เป็นที่ชัดเจนแล้ว
สงครามนี้ยืดเยื้อยาวนานแน่นอน
ฉะนั้นพูดความจริงกันเสียแต่เนิ่นๆ นะครับ
อย่าปล่อยให้ประชาชนแล้วไม่มีคำตอบใดๆ จากหน่วยงานที่รับผิดชอบ
การบอกความจริงกับประชาชนของ คุณหมอนคร เปรมศรี ผอ.สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ถือเป็นการเริ่มต้นที่ดี และหน่วยงานรัฐอื่นๆ ควรนำไปเป็นแบบอย่าง
ไล่เรียงสิ่งที่คุณหมอนครชี้แจงไว้ยืดยาวได้ตามนี้ครับ
ไทยจองวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าไว้ที่ ๖๑ ล้านโดส
หรือประมาณ ๑ ใน ๓ ของกำลังการผลิต ของบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ ซึ่งจำกัดอยู่ที่ ๑๘๐ ล้านโดสต่อปี
หรือเฉลี่ย ๑๕-๑๖ ล้านโดสต่อเดือน
แต่เป็นจำนวนที่ต้องมีการส่งออกไปยังประเทศอื่นๆ ที่ทำสัญญาการสั่งซื้อไว้ด้วย
ดังนั้น คาดว่าตั้งแต่เดือนกรกฎาคมเป็นต้นไป ไทยก็อาจจะไม่ได้รับการส่งมอบวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าถึง ๑๐ ล้านโดสต่อเดือนตามที่กำหนดไว้
คาดว่าจะได้รับประมาณ ๕-๖ ล้านโดส
ในสัญญาไม่ได้ระบุจำนวนการส่งมอบ มีเพียงกรอบเวลาเท่านั้น
"บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ผลิตวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าได้ ๑๖ ล้านโดสต่อเดือน และแอสตร้าเซนเนก้าต้องส่งมอบให้ประเทศอื่นด้วย เพราะเป็นเรื่องสัญญาการซื้อขาย ซึ่งเมื่อเดือน มิ.ย. แอสตร้าเซนเนก้าส่งมอบให้เราทั้งล็อตการผลิตทำให้ไทยได้ครบ ๖ ล้านโดส โดยไม่ได้ส่งออกไปยังประเทศอื่นเลย แต่ต่อไปคงไม่อาจทำเช่นนั้นได้เพราะเป็นเรื่องของสัญญาการซื้อขาย และเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ"
เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว หากต้องการให้เป็นไปตามเป้าหมาย ๑๐ ล้านโดสต่อเดือน ต้องพยายามจัดหาวัคซีนจากแหล่งอื่นมาเพิ่ม
สำหรับวัคซีน mRNA พยายามจัดหาอยู่ โดยเจรจากับไฟเซอร์
มีการทำสัญญาจองแล้ว ๒๐ ล้านโดส
เดิมจะส่งมอบไตรมาส ๓ ก็เลื่อนเป็นไตรมาส ๔ ประมาณตุลาคม พฤศจิกายน อยู่ระหว่างการต่อรอง และขอให้ได้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
นอกจากนี้ยังร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ มีการเจรจาจัดหาวัคซีนเพิ่มเติมผ่านช่องทางการทูตหรือการจัดหาแบบรัฐต่อรัฐ
มีทั้งวัคซีนของประเทศคิวบา เป็นซับยูนิตโปรตีน ตัวแรกที่ออกมามีประสิทธิภาพป้องกันโรค ๙๒% น่าสนใจเพราะเป็นวัคซีนที่ค่อนข้างปลอดภัย
รวมถึงเจรจราวัคซีน mRNA จากเจ้าอื่นด้วย เช่น วัคซีนเคียวร์แวค ของเยอรมนี ซึ่งมีการเจรจาข้อมูลเชิงลึกกันอยู่ และดูว่าเขาจะพัฒนาต่อหรือไม่ ถือเป็นวัคซีนที่น่าสนไม่แพ้ ไฟเซอร์ โมเดอร์นา และในปีหน้าจะจัดหาวัคซีนตอบสนองต่อไวรัสกลายพันธุ์ให้มากขึ้น
ระหว่างนี้ ไตรมาส ๓ โอกาสวัคซีนตัวอื่นๆ เข้ามาในไทยเป็นไปได้ยาก เท่าที่สืบค้น ยังคงมีแค่วัคซีนเชื้อตายจากประเทศจีน ทั้งซิโนแวค และซิโนฟาร์ม
ครับ...โดยสรุปคือ ตั้งแต่เดือนนี้เป็นต้นไป สถานการณ์จะซับซ้อนขึ้น จำนวนผู้เชื้อจะยังไม่ลด ขณะที่วัคซีนวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าส่งมอบได้น้อยกว่าแผนที่วางไว้
นี่คือความจริงที่ประชาชนต้องรับรู้
ภาระจึงไปอยู่ที่รัฐบาล จะบริหารจัดการอย่างไร ต้องมีความชัดเจน
ถ้าไม่ชัดเจน ป่วนแน่
เหมือนอย่างวัคซีนโมเดอร์นาที่เป็นอยู่ตอนนี้
จุดเริ่มต้นของความโกลาหลอยู่ที่ "หมอบุญ วนาสิน" เศรษฐีหุ้น ประธานกรรมการ บริษัท ธนบุรี เฮลท์ แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)
ก็ฟังหูไว้หู เพราะนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ "หมอบุญ" พูดแล้วสร้างความปั่นป่วนไปทั่ว
เอาเป็นว่ามีโรงพยาบาลเอกชนจำนวนหนึ่งต้องการวัคซีน และทั้งที่รู้ว่าวัคซีนโควิดเป็นวัคซีนที่ใช้ในกรณีฉุกเฉิน เพื่อหลีกเลี่ยงความเสียหายต่างๆ การซื้อขายจึงผ่านรัฐต่อรัฐเท่านั้น
ภาวะเร่งรีบต้องการวัคซีน โดยเฉพาะวัคซีน mRNA เป็นที่มาของการให้ข้อมูลที่ผิดพลาด
"หมอบุญ" อ้างว่าการเจรจากับทางโมเดอร์นาที่จะซื้อเพิ่มอีก ๑๐ ล้านโดสยังไม่มีความคืบหน้า เฉพาะการจองวัคซีนโมเดอร์นาที่เริ่มไว้เมื่อช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา กลับพบว่าองค์การเภสัชกรรมหน่วยงานเดียวที่สามารถเซ็นเอกสารทำสัญญาบริษัทผู้ผลิต ระบุปัญหาเรื่องยังค้างอยู่ที่อัยการสูงสุด
อย.เพิ่งจะขึ้นทะเบียน วัคซีนโมเดอร์นา เมื่อ ๑๓ พฤษภาคมที่ผ่านมา
จากนั้นองค์การเภสัชกรรมชี้แจงว่า วัคซีนโมเดอร์นา ๕ ล้านโดส จะทยอยมาในไตรมาสที่ ๔/๒๕๖๔-มกราคม ๒๕๖๕
คาดว่าจะได้เซ็นสัญญาซื้อจริงในเดือนสิงหาคม ๒๕๖๔
นั่นคือความชัดเจน
ชัดเจนถึงขนาดว่า "หมอเฉลิม หาญพาณิชย์" นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน แจ้งมติล่าสุดของสมาคมโรงพยาบาลเอกชนว่า ได้กำหนดราคาให้บริการวัคซีนทางเลือกโมเดอร์นาของโรงพยาบาลเอกชน เมื่อวันที่ ๑ กรกฎาคมที่ผ่านมา ให้บริการฉีดวัคซีนโมเดอร์นา ๒ เข็ม อยู่ที่ ๓,๓๐๐ บาท
หรือ ๑,๖๕๐ บาท/เข็ม
ในอัตราเดียวกันทุกโรงพยาบาลเอกชนที่ให้บริการ
เป็นราคาสุทธิที่รวมค่าวัคซีน ค่าบริการ และค่าประกันวัคซีนทั้งหมดแล้ว
ขณะที่หมอวิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) บอกว่า อภ.มีการกำหนดราคาขายวัคซีนโมเดอร์นาให้กับโรงพยาบาลเอกชนแล้วโดสละ ๑,๑๐๐ บาท รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม ค่าขนส่ง และค่าประกันภัยรายบุคคลแล้ว
นั่นคือไทม์ไลน์ วัคซีนโมเดอร์นา
และที่ "หมอบุญ" บอกว่า โรงพยาบาลของบริษัท ธนบุรี เฮลแคร์ฯ หรือเครือโรงพยาบาลธนบุรี วางแผนตั้งแต่เดือนตุลาคม ๒๕๖๓ เพื่อซื้อวัคซีน ๔-๕ ชนิด จำนวน ๕๐ ล้านโดส ดูจะเป็นความต้องการเพียงฝ่ายเดียว ใครๆ ก็พูดได้
แต่ทางปฏิบัติ การจัดหาวัคซีนมากขนาดนั้นโดยเอกชนในช่วงเวลาดังกล่าว แทบเป็นไปไม่ได้เลย
ระดับประเทศ หลายประเทศในโลกนี้ยังทำไม่ได้
ครับ....เมื่อต้นปีที่แล้ว "หมอบุญ" บอกว่าจะสร้างสถานพยาบาลฉุกเฉิน สอดรับแนวทางของรัฐบาล โดยใช้ตัวอย่างโรงพยาบาลฉุกเฉินอู่ฮั่นโมเดลของจีน เพื่อเตรียมรับสถานการณ์ที่ไม่อาจคาดการณ์ได้
ตอนนี้ไปถึงไหนแล้วครับ?
การเข้ามาของสายพันธุ์เดลตา (สายพันธุ์อินเดีย) จะทำให้สถานการณ์ ๓ เดือนจากนี้ไปแย่ลง
โดยเฉพาะเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลกำลังเป็นสายพันธุ์หลัก
"เดลตา" ยึดครองแล้วกว่า ๔๐%
ในวงเสวนา หมอคำนวณ อึ้งชูศักดิ์ นายแพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญในด้านระบาดวิทยา คาดการณ์ว่า
“หากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ ที่เดือนมิถุนายนมีผู้เสียชีวิต ๙๙๒ คน ในเดือนกรกฎาคมคาดว่าจะมีผู้เสียชีวิต ๑,๔๐๐ คน เดือนสิงหาคม อัตราการเสียชีวิตเพิ่มเป็น ๒,๐๐๐ คน และเดือนกันยายนจะมีผู้เสียชีวิตสูงถึง ๒,๘๐๐ คน ซึ่งจะทำให้ระบบสาธารณสุขเราเดินต่อไปไม่ได้”
นั่นคือสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น
ลำพังโรงพยาบาลรัฐคงไม่ไหว
แต่หากโรงพยาบาลเอกชนพร้อมใจเต็มร้อยกับเรื่องนี้ ระบบสาธารณสุขไทยยังเดินไปได้แน่นอน.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |