ทายาทการเมือง ราชครูรุ่น 4 ลุยแก้ รธน.-รื้อระบอบประยุทธ์
การเคลื่อนไหวเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรายังคงเกิดขึ้นต่อเนื่อง แม้ขณะนี้จะอยู่ในช่วงคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐสภา กำลังจะพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคประชาธิปัตย์ที่เสนอให้แก้ไขระบบการเลือกตั้ง ส.ส. อันเป็นร่างเดียวที่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา แต่ล่าสุดร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ได้มีการไปยื่นต่อประธานรัฐสภาแล้วเมื่อ 30 มิ.ย.ที่ผ่านมา อันเป็นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มีประชาชนเข้าชื่อรวม 150,921 ชื่อ ที่เป็นการเคลื่อนไหวของ กลุ่ม Re-Solution ซึ่งเป็นการรวมตัวของ 4 กลุ่มหลัก คือ คณะก้าวหน้า-พรรคก้าวไกล-กลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า Conlab ที่มี พริษฐ์ วัชรสินธุ์ หรือไอติม เป็นผู้ก่อตั้งกลุ่ม และโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) เพื่อเคลื่อนไหวให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
โดยก่อนหน้านี้เมื่อช่วง ก.ย.2563 กลุ่มไอลอว์เคยเป็นแกนนำในการยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ที่มีประชาชนร่วมลงชื่อร่วมแสนคน แต่สุดท้ายก็ไม่ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมรัฐสภาวาระแรก
ทั้งนี้ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราดังกล่าวของกลุ่ม Re-Solution เป็นการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญใน 4 ประเด็นหลัก คือ 1.เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้รัฐสภาใช้ระบบสภาเดี่ยว โดยยกเลิกวุฒิสภา เหลือแค่สภาผู้แทนราษฎร 2.ยกเลิกแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนปฏิรูปประเทศ 3.การโละศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระในปัจจุบัน โดยเสนอแก้ไขเรื่องกระบวนการสรรหา-คัดเลือก รวมถึงอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ เป็นต้น 4.เสนอยกเลิกมาตรา 279 เพื่อล้างมรดกคณะรัฐประหาร คสช.
ธิษะณา ชุณหะวัณ หนึ่งในแกนนำคณะ Re-solution ที่มาจากกลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า-CONLAB กล่าวถึงทิศทางการเคลื่อนไหวเพื่อแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้ และแน่นอนด้วยความที่ธิษะณาคือบุตรสาวไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ อดีต ส.ว.นครราชสีมา-อดีต ส.ส. และอดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์-อดีตนักวิชาการ เลยทำให้เราถามถึงเรื่องความเป็นทายาทการเมืองกลุ่มซอยราชครู ที่เป็นอดีตกลุ่มการเมืองที่เคยมีบทบาทสำคัญในประวัติศาสตร์การเมืองไทยหลายช่วงตอน ตั้งแต่ยุคจอมพลผิน ชุณหะวัณ ส่วนเธอจะตอบเราว่าอย่างไร ประเด็นนี้เราคุยกันหลังเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
