ผวา!ตาย2-3พัน/ด. สธ.ชี้พิษเดลตาชงปรับแผนวัคซีน/ติดเชื้อทำ‘ดับเบิลนิวไฮ’


เพิ่มเพื่อน    

ไทยเจอโควิดดับเบิลนิวไฮ! ติดเชื้อ 6,097 ราย ดับ 61 ราย ศบค.ห่วง กทม.พุ่งเกิน 2 พัน นายกฯ สั่งขยายศักยภาพเตียงด่วนเพิ่มทุกสี ออกมาตรการแยกกักตัวในชุมชน สธ.รับไทยวิกฤติสายพันธุ์อินเดียระบาดหนัก ขณะที่แอสตร้าฯ พลาดเป้า ผวายอดตายแตะ 2-3 พันคนต่อเดือน แนะทางรอดเปลี่ยนยุทธศาสตร์ปูพรมฉีดวัคซีน พุ่งเป้ากลุ่มสูงอายุ-7 โรคเสี่ยง กดผู้เสียชีวิตไม่เกินวันละ 20 ราย ระบบสาธารณสุขถึงเดินต่อได้
    ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม เวลา 12.30 น. พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์ประจำวันว่า มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 6,087 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 5,869 ราย, มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 3,905 ราย,  มาจากการค้นหาเชิงรุก 1,964 ราย, มาจากเรือนจำ 207 ราย, เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 11 ราย ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 270,921 ราย หายป่วยเพิ่มเติม 3,638 ราย หายป่วยสะสม 214,340 ราย อยู่ระหว่างรักษา 54,440 ราย อาการหนัก 2,002 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 579 ราย เสียชีวิตเพิ่มเติม  61 ราย เป็นชาย 29 ราย หญิง 32 ราย อยู่ใน กทม. 28 ราย, นนทบุรี 9 ราย,  สมุทรปราการ 8 ราย, ปัตตานี 5 ราย,  ปทุมธานี นราธิวาส จังหวัดละ 3 ราย,  เชียงราย สงขลา นครปฐม นครนายก พระนครศรีอยุธยา จังหวัดละ 1 ราย ในจำนวนนี้มี 5 รายที่เสียชีวิตที่บ้าน โดยเป็นผู้สูงอายุ 3 ราย และแรงงานเมียนมา 2 ราย ทำให้มียอดผู้เสียชีวิตสะสม 2,141 ราย  
    สำหรับ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด ได้แก่ กทม. 2,267 ราย, สมุทรปราการ 522 ราย, นนทบุรี 327 ราย, สมุทรสาคร 289 ราย, ปทุมธานี 284 ราย, ชลบุรี 222 ราย, ยะลา 201 ราย, ปัตตานี 169 ราย, สงขลา 167 ราย, นราธิวาส 124 ราย ขณะที่มีเพียง 3 จังหวัดที่ไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อรายใหม่คือ พังงา ลำพูน แม่ฮ่องสอน ทั้งนี้ พบคลัสเตอร์ในต่างจังหวัดหลายแห่ง ประกอบด้วย จ.สมุทรปราการ ที่โรงงานเฟอร์นิเจอร์ อ.เมืองฯ พบผู้ติดเชื้อ 21 ราย, จ.นนทบุรี ที่ตลาดเทศบาล อ.ปากเกร็ด พบผู้ติดเชื้อ 43 ราย ที่ตลาดพิชัย อ.ปากเกร็ด พบผู้ติดเชื้อ 75 ราย, จ.สมุทรสาคร ที่บริษัทผลิตภัณฑ์พลาสติก อ.เมืองฯ พบผู้ติดเชื้อ 12 ราย ที่โรงงานลูกชิ้น อ.กระทุ่มแบน พบผู้ติดเชื้อ 11 ราย, จ.สุราษฎร์ธานี ที่แคมป์คนงาน อ.พุนพิน พบผู้ติดเชื้อ 11 ราย, จ.ขอนแก่น ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก อ.สีชมพู พบผู้ติดเชื้อ 45 ราย ขณะที่พื้นที่ กทม. มีคลัสเตอร์เฝ้าระวัง 113 แห่ง โดยพบคลัสเตอร์ใหม่ 2 แห่ง ที่แคมป์คนงาน ถนนสุขุมวิท 50 พบผู้ติดเชื้อ 43 ราย และที่โรงงานแห่งหนึ่งในเขตหนองแขม พบผู้ติดเชื้อ 70 ราย  
    พญ.อภิสมัยกล่าวว่า ในที่ประชุม ศบค.ชุดเล็กมีความเป็นห่วงเรื่องตัวเลขผู้ติดเชื้อใน กทม. ที่มีสัดส่วนมากกว่าผู้หายป่วยกลับบ้าน ขณะที่นายกรัฐมนตรีมีความเป็นห่วงเรื่องผู้ป่วยที่ต้องใช้เวลารอเตียง จึงสั่งการให้ ศบค. กระทรวงสาธารณสุข และกรุงเทพมหานคร (กทม.) ไปหารือเรื่องการจัดการเตียงอย่างเร่งด่วน เพื่อศักยภาพการจัดการเตียง จะเร่งรัดออกมาตรการแยกกักตัวในชุมชนหลังทราบผลและระหว่างรอจัดสรรเตียง โดยช่วงบ่าย ผู้ว่าฯ กทม.จะประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหารือถึงแนวทางการดำเนินการดังกล่าว นอกจากนี้ ในที่ประชุมอีโอซี กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ปลัด สธ.ได้พูดถึงแนวทางการเพิ่มเตียงทุกระดับสี ซึ่งโรงพยาบาลบุษราคัมสามารถดำเนินการได้ทันที และขณะนี้ได้มีการปฐมนิเทศแพทย์ที่ผ่านการอบรมผู้เชี่ยวชาญ 144 คน ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านอายุรแพทย์ ระบบทางเดินหายใจบำบัดวิกฤติ ภายใน 1-2 วันนี้จะกระจายไปประจำโรงพยาบาลต่างๆ ใน กทม. อย่างไรก็ตามตัวเลขผู้เสียชีวิตจำนวนมากในปัจจุบันมาจากการติดเชื้อเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน 
ผวาเดลตาระบาดหนัก
    พญ.อภิสมัยยังกล่าวถึงความคืบหน้าการฉีดวัคซีนว่า 1 ก.ค. ฉีดไปแล้ว 299,485 โดส ข้อมูลผู้ได้รับวัคซีนตั้งแต่ 28 ก.พ. จำนวน 10,227,183 โดส โดยยังไม่ได้รวมข้อมูลของผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนซิโนฟาร์ม ทั้งนี้ อาจจะต้องรอผลอีก 1-2 เดือน จึงจะเห็นว่าหลังฉีดวัคซีนจะมีภูมิคุ้มกัน โดยเฉพาะหลังฉีด 2 สัปดาห์มีแนวโน้มทำให้ภาพรวมของประเทศ อัตราการป่วยหนัก หรืออัตราการเสียชีวิตลดลง  
    ในที่ประชุมเรื่องการให้บริการวัคซีน ทาง กทม.ได้รายงานด้วยว่าอีกหนึ่งบริการที่พยายามเร่งระดมบุคลากรในการฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ผู้สูงอายุและกลุ่มผู้มีโรคหลักแล้ว จะมีในส่วนผู้ป่วยติดเตียง ผู้มีภาวะพึ่งพิงหรือผู้พิการ โดยได้สำรวจในเนอร์สซิ่งโฮมหรือสถานดูแลผู้สูงอายุ 140  แห่ง รวมทั้งผู้สูงอายุที่อยู่ติดบ้าน ในพื้นที่ 50 เขต พบว่าเนอร์สซิ่งโฮมมีเป้าหมายอยู่ 4,615 คน เป็นผู้สูงอายุ 2,846 คน เป็นผู้ดูแลผู้สูงอายุ 1,769 คน ในส่วนที่อยู่ที่บ้าน 1,776 คน เป็นผู้สูงอายุ 1,470 คน  และผู้ดูแล อีก 306 คน จะมีการดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเร็ววันนี้ ซึ่งสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ได้พระราชทานวัคซีนซิโนฟาร์มอีก 6,400 โดสให้กับ กทม. เพื่อที่จะระดมฉีดให้กับกลุ่มผู้สูงอายุที่ติดเตียงติดบ้าน เพราะถือเป็นกลุ่มเสี่ยงสูงนี้ด้วย  
    พญ.อภิสมัยกล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์รายงานว่าเริ่มเห็นสายพันธุ์เดลตาเข้ามาแพร่ระบาดในบ้านเรา ซึ่งมีการแพร่ระบาดรวดเร็ว แต่การเกิดความรุนแรงนั้นจะมุ่งเน้นไปยังกลุ่มเสี่ยงที่ถือได้ว่าเป็นผู้สูงอายุหรือผู้มีโรคหลัก เพราะฉะนั้นจึงมีการนำสู่เกิดข้อสรุปของที่ประชุมว่า เมื่อเราได้รับวัคซีนมากขึ้น มีการกระจายที่เพียงพอ ขอให้เน้นย้ำไปที่กลุ่มเสี่ยง หรือกลุ่มเปราะบาง ซึ่งได้แก่ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว
     นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค แถลงถึงผลการเฝ้าระวังเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ภายหลังประชาชนเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 พบว่า ตั้งแต่ 28 ก.พ.-27 มิ.ย.64 จำนวนผู้มีอาการไม่พึงประสงค์ร้ายแรง สะสม 1,148 คน พิจารณาโดยผู้เชี่ยวชาญแล้วเสร็จ 354 คน อยู่ระหว่างติดตามข้อมูล 794 คน ทั้งนี้​ ในจำนวนอาการไม่พึงประสงค์ร้ายแรง 354 คน เกี่ยวกับวัคซีน 67 คน เป็นอาการแพ้รุนแรง 21 คน ไม่มีรายใดเสียชีวิต และพบว่ามี 1 ราย ฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าไปกระตุ้นให้เกิดลิ่มเลือดเข้ารักษาโรงพยาบาลศิริราชหายแล้ว เกี่ยวกับการฉีดวัคซีน 210 คน เช่น​ อาการ วิตกกังวล และอาการทางกายหายได้เอง เหตุการณ์ร่วมไม่เกี่ยวกับวัคซีน​ เจ็บป่วยรักษาหาย 27 คน​เสียชีวิต 43 คน ไม่สามารถสรุปได้ว่าเกี่ยวกับการฉีดวัคซีน 7 คน ซึ่งโดยภาพรวมฉีดวัคซีนแล้วทั้งสิ้น 10,227,183 โดส เป็นซิโนแวค 6,403,172 โดส, แอสตร้าฯ 3,766,190 โดส และซิโนฟาร์ม 57,830 โดส 
    นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้หน่วยงานที่รับผิดชอบเร่งนำผู้ป่วยในทุกระดับสีเข้ารับการรักษาพยาบาลให้เร็วที่สุด โดยทุกส่วนราชการเข้ามามีส่วนร่วมช่วยงานสาธารณสุข เพื่อให้ประชาชนได้รับการดูแลอย่างดีที่สุด
    พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 (ศปก.ศบค.) กล่าวว่า เราประเมินว่าตัวเลขผู้ติดเชื้ออาจจะสูงขึ้น และพยายามเร่งรัดเรื่องฉีดวัคซีนให้เร็วและมากขึ้น​ ไม่ได้ฉีดไปเรื่อยๆ ถ้าสถานการณ์เป็นแบบนี้ไปอีกสักระยะ ต้องขอความร่วมมือประชาชนทำตามมาตรการส่วนบุคคล โดยเว้นระยะห่างและสวมหน้ากากอนามัยมากขึ้น เพราะหลังจากที่ปิดแคมป์คนงานและแรงงานต่างด้าวก็อยู่นิ่งกับที่ แต่จำนวนตัวเลขที่มากขึ้นอาจจะเกิดจากการเคลื่อนไหวของบุคคลทั่วไปในสังคมแล้ว ที่ระบุเช่นนี้ไม่ใช่โทษประชาชน แต่เป็นการขอความร่วมมือ 
มาตรการที่ใช้ยังเอาอยู่
