดตรวจเร็วหาแอนติเจน ซึ่งไม่ได้เป็นมาตรฐาน  การบริหารจัดการในแต่ละฮอลล์ก็ต่างกัน หากเราไม่มีระบบที่ชัดเจน และหากทุกคนเดินเข้ามาก็จะเกิดความวุ่นวาย
    นพ.กิตติศักดิ์กล่าวว่า กทม.ร่วมกับ รพ.ต่างๆ พยายามขยายเตียงอยู่ ดังนั้น การบริหารผ่านกลุ่มเขตจะเป็นวิธีที่ดีที่สุด ซึ่งกรณีการส่งต่อผู้ป่วยที่มีอาการมาก เพื่อมาอยู่เตียง รพ.บุษราคัม ก็จะต้องพิจารณารายบุคคล ไม่สามารถ ดำเนินการได้ทุกคน
กทม.จัดตั้งศูนย์พักคอย 6 เขต
    พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) โพสต์เฟซบุ๊กชี้แจงแนวทางการทำงานของศูนย์พักคอยเพื่อรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ว่า การระบาดในแต่ละวัน มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ยังมีผู้ป่วยตกค้างอยู่ ถึงแม้ว่า กทม.ได้เพิ่มจำนวนเตียงเพื่อรองรับผู้ป่วยให้มากที่สุดแล้วก็ตาม สิ่งที่สำคัญที่สุดที่จะต้องทำอย่างเร่งด่วน เพื่อไม่ให้มีการแพร่ระบาดในครอบครัวและในชุมชนเพิ่มมากขึ้น คือ การแยกผู้ป่วยออกจากครอบครัว โดยการจัดตั้ง “ศูนย์พักคอย” ใช้เป็นสถานที่ให้ผู้ป่วยโควิดสีเขียวอยู่ระหว่างการรอส่งต่อโรงพยาบาล และใช้เป็นสถานที่สำหรับดูแลกลุ่มคนที่ต้องการการดูแลเป็นพิเศษระหว่างรอเตียง เช่น เด็กที่พ่อแม่ติดเชื้อที่ไม่มีคนในครอบครัวดูแล   “ศูนย์พักคอย รอการส่งต่อผู้ป่วยโควิดเข้ารักษาในโรงพยาบาล” หรือ Community Isolation กทม. มีแผนจะจัดตั้งให้ครบทั้ง 6 กลุ่มเขต และจะจัดตั้งให้มากที่สุดทุกเขตทั่วพื้นที่ กทม.    
    ผู้ว่าฯ กทม.ระบุว่า การดูแลผู้ป่วยโควิดที่ศูนย์พักคอยทุกแห่ง จะมีเจ้าหน้าที่ศูนย์บริการสาธารณสุขในพื้นที่ อาสาสมัครสาธารณสุข (อสส.) คอยดูแลผู้ป่วยประเมินอาการอย่างใกล้ชิด โดยมีอุปกรณ์ที่จำเป็น ยาและเครื่องมือทางการแพทย์ดูแลอาการผู้ป่วยโควิด “ศูนย์พักคอยฯ” เป็นสิ่งที่จำเป็นมากในสถานการณ์การแพร่ระบาดนี้ เพื่อเป็นสถานที่ที่ดูแลอาการเบื้องต้นให้กับผู้ป่วยโควิดสีเขียวในชุมชนหรือในพื้นที่ใกล้บ้าน เพื่อกักตัวผู้ป่วยออกจากคนในครอบครัว รอส่งต่อเข้ารักษาใน รพ.  สนาม หรือ รพ.หลัก เพื่อลดการติดเชื้อกันในครอบครัวที่จะทำให้แพร่ระบาดต่อไปในชุมชนหรือในที่ทำงานได้ 
    นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ โพสต์เฟซบุ๊กว่า ขณะนี้สถานการณ์การระบาดในบ้านเรา โดยเฉพาะกรุงเทพฯ และปริมณฑล ขณะนี้มันระบาดไปมาก ไปไกลแล้ว คนเดินไปเดินมาเราไม่รู้แล้วว่าใครเป็นใคร ใครมีเชื้อในตัวบ้างเป็นจำนวนมาก เราสมควรจัดลำดับความสำคัญ (priority)ของแผนกลยุทธ์ใหม่ โดย 1.คนที่สงสัยว่าได้สัมผัสหรือรับเชื้อและอยากตรวจต้องได้ตรวจ และด้วยปริมาณการตรวจที่อาจมีจำกัดเราควรลดการตรวจเชิงรุก ลง เพื่อให้การตรวจมีเพียงพอในคนที่สงสัยและมีอาการ ที่ รพ.จุฬาภรณ์ทำมาแต่แรกของการระบาด คัดกรองให้ดีทำได้ไม่มีปัญหา 2.เรื่องแรกต้องทำพร้อมๆ กับประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ว่าเมื่อไหร่ถึงไปโรงพยาบาล และการป้องกันตัวเองและครอบครัวทำอย่างไร ย้ำกันอีกบ่อยๆ ไม่ต้องเบื่อว่าเคยพูดแล้ว  
    3.คิดใหม่นอกกรอบบนพื้นฐานวิทยาศาสตร์ คิดใหม่ทำใหม่เรื่องการให้ยาให้เร็วป้องกันไม่ให้คนมีอาการหนัก ถ้าจะไม่เห่อตามฝรั่งคือ อาจต้องกล้าคิดและทำวิจัยไปให้สุดขั้ว (ไม่ใช่แค่ให้ยาต้านไวรัสเร็วขึ้นทุกคนในคนที่ตรวจพบผลบวก) ต้องให้ยาป้องกัน (prophylactic) แบบไข้หวัดใหญ่ (influenza) 4.น้องๆ หมออาจจะต้องปรับตัวกันในการทำงานข้ามความเฉพาะทางกันเพราะยามสงครามยามไม่ปกติความเชี่ยวชาญเฉพาะทางตามมาตรฐานฝรั่งใช้ไม่ได้ ในสนามรบ ยามศึกทหารราบ ทหารม้า ทหารเรือ ตำรวจ อาสาประชาชนจับปืนสู้โควิดได้ทุกคน และ 5.มาตรฐานโรงพยาบาลต่างๆ ที่มีไว้ตรวจกันตามฝรั่งในเวลาปกติก็เช่นกัน บางอย่างที่เคร่งครัดว่าทำไม่ได้ให้คิดเหตุผลกันใหม่แล้วปรับเพื่อคนไข้ได้
    นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า และอดีต รมว.การคลัง ออกจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรีเสนอประเด็นให้รัฐบาลพิจารณาปรับปรุง เพื่อการช่วยเหลือประชาชนที่ป่วยโควิด ดังนี้ 1.ในเมื่อเตียงในพื้นที่กรุงเทพฯ เต็มแล้ว ต้องมี "ระบบการส่งต่อคนไข้เคสสีเหลืองไปโรงพยาบาลต่างจังหวัด” อย่างมีประสิทธิภาพ 2.เพิ่มจำนวนบุคลากร รับสาย 1330, 1668, 1669, 1646 และไลน์ 1668.register, @sabaideebot เพื่อให้ผู้ป่วยหรือญาติสามารถลงทะเบียนข้อมูลจองเตียงได้สะดวกขึ้น 3.สายด่วนจำเป็นอย่างยิ่งต้องโทร.ฟรีทุกเบอร์ จากทุกเครือข่ายและจากทุกปลายทาง 4.เปิดให้ประชาชนลงทะเบียนแจ้งความประสงค์กลับไปรักษายังภูมิลำเนา เพื่อจะได้มีข้อมูลผู้ติดเชื้อที่ชัดเจน 5.รัฐบาลต้องดูแลการฉีดวัคซีนและจัดอุปกรณ์ป้องกันที่เหมาะสมให้กับกลุ่มอาสา สมัครกู้ภัย และมูลนิธิ ที่ทำหน้าที่รับ-ส่งผู้ป่วยอยู่ตลอดเวลา 6.รัฐบาลควรสร้างระบบติดตามอาการ ลงทะเบียนพิกัดจัดส่งอาหาร น้ำ และอุปกรณ์จำเป็นในการดูแลตัวเอง รวมถึงยาต้านไวรัส ให้ผู้ป่วยกักตัวที่บ้าน  
โพลหนุนสส.-สว.สละเงินเดือน
    นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคก้าวไกล แถลงข้อสั่งการต่อรัฐบาลกรณีการแพร่ระบาดของโควิดว่า สถานการณ์ปัจจุบันจำนวนผู้ป่วยที่รักษาอยู่เพิ่มขึ้นสะสมรวดเร็วมาก รัฐบาลจะปล่อยให้อยู่ สภาพเต่าคลานที่ไม่ปรับเปลี่ยนไม่ได้  ขอเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เร่งดำเนินการ ตามที่ได้สั่งการไว้ ทั้งการบริหารจัดการเพื่อคลี่คลายสถานการณ์ของระบบสาธารณสุข และการดูแลชีวิตของประชาชน ต้องเร่งดำเนินการมาตรการการกักตัวรักษาตนเอง หรือ Home Isolation โดยมีระบบการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) ที่ติดตามอาการ สั่งจ่ายยาโดยแพทย์ และมีระบบในการจัดส่งยาให้กับผู้ป่วยถึงบ้าน มีระบบติดต่อฉุกเฉิน (Emergency Call) และมีระบบจัดส่งอาหาร (Food Delivery) ให้กับผู้ป่วยตลอดระยะเวลาที่กักตัวรักษาตนเองที่บ้าน รัฐบาลควรเร่งตรวจเชิงรุกด้วย Rapid Antigen Test พร้อมกับอนุญาตให้ประชาชนได้เข้าถึงชุดตรวจที่ผ่านมาตรฐาน อย. เพื่อตรวจหาเชื้อด้วยตนเอง เพื่อแยกผู้ติดเชื้อมารักษา สกัดกั้นการระบาด
     สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อกรณี “ทำอย่างไร คนไทยจึงจะเอาชนะโควิด-19 ได้” กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,744 คน สำรวจวันที่ 28 มิ.ย.-1 ก.ค. 2564 พบว่า ส่วนใหญ่เห็นว่าโควิด-19 ทำลายเศรษฐกิจ คนตกงาน อยู่อย่างลำบาก ร้อยละ 91.95, ทำให้ทุกข์ใจ เครียด จิตตก กลัวไม่ได้รักษา บางคนคิดสั้น ร้อยละ 81.78, การแก้ปัญหาของรัฐบาลยังไม่ถูกทาง ร้อยละ 66.05, ควรเร่งจัดหาวัคซีนที่มีคุณภาพ ให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วม ร้อยละ 87.25,  อยากให้กรมควบคุมโรคเข้ามาเป็นผู้นำในการบริหารจัดการ ร้อยละ 67.04, อยากเห็นนักการเมืองทุ่มเททำงาน คำนึงถึงประชาชนเป็นหลัก ร้อยละ 86.84, สละเงินเดือน ช่วยเหลือประชาชนอย่างทั่วถึง ร้อยละ 82.39
    ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล เสนอผลสำรวจภาคสนามเรื่อง มาตรการปิดพื้นที่ควบคุมโรคที่ประชาชนต้องการ กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพในกรุงเทพมหา จำนวน 1,068 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 1- 4 กรกฎาคม 2564 โดยเมื่อถามถึงความรู้สึกของประชาชนต่อการเมืองช่วงโควิด-19 98.5% ต้องการให้ ส.ส.และ ส.ว. และนักการเมืองทุกระดับเสนอการเสียสละเงินเดือนและค่าตอบแทนช่วยประชาชนเดือดร้อนจากโควิดจนกว่าโควิด-19 จะหมดไป, 97.3% กังวลนักการเมืองฉวยโอกาสหาผลประโยชน์ทางการเมืองบนความทุกข์ของประชาชน และ 96.6% กังวลนักการเมืองปลุกปั่นอารมณ์ของประชาชนให้เกลียดชังกัน บิดเบือนทำลายกัน ไม่ช่วยเหลือกันแก้ปัญหาบ้านเมืองยามวิกฤติ
    นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ถึงกรณีนายมุนินทร์ พงศาปาน คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แสดงความคิดเห็นส่วนตัวว่าถึงเวลาที่ศาลต้องสร้างบรรทัดฐานทางกฎหมายในการเอาผิดกับผู้บริหารสูงสุดของรัฐในการบริหารจัดการสถานการณ์ฉุกเฉินที่ผิดพลาดจนก่อให้เกิดความเสียหายจากเรื่องโควิดทางกฎหมายสามารถเอาผิดนายกฯ ได้หรือไม่ ว่าตนเป็นอยู่ในรัฐบาล จึงไม่ขอออกความเห็น ถ้าท่านเห็นว่าอย่างไรก็ดำเนินการกันไป ถือเป็นความเห็นทางกฎหมาย.
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"