เริ่มที่ ธิษะณา-แกนนำคณะ Re-solution ย้ำว่า ข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็น โละวุฒิสภา ให้มีสภาเดี่ยว-ปฏิรูปองค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญ-ยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีทั้งหมด อยู่ในแนวทางหลัก คือ มุ่งปลดล็อกสิ่งที่อดีต คสช.วางการสืบทอดอำนาจไว้ในรัฐธรรมนูญ เช่น อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่เกิดขึ้นยุค คสช. ซึ่งต่อมาอดีต สนช.จำนวนมากก็ได้รับการเสนอชื่อให้เป็นสมาชิกวุฒิสภาชุดปัจจุบัน ที่มาเลือกพลเอกประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี รวมถึงการวางกลไกกำจัดฝ่ายตรงข้ามผ่านองค์กรอิสระ ศาลรัฐธรรมนูญ เช่น การตัดสิทธิการเมืองฝ่ายตรงข้ามเช่นนักการเมืองฝ่ายค้าน
สิ่งเหล่านี้คือกลไกสำคัญในการวางแผนสืบทอดอำนาจ ที่ทำให้เกิดรัฐบาลรวมอำนาจ โดยแม้ว่าพลเอกประยุทธ์จะออกจากอำนาจไปแล้ว แต่กลไกที่วางไว้จะทำให้เกิดการสืบทอดอำนาจได้อีก เช่น การผลักดันให้บุคคลอื่นขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีแทนพลเอกประยุทธ์ ซึ่งก็จะยังเป็นรัฐบาลที่มีโครงสร้างรวมอำนาจ ต่อให้เป็นคนดี แต่มาอยู่ในตำแหน่งที่ยังมีโครงสร้างแบบเผด็จการ มันก็ยังมีผลเสียอยู่ดี เพราะระบบตามรัฐธรรมนูญไม่เปิดช่องให้มีการตรวจสอบถ่วงดุล
เมื่อถามลงรายละเอียดบางประเด็นที่เสนอแก้ไขรัฐธรรมนญ เช่น เรื่องการให้มีสภาเดี่ยว เมื่อถามถึงว่าการเมืองไทยใช้ระบบสภาคู่ สภา กับวุฒิสภามาหลายสิบปี โดยบทบาทที่ผ่านมา ส.ว.ก็เป็นสภาพี่เลี้ยง สภากลั่นกรองให้กับสภาล่าง หากยกเลิกวุฒิสภาจะมีผลอะไรหรือไม่ ธิษะณา ที่จบปริญญาโทสาขากฎหมายมหาชนระหว่างประเทศจาก School of Oriental and African Studies (SOAS) University of London ประเทศอังกฤษ ยืนยันว่า หากต้องการให้มีผู้เชี่ยวชาญมาอยู่ในรัฐสภา มาช่วยกลั่นกรอง ตรวจสอบ สามารถใช้ช่องทางคณะกรรมาธิการที่อยู่ในระบบของรัฐสภาได้ โดยไม่จำเป็นต้องมีสภาสูง
....ปัญหามันไม่ได้อยู่ที่ว่ามี ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้ง เพราะอย่าง House of Lords (สภาสูงในรัฐสภาแห่งสหราชอาณาจักร) ก็มาจากการแต่งตั้งเช่นกัน แต่ House of Lords ไม่มีอำนาจไปเลือกนายกรัฐมนตรี ดังนั้นอำนาจกับที่มาต้องสมดุลกัน แต่ของไทยมันกลับวิปริต เพราะ ส.ว.มีอำนาจล้นมือแต่ไม่มีที่มาที่ยึดโยงกับประชาชน มันมีผลทำให้การโหวตเรื่องต่างๆ เลยเข้าข้างผู้มีอำนาจตลอด ที่เราก็รู้กันดีว่าใครคือคนที่ทำให้ ส.ว.ชุดนี้เข้ามาอยู่ในอำนาจ
สำหรับข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญในมาตราเกี่ยวกับ ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ เพราะจะเห็นได้ว่า ศาลรัฐธรรมนูญ การวินิจฉัยตัดสินคดีในช่วงที่ผ่านมาก็จะเข้าข้างผู้มีอำนาจมาตลอด เช่น คดี ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์-เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ที่มีการยื่นคำร้องให้ศาลวินิจฉัยว่าสมาชิกภาพ ส.ส.และความเป็นรัฐมนตรีของ ร.อ.ธรรมนัส สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ (กรณีเคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายอันถึงที่สุดว่าได้กระทำความผิดในความผิดฐานเป็นผู้ผลิต นำเข้า ส่งออก หรือผู้ค้าซึ่งยาเสพติด ของศาลออสเตรเลีย) ซึ่งคดีการลักลอบนำเข้าส่งออกยาเสพติด เป็นคดีอาญาที่มีโทษรุนแรงถึงขั้นประหารชีวิต ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดฯ ของประเทศไทย พ.ศ.2534 โดยแม้จะกระทำการนอกราชอาณาจักรไทยก็ยังผิดกฎหมายยาเสพติดอยู่ดี แต่ศาลรัฐธรรมนูญได้ยกคำร้อง เพราะเห็นว่าเป็นคำตัดสินของศาลต่างประเทศ โดยไม่ได้วินิจฉัยในประเด็นที่ยื่นไป ที่มันไม่ make sense ไม่เข้ากับหลักกฎหมายที่เคยใช้ในประเทศเรา เหมือนกับตัดสินตามนโยบายที่คนสั่งมามากกว่า
...หรือกรณีคำร้อง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กรณีใช้ประโยชน์พักอาศัยบ้านพักทหาร ก็ชัดเจนว่าตัดสินเข้าข้างผู้มีอำนาจ โดยใช้ระเบียบของกองทัพบกมาวินิจฉัยแทนการตัดสินตามรัฐธรรมนูญในประเด็นข้อกฎหมายตามรัฐธรรมนูญที่ฝ่ายค้านยื่นคำร้องเข้าไปให้ศาลวินิจฉัย ทั้งที่รัฐธรรมนูญมาตรา 5 บัญญัติว่า รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับ หรือการกระทำใด ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ บทบัญญัติหรือการกระทำนั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้ ดังนั้น ระเบียบ-กฎของกองทัพบก หากขัดกับรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่ควรนำมาตัดสิน แต่ควรนำมาตราที่ไม่ได้ขัดกับรัฐธรรมนูญมาตราดังกล่าวมาตัดสินมากกว่า เพราะเป็นศาลรัฐธรรมนูญที่ไม่ใช่ศาลชั้นต้น
ทาง Re-solution และประชาชนที่ร่วมลงชื่อแก้รัฐธรรมนูญ เสนอแนวทางเปลี่ยนแปลงที่มา-องค์ประกอบของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เช่น ให้ทางสภา ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน เข้ามาร่วมเป็นฝ่ายสรรหาบุคคลที่จะถูกเสนอชื่อเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หรือการให้ประชาชนสามารถร่วมลงชื่อถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้โดยใช้ 20,000 รายชื่อ ตลอดจนการให้มีผู้ตรวจการศาล แต่ผู้ตรวจการศาลไม่ได้มีอำนาจเข้าไปแทรกแซงคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ แต่จะเป็นการตรวจการเรื่องการทุจริต ตรวจเรื่องงบประมาณ รวมถึงตรวจคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่วินิจฉัยคดีต่างๆ แล้วเสร็จ เพื่อดูว่ามีประเด็นใดหรือไม่ที่อาจขัดต่อข้อกฎหมาย เป็นต้น
- หากประชาชนถามว่า ร่างแก้ไข รธน.ที่เสนอไป ถ้าแก้ไขแล้ว ประชาชนได้ประโยชน์อะไร?
ก็ได้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ได้รัฐบาลที่มาจากประชาชน เพื่อประชาชน โดยประชาชน โดยประเด็นที่นำเสนอในการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่บอกว่า "รื้อระบอบประยุทธ์" ก็คือเป็นการรื้อในสิ่งที่วางไว้ในระบอบการปกครอง เช่น จากที่ไม่มีการแบ่งแยกอำนาจ ก็ทำให้เกิดการกระจายอำนาจ ส่วนที่มีประชาชนร่วมลงชื่อจำนวนมาก มองว่าเกิดจากหลายปัจจัย โดยที่เห็นชัดคือหลังศาลรัฐธรรมนูญยกคำร้องคดีของธรรมนัส พรหมเผ่า ตอนนั้นคนก็เริ่มมีการแชร์โพสต์ต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้กันมากตอนที่เริ่มทำแคมเปญดังกล่าว
ต่อมาก็มีเหตุการณ์ต่างๆ เช่น การล็อกดาวน์ การออกมาตรการต่างๆ ช่วงโควิด ทำให้ประชาชนเข้ามาร่วมลงชื่อมากยิ่งขึ้น อย่างประสบการณ์ส่วนตัวจากการลงพื้นที่ไปรวบรวมรายชื่อประชาชน พบว่ามีประชาชนจำนวนมากที่บอกว่าเคยเลือกพรรคพลังประชารัฐตอนเลือกตั้ง แต่ช่วงโควิดเขาบอกว่าเขาเจอภาวะวิกฤติมาก ไม่ไหวแล้วจริงๆ อยากฉีดวัคซีน อยากกลับมาทำงาน ต้องการกลับมาใช้ชีวิตแบบปกติได้ ไม่ได้อยากรอรับเงินเยียวยาช่วยเหลือ ทุกอย่างเป็นผลกระทบที่ทำให้คนมาร่วมลงชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ประชาชนที่มาร่วมลงชื่อครั้งนี้ก็มีทุกกลุ่ม ก็มีคนกลุ่มที่อาจจะเรียกว่า "รอยัลลิสต์" ก็ได้ คือใส่เสื้อแสดงสัญลักษณ์เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ก็มาร่วมลงชื่อ โดยเขาถามก่อนว่า "การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้มีการแตะหมวด 1 และหมวด 2 ด้วยหรือไม่" โดยเราก็บอกเขาไปตามตรงว่าการเสนอครั้งนี้ไม่ได้แตะหมวด 1 หมวด 2 โดยคนที่มาร่วมลงชื่อเขาก็ทราบดีในประเด็นต่างๆ ที่เสนอ เช่น เรื่องของสมาชิกวุฒิสภาที่พลเอกประยุทธ์เสนอแต่งตั้งแล้ว ส.ว.ก็มาโหวตเลือกพลเอกประยุทธ์เป็นนายกฯ เราพูดแค่นี้ ทุกคนก็เข้าใจ บางคนเซ็นเลยด้วยซ้ำ คือแค่พูดว่าเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อยกเลิก ส.ว. เขาก็เซ็นชื่อแล้ว ประชาชนรู้เรื่องรัฐธรรมนูญดีกว่าที่คิด
- คาดหวังกับการเคลื่อนไหวแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้แค่ไหน เพราะรอบที่แล้ว ตอนไอลอว์เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็มีคนร่วมลงชื่อเป็นแสนคน ก็ยังไม่ผ่าน มารอบนี้จะเหนื่อยเปล่าหรือไม่หากไม่ผ่านตั้งแต่วาระแรก?
ไม่คิดว่าที่ทำกันมาจะเหนื่อย เพราะการได้รณรงค์ให้ประชาชนได้รับรู้ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญมีความสำคัญกับเศรษฐกิจ ปากท้องของประชาชน รวมถึงเหตุผลต่างๆ เช่น การต้องยกเลิกแผนยุทธศาสตร์ชาติ อย่างน้อยเป็นการให้ความรู้กับประชาชนว่าการที่ได้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ การจะได้มาซึ่งรัฐบาลที่มีการกระจายอำนาจ การมีประชาธิปไตย และเรื่องความเท่าเทียมสำคัญอย่างไร
- ในส่วนของการลงมติของ ส.ว. คาดหวังมากแค่ไหน เพราะต้องอาศัยเสียงเห็นชอบจาก ส.ว.ด้วยไม่น้อยกว่า 84 เสียง ร่างแก้ไข รธน.ถึงจะผ่านวาระแรกได้ แต่ที่เสนอแก้ไขก็ไปแตะ ส.ว.โดยตรง เช่น ให้โละ ส.ว.ชุดนี้ออกไปทั้งหมด?
