Radical Democracy เป็นความพยายามที่จะปรับปรุงระบอบประชาธิปไตยกระแสหลักให้ดีกว่าเดิมใน 2 ด้านหลัก ได้แก่ การมีส่วนร่วมอย่างเสรีและเท่าเทียม การเปิดกว้างทุกมิติทุกด้าน
Lincoln Dahlberg อธิบายว่า เหตุที่เติมคำว่า Radical เพื่อให้แตกต่างจาก Democracy ที่สังคมเข้าใจทั่วไป (ความเข้าใจปัจจุบันอาจผิดจากรากความหมายที่แท้จริง) และชี้ว่าหลักการและการเป็นประชาธิปไตยจำต้องปรับปรุงอยู่เสมอ ไม่ยึดความเข้าใจเดิม ไม่ยอมรับหรือเคยชินกับสิ่งที่เป็นอยู่ หวังให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นๆ ในทุกด้าน เป้าหมายสูงสุดคือการอยู่ดีมีสุขของประชาชน
หลักคิดพื้นฐาน Radical Democracy :
ประการแรก ส่งเสริมการมีส่วนร่วมอย่างเสรีและเท่าเทียม
ระบอบประชาธิปไตยปัจจุบันเป็นประชาธิปไตยแบบตัวแทน เลือกผู้แทน ส.ส. ส.ว. หรือประธานาธิบดี เป็นปากเป็นเสียงบริหารประเทศแทนประชาชน แม้มีข้อดีแต่มีข้อเสียเช่นกัน บางคนเห็นว่า ส.ส. ส.ว. หลายคนไม่ได้ทำหน้าที่สมความคาดหวังของประชาชน มีคำถามเสมอว่าผู้นำประเทศกับผู้แทนเหล่านี้เป็นตัวแทนของใครกันแน่
แทนที่จะให้กฎหมาย ค่านิยมประชาธิปไตยแบบเดิมตีกรอบการแสดงออก (วัฒนธรรมกับกฎหมายแต่ละประเทศให้เสรีภาพไม่เท่ากัน) Radical Democracy ให้ความสำคัญกับการมีเสรีภาพการแสดงออกของแต่ละคน วิธีนี้คือการมีประชาธิปไตยเต็มที่ การมีส่วนร่วมแสดงออกให้มากที่สุดคือวิถีแห่งการเพิ่มขยายประชาธิปไตย
เป็นผู้นำเสนอปัญหาที่ไตร่ตรองแล้ว ให้เกิดการถกเถียงมากที่สุด แม้บางครั้งอาจถึงขั้นวุ่นวายสับสน ให้การมีส่วนร่วมมีความหมายมีผลต่อการตัดสินใจใดๆ ของรัฐบาลหรือสังคม แม้ว่ายังปราศจากความเท่าเทียมสมบูรณ์ แต่ตั้งใจเพิ่มขยายให้มากที่สุด มากกว่าที่เป็นอยู่
ระบอบประชาธิปไตยไม่จำกัดแค่รัฐสภาหรือการเลือกตั้ง แต่อยู่ทุกส่วนของชีวิตสังคม ตั้งแต่ที่บ้าน ที่ทำงาน ในองค์การศาสนา
จะเห็นว่า Radical Democracy ส่งเสริมให้เป็นพลเมืองที่กระตือรือร้น เป็นผู้ปกครองร่วมไม่ใช่ผู้อยู่ใต้ปกครองเท่านั้น ส่งเสริมให้มีความรู้ความเข้าใจการบ้าน การเมืองและด้านอื่นๆ ส่งเสริมการรวมกลุ่มผลประโยชน์ การเคลื่อนไหวพร้อมกันหลายกลุ่ม เช่น การเคลื่อนไหวร่วมของนักศึกษา คนว่างงาน พวกต่อต้านรัฐ สมาชิกสหภาพ ฯลฯ
Clayton Crockett ย้ำว่าเสรีภาพแท้ต้องไม่อยู่ภายใต้กรอบใดๆ รวมถึงศาสนาหรือสถาบันเก่าแก่ที่มีอิทธิพลต่อทัศนคติมาอย่างยาวนาน ในขณะที่นักคิดสายนี้บางคนเห็นว่าวัฒนธรรมศาสนาจะผนวกรวมในสังคม เพราะสิ่งเหล่านี้มีอยู่จริง สะท้อนความคิดเห็นของประชาชนบางคนเหมือนกัน
ประการที่ 2 ส่งเสริมการเปิดกว้าง ตั้งใจรับฟัง
