ทางโล่ง'โรดแมปชัด' ชงสูตรปลดล็อกไพรมารีฯ 


เพิ่มเพื่อน    

       โมเมนตัมการเมือง-การเลือกตั้ง สวิงขั้ว ข้ามฟากกลับไปอยู่ที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) อีกครั้งหลังในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา จุดโฟกัสหลักอยู่ที่ “ศาลรัฐธรรมนูญ” ที่หลายฝ่ายเกรงว่า คำวินิจฉัยของศาลรธน.ต่อร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญที่สำคัญ 2 ฉบับที่จะนำไปสู่การเลือกตั้งคือ ร่าง พ.ร.บ.การเลือกตั้ง ส.ส.และร่าง พ.ร.บ.การได้มาซึ่ง ส.ว. อาจมีปัญหาสะดุดลง หากศาล รธน.วินิจฉัยว่ามีบางมาตราทางข้อกฎหมายจนขัด รธน.

       แต่เมื่อศาล รธน.วินิจฉัยจนสะเด็ดน้ำ เสร็จสิ้นไปในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา สำทับด้วยล่าสุดกับการวินิจฉัยว่า คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 53/2560 ซึ่งแก้ไขพ.ร.บ.พรรคการเมือง พ.ศ.2560 ไม่ขัดหรือแย้งกับ รธน. 

       ก็ทำให้ปมปัญหาข้อกฎหมายทุกอย่างถูกเคลียร์จนสะเด็ดน้ำ โรดแมปการเลือกตั้งจึงทางโล่ง เหลือก็แค่ปฏิบัติตามขั้นตอน เช่น รอให้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นำร่าง พ.ร.บ.ทั้งสองฉบับนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย เพื่อรอประกาศใช้ต่อไป

       เลยทำให้หลังจากนี้ บทบาทของ “กกต.” และ "เลขาธิการ กกต." ในฐานะ "นายทะเบียนพรรคการเมือง" จะมีความสำคัญมากขึ้นตามลำดับในช่วงโรดแมปนับถอยหลังสู่การเลือกตั้ง ที่ก็พบว่า ฝ่าย กกต.ก็เริ่มขยับกันแล้ว แม้ดูตามขั้นตอน มีความเป็นไปได้ที่การจัดการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นโดย "กกต.ชุดใหม่” ที่ไม่ใช่ “4 กกต.ชุดรักษาการในปัจจุบัน” ก็ตาม

       อย่างท่าทีที่น่าสนใจก็คือ การออกมาให้ความเห็นของ “นายทะเบียนพรรคการเมือง” คือ พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการกรรมการการเลือกตั้ง ที่ออกมาเสนอให้มีการใช้มาตรา 44 เพื่อให้อำนาจกับ กกต.ในการประกาศเขตเลือกตั้ง หลังร่างกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. ประกาศราชกิจจาฯ โดยจับประเด็นได้ว่า ข้อเสนอดังกล่าว คงเพราะต้องการช่วยให้พรรคการเมืองทำไพรมารีโหวตทัน เนื่องจากตามร่าง พ.ร.บ.การเลือกตั้ง ส.ส. มีการบัญญัติว่า ให้มีผลบังคับใช้หลังประกาศในราชกิจจานุเบกษาไปแล้ว 90 วัน ไม่ใช่ให้มีผลทันที จึงทำให้หลายพรรคการเมือง ทั้งพรรคเก่า-พรรคใหม่ เกรงว่าอาจดำเนินการในขั้นตอนต่างๆ ไม่ทัน

       โดยเฉพาะการทำ "ไพรมารีโหวต" ยิ่งหาก คสช. "ปลดล็อกพรรคการเมือง” ช้าออกไปเรื่อยๆ ก็จะยิ่งไม่ทันการณ์ จึงเป็นที่มาของท่าทีดังกล่าวของเลขาธิการ กกต. ที่ย้ำว่า ก่อนหน้านี้ กกต.ได้ยื่นหนังสือต่อ คสช. ให้มีการผ่อนปรนในหลายประเด็น เช่น การหาสมาชิกพรรคการเมือง เนื่องจากตอนนี้พรรคการเมืองเก่ายังไม่สามารถหาสมาชิกพรรคเพิ่มได้ และสาขาพรรคการเมืองเก่าก็ถูกยุบไปแล้ว ซึ่งจะส่งผลต่อการทำไพรมารีโหวตของพรรคการเมือง แต่ขั้นตอนเหล่านี้ยังไม่สามารถทำได้ เนื่องจากยังไม่ปลดล็อกพรรคการเมือง

     “ควรมีเวลาให้พรรคการเมืองเตรียมตัวสำหรับการทำไพรมารีโหวต เห็นด้วยกับแนวคิดที่จะให้มีการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ให้ กกต.ประกาศเขตเลือกตั้งก่อนการบังคับใช้ร่าง พ.ร.บ.เลือกตั้ง ส.ส. ที่ต้องรอ 90 วันหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้พรรคการเมืองมีเวลาทำไพรมารีโหวตได้มากขึ้น เพราะหากรอให้กฎหมายมีผลบังคับใช้ อาจดำเนินการไม่ทัน พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ระบุ

       ทั้งนี้ หากจำกันได้ ก่อนหน้านี้ก็ข้อคิดเห็นจากบางพรรคการเมืองที่เสนอให้หัวหน้า คสช.ใช้มาตรา 44 ออกคำสั่งหัวหน้า คสช.ไปแก้ พ.ร.บ.พรรคการเมืองฯ เพื่อให้  "ยกเว้น-เว้นวรรค" การทำไพรมารีโหวตในการเลือกตั้งครั้งแรก เหมือนกับที่ออกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 53/2560ซึ่งไปแก้ พ.ร.บ.พรรคการเมือง โดยให้เหตุผลว่า เนื่องจากเป็นของใหม่ของพรรคการเมือง อีกทั้งการดำเนินการของพรรคการเมืองอาจไม่ทัน อาจทำให้เกิดปัญหายุ่งยาก ก็ควรใช้มาตรา 44 ให้งดเว้นการทำไพรมารีโหวตในการเลือกตั้งครั้งแรกตามกฎหมายพรรคการเมืองไปก่อน

       ทว่าเสียงเรียกร้องดังกล่าว ไม่มีเสียงขานรับใดๆ จากฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งอาจเพราะ คสช.-บิ๊กตู่ ก็อาจเกรงว่า การใช้มาตรา 44 พร่ำเพรื่อ ไปแก้ไขกฎหมาย ที่ประกาศใช้แล้วเพื่อยกเว้นบางอย่าง หากใช้บ่อย แม้จะเป็นอำนาจตามรัฏฐาธิปัตย์ แต่ก็คงไม่เป็นผลดี จึงทำให้ยังไม่มีเสียงขานรับในเรื่องนี้ แต่สำหรับข้อเสนอ-แนวคิดของเลขาธิการ กกต. ในฐานะ "ฝ่ายปฏิบัติโดยตรง" ก็อาจเป็นสุ้มเสียงที่ฝ่าย คสช.อาจรับฟังก็ได้ เพื่ออย่างน้อยก็จะได้ทำให้แต่ละพรรคการเมืองเตรียมตัวสำหรับการเลือกตั้งได้ทัน หากได้รู้เขตเลือกตั้งที่แน่ชัดแต่เนิ่นๆ  แม้ล่าสุดทาง "ประธาน กกต.-ศุภชัย สมเจริญ" จะออกมาบอกว่า ข้อเสนอดังกล่าวของเลขาธิการ กกต.เป็นเพียงความเห็นส่วนตัว เรื่องนี้ยังไม่เคยมีการเสนอที่ประชุม กกต.พิจารณา และ กกต.ก็ยังไม่มีความคิดที่จะเสนอให้ คสช.ใช้มาตรา 44 เพื่อแก้ปัญหาเรื่องนี้

       อย่างไรก็ตาม แม้ยังเหลือเวลาตามโรดแมปอีกพอสมควร เพราะยังเหลืออีกหลายขั้นตอน เช่น ขั้นตอนการทูลเกล้าฯ-โปรดเกล้าฯ ร่าง พ.ร.บ.การเลือกตั้ง ส.ส.-พ.ร.บ.การได้มาซึ่ง ส.ว.-การบังคับใช้กฎหมายหลังกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.ประกาศใช้ ที่ต้องรอไปอีก 90 วัน -ท่าที คสช.ในการปลดล็อกให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมการเมืองได้-การประกาศเขตเลือกตั้ง-การทำไพรมารีโหวต

       ทว่าดูเหมือน ปี่กลองการเมืองเวลานี้ก็เริ่มคึกคักตามลำดับ ทั้งพรรคเก่า-พรรคใหม่ ที่เตรียมพร้อมลงโม่แข้งในสนามเลือกตั้ง ที่กำลังจะเกิดขึ้นในต้นปีหน้า หลังเงื่อนไขการเลื่อนเลือกตั้งถูกปลดล็อกไปทีละปม.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"