ก็ไม่ได้คาดหวังมาก พูดกันตามตรง อย่างตอนที่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับไอลอว์ ก็มี ส.ว.ลงมติสนับสนุน ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เสนอให้มีการตัดอำนาจของ ส.ว.ในการโหวตนายกฯ ก็มี ส.ว.ลงมติปิดสวิตช์ตัวเอง 60 คน แต่ในการประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา 13 ร่าง ที่มีทั้งของพลังประชารัฐ เพื่อไทย พรรคร่วมรัฐบาล โดยบางร่างมีการเสนอให้ตัดอำนาจ ส.ว.โหวตนายกฯ ก็ปรากฏว่ามี ส.ว.ลงมติให้มีการปิดสวิตช์อำนาจดังกล่าวเหลือแค่กว่า 30 คน
คิดว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญร่างดังกล่าวไม่น่าจะได้ผ่านการพิจารณาเข้าไปวาระสอง อย่างไรก็ตาม ก็อยากให้ ส.ว.คำนึงถึงความต้องการของประชาชนและความยั่งยืน เพราะหากคิดแค่ว่าช่วงชีวิตจะได้เสวยสุขในอำนาจ แต่มันก็ไปตัดทอนช่วงชีวิตของคนรุ่นหลัง คือยังไง เราก็ต้องยืมมือ ส.ว.ให้ตัดอำนาจตัวเอง เพราะอย่างร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคร่วมรัฐบาลที่เสนอไปตอนพิจารณา 13 ร่าง ร่างที่เสนอไปก็เพียงแค่ตัดอำนาจ ส.ว.ในการโหวตเลือกนายกฯ ไม่ได้เสนอให้ถึงกับล้มวุฒิสภา ส.ว.ก็ยังลงมติเอาด้วยน้อยกว่าตอนลงมติร่างของไอลอว์เลย แต่อย่างน้อยก็ได้เป็นการรณรงค์ให้เห็นถึงการต่อสู้ของภาคประชาชนที่เราทำร่วมกัน และคิดว่าเราจะไม่ยอมแพ้จนกว่าจะได้รัฐธรรมนูญฉบับที่มาจากประชาชน เราก็จะรณรงค์ต่อไปเรื่อยๆ
...การลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราเมื่อ 24 มิ.ย.ที่ผ่านมา จะเห็นแล้วว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทุกร่างถ้าไม่มี ส.ว.โหวตปัดตกก็แทบจะผ่านเกือบทุกร่าง เพราะ ส.ส.ส่วนใหญ่โหวตผ่านให้เกือบหมดทุกร่าง แต่ที่ ส.ว.ยอมลงมติผ่านให้แค่ 1 ร่าง คือร่างที่เสนอให้แก้ไขระบบเลือกตั้งเป็นบัตรสองใบ แต่ร่างอื่น ส.ว.โหวตปัดตกหมด เพราะฉะนั้นเราก็สังเกตได้ว่าอะไรคือกลไก ปัญหา อะไรคือสิ่งที่ทำให้เกิดการหยุดชะงักของกระบวนการนิติบัญญัติ ซึ่งก็คือวุฒิสภา-สภาสูง ที่มาจากกลุ่ม คสช.
- หากร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เสนอไปไม่ผ่าน ถูกตีตกไปวาระแรก คิดว่าประชาชนหนึ่งแสนกว่ารายชื่อที่ร่วมลงชื่อ จะรู้สึกอย่างไร?
มันก็จะเป็นแรงผลักดันให้กับมวลชนในการต่อสู้เพื่อที่จะได้รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ซึ่งยุทธวิธีในการเคลื่อนไหวมันทำได้หลายแบบ โดยเฉพาะในสมัยนี้ที่สามารถทำได้ผ่านสังคมออนไลน์ ทำได้ผ่านการรณรงค์เข้าชื่อ สามารถทำได้ผ่านบนท้องถนน การเดินขบวนบนท้องถนน มันทำได้ทุกอย่าง มีหลายวิธีมากในการเคลื่อนไหวและการทำแคมเปญ คิดว่าทุกยุทธวิธีสำคัญเท่าๆ กัน โดยไม่ว่าจะเป็นประชาชนในสาขาอาชีพใด ก็สามารถร่วมเคลื่อนไหวทางการเมืองได้ทั้งสิ้น และคิดว่ามวลชนก็พร้อมที่จะขับเคลื่อนไปด้วย
- ประชาชนจำนวนไม่น้อยอาจสงสัยว่า ประเทศมีปัญหาหลายอย่างที่สำคัญกว่า ทั้งเรื่องโควิด ปัญหาเศรษฐกิจ จนไม่เข้าใจว่าทำไมต้องมาเคลื่อนไหวรณรงค์เรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญในช่วงเวลานี้?