การเปิดกว้างเกี่ยวข้องกับความไม่เท่าเทียม แม้กฎหมายให้ความเท่าเทียมทางการเมือง แต่หลายคนคิดว่าความไม่เท่าเทียมด้านอื่นๆ กำลังเป็นปัญหา จำต้องหาทางเพิ่มขยายความเท่าเทียมอื่นๆ โดยอาศัยกลไกต่างๆ รวมถึงการเมือง
ระบอบประชาธิปไตยยึดมั่นการเปิดกว้าง แต่ความจริงแล้วยังอยู่ภายใต้กฎหมายที่บีบรัด บ่อยครั้งที่นักการเมือง นักวิชาการเป็นผู้สร้างประเด็นชี้นำทิศทางให้สังคมคล้อยตาม ดังจะเห็นว่าในการเลือกตั้งหรือการแข่งขันทางการเมืองมักจำกัดประเด็นถกเถียงเพียงไม่กี่เรื่อง ส่วนใหญ่คือเรื่องเศรษฐกิจปากท้อง การแบ่งขั้ว ทั้งๆ ที่มีประเด็นอื่นๆ อีกมาก แต่ถูกลดความสำคัญ แนวทางการแก้ปัญหาถูกจำกัดอยู่ในข้อเสนอนโยบายของพรรคการเมือง โดยที่นักการเมืองมักอ้างว่าได้ฟังเสียงประชาชนแล้ว
Radical Democracy ต้องการทำลายสิ่งกีดขวางเหล่านี้ ต้องการให้เปิดกว้างจริงๆ สะท้อนความคิดเห็นของประชาชนจริงๆ ส่งเสริมการเปิดเวทีแก่ความเห็นต่าง ความคิดเห็นของชนกลุ่มน้อย คนชายขอบ อาศัยทั้งช่องทางที่มีอยู่กับช่องทางใหม่ๆ ที่อยู่นอกระบอบอำนาจเดิม การเปิดกว้าง รวมถึงการชุมชุมประท้วงและต้องเป็นการชุมนุมที่มาจากเจตจำนงของประชาชนจริงๆ เพื่อทำลายระบบฐานอำนาจเดิม ปรับดุลแห่งอำนาจ การประท้วงคือการแสดงออกความเท่าเทียมอย่างหนึ่ง ประเด็นที่ยังสรุปไม่ได้คือควรใช้ความรุนแรงหรือไม่เพียงไร
จะเห็นว่า Radical Democracy ให้ความสำคัญกับการเปิดเวทีให้เสียงข้างน้อยมากกว่าการพยายามหาข้อสรุปจากเสียงข้างมาก ตรงข้ามกับประชาธิปไตยแบบเก่าที่นักการเมืองจะอ้างว่าตนได้รับมติจากเสียงข้างมาก นโยบายของตนคือการทำตามความต้องการของคนส่วนใหญ่
Radical Democracy ชี้ว่าประชาธิปไตยแท้ไม่ใช่การที่คนมักคิดตรงกัน จึงให้ความสำคัญกับเนื้อหาสาระของทุกฝ่าย คำโต้แย้ง แทนการพยายามหาทางจบด้วยการโหวตแล้วสรุปว่านี่คือความต้องการของคนส่วนใหญ่ ตระหนักว่าระบอบประชาธิปไตยคือการต่อสู้แข่งขันทางความคิดเห็น รู้ว่าการทำเช่นนี้ทำให้สังคมตึงเครียด แต่นี่แหละคือประชาธิปไตย คือการพัฒนาไปข้างหน้าอย่างไม่สิ้นสุด เป็นเครื่องประกันว่าระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนเป็นผู้ปกครองกำลังทำงานจริง ไม่อยู่ใต้การชี้นำของชนชั้นปกครอง
อาศัยการมีส่วนร่วมและการเปิดกว้างเป็นพลังขับเคลื่อนเปลี่ยนแปลงสังคม ยอมให้เกิดภาวะถกแถลงไม่สิ้นสุด แม้ดูสับสนวุ่นวาย มีคำถามกับคำตอบใหม่เสมอ ถ้ามองในแง่บวก ภาวะเช่นนี้ทำให้สังคมเข้าใจหลักประชาธิปไตยมากขึ้น น่าจะได้นโยบายที่ตอบสนองความต้องการมากขึ้น
ในกรอบที่กว้างขึ้น นักคิดสายนี้บางคนเห็นว่า Radical Democracy ควรอยู่เหนืออธิปไตยชาติ Radical Democracy จึงเป็นของสากลโลก แม้อธิปไตยประเทศยังอยู่ แต่แนวคิดนี้ช่วยสานสายใยความสัมพันธ์ทางสังคมของคนทุกมุมโลก
