ศาลอาญาปรับ อดีตผู้สมัคร สส.อนาคตใหม่ ละเมิดอำนาจศาล-มีเจตนาใช้กำลังต่อจนท.ในห้องพิจารณาคดี


เพิ่มเพื่อน    

2 ก.ค.64 - ที่ห้องพิจารณา 707 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก นายอดิศักดิ์ สมบัติคำ แกนนำคณะราษฎร และ อดีตผู้สมัคร ส.ส. พรรคอนาคตใหม่ จังหวัดมหาสารคาม เขต 2  พร้อม นายอานนท์ นำภา ได้เดินทางมาศาลตามนัดไต่สวนในคดีหมายเลขดำ ลศ 5/2564 ที่ ผู้อำนวยการสำนักอำนวยการประจำศาลอาญาผู้กล่าวหา เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายอดิศักดิ์ สมบัติคำ ในความผิดฐาน ละเมิดอำนาจศาล

จากกรณีเมื่อวันที่ 5 เม.ย.64 ซึ่งศาลได้พิจารณาคดีดำ อ. 287/64 ที่มี นายพริษฐ์ หรือเพนกวิน ชิวารักษ์ กับพวกเป็นจำเลยรวม 22 คน ซึ่งนายอดิศักดิ์ ตกเป็นจำเลยที่ 18 ในคดี และได้ใช้มือตบที่หัวไหล่ขวา นายไพทูรย์ มนัสศิลา เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ดูแลความเรียบร้อยผู้ต้องขังในห้องพิจารณา จนเกิดเสียงดัง และมีอาการเจ็บ เมื่อนายไพโรจน์ หันไปดู นายอดิศักดิ์ บอกให้หลบออกไปเพราะยืนบังการพิจารณาคดี ซึ่งเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยภายในบริเวณศาลอาญา

โดย นายอดิศักดิ์ กล่าวว่า วันนี้ได้เดินทางมาตามศาลนัดไต่สวนในคดี ละเมิดอำนาจศาลจากกรณีเมื่อวันที่ 8 เมษายน 64 ได้มีการไต่สวนคดี 19 กันยายน 64 ซึ่งในวันนั้นได้มีการกระทบกระทั้งกัน ระหส่างเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ กับ ผู้ต้องหา และทนาย จึงนำไปสู่การร้องทุกข์ต่อศาล ในความผิดฐาน ละเมิดอำนาจศาล ซึ่งการไต่สวนนัดที่แล้วตนได้มาตามนัดของศาล แต่ทางเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ คนที่อ้างว่าผมไปทำร้ายเขาต่อหน้าบัลลังก์ศาลนั้น เขาไม่ได้มา โดยให้เหตุผลว่า เขาติดโควิดอยู่ระหว่างการกักตัว ศาลจึงได้เลื่อนนัดการไต่สวนมาเป็นวันนี้ ผมจึงได้เดินทางมาจากจังหวัดมหาสารคาม เพื่อมายืนยันความบริสุทธิ์ใจว่า ตนเองไม่ได้กระทำการละเมิด หรือฝ่าฝืนข้อกฎหมาย ข้อระเบียบของศาลแต่อย่างใด

หลังจากศาลไต่สวนพยานเสร็จแล้ว ศาลอาญาได้อ่านคำสั่ง โดยพิเคราะห์พยานหลักฐานที่ได้จากการไต่สวนแล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 8 เม.ย.2564 เวลาประมาณ 14.00 น. ซึ่งศาลนัดตรวจพยานหลักฐาน สอบคำให้การจำเลยคดีในคดีหมิ่นเบื้องสูง ที่ห้องพิจารณาคดี 704 คดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.287/2564 ระหว่าง พนักงานอัยการโจทก์ นายพริษฐ์หรือเพนกวิน ชิวารักษ์ กับพวกรวม 22 คน จำเลย ในความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ และความผิดฐานอื่นที่เกี่ยวกับการชุมนุม อันผิดต่อกฎหมาย ผู้ถูกกล่าวหาเป็นจำเลยที่ 18 ซึ่งในคดีดังกล่าวมีจำเลยส่วนหนึ่งถูกคุมขังและอีกส่วนหนึ่งได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว

คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยว่าจจำเลยกระทำความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลหรือไม่

ผู้กล่าวหาและเจ้าพนักงานราชทัณฑ์ เบิกความประกอบภาพจาก กล้องโทรทัศน์วงจรปิดยืนยันว่า ในวันเกิดเหตุนายไพโรจน์ มนัสสิลา เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชามอบหมาย ให้ปฏิบัติหน้าที่ควบคุมผู้ต้องขังชาย ซึ่งเป็นจำเลยบางคนที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวที่ห้องพิจารณาคดี 304 ในคดีหมายเลขดำที่ อ.287/2564 ที่นายพริษฐ์ หรือเพนกวิน ชิวารักษ์ พวกเป็นจำเลย โดยนายอดิศักดิ์ ผู้ถูกกล่าวหาเป็นจำเลยที่ 18 และได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ขณะเกิดเหตุ นายไพโรจน์และเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ ยืนควบคุมตัวจำเลยที่ถูกคุมขังโดยยืนอยู่บริเวณช่องทางเดินระหว่างเก้าอี้ สำหรับจำเลยถูกคุมขังกับเก้าอี้จำเลยที่ได้รับการปล่อยชั่วคราว

นายอดิศักดิ์ ผู้ถูกกล่าวหา นั่งอยู่ฝั่งเก้าอี้สำหรับจำเลยได้รับการปล่อยชั่วคราว.และอยู่แถวหลัง ส่วนนายไพโรจน์กับเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ยืนอยู่ด้านหน้า ขณะที่นายอานนท์ นำพา จำเลยที่ 2 ซึ่งถูกคุมขังกำลังแถลงแนวทางคดีต่อผู้พิพากษา ผู้ถูกกล่าวหาลุกจากเก้าอี้ตรงเข้าไปใช้มือตบเบา ๆ ที่บริเวณไหล่ของนายไพโรจน์ 1 ครั้ง แล้วกลับไปนั่งประจำที่เดิม นายไพโรจน์ตกใจและรู้สึกเจ็บเล็กน้อยจึงหันกลับไปถามผู้ถูกกล่าวหาว่า "พี่ ผมปฏิบัติหน้าที่อยู่นะ ทำแบบนี้กับผมได้อย่างไร" ผู้ถูกกล่าวหาตอบว่า "คุณยืนบังผม ทำให้ผมมองไม่เห็นการพิจารณาคดีของศาล"

หลังจากนั้นมีเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์อีกคนหนึ่งเดินมาสอบถามแล้วแนะนำนายไพโรจน์ให้ทำบันทึกรายงานพฤติกรรมของผู้ถูกกล่าวหา เห็นว่า ผู้กล่าวหาเป็นผอ.สำนักอำนวยการประจำศาลอาญาและนายไพโรจน์เป็นเจ้าพนักงานราชทัณฑ์ ต่างก็เป็นเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติราชการไปตามหน้าที่และไม่รู้จักหรือมีสาเหตุโกรธเคืองกับผู้ถูกกล่าวหามาก่อน จึงไม่มีเหตุให้ระแวงสงสัยว่าจะเบิกความเพื่อกลั่นแกล้งหรือปรักปรำให้ร้ายผู้ถูกกล่าวหา 

ทั้งเมื่อศาลเปิดดูภาพเคลื่อนไหวและเสียงที่บันทึกจากกล้องโทรทัศน์วงจรปิดที่ติดตั้งภายในห้องพิจารณาคดีที่เกิดเหตุ บันทึกภาพเหตุการณ์ไว้ได้ ซึ่งผู้กล่าวหา, นายไพโรขน์ และนายอดิศักดิ์ ผู้ถูกกล่าวหาต่างยืนยันว่าเป็นข้อมูลภาพเคลื่อนไหวและข้อมูลเสียงในวันเกิดเหตุ ผู้ถูกกล่าวหาเองก็เบิกความรับว่าได้กระทำการดังที่มีการบันทึกไว้จริง ข้อเท็จจริงจึงฟังได้เช่นนั้น พฤติกรรมของผู้ถูกกล่าวหาที่ลุกจากเก้าอี้เดินเข้าไปประชิดตัวนายไพโรจน์แล้วยกมือขึ้นสูงในระดับไหลใช้แรงกายภาพกระทำต่อนายไพโรจน์ในขณะที่ยืนปฏิบัติหน้าที่ควบคุมผู้ต้องขังในระหว่างการพิจารณาคดีของศาลในห้องพิจารณา ถึงแม้ผู้ถูกกล่าวหาจะก่อเหตุอย่างรวดเร็วในระยะเวลาอันสั้นและกลับไปนั่งที่เดิมโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจของนายไพโรจน์ก็ตาม แต่ก็ส่งผลให้นายไพโรจน์ถึงกับหันกลับไปสอบถามผู้ถูกกล่าวหาทันที แม้ผู้ถูกกล่าวหาจะอ้างว่าไม่มีเจตนาทำร้ายให้ได้รับบาดเจ็บก็ตาม แต่ก็ปรากฏภาพผู้ถูกกล่าวหาแสดงอาการพร้อมทั้งโบกมือในลักษณะไม่พอใจนายไพโรจน์ จนกระทั่งมีเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์อื่นเดินจากอีกฝั่งหนึ่ง เข้ามาสอบถามผู้ถูกกล่าวหาและนายไพโรจน์ 

ซึ่งพฤติการณ์ดังกล่าวน่าเชื่อว่าขณะเกิดเหตุผู้ถูกกล่าวหามีเจตนาที่จะใช้กำลังกระทำต่อร่างกายนายไพโรจน์จริง มิใช่เพียงใช้มือแตะหรือสะกิดไหล่เบาๆ เพื่อมิให้ยืนบังการพิจารณาคดีของศาล ตามที่ผู้ถูกกล่าวหาอ้างแต่อย่างใด แม้จะปรากฏตามภาพเคลื่อนไหวว่าก่อนเกิดเหตุผู้ถูกกล่าวหามีการขยับตัวชะเง้อมองไปทางด้านหน้าห้องพิจารณาคดี ซึ่งเป็นช่วงที่จำเลยคนหนึ่งยืนถือไมโครโฟน แถลงแนวทางคดีต่อผู้พิพากษาและบริเวณที่นายไพโรจน์ยืนอาจบดบังการมองเห็นของผู้ถูกกล่าวหาไปบางช่วงบ้างก็ตาม แต่หากเป็นเช่นนั้นจริงผู้ถูกกล่าวหาก็สามารถลุกขึ้นเดินเข้าไปแจ้งให้นายไพโรจน์ทราบด้วยกริยาวาจาสุภาพได้ โดยไม่จำเป็นต้องใช้กำลังกระทำต่อร่างกาย ของนายไพโรจน์ในลักษณะที่ไม่สมควรและไม่ให้เกียรติเช่นนี้ 

ทั้งยังกระทำในขณะที่ผู้พิพากษา กำลังนั่งพิจารณาคดี นับว่าเป็นการกระทำที่ไม่บังควรอย่างยิ่ง อีกทั้งเมื่อพิจารณาข้อมูลประวัติการศึกษา ประวัติหรือประสบการณ์การทำงาน ตลอดจนอาชีพทั้งในอดีตและปัจจุบัน คำแก้คำกล่าวหาที่ยื่นต่อศาลแล้ว ระบุว่าผู้ถูกกล่าวหาเป็นข้าราชการบำนาญ สำเร็จการศึกษาในระดับอุดมศึกษา เคยรับราชการทหารเรือ ทำงานการเมืองท้องถิ่นมาอย่างต่อเนื่อง และเคยลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร( ส.ส.) ทั้งยังระบุอาชีพปัจจุบันว่าเป็นผู้ช่วยดำเนินงานของ ส.ส.คนหนึ่งอีกด้วย โดยระบุสถานที่ทำงานว่ารัฐสภา ดังนั้นผู้ถูกกล่าวหาย่อม รู้ถึงกฎระเบียบของการราชการและการปฏิบัติตนในสถานที่ราชการเป็นอย่างดี รวมถึงการปฏิบัติตนในห้องพิจารณาคดีและในบริเวณศาล ซึ่งเป็นสถานที่ราชการด้วย การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาจึงเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลอันเป็นที่ประสิทธิ์ประสาทความยุติธรรมให้แก่ประชาชน ซึ่งบุคคลทั่วไปที่เข้ามาในบริเวณศาลย่อมมีความมั่นใจในความปลอดภัยว่าจะไม่ถูกล่วงละเมิดไม่ว่าในทางใดๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเจ้าพนักงานราชทัณฑ์ มาปฏิบัติหน้าที่ควบคุมผู้ต้องขังในคดีซึ่งผู้ถูกกล่าวหาก็เป็นจำเลยคนหนึ่งด้วย ทั้งยังเป็นการใช้กริยาในทางที่ก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในห้องพิจารณาคดี เป็นการขัดขืนไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดศาลอาญาว่าด้วยการรักษาความสงบเรียบร้อยในบริเวณศาลอาญา พ.ศ.2564 ลงวันที่ 17 มี.ค.2564 อันเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล

จึงมีคำสั่งว่า ผู้ถูกกล่าวหามีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 31(1), 33 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ปรับ 500 บาท และตักเตือนผู้ถูกกล่าวหาว่าห้ามมิให้ประพฤติตนหรือแสดงกริยาใด ๆ ที่ไม่สมควรในบริเวณศาลอันถือเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลอีก หากผู้ถูกกล่าวหาไม่ชำระค่าปรับให้คุมขังแทนค่าปรับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29,30


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"