    ผู้สื่อข่าวถามว่า​ ถ้าตัวเลขยังพุ่งสูงขึ้น มาตรการป้องกันจะเข้มขึ้นหรือไม่ พล.อ.ณัฐพลกล่าวว่า คงไม่เข้มกว่านี้ เพราะตอนนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี​และ รมว.กลาโหม กับศบค.ห่วงความเดือดร้อนของประชาชน และคิดว่ามาตรการที่ใช้อยู่น่าจะเพียงพอแล้ว ซึ่งภาครัฐอาจจะต้องลงรายละเอียดมากขึ้น รวมถึงขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการและประชาชนมากขึ้น 
    เมื่อถามว่า หากจำนวนติดเชื้อไปถึงหลักหมื่น ทุกอย่างพร้อมรองรับหรือไม่ พล.อ.ณัฐพลกล่าวว่า เราคิดไว้ทุกอย่าง ทั้งเพิ่มจำนวนเตียง และจะเพิ่มเรื่อยๆ นับแต่วันนี้ รวมถึงการแยกกักตัวที่บ้าน คาดว่าถ้าภาครัฐทุ่มเท สถานประกอบการภาคเอกชนและประชาชนร่วมมือมาตรการส่วนบุคคล คิดว่าน่าจะควบคุมสถานการณ์ได้ โดยในเดือน ก.ค.นี้วัคซีนจะเข้ามา 10 ล้านโดส เมื่อฉีดวัคซีนแล้ว อาจจะป้องกันอาการรุนแรงได้มากขึ้น โดยอาจารย์ทางการแพทย์ชี้แจงว่าสายพันธุ์เดลตาจะติดได้ไวและเพิ่มจำนวนรวดเร็ว แต่จำนวนผู้เสียชีวิตอาจจะไม่มากจนน่ากังวล 
    เมื่อถามย้ำว่า มั่นใจว่าการทำงานของ ศบค.ที่ผ่านมา สามารถตอบสนองต่อการแก้ไขปัญหาหรือไม่ พล.อ.ณัฐพล กล่าวว่า มั่นใจ การทำงานของ ศบค.ไม่ได้ทำงานเฉพาะหน่วยงาน แต่ทำงานร่วมกัน ทุกส่วนกว่า 30 หน่วยงาน โดยลำดับแรกเราจะฟังจากกระทรวงสาธารณสุขเป็นหลัก เสนอมาอย่างไรจะไปหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าสามารถบังคับใช้ตามที่เสนอได้หรือไม่ เราทำงานร่วมกัน ไม่ใช่ตัดสินใจแค่ ศบค. ที่อยู่ในทำเนียบฯ ที่เดียว เชื่อว่าสามารถแก้ปัญหาได้ เพียงแต่สถานการณ์ระบาดเปลี่ยนแปลงเร็ว ครั้งแรกมาจากต่างประเทศ, ครั้งที่สองมาจากผู้ทำงานในสถานบันเทิงที่ท่าขี้เหล็ก, ครั้งที่สามจากแรงงานต่างด้าว,  ครั้งที่สี่จากสถานบันเทิงในประเทศ และครั้งนี้พบจากแรงงานในไซต์ก่อสร้าง และขยายไปถึงบุคคลทั่วไปในสังคม และเชื้อสายพันธุ์ต่างๆ เปลี่ยนไป ศบค.จึงต้องปรับวิธีรองรับกับเชื้อสายพันธุ์ต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพ อยากขอให้ช่วยให้กำลังใจ บุคลากรทางการแพทย์ที่อยู่หน้างาน และเจ้าหน้าที่ที่มาทำงานใน ศบค.
    ที่กระทรวงกลาโหม พล.ท.คงชีพ  ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม เปิดเผยว่า พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กลาโหม และ พล.อ.ณัฐ อินทรเจริญ ปลัดกระทรวงกลาโหม ได้เรียกประชุมด่วนหน่วยงานกลาโหมและตำรวจ เพื่อเร่งสนับสนุน สธ.รับมือกับผู้ป่วยที่มีจำนวนมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยหารือและพิจารณาร่วมกันถึงขีดความสามารถทางการแพทย์ทหารสูงสุด ในการร่วมระดมปรับเกลี่ยบุคลากรทางการแพทย์ทหาร เสริมโครงสร้างพื้นฐานและอุปกรณ์ทางการแพทย์ เร่งขยายห้องผู้ป่วยไอซียู 80 เตียงในโรงพยาบาลทหารต่างๆ ในพื้นที่ กทม. โดยจะทยอยเปิดต่อเนื่องใน 30 วัน และขยายขีดความสามารถ พื้นที่ มทบ.11 สนับสนุนอาคารและสถานที่จัดทำ รพ.สนามเพิ่มเติม โดยร่วมกับ รพ.ธนบุรีบำรุงเมือง จัดตั้งโรงพยาบาลสนาม ดูแลผู้ป่วยสีแดงและเหลือง จำนวน 178 เตียง เปิด 2 ก.ค. และร่วมกับ รพ.พระมงกุฎฯ จัดตั้ง รพ.สนาม ดูแลผู้ป่วยสีเขียว เพิ่มเติม 176 เตียง โดยจะเร่งเปิดให้การบริการใน 4 ก.ค.นี้ 
    ขณะที่่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า สธ.กำลังเร่งเพิ่มเตียงรักษา รวมถึงโรงพยาบาลสนามและวัคซีน โดยเฉพาะ ในช่วง 7 วัน คาดว่าจะมีการระบาดและผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ยังตั้งมาตรฐานของ Home isolution ให้สูงขึ้น ซึ่งกรมการแพทย์รับผิดชอบดำเนินการอยู่ หากด้านใดควบคุมโรคเชิงรุกได้ขอให้ดำเนินการไปหรือการเดินหน้าฉีดวัคซีนก็ต้องเร่งฉีดให้ได้มากที่สุด ส่วนการรักษาพยาบาลเร่งเพิ่มเตียงให้มากที่สุด ซึ่งภายในสัปดาห์นี้โรงพยาบาลสนามบุษราคัมฮอลล์กลาง จะเริ่มเปิดใช้งานแล้ว และกองทัพบกได้มอบโรงพยาบาลสนามอีก 180 เตียง กำลังอยู่ระหว่างเจรจากับเอกชนอีก 3 ราย ขณะที่ยาและเวชภัณฑ์ตอนนี้ยังมีอยู่ โดย สธ.และ กทม.ได้ประชุมกันตลอดที่จะเร่งแก้ปัญหา ซึ่งส่วนใหญ่ยังอยู่ที่กรุงเทพฯ ส่วนต่างจังหวัดยังไม่มี ปัญหามาก
พุ่งเป้าฉีดสูงอายุ-7 โรคเสี่ยง
    ที่กระทรวงสาธารณสุข จัดงานเสวนา “วัคซีนโควิด ไทยจะเดินต่อไปได้อย่างไร” โดย นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ นายแพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิในด้านระบาดวิทยา และที่ปรึกษาด้านวิชาการ รมว.สธ. กล่าวว่า ประเทศไทยตอนนี้เหมือนกับกำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญ โดยช่วง 3 เดือนจากนี้ คือ ก.ค.-ก.ย.นี้ เรากำลังเลือกเอาว่าจะสามารถเปิดประเทศได้หรือกำลังก้าวเข้าสู่วิกฤติที่กำลังถลำลึกลงไปอีก ทั้งนี้ อยากเสนอข้อเท็จจริง 5 ข้อ และ 2 ทางเลือกที่จะฝ่าวิกฤติรอบนี้ ขณะนี้เราอยู่ในระลอก 3 จากสายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ) ที่ติดต่อได้อย่างรวดเร็ว ทำให้เราตั้งตัวไม่ทัน มีคนไข้เสียชีวิตประมาณ 50 คนต่อวันในขณะนี้ คำถามว่าเดือนหน้า เดือนถัดไป อัตราการเสียชีวิตจะเป็นอย่างไรบ้าง ผู้เชี่ยวชาญทั้งหมดลงความเห็นตรงกันว่า สถานการณ์จะแย่กว่าเดิมเหตุผล เพราะสายพันธุ์ใหม่หรือสายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) เข้ามายึดครองการระบาด ซึ่งข้อมูลของกรุงเทพมหานครตอนนี้อยู่ที่ 40% แล้ว ในไม่ช้าเดือนนี้หรือเดือนหน้าจะเป็นเชื้อเดลตาทั้งหมด 
         "เพราะฉะนั้นคิดง่ายๆ ว่าถ้าเผื่อเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมาเรามีคนเสียชีวิตทั้งเดือน 992 คน ซึ่งเป็นภาระใหญ่มาก ถ้าสถานการณ์ยังเป็นอย่างนี้ เดือน ก.ค.เราจะมีคนเสียชีวิตประมาณ 1,400 คน,   ส.ค. 2,000 คน และพอถึงเดือน ก.ย. 2,800 คน ตอนนี้เรามีผู้เสียชีวิต 900 กว่าคนยังทำให้ระบบสาธารณสุขเดินหน้าต่อไปไม่ได้ และถ้ายังเป็นแบบนี้ต่อไป ก็แน่นอนว่าเราจะไม่สามารถไปรอดได้" นพ.คำนวณระบุ
    นพ.คำนวณกล่าวว่า ไทยอาจจะต้องมีการปรับการใช้ยุทธศาสตร์ ทางเลือกที่ 1 คือมุ่งเป้าฉีดไปที่คนสูงอายุและกลุ่มเสี่ยงที่ต้องการให้จบภายใน 2 เดือน (ก.ค.-ส.ค.) แต่ต้องประกอบด้วยเงื่อนไขคือ มีวัคซีนไม่จำกัด ขีดความสามารถในการฉีดที่เร็ว แต่ในการฉีด 10 ล้านโดสที่ผ่านมา คนสูงอายุได้รับวัคซีนเพียง 10% หากเป็นแบบนี้ไปทุกเดือนอาจจะต้องใช้เวลาถึง 7-8 เดือนกว่าจะป้องกันครอบคลุมผู้สูงอายุได้
    ส่วนทางเลือกที่ 2 คือร้อยละ 80 ของคนที่เสียชีวิตเป็นคนสูงอายุหรือเป็นคนที่มีโรคประจำตัว หากสามารถปกป้องคนกลุ่มนี้ได้ จะลดการเสียชีวิตลงได้อย่างมาก และอยู่ในวิสัยที่เราจะแก้ปัญหาได้ ถ้าเปลี่ยนเป้าการปูพรมฉีดวัคซีนในทุกกลุ่ม มาจะฉีดให้กลุ่มสูงอายุและกลุ่มเสี่ยงก่อน โดยเอาวัคซีนที่มีทั้งหมดในมือมาทำความตกลงกันไว้ตั้งแต่นายกรัฐมนตรี ศบค. ผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งเรามีกลุ่มนี้ 17.5 ล้านคน ตอนนี้เราฉีดได้ 2.5 ล้านคน อีก 15 ล้านคน เราต้องการฉีดให้จบภายใน 2 เดือนคือ ก.ค.-ส.ค. เชื่อว่ามีวัคซีนเพียงพอด้วยกำลังการผลิตของแอสตร้าฯ และวัคซีนที่ได้รับบริจาคมา หากเราทำได้แบบนี้เราจะลดการเสียชีวิตได้ โดยแทนที่จะเป็นหลักพันคนในเดือน ก.ค. แต่พอเดือน ส.ค. จะเหลือประมาณ  800 คน เดือน ก.ย. จะเหลือ 600-700 คน หรือวันละประมาณ 20 คน อยู่ในวิสัยที่ระบบสาธารณสุขยังเดินหน้าต่อไปได้ 
    นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยมีวัคซีนตัวหลัก 2 ยี่ห้อ ได้แก่ วัคซีนซิโนแวค และวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า โดยซิโนแวคนำเข้ามาเฉพาะกิจ รอบที่ระบาดหนัก พบว่าได้ผลในการป้องกันโรคราว 71-91% หากติดเชื้อโควิดจะมีอาการน้อย จากผลการศึกษาในประเทศบราซิลในกลุ่มประชาชน 70,000-80,000 คน ในสายพันธุ์บราซิล หรือ P1 สามารถลดอัตราการเสียชีวิตได้ราว 80-90% ส่วนผลการศึกษาจากประเทศอินโดนีเซียระบุว่า ฉีดซิโนแวค 2 เข็มแล้วยังสามารถติดเชื้อ หรือเสียชีวิตได้ ซึ่งมีปัจจัยหลักๆ มาจากสายพันธุ์เดลตา แต่เมื่อเร็วๆ นี้พบว่ามีแพทย์บางคนที่ฉีดครบ 2 เข็มแล้วเสียชีวิต ซึ่งพบว่ามาจากการแพร่ระบาดของเชื้อเดลตา จึงต้องทำการศึกษาต่อถึงผลของวัคซีน 
    ส่วนข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาจากประเทศจีนพบว่า ผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์เดลตาที่เมืองกว่างโจวประมาณ 166 คน ที่ฉีดซิโนแวคแล้ว สามารถลดการติดเชื้อได้ 69% ลดอาการปอดอักเสบได้ 73% และลดอาการบาดเจ็บรุนแรงไปจนถึงการเสียชีวิตได้ถึง 95% ส่วนการฉีดซิโนแวคกับสายพันธุ์เบตายังไม่พบข้อมูลรายงาน ดังนั้นวัคซีนซิโนแวคทั้งประสิทธิภาพและประสิทธิผล สามารถใช้ได้ในการป้องกันการป่วยและเสียชีวิต
แอสตร้าพลาดเป้าได้ 6 ล้านโดส
    นพ.ทวีกล่าวว่า วัคซีนแอสตร้าฯ ซึ่งจะกลายมาเป็นวัคซีนหลักของประเทศไทย สามารถป้องกันการติดเชื้อในสายพันธุ์อัลฟาได้สูงถึง 70-90% ส่วนผลกับเดลตา พบว่าจากการศึกษาหลายแห่งในช่วงที่อินเดียมีการระบาดสายพันธุ์นี้หนัก พบว่ามีประสิทธิผลถึง 97% ลดการตายและป่วยไปมาก ดังนั้นวัคซีนแอสตร้าฯ สามารถใช้ได้ดีกับสายพันธุ์เดลตา แต่การใช้กับสายพันธุ์เบตามีประสิทธิผลเพียง 10.4% ซึ่งจะต้องมีการจับตาดูต่อไป และวัคซีน mRNA ที่มีผลในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันดีมากสูงถึง 94% ของโมเดอร์นา และ 95% ของไฟเซอร์ 
    สำหรับการฉีดวัคซีนในเด็ก ที่กังวลคือเรื่องความปลอดภัย แม้ว่าจีนจะเป็นประเทศแรกที่มีการฉีดวัคซิโนแวคและซิโนฟาร์มในเด็กตั้งแต่ 3 ขวบ-17 ปี หรือประเทศอินโดนีเซียที่กำลังจะมีการฉีดวัคซีนในเด็กเช่นกัน และเมื่อไม่นานนี้เอกสารกำกับยาของวัคซีนไฟเซอร์ มีข้อความที่ระบุว่า หากฉีดในกลุ่มวัยรุ่นอาจจะก่อให้เกิดผลข้างเคียงของกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ในเข็มสองมักจะเกิดในเด็กผู้ชายในอัตรา 2 ต่อ 1 แสนโดส กุมารแพทย์อาจจะต้องมีการพิจารณาการใช้วัคซีนอย่างละเอียดขึ้น
    นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวว่า ได้เร่งจัดหาวัคซีนให้ได้เดือนละ 10 ล้านโดส แต่ด้วยการผลิตวัคซีนแอสตร้าฯ โดยสยามไบโอไซเอนซ์เพิ่งเริ่มผลิต ทำให้เดือน มิ.ย.ได้เพียง 6 ล้านโดส ส่วนในเดือนต่อไปคาดว่าจะดีขึ้นตามลำดับ อย่างไรก็ตาม การผลิตวัคซีนในประเทศมีกำลังการผลิตอยู่ที่ราว 15-16 ล้านโดสต่อเดือน แต่ด้วยข้อตกลงกับบริษัทแอสตร้าฯ ซึ่งต้องส่งออกวัคซีนไปยังประเทศอื่นๆ ทำให้ในแต่ละเดือนไทยจะได้วัคซีนแอสตร้าฯ เพียง 5-6 ล้านโดสเท่านั้น ดังนั้น สถาบันวัคซีนฯ จึงได้พยายามจัดหาวัคซีนจากแหล่งอื่นๆ เข้ามาเสริม หลังแอสตร้าฯ อาจได้ไม่ตามเป้า 10 ล้านโดสต่อเดือน โดยจัดหาไฟเซอร์ ซึ่งได้สั่งจองแล้ว 20 ล้านโดส คาดว่าน่าจะนำเข้ามาได้ราวไตรมาส 4 จากเดิมที่ประมาณการไว้ที่ไตรมาส 3 เนื่องจากรูปแบบของบริษัทวัคซีนต้องผลิตไปพร้อมๆ กับการส่งมอบ ประกอบกับประเทศไทยสั่งจองช้า ด้วยการติดปัญหารอบด้าน 
     นพ.นครกล่าวทิ้งท้ายว่า ขณะนี้วัคซีนที่จะได้ในช่วงไตรมาส 3 ได้แก่ ซิโนแวค ซิโนฟาร์ม และแอสตร้าฯ พร้อมกันนี้เรายังอยู่ระหว่างการศึกษาการฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 โดยการฉีดยี่ห้อเดียวกัน รวมไปถึงการสลับฉีดกับวัคซีน mRNA เพื่อหาวิธีการที่ทำให้ป้องกันการติดเชื้อได้ดีที่สุด
    ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า วัคซีนซิโนฟาร์มล็อตที่สองอีก 1 ล้านโดส กำลังมาถึงประเทศไทยในอีก 2 วัน จากนั้นจะทำการจัดสรรต่อไป.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"