ข้อวิพากษ์ :
หากเป้าหมายสูงสุดคือการอยู่ดีมีสุข ต้องพิจารณาต่อว่าอย่างไรเรียกว่าการอยู่ดีมีสุข เพราะแต่ละคนมีบรรทัดฐานของตน บางคนอาจคิดถึงการมีทรัพย์สมบัติมากๆ มีความสะดวกสบาย บางคนอาจมุ่งความสุขทางใจ ใช้ชีวิตเรียบง่าย บางคนอาจคิดว่าไม่ต้องการชีวิตยืนยาว ไม่คิดถึงความยั่งยืน ขอเพียงตนได้ใช้ชีวิตสนุกสุดเหวี่ยงในวัยหนุ่มสาวก็พอ ดังนั้นคำว่า “ความสุข” จึงไม่มีมาตรฐานในตัวเอง ขึ้นกับว่าใครจะแสวงหาสิ่งใดและขัดแย้งกัน
การปฏิเสธความเชื่อศาสนา สถาบันหรือวัฒนธรรมเก่าแก่ ไม่ได้หมายความว่ามนุษย์ไม่อยู่ภายใต้ค่านิยมอย่างใดอย่างหนึ่ง อาจพูดได้ว่า แนวทางใหม่ที่อ้างว่าไม่อยู่ภายใต้ของเก่าแก่คือลัทธิใหม่ที่ตนสร้างขึ้นไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ เช่น การให้ความสำคัญกับตัวเองมากที่สุด คือการยกตัวเองเป็นพระเจ้า
ฉากทัศน์ที่น่าจะเป็นจริงคือพหุสังคมขนาดใหญ่มีความคิดเห็นแตกต่างกันมากมาย ทั้งจากเชื้อชาติ วัย วุฒิภาวะ การศึกษา ฐานะทางสังคม ความศรัทธาต่อความเชื่อศาสนา อุดมการณ์เป้าหมายต่างๆ จึงเป็นไปไม่ได้ที่ข้อสรุปร่วมของสังคมจะมุ่งตอบสนองความต้องการของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง และ ต้องตระหนักว่าไม่ใช่ทุกคนที่เห็นด้วยกับแนวทางของ Radical Democracy
วิเคราะห์องค์รวมและสรุป :
ในขณะที่นักวิชาการหลายคนบ่งชี้จุดอ่อนของเสรีนิยม ทุนนิยม ประชาธิปไตยที่เป็นอยู่ พยายามคิดหาทางออก Radical Democracy คือหนึ่งในแนวคิดใหม่ที่เป็นความหวังและเป็นปัญหาในตัวเอง
โดยสรุปแล้วแนวคิดคือทุกวันนี้ประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยยังไม่สะท้อนความต้องการของประชาชนจริงๆ นโยบายของรัฐบาลในเรื่องต่างๆ จึงไม่ทำให้ประชาชนอยู่ดีมีสุข เห็นควรปฏิรูปให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างจริงจัง เป็นสังคมที่ถกแถลงทุกเรื่องบนเหตุผลที่ไตร่ตรองแล้ว ทำให้ประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศกลับมาร่วมปกครองประเทศในทุกมิติทุกด้านจริงๆ การเมืองคือสมรภูมิที่หากประชาชนต้องการอะไร พวกเขาจะต้องลุกขึ้นสู้จึงจะได้มา เป็นความโง่เขลาหากรอนักการเมืองทำหน้าที่แทนตน
นักคิดสาย Radical Democracy ยอมรับว่าหนทางความสำเร็จยังอีกไกล แม้กระทั่งตัวแนวคิดยังต้องปรับปรุงพัฒนาอีกมาก ทางเดียวที่ช่วยได้คือต้องต่อสู้ทางการเมืองต่อไป หากระบอบประชาธิปไตยที่เป็นอยู่ไม่ตอบโจทย์ สร้างความแปลกแยกมาก ย่อมเป็นโอกาสของแนวคิดใหม่ๆ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |