เคราะห์ซํ้า‘หนี้ครัวเรือน’สูงสุดรอบ18ปี


เพิ่มเพื่อน    

เคราะห์ซ้ำกรรมซัด “ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” เผยยอดหนี้ครัวเรือนไทยพุ่งกระฉูด ไตรมาสแรกอยู่ที่ 90.5% ต่อจีดีพี สูงสุดในรอบ 18 ปี “ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ” ยอมรับสารพัดมาตรการแค่ซื้อเวลาหากยังไม่มีภูมิคุ้มกันหมู่เพื่อเปิดประเทศรับการท่องเที่ยว รับวิกฤติโควิด-19 จะขยายแผลความเหลื่อมล้ำรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะปัญหาหนี้
เมื่อวันศุกร์ที่ 2 กรกฎาคม ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ออกบทวิเคราะห์เกี่ยวกับข้อมูลเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือนล่าสุดในไตรมาส 1/2564 ว่าสถานการณ์หนี้สินของประชาชนยังมีอัตราการเติบโตเร็วกว่าเศรษฐกิจไทยในภาพรวม โดยยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนไทยในไตรมาส 1/2564 ขยับขึ้นมาอยู่ที่ 14.13 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 90.5% ต่อจีดีพี สูงสุดในรอบ 18 ปี ตามสถิติที่มีการเก็บรวบรวมของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสูงสุดต่อเนื่องจากระดับ 89.4% ต่อจีดีพีในไตรมาส 4/2563
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังมองว่า วิกฤติโควิด-19 ที่ลากยาวเข้าสู่ช่วงครึ่งหลังของปีจะเพิ่มความเสี่ยงต่อเส้นทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ พร้อมๆ ตอกย้ำวังวนปัญหาหนี้สินของครัวเรือน โดยเฉพาะครัวเรือนที่มีรายได้สม่ำเสมอ หรือมีรายได้ลดลงจนมีผลกระทบต่อความสามารถในการชำระคืนหนี้ และได้ทบทวนตัวเลขประมาณการหนี้ครัวเรือนไทยในปี 2564 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่กรอบ 90-92% ต่อจีดีพีจากเดิมที่คาด 89-91% ต่อจีดีพี
“หนี้สินในภาคครัวเรือนของไทยยังคงมีทิศทางขาขึ้น สวนทางภาพความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจที่ยังคงถูกกดดันจากผลกระทบของวิกฤติโควิด-19 โดยเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า หนี้ครัวเรือนในไตรมาส 1/2564 มียอดคงค้างเพิ่มขึ้นประมาณ 88,138 ล้านบาท ซึ่งหลัก ๆ เป็นผลมาจากการเร่งขึ้นของหนี้รายย่อย ได้แก่ หนี้บ้าน หนี้ประกอบอาชีพ และหนี้เพื่อใช้จ่ายชีวิตประจำวัน” ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุ
    ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังระบุว่า วิกฤติโควิด-19 ระลอกสามของไทยที่เริ่มมาตั้งแต่ต้นไตรมาส 2/2562 มีผลกระทบต่อสถานะทางการเงินของประชาชนหลายกลุ่ม โดยผู้กู้รายย่อยมีรายได้ที่ฝืดเคือง และประเมินว่าตัวเองจะมีปัญหาความสามารถในการชำระคืนหนี้มากขึ้น โดยผลสำรวจภาวะหนี้สินและการออมของประชาชนในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ในเดือนมี.ค.-มิ.ย.2564 พบว่า สถานการณ์รายได้และหนี้สินของประชาชนรายย่อยถดถอยลงมากจากผลของโควิด-19 ระลอกที่สาม โดยประชาชนและครัวเรือนกำลังเผชิญแรงกดดัน 3 ด้านพร้อมกัน ทั้งปัญหารายได้ลด ค่าใช้จ่ายไม่ลด และสัดส่วนภาระหนี้ต่อรายได้สูงเกินกว่า 50% ต่อรายได้ต่อเดือน
“ผลกระทบที่หนักและชัดเจนมากขึ้นของโควิดรอบสาม อาจทำให้จำนวนบัญชีลูกหนี้รายย่อยเข้ามาตรการช่วยเหลือมีโอกาสขยับขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะในเดือน มิ.ย.2564 ถึงต้นไตรมาส 3/2564 ดังนั้นยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนในปีนี้น่าจะเติบโตในระดับที่สูงกว่า หรือใกล้เคียงกับอัตรา 4.1% ในปี 2563 ตอกย้ำภาพหนี้สินครัวเรือนที่โตกว่าทิศทางเศรษฐกิจต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 และแม้ว่าปัญหาหนี้ครัวเรือนจะโตสวนทิศทางเศรษฐกิจเป็นภาวะที่เกิดขึ้นกับหลายประเทศ ไม่ใช่แค่ไทย แต่ก็มองว่าแม้ไม่มีปัญหาโควิด-19 หนี้ครัวเรือนก็เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างลำดับต้นๆ ของไทยที่รอให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องร่วมกันวางแนวทางแก้ไข” ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุ
    ขณะเดียวกัน BOT​ พระสยาม Magazine ของ ธปท.ฉบับล่าสุด ได้เผยแพร่บทสัมภาษณ์ ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธปท. ตอนหนึ่งถึงเศรษฐกิจไทยยุคหลังวิกฤติโควิด-19 โดยยอมรับว่ามาตรการทางการเงินและมาตรการต่างๆ เป็นแค่การซื้อเวลา เหมือนกับการพยุงอาการคนไข้เพื่อรอวันที่คนไข้จะฟื้นตัวกลับมาเอง ซึ่งท้ายที่สุดแล้วเศรษฐกิจจะฟื้นหรือไม่ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับมาตรการทางการเงินหรือการคลัง แต่คนต้องมีรายได้ ต้องมีงานทำ แต่โครงสร้างเศรษฐกิจไทย ถ้าการท่องเที่ยวไม่กลับมา การฟื้นตัวของเศรษฐกิจก็กลับมาได้ลำบาก เพราะภาคการท่องเที่ยวไม่ใช่แค่มีสัดส่วน 11-12% ของจีพีดี แต่เป็น 20% ของการจ้างงานด้วย ตราบใดที่การท่องเที่ยวยังไม่กลับมา รายได้ของคนก็ไม่กลับมา ต่อให้เรายืดหนี้ ลดต้นลดดอก ลูกหนี้ก็ไม่สามารถชำระหนี้ได้
       "การท่องเที่ยวจะกลับมาได้ขึ้นอยู่กับวัคซีน สิ่งที่ผมกังวลคือเราจะมีวัคซีนพอฉีดไหม ประสิทธิภาพของวัคซีนสามารถป้องกันสายพันธุ์ใหม่ได้แค่ไหน การกระจายการฉีดเร็วพอสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ก่อนที่สายพันธุ์ใหม่ที่ดื้อต่อวัคซีนจะระบาดไหม คนพร้อมจะฉีดด้วยไหม ฯลฯ ซึ่งการหยุดวิกฤตินี้ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกคน ไม่เช่นนั้นเราก็จะติดกับดักวงจรอุบาทว์ ระบาดระลอกใหม่ ล็อกดาวน์ รัฐเยียวยา เริ่มมาตรการฟื้นฟู การ์ดตก ระบาดใหม่ วนไปไม่มีวันหลุดพ้น"
      ผู้ว่าการ ธปท.มองว่า วิกฤติครั้งนี้สะท้อนความเปราะบางของระบบเศรษฐกิจไทยที่พึ่งพาการท่องเที่ยวมากเกินไป โดยไม่มีเครื่องจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจอื่นรองรับ นี่จึงเป็นโจทย์ใหญ่ที่จะชี้ชะตาความยั่งยืนของเศรษฐกิจไทยในอนาคต ซึ่งประเทศไทยไม่ได้ตอบโจทย์เรื่องนี้มานาน คล้ายๆ กับเราซื้อเวลาด้วยการทำมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ให้ตัวเลขออกมาดูดี สนับสนุนให้คนเป็นหนี้กู้ง่าย การบริโภคก็เลยดูดี เศรษฐกิจก็โตขึ้นมาได้ แต่ไม่ได้แก้ปัญหาระยะยาว ถึงเวลาแล้วที่ทั้งประเทศต้องฉุกคิดไม่ใช่แค่เรื่องของการออกจากวิกฤติครั้งนี้ แต่หลังจากนี้ โครงสร้างเศรษฐกิจไทยควรจะเป็นอย่างไร และถ้าจะให้ดี สิ่งที่เราทำระหว่างทางเพื่อแก้วิกฤติ ควรจะต้องตอบโจทย์ระยะยาวของประเทศด้วย
       “ความกังวลใหญ่ข้อถัดไปเป็นเรื่องของภูมิทัศน์ของธุรกิจและเศรษฐกิจไทยที่จะไม่กลับไปเป็นเหมือนเดิม ฉะนั้น ผู้ประกอบการ SMEs ควรวางแผนระยะยาวตั้งแต่วันนี้ หากธุรกิจมีหนี้ก็ควรใช้ช่วงเวลานี้ปรับโครงสร้างหนี้  และหาสภาพคล่องเพื่อมาปรับรูปแบบหรือโครงสร้างธุรกิจรองรับกับการทำธุรกิจยุคนิวนอร์มอล ส่วนความกังวลใหญ่ประการสุดท้ายคือ ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเศรษฐกิจ โดยผลพวงจากวิกฤตโควิด-19 จะขยายแผลให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยยิ่งรุนแรงขึ้น ขณะที่ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงมากจะเป็นตัวฉุดการฟื้นตัวของหลายๆ ครัวเรือน ซึ่งจะซ้ำเติมให้ความเหลื่อมล้ำยิ่งหนักขึ้น จนอาจก่อให้เกิดปัญหาทางสังคมตามมา” ดร.เศรษฐพุฒิระบุไว้
    วันเดียวกัน นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ชี้แจงถึงกรณีโลกออนไลน์มีการแชร์ข้อมูลว่าประเทศไทยอยู่ในกลุ่มเสี่ยงประเทศล้มละลาย เนื่องจากผิดนัดชำระหนี้ ว่าเป็นข้อความเท็จ และยังเป็นการบิดเบือนรายงานของธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด ทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนต่อประเด็นดังกล่าว  เพราะในแต่ละปีสำนักงบประมาณจะจัดสรรงบชำระหนี้ให้กับกระทรวงการคลังและรัฐวิสาหกิจ เพื่อนำไปชำระคืนต้นเงินกู้และดอกเบี้ยที่ครบกำหนดชำระ โดยเมื่อได้รับงบชำระหนี้แล้ว สบน.ได้นำไปชำระหนี้โดยยึดหลักครบถ้วน ถูกต้อง ตรงเวลา อย่างเคร่งครัด และไม่เคยผิดนัดชำระหนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นในแต่ละปี จะต้องได้รับการจัดสรรและชำระอย่างครบถ้วน ไม่สามารถลด ตัดทอนหรือโยกงบดังกล่าวไปใช้ในการอื่นได้ เพื่อไม่ให้ประเทศต้องเสียความน่าเชื่อถือจากการผิดนัดชำระหนี้
“บริษัทฟิทช์เรทติ้ง บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือจากประเทศสหรัฐอเมริกา ยังเชื่อมั่นว่ารัฐบาลไทยสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงจากหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้นในช่วงวิกฤติโควิด-19 นี้ได้เป็นอย่างดี โดยเมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 2564 ฟิทช์เรทติ้งได้คงอันดับความน่าเชื่อถือของไทยที่ BBB+ และคงมุมมองความน่าเชื่อถือของไทยอยู่ในระดับมีเสถียรภาพ ขอให้ประชาชนมั่นใจว่า สบน.ได้บริหารจัดการหนี้สาธารณะและการชำระหนี้อย่างรอบคอบและระมัดระวัง ภายใต้กรอบวินัยทางการคลังอย่างเคร่งครัด และไม่เคยผิดนัดชำระหนี้” นางแพตริเซียระบุ.


 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"