เรื่องที่ทั้งห่วงทั้งลุ้น


เพิ่มเพื่อน    

เมื่อวันที่ 1 ก.ค.ที่ผ่านมา รัฐบาลได้เริ่มทดลองเปิดประเทศ ผ่านการเปิดเกาะภูเก็ตรับนักท่องเที่ยวแบบไม่ต้องกักตัว หรือที่เรียกกันว่า ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ซึ่งหลังจากนี้ ก็จะยึดโมเดลจากภูเก็ต มาเปิดแหล่งท่องเที่ยวแห่งอื่นต่อไป

                แน่นอนการดำเนินนโยบายรูปแบบนี้ ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชนพอสมควร เนื่องจากปัญหาโควิด-19 ในประเทศยังรุนแรง รัฐบาลยังไม่สามารถจัดการแก้ไขปัญหาได้ มียอดติดเชื้อสูงระดับ 5-6 พันติดต่อกันมาหลายวัน และยังไม่มีท่าทีจะลดลง ดังนั้นก็ไม่แปลกที่มีหลายฝ่ายที่กังวลว่า การเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา จะกลายเป็นการนำเชื้อโควิดเข้ามาระบาดในประเทศเพิ่มเติมอีกหรือไม่

                อย่างไรก็ดี ในมุมการตัดสินใจของของรัฐบาล ก็อาจไม่มีทางเลือกอื่นมากนัก เพราะในตอนนี้สภาพเศรษฐกิจของไทยนั้นย่ำแย่มาก โดยเฉพาะภาคท่องเที่ยวและบริการ ที่ตอนนี้ผู้ประกอบการไม่สามารถที่จะดำรงชีวิตอยู่กันได้แล้ว ดังนั้นนี่จึงเป็นการเดิมพันที่ค่อนข้างสูง  หากจัดการดี คุมไวรัสได้ เศรษฐกิจของไทยก็ได้รับอานิสงส์ แต่หากไวรัสเกิดเอาชนะได้ และนำไปสู่ล็อกดาวน์และปิดประเทศอีกครั้ง ก็จะเป็นการซ้ำเติมเศรษฐกิจอย่างแน่นอน

                เมื่อมาพูดถึงภาวะเศรษฐกิจในช่วงนี้ ก็ต้องยอมรับว่า ค่อนข้างสาหัส มีที่พอจะเดินหน้าไปได้ และฟื้นตัวได้ดี คือ ภาพการผลิต และส่งออก ซึ่งทำยอดโตต่อเนื่อง จากคำสั่งซื้อในต่างประเทศที่เริ่มฟื้นตัวกัน แต่ในภาคเศรษฐกิจในประเทศยังค่อนข้างน่าห่วง โดยเฉพาะหลังรัฐบาลออกมาตรการควบคุมพื้นที่สีแดงเข้ม 6 จังหวัด 30 วัน ซึ่งประเด็นนี้กระทบขยายตัวเศรษฐกิจไทยในปี 2564 อย่างไม่ต้องสงสัย

                จากข้อมูลของ ธปท. ออกมาระบุว่า  ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในเดือน พ.ค. 2564 ได้รับผลกระทบชัดเจนขึ้นจากการแพร่ระบาดระลอกสามของโควิด-19 ส่งผลให้เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วปรับลดลงต่อเนื่องจากเดือนก่อนในทุกหมวดการใช้จ่าย และจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกสาม และมาตรการควบคุมการระบาดที่เข้มงวด ซึ่งส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจ รายได้ของภาคครัวเรือน และความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับลดลง แม้มาตรการภาครัฐจะช่วยพยุงกำลังซื้อภาคครัวเรือนได้บางส่วน

                เมื่อภาวะเศรษฐกิจเกิดปัญหาแบบนี้ก็น่าเห็นใจที่จะมีบุคคลบางกลุ่มขาดรายได้ และอาจจะต้องไปพึ่งพาเงินกู้  เพื่อรักษาชีวิตและธุรกิจให้อยู่รอดต่อไป  และเรื่องปัญหาหนี้สินนี่เองที่น่าห่วง เพราะจากข้อมูลล่าสุดของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ในช่วงไตรมาส 1 ที่ผ่านมา สถานการณ์หนี้สินของประชาชนที่ยังคงมีอัตราการเติบโตเร็วกว่าเศรษฐกิจไทยในภาพรวม โดยยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนไทยในตอนนี้ ขยับขึ้นมาอยู่ที่ 14.13 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 90.5% ต่อจีดีพี สูงสุดในรอบ 18 ปีตามสถิติที่มีการเก็บรวบรวมของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสูงขึ้นต่อเนื่องจากระดับ 89.4% ต่อจีดีพี ในไตรมาสที่ 4/2563

                ปัจจัยนี้จะทำให้ครอบครัวของไทยอ่อนแอลง โดยเฉพาะครัวเรือนที่มีรายได้ไม่สม่ำเสมอ หรือมีรายได้ลดลงจนมีผลกระทบต่อความสามารถในการชำระคืนหนี้ ซึ่งเรื่องนี้จะกลายเป็นปัญหาที่จะต้องมีการแก้ไขอย่างจริงจัง เพราะการมีหนี้สูงนั้น หมายถึงกำลังซื้อของคนจะลดลง เพราะเงินจะต้องถูกกันมาใช้ในการชำระหนี้ จะยิ่งไปกระทบการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างไม่ต้องสงสัย

                ขณะเดียวกัน หากผู้กู้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ กลายเป็นหนี้เสีย สิ่งที่ตามมาก็จะกระทบไปยังธุรกิจธนาคารและภาคการเงิน ซึ่งทำให้อ่อนแอ จะนำไปสู่การกระทบกับความเชื่อมั่นตามมาได้

                ส่วนการที่หวังว่า ภาครัฐจะมาช่วยแก้ไข ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก เพราะในส่วนรัฐบาลเอง ก็มีการกู้หนี้ยืมสินมาเยอะเช่นกัน จนหนี้สาธารณะทะลุเพดาน ซึ่งก็จะมีผลต่อภาคการคลังที่อ่อนแอเช่นเดียวกัน

                ทั้งหมดนี้ มีทั้งเรื่องที่ลุ้น เรื่องที่ห่วง ในภาวะเศรษฐกิจติดพิษไข้โควิด-19 จากนี้ก็คงจะต้องติดตามว่า ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลจะสามารถแก้ไขปัญหา และนำพาประเทศฝ่าวิกฤติครั้งนี้ไปได้หรือไม่.

ลลิตเทพ ทรัพย์เมือง


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"