ก็อย่างการโหวตร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี หากเราอยากให้ตัดงบของกระทรวงกลาโหม มาเพิ่มให้กับงบประมาณของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อนำเงินไปซื้อวัคซีนหรือนำไปเยียวยาประชาชน หากตัวระบบไม่เปิดโอกาสให้มีการตรวจสอบถ่วงดุล โดย ส.ว.หรือ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลยังคงโหวตให้ผ่านอยู่ตลอดเวลา แล้วจะเป็นการโหวตในรัฐสภาที่สะท้อนความต้องการของประชาชนได้อย่างไร ในเมื่อที่ผ่านมามันไม่เคยได้สะท้อน อย่างการจัดสรรงบของกระทรวงกลาโหม ที่ได้จำนวนมาก เมื่อเทียบกับของกระทรวงสาธารณสุข(153,940 ล้านบาท) ที่กระทรวงกลาโหมเสนอไปประมาณ 203,282 ล้านบาท ทั้งที่ประเทศอยู่ในสภาพเจอปัญหาโควิด
ธิษะณา-ราชครูรุ่น 4
การเมืองยุคศักดินาหมดไปแล้ว
สำหรับการเมืองไทยแล้ว "กลุ่มซอยราชครู" ถูกบันทึกในประวัติศาสตร์การเมืองไทยไว้หลายช่วงตอน ที่หากลองค้นหาดูใน Google แค่พิมพ์คำว่า "กลุ่มซอยราชครู" ก็จะมีออกมาให้เลือกอ่านจำนวนมาก
สำหรับ "กลุ่มการเมืองซอยราชครู” แบ่งออกเป็นยุคแรก ก็คือยุคของจอมพลผิน ชุณหะวัณ อดีตผู้นำรัฐประหาร พ.ศ.2490, อดีตผู้บัญชาการทหารบก ส่วนยุคสอง ก็คือยุคของพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ อดีตนายกรัฐมนตรี อดีตหัวหน้าพรรคชาติไทย-พรรคชาติพัฒนา ที่ถูกทำรัฐประหารในปี 2534 โดย รสช. และในยุคนี้ยังมี พล.ต.อ.ประมาณ อดิเรกสาร อดีต รมว.มหาดไทย รวมอยู่ด้วย ขณะที่ยุคสาม คือยุคของนักการเมือง เช่น กร ทัพพะรังสี-ปองพล อดิเรกสาร-ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ-ปานปรีย์ พหิทธานุกร หลานเขยซอยราชครู เป็นต้น
ระหว่างการพูดคุยกับ "แก้วตา-ธิษะณา ชุณหะวัณ" เราเลยคุยกันถึงเรื่องความสนใจทางการเมือง โดยเฉพาะการถามถึงว่าอนาคตข้างหน้าอาจจะเข้ามาเป็นทายาทการเมืองซอยราชครู รุ่นที่ 4 จะเป็นไปได้หรือไม่
- ทำไมถึงออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง การแก้ไขรัฐธรรมนูญ?
ก็เรียนทางด้านนี้มา คือเรียนด้านรัฐศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และกฎหมายมหาชนระหว่างประเทศที่ School of Oriental and African Studies (SOAS) และตอนนี้ก็ศึกษาปริญญาตรีใบที่สองอยู่ที่คณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ที่ผ่านมาจริงๆ ก็สนใจและร่วมเคลื่อนไหวเรื่องต่างๆ ตั้งแต่ตอนเด็กๆ แล้ว อย่างพ่อก็เคยพาไปร่วมกิจกรรมต่อต้านโครงการเมกะโปรเจ็กต์ ที่มีผลกระทบต่อปากท้องประชาชน ชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนและสิ่งแวดล้อม เช่นการเคลื่อนไหวคัดค้านการสร้างเขื่อนไซยะบุรี, เดินขบวนต่อต้านโรงงานถ่านหิน บ้านกรูด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นต้น ซึ่งการที่ทางบ้านทำงานด้านการเมือง เลยเป็นการปลูกฝังไปในตัวเราด้วยว่า เราต้องมีจิตสำนึกให้แก่สังคม
- เคยคุยการเมืองกับคุณพ่อบ้างหรือไม่ ก่อนหน้านี้?
