"ริชาร์ด แบรนสัน" มหาเศรษฐีชาวอังกฤษเจ้าของบริษัท เวอร์จินกาแล็กติก ประกาศว่าตัวเขาจะขึ้นท่องอวกาศในวันที่ 11 กรกฎาคมนี้ หรือ 9 วันก่อนที่ "เจฟฟ์ เบโซส" จะพาคณะซึ่งรวมถึงอดีตนักบินหญิง "วอลลี ฟังก์" ขึ้นแคปซูลอวกาศนิวเชพเพิร์ดสัมผัสประสบการณ์ไร้น้ำหนักในอวกาศ
แฟ้มภาพ เซอร์ริชาร์ด แบรนสัน ถ่ายรูปคู่กับยานเวอร์จินกาแล็กติก (Photo by Steve Parsons/PA Images via Getty Images)
ทั้งแบรนสัน และเบโซส ต่างเป็นมหาเศรษฐีผู้ก่อตั้งบริษัทท่องเที่ยวอวกาศ ทั้งคู่จึงถือเป็นคู่แข่งกัน เบโซสประกาศเมื่อต้นเดือนมิถุนายนว่า เขาและมาร์ก น้องชาย จะเป็นส่วนหนึ่งของลูกเรือแคปซูลอวกาศนิวเชพเพิร์ดของบริษัท บลูออริจิน ของเขา ในเที่ยวบินแรกที่มีมนุษย์ขึ้นไปท่องอวกาศ
ขณะที่ริชาร์ด แบรนสัน รอคอยมานานแล้วที่จะเป็นส่วนหนึ่งของเที่ยวบินท่องอวกาศทดสอบของบริษัท เวอร์จิน กาแล็กติก ของเขา ก่อนเริ่มเที่ยวบินพาณิชย์ท่องอวกาศปกติในปี 2564
เอเอฟพีรายงานว่า เมื่อเช้าวันพฤหัสบดีที่ 1 กรกฎาคม ตามเวลาในสหรัฐ เบโซสเผยว่า วอลลี ฟังก์ นักบินหญิงวัย 82 ปี จะร่วมเดินทางไปกับเขาในเที่ยวบินท่องอวกาศในวันที่ 20 กรกฎาคม แต่หลังจากนั้นไม่กี่ชั่วโมง เวอร์จินกาแล็กติกก็ประกาศว่า แบรนสันจะเป็นหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญภารกิจที่เดินทางไปกับยานสเปซชิพทูยูนิตี ที่จะขึ้นท่องอวกาศอย่างเร็วที่สุดในวันที่ 11 กรกฎาคม ทั้งนี้ขึ้นกับสภาพอากาศและการตรวจสอบด้านเทคนิค
แบรนสันกล่าวถึงการขึ้นท่องอวกาศของเขาว่า เขาเชื่อว่าอวกาศเป็นของพวกเราทุกคน บริษัท เวอร์จินกาแล็กติก เป็นแนวหน้าในอุตสาหกรรมอวกาศเชิงพาณิชย์ ที่จะเปิดพื้นที่ในอวกาศให้กับมนุษยชาติและจะเปลี่ยนแปลงโลกของเราไปตลอดกาล
ถ้าการเดินทางขึ้นท่องอวกาศของแบรนสันเป็นไปตามกำหนดวันที่ 11 กรกฎาคม เขาจะได้สัมผัสอวกาศก่อนหน้าเบโซส ที่กำหนดเดินทางวันที่ 20 กรกฎาคม
บีบีซีรายงานว่า แบรนสันจะเป็น 1 ใน 4 ของผู้ทดสอบบนยานสเปซชิพทูยูนิตี และมีนักบินอีก 2 คนที่จะขึ้นไปที่ความสูงจากพื้นโลก 90 กิโลเมตร จะอยู่ในสภาพไร้น้ำหนักราว 2-3 นาที และเห็นเส้นโค้งของโลก
ส่วนฟังก์จะร่วมเดินทางท่องอวกาศกับพี่น้องเบโซสและผู้โดยสารอีกคนที่ชนะประมูลที่นั่งด้วยราคา 28 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และจะทำให้เธอเป็นมนุษย์อายุมากที่สุดที่ท่องอวกาศ ฟังก์เคยเข้าร่วมโครงการเมอร์คิวรี 13 และเป็นผู้หญิงคนแรกที่เข้าฝึกเพื่อเป็นนักบินอวกาศระหว่างปี 2503-2504 แต่สุดท้ายไม่ได้รับเลือกจากนาซาเพราะเป็นผู้หญิง
เอเอฟพีกล่าวว่า อวกาศยานที่พัฒนาโดยเวอร์จินกาแล็กติกกับบลูออริจินแตกต่างกันมาก ถึงแม้ว่าผู้โดยสารจะได้สัมผัสกับประสบการณ์คล้ายคลึงกัน นั่นคือภาวะไร้น้ำหนัก ในเวลาไม่กี่นาที
อวกาศยานของเวอร์จินกาแล็กติกไม่ใช่จรวดแบบดั้งเดิม แต่เป็นเครื่องบินขนส่งที่บินไปถึงระดับความสูงหนึ่งแล้วปล่อยอวกาศยานลำเล็ก หรือวีเอสเอส ยูนิตี ที่จะจุดเครื่องยนต์แล้วทะยานเข้าสู่อวกาศระดับใต้วงโคจร จากนั้นก็ร่อนกลับสู่โลก
ขณะที่ของบลูออริจินนั้นใช้จรวดในการนำส่งแนวดิ่ง แล้วแคปซูลอวกาศจะแยกตัวจากจรวดนำส่ง ขึ้นสู่ระดับความสูง 100 กิโลเมตร โดยผู้โดยสารจะสัมผัสกับสภาพไร้น้ำหนัก 4 นาที และสามารถมองเห็นเส้นโค้งขอบโลก จรวดนำส่งของบลูออริจินซึ่งนำกลับมาใช้ใหม่ได้ จะกลับมาลงจอดแนวดิ่งโดยอัตโนมัติห่างจากจุดปล่อย 2 ไมล์ ส่วนแคปซูลจะลอยกลับสู่พื้นโลกโดยมีร่มชูชีพขนาดใหญ่ชะลอความเร็ว.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |