ขยะชุมชนจากเทศบาลเมืองหัวหินขนมาทิ้งในพื้นที่ชั่วคราว หลังทิ้งขยะข้ามจังหวัดไม่ได้ ภาพ : 77ข่าวเด็ด
เมื่อสัปดาห์ก่อน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ได้แถลงข่าวด่วนเรื่องจะนำขยะชุมชนขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ในพื้นที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ จำนวน 21 อปท. มาทิ้งในพื้นที่บ่อทิ้งขยะของเอกชน ต.สระพัง อ.เขาย้อย จ.เพชรบุรี หลังจากได้รับแจ้งให้ยุติการนำขยะไปทิ้งที่บ่อบำบัดขยะรวมแบบฝังกลบภายในศูนย์การทหารราบค่ายธนะรัชต์ (ศร.) กองทัพบก อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 2564 เป็นต้นไป หากเป็นไปตามแผนขยะชุมชนจำนวนมหาศาลจะย้ายเส้นทางสู่จังหวัดเพชรบุรี
สิ่งที่จะเกิดขึ้น คือ ขยะของเทศบาลเมืองหัวหินวันละเกือบ 200 ตัน ขยะจากเทศบาลเมืองประจวบวันละ 45-50 ตัน และยังมี อบต.ต่างๆ อีกจำนวนมากขนส่งขยะเข้ามา
ก่อนวันที่ 1 ก.ค. ซึ่งเป็นเส้นตายการห้ามนำขยะมาทิ้งในพื้นที่บ่อขยะค่ายทหาร มีเสียงจากปลัดเทศบาลเมืองประจวบคีรีขันธ์ ที่นำขยะไปทิ้ง อ.เขาย้อยว่า เพราะเทศบาลได้ซื้อที่ดินสำหรับทำโครงการบำบัดขยะไว้หลายแปลง แต่ประชาชนในพื้นที่ไม่ยอมกลัวผลกระทบสิ่งแวดล้อม และงบประมาณจำกัด จัดเก็บภาษีไม่เป็นตามเป้า ส่วนปลัดเทศบาลเมืองหัวหินบอกว่า เทศบาลได้จัดหาพื้นที่กำจัดขยะแห่งใหม่ที่บ่อขยะของบริษัทเอกชน ที่อ.เขาย้อย เนื้อที่ 2,000 ไร่ ขณะนี้มีการคัดค้านก็ต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้า หาสถานที่บำบัดขยะชั่วคราว ทำให้เทศบาลมีภาระค่าใช้จ่ายกำจัดขยะสูงขึ้น
เครือข่ายอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมจ.เพชรบุรี ยื่นหนังสือคัดค้านนำขยะประจวบฯ มาทิ้งที่เขาย้อย ภาพ:เพชรภูมิ ฮอตนิวส์
การทะลักเข้ามาของขยะจากประจวบฯ ประกอบกับปัญหาขยะที่มีอยู่เดิมในจังหวัดเพชรบุรี เครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทสม.) จังหวัดเพชรบุรี และชาวบ้านในพื้นที่เขาย้อยเคลื่อนไหวคัดค้านการอนุญาตให้นำขยะ อปท.ในประจวบฯ มาทิ้งในพื้นที่ พร้อมกับเข้ายื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรีขอคัดค้านไม่ให้สภาองค์กรท้องถิ่นอนุญาตให้ดำเนินการ เมื่อวันที่ 28 มิ.ย.ที่ผ่านมา ก่อนเครือข่าย อส.ทสม. และองค์กรอนาคตเพชรบุรี เข้ายื่นหนังสือกับพ่อเมืองอีกครั้งวันที่ 1 ก.ค. ขอให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงการบรรทุกขยะข้ามจังหวัดเป็นการทำผิดกฎหมาย ซึ่งก็มีแนวโน้มที่ดี
ปฏิกิริยาจากฝั่งจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ขณะนี้ชะลอการขนส่งขยะมาบำบัดที่ จ.เพชรบุรี แต่ยังไม่ได้ยกเลิกสัญญาจากบริษทเอกชนผู้รับจ้าง ขณะที่ฝั่งประชาชนและกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม รณรงค์ในโลกออนไลน์ กดดันให้ยกเลิกแผนขนขยะข้ามจังหวัด
สุมล สุตะวิริยะวัฒน์ ประธานชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเพชรบุรี อดีต ส.ว.เพชรบุรี บอกว่า ที่ผ่านมา เพชรบุรีเป็นจังหวัดที่หอมหวาน เพราะมีการนำขยะจากสถานที่ต่างๆ มาทิ้งอย่างต่อเนื่อง มีกรณีปัญหาบ่อขยะสร้างมลพิษอย่างเช่น บ่อขยะของเอกชนที่ ต.ท่าแลง อ.ท่ายาง ประชาชนในพื้นที่ได้รับความเดือดร้อนรำคาญทั้งกลิ่นเหม็นจากกองขยะ รวมทั้งน้ำชะขยะที่ไหลออกจากพื้นที่บ่อขยะและน้ำเสียจากกองขยะที่ซึมลงใต้ดิน พบค่าโลหะหนักเกินค่ามาตรฐาน เป็นอันตรายต่อชีวิตและสุขภาพ รวมถึงวิถีเกษตรกรรม ชาวบ้านร้องเรียนเทศบาลตำบลท่าแลง แต่ไม่ได้รับการแก้ไข จึงไปยื่นฟ้องศาลปกครองเพชรบุรี ชาวบ้านในพื้นที่ต่อสู้ ศาลใช้เวลาไต่สวนยาวนาน ในที่สุดวันที่ 31 มี.ค.ที่ผ่านมา มีคำพิพากษาว่านายกเทศมนตรีตำบลท่าแลงออกใบอนุญาตให้เอกชนประกอบกิจการบ่อขยะโดยมิชอบ สั่งถอนใบอนุญาตและฟื้นฟูแหล่งน้ำใน 90 วัน จากนั้นผู้ว่าฯ สั่งให้ออกจากการปฏิบัติหน้าที่ ขณะนี้ครบ 3 เดือนแล้วภาคประชาชนจะติดตามผลการตรวจสอบการฟื้นฟูต่อไป
“ แม้วันนี้บ่อขยะท่าแลงจะไม่มีขยะใหม่เข้ามาในพื้นที่ แต่ภูเขาขยะกองมหึมามากกว่า 5 แสนตัน ยังกระทบความเป็นอยู่ สุขภาพอนามัย และคุณภาพชีวิตของประชาชนต่อเนื่อง อีกกรณีเป็นโรงงานแปรรูปขยะ ที่ต.หนองชุมพลเหนือ อ.เขาย้อย มีการลักลอบนำขยะอิเล็กทรอนิกส์มากองทิ้งไว้จำนวนมาก ส่งกระทบสิ่งแวดล้อม ต่อมาชาวบ้านทราบว่าโรงงานขอเปลี่ยนเป็นโรงกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้ชาวบ้านมีการคัดค้านและร้องเรียนอุตสาหกรรมจังหวัดเพชรบุรี มีการดำเนินคดีตามกฎหมาย แต่ซากขยะพิษในเขาย้อยยังไม่ถูกจัดการอย่างเหมาะสม ทั้งที่พื้นที่นี้เป็นแหล่งทำนาขนาดใหญ่ “ สุมล สะท้อนปัญหาเมืองเพชรต้องแก้ไขต่อไป
ส่วนความกังวลต่อการนำขยะชุมชนจาก อปท. 21 แห่งประจวบฯเข้ามาในเพชรบุรีนั้น สุมล ยืนยันว่า ปริมาณขยะมหาศาลเพชรบุรียิ่งตายหนัก โดยให้ข้อมูลสนับสนุนว่า ขยะ 200 ตันต่อวัน ต้องใช้รถขนส่งกว่า 10 คันต่อวัน ขนส่งหลายรอบ ด้วยระยะทางไกลไปกลับกว่า 400 กิโลเมตร เส้นทางผ่านอ.ชะอำ อ.บ้านลาด อ.ท่ายาง อ.เมือง และอ.เขาย้อย มีชุมชน มีแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ
“ การขนขยะหรือสิ่งปฏิกูลข้ามจังหวัดหนึ่งมาอีกจังหวัด จะมีกลิ่นรบกวน มีน้ำขยะและเศษขยะหลุดลอดระหว่างทาง สร้างความเดือดร้อนรำคาญและทัศนะที่ไม่ดีต่อพื้นที่ท่องเที่ยว อีกข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นที่ จ.ประจวบฯ เทศบาลเมืองประจวบว่างจ้างบริษัท ขนส่งขยะไปบำบัดที่บ่อขยะค่ายธนะ รัชต์ แต่ถูกทักท้วงให้ใช้รถขยะที่มีมาตรฐาน แต่เทศบาลไม่ทำ แต่กลับเปลี่ยนสถานที่ทิ้งขยะ “ สุมล กล่าว
สุมล สุตะวิริยะวัฒน์ ประธานชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเพชรบุรี ภาพ:เพชรภูมิ ฮอตนิวส์
อดีต ส.ว.จ.เพชรบุรี ยังระบุด้วยว่า โครงการขนขยะข้ามจังหวัดที่เกิดขึ้น เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ขัดต่อ พรบ.สาธารณสุข พ.ศ.2535 และแก้ไขเพิ่มเติม , พ.ร.บ.รักษาความสะอาด และความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535 และแก้ไขเพิ่มเติม อีกทั้งขัดประกาสกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การจัดการขยะมูลฝอย พ.ศ.2560 มองว่า ผู้ว่าฯ เพชรบุรี มีอำนาจสูงสุดต้องเร่งสั่งการตรวจสอบ ดำเนินคดีตามกฎหมายและพิจารณาสั่งเพิกถอนใบอนุญาตด้วย
ประธานชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเพชรบุรี เสนอทางออกในการจัดการขยะอย่างยั่งยืนทั้งใน จ.เพชรบุรี และ จ.ประจวบฯ ว่า ต้องยึดหลักความรับผิดชอบ ขยะในพื้นที่ใคร เจ้าของพื้นที่ต้องกำจัดขยะด้วยตัวเอง ไม่ใช่นำขยะมาทิ้งพื้นที่คนอื่น ไม่ถูกต้อง รวมถึงต้องสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนร่วมมือกันเรื่องการลดและคัดแยกขยะ สร้างกลไกให้ชุมชน และ อบต.จัดการขยะยั่งยืน หน่วยจัดการขยะที่ดีที่สุดต้องเริ่มที่บ้าน ที่ตัวเรา ต้องตระหนักถึงหลัก 3 R ขยะเป็นทรัพยากรสร้างรายได้ สร้างพลังงาน นอกจากนี้ ทุกฝ่ายช่วยกันสอดส่องเฝ้าระวัง และตรวจสอบหน่วยงานภาครัฐ หากพบว่าละเลยการปฏิบัติหน้าที่ มีการลักลอบทิ้งขยะต้องดำเนินการตามกฎหมายอย่างจริงจัง