ก็คุยการเมืองกันบ่อย เพราะพ่อก็จะเล่าเรื่องต่างๆ ให้ฟังบ่อยถึงเรื่องที่ทำงาน แล้วก็มีการประชุมอะไรกันที่บ้านหลังนี้ บ้านชุณหะวัณ กันบ่อยครั้ง พวกรัฐมนตรีอะไรก็มาบ่อย เราเห็นสิ่งเหล่านี้ตั้งแต่สมัยคุณปู่ (พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ) ทำให้เราเห็นกระบวนการทำงานการเมืองนอกรัฐสภา เราก็เห็นได้ว่าสมัยก่อนกับสมัยนี้มันแตกต่างกันมาก
"การเมืองตอนนี้ มันเปลี่ยนไป มันไม่ใช่การเมืองยุคศักดินาอีกต่อไปแล้ว ที่ต้องเอาคนนามสกุลอะไรต่างๆ มาเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง แต่มันอยู่ที่หลักการ ความคิด อุดมการณ์ของคนคนนั้นมากกว่า"
- มีเป้าหมายจะเข้ามาทำงานการเมืองหรือไม่ ต่อจากนี้?
ส่วนตัวคิดว่าไม่จำเป็นต้องเข้าไปเป็นนักการเมืองถึงจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรต่างๆ ได้ เพราะเราก็คิดว่าประชาชนธรรมดาก็สามารถทำให้เกิดได้ในวิถีทางต่างๆ ที่อธิบายไปก่อนหน้านี้ และส่วนตัวแล้ว การต่อสู้ในฐานะประชาชน ก็ภูมิใจที่ได้ต่อสู้ในฐานะนี้ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นส.ส.ก็ได้
- คิดอย่างไรที่ประวัติศาสตร์ของครอบครัวก็มีบางส่วนเกี่ยวข้องกับรัฐประหารบ้าง?
อันนี้ก็เป็นเหมือนตราบาปของที่บ้านเลยนะ พูดถึง อันนี้พูดถึงเรื่องจอมพลผิน ชุณหะวัณ สมัยปี พ.ศ.2490 อันนั้นก็เป็นเหมือนตราบาปที่ทำรัฐประหารอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ตอนนั้น กับคณะราษฎร ที่สถาปนารัฐธรรมนูญฉบับแรกของสยาม ที่ธรรมนูญกรุงสยาม พ.ศ.2475 ที่คณะราษฎรได้ไปยื่นร่างรัฐธรรมนูญ 2475 ให้กับรัฐสภาเมื่อ 24 มิ.ย. ในวันครบรอบการสถาปนารัฐธรรมนูญฉบับแรก ซึ่งคิดว่ารัฐธรรมนูญฉบับนั้นเกือบจะเป็นรัฐธรรมนูญที่ดีเกือบที่สุด แต่แค่ไม่ดีอย่างเดียวก็คือ ไม่มีหลักการที่ให้ประชาชนฟ้องร้องต่อการจับกุมของเจ้าหน้าที่รัฐที่เป็นการจับกุมแบบผิดกฎหมาย ซึ่งอันนี้จะมีอยู่ในหลักการของ Magna Carta โดยธรรมนูญกรุงสยาม 2475 จะมีความคล้ายคลึงกับ Magna Carta ค.ศ.1218 ที่เป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกของอังกฤษ ที่มีมาเพื่อนำพระมหากษัตริย์มาอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ และภายใต้กฎ-กติกา เพราะก่อนหน้านี้ก็คือใช้พระราชอำนาจได้ตามอำเภอใจ สามารถเรียกเก็บภาษีจากประชาชนได้ กดขี่ประชาชนจนมีสงครามที่ยาวนาน กว่าจะได้กฎบัตร Magna Carta ซึ่งมีประวัติความเป็นมาที่คล้ายกับธรรมนูญกรุงสยาม ที่มีการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่ระบอบประชาธิปไตย ที่มีหลักการสำคัญสองหลักการคือ แบ่งแยกอำนาจออกเป็นสามฝ่าย ตุลาการ-บริหาร-นิติบัญญัติ และหลักการสิทธิเสรีภาพประชาชน เช่น ที่ให้ประชาชนฟ้องรัฐได้หากมีการจับกุมโดยอำเภอใจ แต่ธรรมนูญกรุงสยามไม่มีหมวดสิทธิเสรีภาพที่ไปขยายความ ประเด็นดังกล่าว ต่อมาจอมพลผินทำรัฐประหาร แล้วก็ร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2490 ขึ้นมา ซึ่งฉบับดังกล่าวมีความคล้ายคลึงกับรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ตรงที่ว่า ส.ว.หรือสภาสูง ก็มาจากการแต่งตั้ง แต่ของปี 2490 ส.ว.จะถูกตั้งโดยพระมหากษัตริย์ ส่วนปี 2560 ส.ว.มาจาก คสช. แล้ว ส.ว.ก็ไปโหวตเลือกพลเอกประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ก็จะมีความคล้ายคลึงกัน คือเป็นรัฐธรรมนูญรวมอำนาจ ที่ทำให้ประเทศถอยหลัง เราเลยไม่เห็นด้วยกับการทำรัฐประหารครั้งนั้น (พ.ศ.2490) เพราะคิดว่ารัฐธรรมนูญที่ใช้ก่อนมีรัฐประหาร ที่อยู่ในช่วงยุคอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ค่อนข้างจะดี ขาดอย่างเดียวคือควรจะมีประชาชนสามารถฟ้องร้องต่อรัฐได้หากถูกละเมิด
เมื่อถามถึงว่ากับ พลเอกชาติชาย อดีตนายกฯ ซึ่งเป็นปู่ ที่ถูก รสช.ทำรัฐประหารเมื่อปี 2534 สนิทกับพลเอกชาติชายหรือไม่ "ธิษะณา-หลานพลเอกชาติชาย ที่เกิดในปี พ.ศ.2534" เล่าว่าก็เกิดทันตอนนั้น เพราะหากถามว่ารัฐประหารตอนไหนมีผลกระทบกับชีวิตมากที่สุด ก็ต้องเป็นรัฐประหารปี 2534 เพราะช่วงนั้นคุณแม่ก็เพิ่งจะตั้งท้องเราได้แค่ประมาณเก้าเดือน ก็คือใกล้จะคลอดแล้ว ก็จำเป็นต้องบินหนีไปต่างประเทศ เพื่อจะหนีคณะรัฐประหาร ตอนนั้นก็ต้องโกหกเขา (กลุ่มทหาร รสช.) ว่าไม่ได้ตั้งท้องแก่ บอกว่ายังท้องสาวอยู่ จะได้ขึ้นเครื่องบินได้ ก็หนีไปอยู่ที่ประเทศอังกฤษ ตอนนั้นก็เป็นการได้รับผลกระทบมากที่สุด เพราะตอนเกิดมา ก็ต้องย้ายไปอยู่ประเทศอื่น ก็พอจะทราบเรื่องนี้ แต่สมัยจอมพลผินก็เกิดไม่ทัน ก็ไม่ทราบเหมือนกันว่ามันเป็นยังไงตอนนั้น
- คิดจะสืบทอดความเป็นทายาททางการเมืองของกลุ่มซอยราชครูไหม?
ไม่คิดว่าควรจะต้องสืบทอด เพราะตราบใดที่เรายังทำงานอยู่ข้างประชาชน ก็ไม่จำเป็นต้องมีตำแหน่งทางการเมืองก็ได้ หรือถ้าจะต้องมีตำแหน่งทางการเมือง เราก็ต้องเลือกอยู่ฝั่งที่อยู่ข้างประชาชนจริงๆ เพราะก็ไม่ได้ยึดติดอะไร สำหรับการเมืองไทย ก็อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจ อยากเห็นผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ทางเศรษฐกิจ และอยากเห็นสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่ถูกเคารพ.
โดยวรพล กิตติรัตวรางกูร
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |